ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมกับระบบการจัดการทางนิเวศวิทยาของกลุ่มชนชาวนาลุ่มน้ำโขง แอ่งสกลนคร-นครพนม


ประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรม

พัฒนาจากโครงการวิจัยประวัติศาสตร์วัฒนธรรม
กับระบบการจัดการทางนิเวศวิทยาของกลุ่มชนชาวนาลุ่มน้ำโขง แอ่งสกลนคร-นครพนม
สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ขอบคุณ ศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ที่ปรึกษาโครงการ ฯ



ดินแดนแม่น้ำโขงตอนล่าง (The Lower Maekhong Basin) ถือได้ว่าอยู่ในส่วนหนึ่งของดินแดนป่าฝนเมืองร้อน
(Tropical Forest Area) เพราะอยู่ระหว่างเส้นละติจูดที่ 23 ? องศาเหนือและ 23 ? องศาใต้
พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) สูง ที่มีความหลากหลายของพืชพันธุ์
ความหลากหลายของสรรพสัตว์
หรือความหลากหลายของกลุ่มชนและวัฒนธรรมที่อาศัยอยู่ร่วมกันมาเป็นระยะเวลากว่าศตวรรษ

แต่เมื่อเราหยิบยกเอาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่มีการบันทึกของกลุ่มชนในแถบเอเชีย
ในแถบลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง อย่างพม่า ไทย ลาว เวียดนาม เขมร มากล่าว
กลับมักจะเป็นสาเหตุที่จะนำมาซึ่งความทะเลาะเบาะแว้งกันเสมอ
จนบางครั้งหากมีการพบกันของผู้คนในรัฐชาติดังกล่าว
จึงพยายามเลี่ยงหลีกที่จะพูดถึงเรื่องราวประวัติศาสตร์ เพื่อหลบหลีกความขัดแย้ง
ที่ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมลงรอยกัน ทั้งๆที่เรื่องราวของประวัติศาสตร์มีความสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ที่เป็นเช่นนี้หาใช่เป็นความผิดของประวัติศาสตร์หรือเรื่องราวทางอดีตไม่ เพราะที่ผ่านมา
เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ มักจะถูกนำไปใช้ในทางการเมือง
การปกครองและการยึดแย่งอำนาจของชนชั้นปกครองเสียมาก และการขีดเขียนประวัติศาสตร์ในอดีต
มักเขียนขึ้นมาเพื่อสำหรับการสร้างชาติ สร้างความยิ่งใหญ่
ภายใต้บริบทของการสร้างชาติใหม่ยุคหลังตะวันตกคุกคาม
จนละเลยประเด็นของการอยู่ร่วมกันของกลุ่มชนน้อยๆต่างๆเพื่อความสมานฉันท์


และเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา มักเป็นเรื่องราวของประวัติศาสตร์ราชวงศ์
อันเกี่ยวข้องกับทางการเมืองส่วนใหญ่
จึงมักจะเลี่ยงไม่ได้ที่จะไม่กระทบกระทั่งกับผู้คนในรัฐหรือประเทศต่างๆในแว่นแคว้นลุ่มน้ำโขง
จนกระทั่งกลายเป็นสัญลักษณ์หรือความเข้าใจไปเสียแล้ว
ว่าวิชาการทางประวัติศาสตร์เป็นเรื่องราวของชนชั้นปกครอง ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องราวของการฆ่าฟัน
ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องราวของการแย่งชิงสมบัติ ดินแดนของคนไม่กี่คน หรือคนเพียงไม่กี่หยิบมือ
จนลืมไปว่าเรื่องราวของประวัติศาสตร์หรือเรื่องราวในอดีตของผู้คน
ยังมีประเด็นหรือมีเรื่องอย่างอื่นอีกที่จะต้องมาขยายเพิ่มเติม เช่น สิ่งแวดล้อมหรือนิเวศวิทยา
ที่อาจทำให้คนอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา มักจะวนเวียนและอยู่ในวังวนของภาพหลอนของวิธีการการศึกษาประวัติศาสตร์แบบเก่า
ที่ใคร่จะชอบค้นคว้าจากเอกสารการบันทึกของชนชั้นปกครอง
แต่มักละเลยในการลงพื้นที่เพื่อศึกษาจากชนชั้นผู้น้อยหรือชนชั้นรากหญ้าในสังคม
กระทั่งวิชาการทางประวัติศาสตร์ในทัศนะผู้เขียนใกล้จะถึงทางตัน
เพราะแทนที่จะเอาวิชาการมาสร้างสรรค์สังคมโลก กลับนำมาแต่ความวุ่นวายไม่จบไม่สิ้น เช่น ประวัติศาสตร์
สุรนารี-เจ้าอนุวงศ์ พระเนเรศวร-บุเรงนอง ฯลฯ เป็นต้น

หากยังหลงอยู่ในภาพหรือมายาวิชาทางประวัติศาสตร์เช่นนั้น
ประวัติศาสตร์การเมืองหรือประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับชนชั้นปกครองและการรบรา วิชาดังกล่าว
จะเป็นเพียงเรื่องที่นำมาซึ่งความรู้สึกชาตินิยมและก่อให้เกิดความขัดแย้งต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด
และจะทำให้เห็นว่าในภูมิภาคนี้มีประเทศหรือมีภาพของชาติ ไทย ลาว เวียดนาม พม่า เขมร
เป็นเสมือนม่านหมอกปกคลุมบังตา จนละลืมไปเสียว่าในประเทศต่างๆเหล่านี้ มีผู้คนต่างๆมากมาย
ที่อยู่กระจายไปตามลุ่มน้ำต่างๆ ทั้งน้อยใหญ่ และเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศลุ่มน้ำ เหล่านั้น เช่น โขง
อิระวดี สาละวิน เซบั้งไฟ สงคราม มูล ชี ฯลฯ

บางครั้งกลุ่มชาติพันธุ์ชาวนาเอเชียที่อาศัยอยู่ในขอบเขตของรัฐ ที่เรียกสมมติสมัยปัจจุบัน
เหล่านี้ก็เหมือนกัน เช่น เป็นชาวโซ่ เป็นชาวผู้ไท ไทญ้อ ไทแดง ไทตาด ไทลื้อ เหมือนกัน
พี่น้องกันแต่อยู่กันคนละประเทศ คนละรัฐชาติ บางครั้งก็เรียกชื่อต่างกัน
นับถือผีหรือสัญลักษณ์ทางจิตวิญญาณร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม แม้นอำนาจทางการเมืองพยายามแบ่งและป้ายสีผู้คนออกไป
แต่โดยธรรมชาติของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในระดับพื้นที่ มักไม่สามารถที่จะกันแบ่งผู้คนชนชาติต่างๆ
ให้ไปอยู่ตามประเทศที่เรียกชื่อตามการเมืองสมัยปัจจุบันได้ เช่น ประเทศไทย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เส้นแบ่งทางการเมืองไม่สามารถที่จะแบ่งความผูกพัน
สายสัมพันธ์ทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมของผู้คนในแถบอุษาคเนย์ออกไปได้

ฉะนั้นเส้นแบ่งทางการเมืองจึงเป็นเพียงแค่เส้นแบ่งของชนชั้นปกครองเพียงลำพัง
เพื่อขีดแบ่งแยกผู้คนออกเป็นส่วนๆ เพื่อสยายปีกแห่งอำนาจและขนาดแห่งผลประโยชน์จากทรัพยากร
พร้อมทั้งสร้างจินตภาพใหม่และอุดมการณ์ของความเป็นไทย เป็นลาว เป็นพม่า เขมร
และครอบไว้ด้วยประวัติศาสตร์ทางการเมือง อันนำมาซึ่งความขัดแย้ง และการทะเลาะเบาะแว้งมาจนถึงทุกวันนี้

แม้จะมีการสร้างจินตภาพใหม่เหล่านี้
จินตภาพใหม่ดังกล่าวก็หาได้ลบล้างหรือทำลายรากฐานทางภาษาและวัฒนธรรมของผู้คนที่อาศัยอยู่ตามลุ่มน้ำ
และเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศลุ่มน้ำในอุษาคเนย์ที่เรียกว่าเป็นสายพันธุ์ทางวัฒนธรรม (Genetic Cultural)
เดียวกันนั้นได้ ในขณะที่ชนชั้นปกครองเพียงไม่กี่หยิบมือขัดแย้งกันเอง
ต่างพยายามขีดเขียนประวัติศาสตร์ทำร้ายซึ่งกันและกัน เอาเปรียบกัน
แต่ขณะเดียวกันผู้คนในระดับท้องถิ่นหาได้รบราฆ่าฟันกันไม่

เพราะในระดับหมู่บ้านหรือในระดับท้องถิ่น แม้ผู้คนจะคนละหน้าตาภาษา เช่น ผู้ไท กับ โซ่
แถบลุ่มน้ำโขงแอ่งสกลนคร ที่พูดคนละภาษา แต่พวกเขาที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ติดกัน
หาได้สร้างเรื่องเพื่อทะเลาะเบาะแว้งแย่งชิงทรัพยากรกันกันไม่
กลับพยายามสร้างสัมพันธภาพของสายสัมพันธ์แห่งพี่น้องด้วยตำนานท้องถิ่นอย่าง "น้ำเต้าปุง"
เพื่ออยู่กันอย่างร่มเย็นและใช้ทรัพยากร ผืนป่าและสายน้ำร่วมกัน

การเมืองอาจสามารถแบ่งเส้นทางอำนาจของชนชั้นปกครองได้
แต่ก็หาได้แบ่งสายสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมของผู้คนที่อาศัยอยู่ตามสายฝั่งน้ำได้ไม่ เช่น
สายพันธุ์ทางวัฒนธรรม 2 ฝั่งโขง "สองฝั่งโขงบ้านของเรา"

แต่หากเราเปลี่ยนภาพและวิธีการทางประวัติศาสตร์ แทนที่จะวนเวียนอยู่กับเรื่องชนชั้น
ปกครองเพียงไม่กี่หยิบมือ หรือเป็นเรื่องเฉพาะทางการเมือง ให้ขยายและเน้นให้เป็นเรื่องของชนสามัญน้อยๆ
หรือชนเผ่าน้อยๆ ที่กระจายกันอยู่ตามประเทศต่างๆ เหล่านี้
เปลี่ยนจุดเน้นหรือขยายพรมแดนของศาสตร์มาสู่ประวัติศาสตร์ทางนิเวศวิทยา (Ecological History)
และประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรม เราจะพบได้ว่าประเทศต่างๆที่เคยแยกออกเป็น 4-5 ประเทศ
อาจมีเพียงประเทศเดียว เพราะชนชาติต่างๆที่อาศัยอยู่ในอุษาคเนย์เหล่านี้ ทั้งไท-ลาว เขมร มอญ
ตั้งถิ่นฐาน กระจายปะปนไปมาตามสายน้ำในภูมิภาคต่างๆ และเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศลุ่มน้ำ
ที่ต้องพึ่งพิงซึ่งกันและกัน ประดุจสายสัมพันธ์ของกฏธรรมชาติ ที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท

อย่างไรก็ตามแม้นการพยายามคลี่คลายถึงประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรมของกลุ่มสามัญชนของชนชาติต่างๆ
ที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศวิทยาลุ่มน้ำ จะมีความสำคัญ แต่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
ผ่านการชี้นำของชนชั้นปกครองของรัฐต่างๆ ที่พยายามชี้นำและนำเอาแนวทางและทฤษฎีการพัฒนาจากภายนอก เช่น
แนวคิดการพัฒนาจากตะวันตก ที่เชื่อในทฤษฎีทุนนิยมสุดโต่งลงมาครอบชุมชน และแย่งยึดเอาทรัพยากรไปจากชุมชน
จากชนชั้นรากหญ้า-สามัญชน ก่อให้เกิดปัญหาการเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ
การสูญเสียดุลยภาพทางนิเวศวิทยา ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ก่อให้เกิดการล่มสลายทางสังคม
ปัญหาหนี้สินต่างๆ

ปัจจุบันปัญหาทางสิ่งแวดล้อมหรือปัญหาการขาดสมดุลทางนิเวศวิทยา เป็นปัญหาสำคัญมาก
อันเนื่องมาจากวิถีการพัฒนาที่ผ่านมาและต่อไป ที่เร่งเร้าให้ผู้คนในทุกหย่อมหญ้าวิ่งไปตามกระแสทุนนิยม
ทั้งโครงสร้างทางสังคมที่ไม่เป็นธรรม ที่ทรัพยากรถูกดูดออกไปจากชุมชน ทำให้ทุนของการดำรงชีวิตของชาวนา
เช่น ดิน น้ำ ป่า สัตว์ป่า สัตว์น้ำ สูญเสียไป หรือเกิดความสูญเสียของความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น
การหมดไปของป่าไม้ การขาดอาหารดำรงชีวิตในไร่นา เป็นต้น อันเป็นสายทางหรือวิถีการพัฒนาต่างๆ
จากองค์ความรู้หรือทฤษฎีที่มาจากสังคมตะวันตก

ในขณะที่มีงานวิจัยหลายชิ้นที่สะท้อนให้เห็นว่าองค์ความรู้
หรือทฤษฎีของคนตะวันออกให้ความสำคัญกับเรื่องราวทางนิเวศวิทยา (Ecology)
ความสำคัญของเศรษฐกิจพอเพียงหรือเศรษฐกิจแห่งความเอื้ออาทร (Spiritual Economy)
แต่ก็มิเคยได้รับความสนใจ หรือถูกหยิบยกนำมาพัฒนาเป็นทฤษฎี
และถูกชูขึ้นมาให้เป็นแนวทางการพัฒนากระแสหลัก

ฉะนั้นการศึกษาประวัติศาสตร์ทางนิเวศวิทยาและวัฒนธรรม ของกลุ่มชนชาวนาหรือสามัญชน-ชนรากหญ้าในลุ่มน้ำโขง
หรือลุ่มน้ำต่างๆ น่าจะมีความสำคัญอย่างยิ่งในการที่จะคลี่คลาย ให้เห็นถึงรากเหง้า พัฒนาการ การก่อตัว
พลวัตทางวัฒนธรรมของกลุ่มชนชาวนา หรือผู้คนกลุ่มต่างๆ ทั้งที่แตกต่าง เหมือนกัน และร่วมกัน
ในสองฝั่งลุ่มน้ำ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคลี่คลายประวัติศาสตร์
และระบบการจัดการทางนิเวศวิทยาหรือการจัดการทางสิ่งแวดล้อมของชุมชน
ที่ได้ก่อตัวขึ้นจากรากฐานวัฒนธรรมชุมชนควบคู่กันที่จะทำให้เข้าใจระบบคิด
หรือการสร้างภูมิปัญญาการจัดการสิ่งแวดล้อมจากฐานวัฒนธรรมชุมชน
และหยิบยกเอาแนวคิดหรือทฤษฎีการจัดการสิ่งแวดล้อมของชนชาติ (ชนเผ่า)
ต่างๆของชาวนาเอเชียที่อาศัยอยู่ตามระบบนิเวศลุ่มน้ำ ออกมานำเสนอให้เห็นถึงความสำคัญ ก่อนที่จะสูญสลายไป
พร้อมๆไปกับการล่มสลายของระบบนิเวศ
จากการรุกรานเข้ามาของการพัฒนาสมัยใหม่หรือวัฒนธรรมทุนนิยมจากโลกตะวันตก
ที่ได้รุกล้ำลงสู่ดินแดนลุ่มน้ำในเอเชียอุษาคเนย์เป็นระยะเวลาพอสมควร
และน่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์รัฐชาติใหม่
ที่มิได้ให้ความสำคัญเฉพาะขอบเขตทางการเมืองแบบเดิม
แต่จะให้ความสำคัญทางขอบเขตและสายสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม
นำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขของผู้คนที่อาศัยตามลุ่มน้ำ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกิดความร่วมมือของนักวิชาการหรือการเชื่อมศาสตร์วิชาทางนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม
กับวิชาการทางประวัติศาสตร์ ด้วยกระบวนการแสวงหาความจริงของธรรมชาติและชีวิตของผู้คน
โดยกระบวนวิทยาแบบองค์รวม (Holistic Science) หรือสหสัมพันธ์วิทยา (Interdisciplinary)
อันเป็นทฤษฎีหรือแนวทางการศึกษาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของวงนักวิชาการ สิ่งแวดล้อมไทย
ที่ดูเหมือนกำลังพูดกันมาก แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ น่าจะทำให้เข้าถึงความจริงแห่งชีวิตของผู้คน
ชีวิตที่มีคุณค่า ชีวิตที่มีเกียรติและศักดิ์ศรี ของคนจนอันห่างไกล

หมายเลขบันทึก: 187948เขียนเมื่อ 14 มิถุนายน 2008 07:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 17:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท