เล่าเรื่องเมืองหงสา (๑๗) ตลาดนัดชายแดนไทยลาวที่ด่านน้ำเงิน เมืองเงิน ประตูสู่หงสา


ซื้อกล้วยแขกได้สามชิ้นกลับไปนั่งกินอย่างเหงาๆ เฝ้าถุงยาเส้นยาฉุนรอลูกค้า

สวัสดีครับ

เล่าเรื่องเมืองหงสาวันนี้ นำท่านออกมาที่ชายแดนไทย-ลาวครับ

พรมแดนเมืองหงสาที่ติดต่อกับจังหวัดน่านนั้นเป็นเขตป่าเขาไม่มีจุดผ่านแดน จะเข้าสู่เมืองหงสาต้องผ่านเข้าทางด่านน้ำเงิน ในเขตเมืองเงิน ยังไม่ได้เป็นด่านสากล ด่านถาวรครับ เห็นมีชาวต่างชาติมายืนอกหักที่ด่านบ่อยๆ ประเภทที่เข้าลาวทางเวียงจันทน์ หลวงพระบาง แล้วจะมาขอออกทางนี้ อ้ายน้อง ตม.ที่ด่านบอกว่า ออกบ่ได้ออกบ่ได้อย่างเดียว เลยต้องย้อนกลับไปออกทางเก่า

ทุกวันเสาร์ครึ่งวันเช้าที่ด่านน้ำเงินจะคึกคักเป็นพิเศษ เพราะเป็นวันติดตลาดนัด มีพ่อค้าเร่จากน่านขนเครื่องของใช้นานาประเภทมาบริการมาวางขายที่ใกล้ๆด่านไทย และบรรดาพี่น้องลาวจากเมืองเงิน เมืองหงสา เชียงฮ่อน นำสินค้าจากท้องถิ่นออกมาขายเช่นกัน เทียบตามสัดส่วนแล้วพี่น้องลาวมาจับจ่ายซื้อข้าวของมากกว่ามาขาย

 

สินค้าพื้นเมืองที่นำเข้ามาขายจากฝั่งลาว ได้แก่ ผ้าทอลายน้ำไหลของชาวลื้อ ยอดผักไห่ ข้าวซ้อมมือ กระเทียม หอมแดงพื้นเมืองสีออกส้มๆ พริกแห้ง ยาฉุน ขิง เถาสะค่านดุ้นงามๆ

ส่วนสินค้าจากบ้านเราที่นำมาวางขายนั้น มีมากมายหลายหลาก ตั้งแต่เสื้อผ้า อาหารสด อาหารแห้ง ผลหมากรากไม้ ถังพลาสติก น้ำมันเชื้อเพลิง เครื่องครัว เครื่องใช้ไฟฟ้า มีด จอบ เสียม อุปกรณ์ก่อสร้าง เมล็ดพันธุ์ผัก ลูกปลา มีไปจนถึงมือถือ และบริการวัดสายตาประกอบแว่นเลยทีเดียว   

ที่น่าเป็นห่วงอย่างหนึ่งก็คือ ภาพที่ผมเห็นพี่น้องลาวเข้ามาซื้อถังพ่นยาฆ่าหญ้า ฆ่าแมลง พร้อมทั้งบรรดาสารเคมีที่ใช้ในการเกษตรทั้งหลาย เข้าไปกันอย่างหนาตา เขาว่าสิ่งเหล่านี้เข้าไปแพร่ในลาวในระยะสองสามปีมานี้เอง ไปพร้อมๆกับการปลูกข้าวโพดพันธุ์ลูกผสมเพื่อการค้าส่ง มีพ่อค้าเข้าไปรับซื้อ เข้าไปลงทุนเอาเมล็ดพันธุ์ไปให้ ได้แต่หวังว่าพี่น้องเกษตรกรลาวจะได้รับคำแนะนำให้ใช้สารเคมีอย่างถูกต้องปลอดภัย หรือมีวิธีทางเลือกอื่นๆที่ไม่ต้องใช้สารเคมี

มีผู้คนเลยบอกว่า คนหัวใจอ่อนแออย่างผมไม่ควรไปตลาด เห็นอะไรก็เก็บมาทุกข์ พบอันไหนก็เก็บมาคิด เป็นตามคำเขาว่าไว้จริงๆ

ผมเห็นคนลาวลื้อที่มาขายผ้าทอมือลายน้ำไหล ถูกยี่ปั๊วที่มารอรวบรวมผ้า(ก่อนนำไปแปลงสัญชาติเป็นผ้าทอเมืองน่าน) ทำเสียงดุตำหนิลายผ้าที่ผิดนิดเพี้ยนหน่อย แล้วกดราคาลงครึ่งค่อน ผมก็เริ่มเศร้า

ผมเห็นหนุ่มสาวชาวลาวมะรุมะตุ้มซื้อ มือถือ ซื้ออุปกรณ์แต่งรถ ซื้อเครื่องสำอาง และสินค้าฟุ่มเฟือยต่างๆ แล้วผมก็เริ่มหงุดหงิด

เห็นแม่เฒ่านั่งบรรจงนับแบงค์ยี่สิบบาทก่อนม้วนเก็บเข้าพก เห็นพ่อเฒ่าค่อยๆล้วงกระเป๋าหยิบเหรียญห้าบาทออกมาดูอย่างไม่คุ้นเคย ก่อนซื้อกล้วยแขกได้สามชิ้นกลับไปนั่งกินอย่างเหงาๆ เฝ้าถุงยาเส้นยาฉุนรอลูกค้า ทำให้ผมเลิกล้มแผนที่วาดฝันไว้ว่าทันทีที่เครื่องลงแตะบางกอกผมจะตรงไปกินพลาสต้า กินไอศกรีมชื่อฝรั่ง (ที่อาจต้องเข้าคิว) ทดแทนความอดอยากมานานเป็นเดือน

แต่ก็นั่นแหละเป็นเพียงมุมมองของตนเอง คิดแทนคนอื่น ทุกข์แทนคนอื่นไปเสียหมด

คิดให้เป็น สุขให้เป็น ดีกว่า

อันที่จริงตลาดนัดชายแดนก็มีข้อดี พี่น้องได้ขายผลผลิต ได้ขายผ้าทอ ได้ซื้อสิ่งของที่ขาดเขินในลาวด้วยราคาที่พอใจไม่ต้องเสียค่าเดินทางเข้าน่าน

คิดอย่างนี้ดีกว่าครับ    

 

หมายเลขบันทึก: 188963เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2008 14:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
  • สวัสดีครับพี่ เป-ลี่-ยน
  • ขอบคุณมากครับที่นำมาแบ่งปัน
  • สบายดีครับพี่
  • ที่หนองคายก็มีตลาดลาวครับ
  • แต่ก่อนมีกล้วยไม้มาขาย คึกคักน่าดู
  • ตอนนี้เงียบเหงา..คงติดดำนา
  • ฝนตกบ่อยระวังสุขภาพด้วยนะครับ

สวัสดีนักส่งเสริมเกษตรกร ทั้งสองท่านครับ
สินค้าที่นำมาขาย ประเภทลูกปลาเห็นว่าต้องนำมาจากพิษณุโลกทีเดียวครับ พ่อค้าจากอำเภอปัว ไปซื้อมาอนุบาลแล้วนำมาขายทุกวันเสาร์ ลูกปลาดุกราคาตัวละ ๑ถึงสามบาท แล้วแต่ขนาด
สินค้าจากบ้านเรายังเป็นที่ต้องการของทางนี้อยู่มาก หากพ่อค้าแม่ขายบ้านเราไม่เอาเปรียบเขามากเกินไป มอบความเป็นเพื่อนพี่น้องให้กัน คิดว่าสามารถทำธุรกิจได้อีกยาวนานครับ
ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ แต่ละเรื่องน่าสงสารเหลือเกินค่ะ...แล้วเขาบอกว่าเขาเป็นมนุษย์ได้ไงคะ ในเมื่อเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ตาดำ ๆ ด้วยกัน...เศร้าค่ะ 

เราคงเป็นโรคเดียวกันค่ะ มองภาพพวกนี้แล้วต้องถอนหายใจ .. ปลง

อยากไปด้วยอย่างแรงครับ

ว่างแล้วจะขอตามก้นไปด้วยครับ

อิอิ แอบมาตามบทความเรื่อง เกลืออีสาน ครับ

ลืมหรือยังครับ อิอิ ตอนนี้กำลังรวมบทความครับ

หวัดดีค่ะ

ไม่ทราบว่าเส้นทาง ไปหงสาถนนดีมั้ยค่ะ พอดีจะไปทำงานโครงการไฟฟ้าหงสา

ไม่รู้ว่ากันดารมากมั้ยค่ะ รบกวนแนะนำหน่อยค่ะ

ดี[email protected]

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท