ชีวิตที่พอเพียง : ๕๓๔. ประชุมคิดการใหญ่ที่เขาใหญ่ เที่ยวเขาใหญ่ และปราจีนบุรี


 

          วันที่ ๑๔ – ๑๕ มิ.ย. ๕๑ สวรส. จัดประชุมกับภาคีตระกูล ส ที่เขาใหญ่    โดยผมเป็นคนออกความคิด ให้หมอลัดดา (ดำริการเลิศ) แห่ง สวรส. เป็นผู้นัด   เชิญ อ. หมอประเวศมาเป็นประธาน คุยกันแบบไม่มีวาระ เรื่องการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบสุขภาวะของประเทศ    เรานัดกันว่าจะไปนอนคุยกันที่เขาใหญ่ ๑ คืน    ผมรับรองว่าบรรยากาศธรรมชาติจะดีจนทุกคนติดใจ    เราได้หมอสุเทพ (เพชรมาก) ผอ. ศูนย์อนามัย ที่โคราช เป็นผู้จองสถานที่พักบนเขาใหญ่ และอำนวยความสะดวกในการกินอยู่   ผมบอกว่าเราไปเป็นแขกของสัตว์ป่า อยู่กับธรรมชาติที่เขาใหญ่ ๑ คืน


          เช้าวันที่๑๔ ผมขับรถออกเดินทางจากบ้านเวลา ๖.๓๐ น. ไปกับภรรยา    ขับตามเส้นทางที่ไปคราวที่แล้ว คือผ่านรังสิต – นครนายก – เข้าถนนหมายเลข ๓๓   แต่เมื่อถึง อ. ปากพลี มีป้ายบอกทางลัดไปเขาใหญ่ก็แล่นเข้าถนนหมายเลข --   และตามป้ายบอกทางไปเขาใหญ่จนทะลุเข้าถนน ๓๐๗๗ ที่ปากทางเข้าเขาใหญ่ด่านทิศใต้


          เราได้ที่พักและที่ประชุมที่โซนธนรัชต์ ซึ่งบรรยากาศไม่พลุกพล่าน    อากาศดีมากจนทุกคนติดใจ เรียกว่า เบลลาจิโอ เมืองไทย   อ. หมอประเวศ มากับ อ. หมอจันทพงษ์ ตามคำชวนของผม    เราจึงพักบ้านเลขที่ ๔๐๑ ด้วยกัน    มี ๒ ห้องนอนขนาดใหญ่ ห้องน้ำในตัว มีเครื่องทำน้ำอุ่นอย่างดี    มีห้องรับแขก ตู้เย็น แม้ตอนเช้าฝนจะตกค่อนข้างหนัก แต่พอบ่ายก็หยุดและอากาศหลังฝนสดใสเย็นสบาย   ตกกลางคืนค่อนข้างหนาว ต้องสวมแจ็คเก็ต และปิดหน้าต่างห้องหมด    บ้านพัก ๒ ห้องนอนนี้ค่าเช่าคืนละ ๓,๐๐๐ บาท

   
          การประชุมเริ่ม ๑๐.๓๐ น. หยุดกินข้าวเที่ยงแล้วประชุมต่อ    ในกลุ่มคนเก่งอย่างนี้การคุยกันได้ทั้งสาระและประเทืองปัญญา    ตกเย็น ๑๗ น. เศษๆ ก็ได้ข้อสรุปสำหรับไปดำเนินการต่อ ๔ เรื่อง    การสรุปนี้ต้องยกให้เป็นความสามารถของประธานในที่ประชุมคือหมอสุวิทย์ (วิบุลผลประเสริฐ) ที่ อ. หมอประเวศมอบหน้าที่ให้   และมอบให้เป็นผู้คอยติดตามงานด้วย   งานใหญ่ที่หน่วยงานตระกูล ส จะร่วมมือกัน โดย สวรส. เป็นแกนนำ ได้แก่


๑. การประชุม Thailand Social Innovation Summit ดำเนินการโดย มสช. และ สวรส.   เป็นการเสาะหาคน/หน่วยงาน ที่มีผลงาน social innovation มา ลปรร. กันเพื่อหาทางร่วมมือ ต่อยอด ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมกว้างขวางและลึกซึ้งยิ่งขึ้น
๒. Group Learning Activities แก่ PM/Leaders โดยใช้ KM/KS, Networking, Common goals ดำเนินการโดย สวรส. ร่วมกับ สสส. มสช.
๓. Research Capacity Building at base : R2R, Grassroot/Community ดำเนินการโดย สวรส.  มสช.  โครงการ R2R ศิริราช   และ สปสช.
๔. Training/Capacity building/Fellowship ด้าน Research management และ Connecting technique : กิตตินันทน์ & วิจารณ์

  
          คนที่มาร่วมประชุมได้แก่ หมอพงษ์พิสุทธิ์ (ผอ. สวรส.) และทีมได้แก่ หมอกิตตินันทน์, ลัดดา    หมอวินัย สวัสดิวร (ผอ. สปสช.)    หมอสมศักดิ์ (เลขาธิการ มสช.)     คุณอรพรรณ (สช.)    หมอสุเทพ    คนกลุ่มเล็กๆ แค่ ๑๐ คน ช่วยกันคิดเรื่องใหญ่ของบ้านเมืองได้อย่างมากมาย

 
          ช่วงพักตอนบ่าย หมอสุวิทย์ชวนกันเดินตากอากาศ    เพราะแดดร่ม ลมเย็น วิวสวย มีเสียงนกร้องอยู่ไกลๆ ทั้งนกกระแตแต้แว้ด (ร้องเสียงเหมือนชื่อ)  นกกะรางหัวหงอก (เจ๊กโกหกๆ)  นกเขาเปล้า และอื่นๆ   รวมทั้งมีเสียงชะนีแว่วมาตามลมด้วย   อ. หมอประเวศเล่านิทาน ว่านกกะรางหัวหงอกเดินทางไปเขาหิมาลัย ไปเท่าไรก็ไม่ถึงสักที   พบเจ๊กที่กลางทาง ถามเจ๊กว่าเขาหิมาลัยไกลไหม เจ๊กบอกว่าไม่ไกล   นกกะรางเดินทางไปอีกนานก็ไม่ถึงสักที จึงร้องว่า “เจ๊กโกหกๆ” 
          อาหารที่มีบริการแก่คณะที่มาพักรสชาติและคุณภาพดีมาก   หมอสุเทพพาคุณดวงพร ภรรยา มาอำนวยการดูแลความสะดวกแก่พวกเรา    และพาลูกชายลูกสาว น้องต้นไม้และน้องกล้วยไม้มาเที่ยวด้วย    ดวงพรเคยทำงานกับผมในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๓๒ – ๓๔   ในโครงการนำร่องป้องกันและควบคุมโรคเลือดจางธาลัสซีเมีย จังหวัดพัทลุง   ซึ่งเป็นเหตุให้เธอได้พบหมอสุเทพและแต่งงานกัน 
          ตอนบ่ายเราประชุมกันโดยไม่มีไฟฟ้า    เพราะต้นไม้ล้มโดนสายไฟขาด    ไฟดับอยู่จนเกือบหนึ่งทุ่ม    เราจึงได้จุดเทียนอยู่กันในห้อง    แต่ในที่สุดไฟก็มา    กลางคืนลมพัดแรงจัดเป็นระยะๆ    อ. หมอประเวศบอกว่ากลางคืนได้ยินเสียงสัตว์ “ฟิด ฟิด …” อยู่หลังบ้านพัก
          หลังนอนอย่างสบายหนึ่งคืน ผม AAR กับตัวเองว่า ยุทธศาสตร์สำคัญที่สุดคือ    ทุกคนกลับไปเริ่มทำสิ่งที่มีคุณค่าตามที่เราคุยกันโดยไม่ต้องรอ    ให้หมอลัดดาเป็นศูนย์ข้อมูลว่าใครจะทำอะไร    รวบรวมภายใน ๗ วันแล้วแจ้งให้ทุกคนที่มาประชุมและที่มาไม่ได้ (สุภกร – สสส.  และวิโรจน์ – IHPP) ทราบเป็นการประสานงาน 
          ผมแนะหมอสุเทพว่า ควรคิดกิจกรรมที่ตนเองเริ่มได้เลย    ทำจากฐานของศูนย์อนามัยที่ ๕ โคราช ที่ตนเองเป็นผู้อำนวยการ    โดยอาจทำเรื่อง “พัฒนาจากฐาน” ในพื้นที่ก็ได้    หรือทำเรื่องพัฒนาผู้นำ ที่หมอสุเทพได้รับมอบหมายเป็นผู้ประสานงาน ก็ได้    ผมมีข้อสังเกตว่าการทำงานที่เราคุยกันนี้ มีลักษณะกึ่งจิตอาสากึ่งงานในความรับผิดชอบ   เป็นการสร้างเวทีแลกเปลี่ยนความริเริ่มสร้างสรรค์อย่างไม่เป็นทางการ เน้นว่าไม่เป็นทางการ   เน้นความเป็นอิสระแบบไม่อิสระ    เพราะมีคุณค่าร่วมกันอยู่ที่การสร้างสรรค์สุขภาวะของสังคม
          เช้าวันที่ ๑๕ หมอสุเทพติดต่อเจ้าหน้าที่ของอุทยานมาพาชมนก   มากัน ๒ คน แบกกล้องส่องดูนกพร้อมขาตั้งมาคนละชุด    พาไปดูนกแถวๆ อ่างน้ำที่เราไปเดินเล่นเมื่อ วานนั่นเอง    สิ่งที่ได้มากคือคำอธิบายเรื่องป่า    เรื่องเขาใหญ่    เราได้เห็นทรากใหม่ๆ ของนกตะขาบทุ่งคาโพรงไม้ที่ต้นไม้ตาย   นกส่วนใหญ่ที่บริเวณนั้นเป็นนกขุนทอง   ผมมาคิดทีหลังว่ารู้อย่างนี้ผมไปดูบรรยากาศยามเช้าที่ผาเดียวดายดีกว่า    อากาศตอนเช้าครึ้มแต่ไม่มีฝน อุณหภูมิเย็นสบายมาก
          อาหารเช้าเป็นข้าวต้มกับ กาแฟ  และขนมปังทาแยม   ผมกินข้าวต้ม ซึ่งอร่อยมาก    และกับแกล้มที่อร่อยคือการพูดคุยกัน   โดยมี อ. หมอประเวศเป็นนายโรง    ได้ทั้งความสนุกสนาน ไมตรี และปัญญา    ทุกคนได้เรียนรู้แบบไม่มีการสอน    ที่สำคัญคือได้เรียนรู้เรื่องคุณค่าต่อสังคม   เป็นการนั่งคุยกันในบรรยากาศธรรมชาติที่สบายกายสบายใจที่สุด   มีดนตรีธรรมชาติขับกล่อม คือเสียงนก ชะนี และแมลง   
          คณะใหญ่ที่มากับรถตู้กลับตอน ๙ โมงเช้า    อ. ประเวศ กับผมนัดกันไปกินอาหารเที่ยงที่ร้านชมชล ปราจีนบุรี   แต่ก่อนหน้านั้นเราไปชมการแสดงภาพถ่ายธรรมชาติที่ที่ทำการอุทยานก่อน   อ. หมอจันทพงษ์ กับหมออมราไปดูมาเมื่อวานและแนะนำให้ไปดู    ฝีมือถ่ายภาพระดับมือรางวัลเขายอดเยี่ยมจริงๆ
          ผมโทรศัพท์ไปจองโต๊ะและสั่งกุ้งแม่น้ำเผาที่ร้านชมชลล่วงหน้า    เขาถามว่าจะ นั่ง ข้างบนหรือลงไปที่แพ   เข้าทางผมพอดี ที่กะไว้ตั้งแต่คราวที่แล้วว่าจะลองลงไปนั่งกิน ที่แพบ้าง    บรรยากาศนั่งกินบนแพในแม่น้ำดีกว่านั่งข้างบน    แต่พอบ่ายโมง เรากินเสร็จ แดดจ้า จะมีไอแดดมาจากหลังคา    แต่เขาก็มีพัดลมเพดานช่วย   ไปกินกัน ๕ คน คือมีคุณกบ โชเฟอร์ของ อ. หมอประเวศ ด้วย    เราสั่งอาหาร ๔ อย่าง ได้แก่ กุ้งแม่น้ำเผา  ทอดมันปลากราย  ปละกระพงทอดราดน้ำปลา  และส้มตำปูม้าดอง    รวมกับค่าข้าว และน้ำเป็นเงิน ๑,๑๓๐ บาท    แต่คราวนี้ผมให้ชื่อตอนโทรมาจอง    และ อ. หมอจันทพงษ์เรียกผมว่า “อาจารย์วิจารณ์” แถมบอกเขาว่าผมไปโฆษณาให้ทางอินเทอร์เน็ต   เขาเลยรู้จักและลดราคาให้ ๑๐%   หมออมราว่องไวรีบไปจ่ายเงิน   นานๆ เราจะได้มีโอกาสตอบแทนบุญคุณเล็กๆ น้อยๆ โดยเลี้ยงอาจารย์บ้าง
          เราแยกทางกันตอนออกจากร้านอาหาร    ผมไปชมวัดแก้ววิจิตร ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำ ปราจีนบุรี   อายุกว่า ๑๐๐ ปี แต่มีการบูรณะอย่างดี   เป็นสถาปัตยกรรมที่แปลกตาและงดงามมาก   เป็นศิลปะที่ผสมผสาน ไทย จีน และยุโรป    เราแวะชม และไหว้พระในโบสถ์   วัดแก้ววิจิตรนี้น่าไปชมมาก  
          เราเดินทางกลับกรุงเทพโดยใช้เส้นทางเดิม คือถนนหมายเลข ๓๓ มาออกสาย ๓๐๕ สู่รังสิต แล้วขึ้นทางด่วนมาลงที่เมืองทองฯ    รวมระยะทางที่ขับรถคราวนี้ ๓๖๐ ก.ม.   โดยระหว่างทางแวะซื้อหน่อไม้หวานและผลไม้ในเขตจังหวัดปราจีนบุรี    เราติดใจทุเรียนปราจีน   ซึ่งเมื่อมากินที่บ้านก็ไม่ผิดหวัง

วิจารณ์ พานิช
๑๕ มิ.ย. ๕๑

บ้านพักโซนธนะรัชต์น่าพักมาก

บรรยากาศการประชุมช่วงเช้า

บรรยากาศการประชุมช่วงบ่ายไฟดับ

ออกไปเดินเล่นออกกำลังและชมวิวกระตุ้นความสร้างสรรค์

ธรรมชาติงดงามข้างทาง

ดอกไม้ริมทาง

ริมทางและติดดิน

 

เฟิร์นกระแตไต่ไม้

 

โบสถ์วัดแก้วพิจิตร

 

ซุ้มประตูอันงดงาม

หน้าโบสถ์

 
   
   
   
   
   
   

       
           
                     
                   

 

หมายเลขบันทึก: 188986เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2008 16:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 08:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

บรรยากาศดี สมองคงโลดแล่นดีนะคะท่านอาจารย์

แวะมาเยี่ยมชมภาพถ่ายสวยๆแลงชื่อไว้ครับ

ลูกศิษย์ของท่านครุ

หวังว่า อาจารย์ คงไม่ได้ทาน อาหารสัตว์น้ำ บ่อยๆ ประจำน่ะครับ เป็นห่วงว่าจะ เสี่ยงต่อปัญหาการ มีโปรตีนไขมันสะสมเกิน ในส่วนของอุ้งเชิงกราน ต่อมลูกหมาก ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท