ผืนป่าแห่ง “ลุ่มน้ำโขง” และเหตุผลที่ต้องอยู่รอด


ลุ่มน้ำโขง
ผืนป่าแห่ง “ลุ่มน้ำโขง” และเหตุผลที่ต้องอยู่รอด
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 13 มิถุนายน 2551 08:15 น.

สภาพผืนป่าลุ่มแม่น้ำโขงในประเทศไทยที่นับว่ามีความสมบูรณ์อยู่

คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
แม่น้ำโขงยามเย็นเขตแดนกั้นไทยและพม่า

ผู้คนที่ต้องพึ่งพิงแม่น้ำโขงในการดำรงชีวิต

มณฑลยูนานกับการเก็บสาหร่ายน้ำจืดจากแม่น้ำหลานชางเจียงของพวกเขา

ชาวนาเวียดนามที่ต้องพึ่งน้ำจากแม่โขง

จากต้นกำเนิดหิมาลัย ไหลผ่านมณฑลชิงไห่ ประเทศจีน เรื่อยลงมาสู่ทะเลจีนใต้ผ่านลาว พม่า ไทย และ เวียดนาม ความยาวกว่า 4,880 กิโลเมตร สายน้ำที่ผ่าผ่านแต่ละบริเวณก่อให้เกิดนามเรียกขานต่างกัน น้ำที่ไหลผ่านจีนจะถูกเรียกว่าแม่น้ำหลานชางเจียง เมื่อถึงลาว พม่า และไทย จะรู้จักกันในนาม “แม่น้ำโขง” ซึ่งนับว่าเป็นแม่น้ำที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 10 ของโลกและได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดในโลกอีกด้วย
       
       ทว่า การรุกล้ำของเขตอุตสาหกรรมทำให้ผืนป่าโดยรอบแม่น้ำโขงถูกคุกคาม สภาพการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของแต่ละประเทศประกอบกับการแปรรูปที่ดิน และการใช้ประโยชน์จากป่าไม้จนเกินดุล ทำให้สภาพป่าไม้ในเขตประเทศลุ่มน้ำโขงได้เปลี่ยนแปลงไป ในช่วงสิบปีนับจาก พ.ศ.2533-2543 ทั้ง 5 ประเทศสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ไปกว่า 68,000 ตารางกิโลเมตร และสภาพป่าที่หลงเหลืออยู่ก็เสื่อมโทรมลงไป
       
       การปกป้องป่าไม้จึงเป็นแนวคิดริเริ่มที่สำคัญในการเก็บงำคาร์บอนไดออกไซด์ ฟอกปอดของโลกให้สะอาด และปกป้องดูแลสัตว์ป่าในถิ่นอาศัย อีกทั้งสะสมแหล่งอาหารให้แก่ผู้คนในแต่ละบริเวณ
       
       **ผืนป่าแห่งแม่โขงวันนี้
       ในสารคดีเรื่อง “เขตลุ่มแม่น้ำโขงอันยิ่งใหญ่ ผืนป่าเพื่ออนาคตเรา” ซึ่งจัดขึ้นเพื่อวันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) ในวันที่ 5 มิ.ย.ในโครงการการอนุรักษ์แนวเขตความหลากหลายทางชีวภาพ (BCI) ได้เล่าถึงความเป็นไปเป็นมาในแต่ละท้องที่ที่น้ำโขงไหลผ่าน โดยเริ่มจากมณฑลยูนนาน ประเทศจีน เส้นทางเชื่อมต่อสู่ลาวและไทย ที่นั่นเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของป่าไม้มากขึ้นและสัตว์ป่าก็หายไป การอยู่กินแบบดั้งเดิมไม่ได้เบียดเบียนป่านัก หากแต่การเข้ามาของทุนบั่นทอนความอุดมสมบูรณ์ของป่าแถบนั้นไปมากทีเดียว
       
       สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในจำปาสักยังมีการรักษาและพิทักษ์ป่าของชาวบ้านอย่างเหนียวแน่น แต่คนท้องที่ก็ยังขาดความเข้าใจเรื่องการปักเขตแดนที่รุกล้ำป่าสงวน ไม่ต่างจากประเทศไทย และเวียดนาม ที่คนใกล้ป่าจะมองว่าผืนดินที่ปกคลุมด้วยสีเขียวนั้นเป็นแหล่งอาหาร แหล่งยา และอู่น้ำให้พวกเขา แต่ปัญหาก็ไม่ได้ยุติเพียงแค่การตระหนักนั้น หากแต่สิ่งที่ป่าต้องการคือการฟื้นฟูเร่งด่วน
       
       หลังจากปี 2549 ที่มีการเข้ามาของกลุ่มคณะทำงานด้านสิ่งแวดล้อมของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) และศูนย์ปฏิบัติการสิ่งแวดล้อมแห่งอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเข้าไปให้ความรู้และสร้างความเข้าใจแบบใหม่ โดยใช้ความแตกต่างหลากหลายด้านชีวภาพ โดยให้ชาวบ้านแต่ละพื้นที่เรียนรู้วิธีการบรรเทาความเสียหายของป่าด้วยตัวของพวกเขาเอง
       
       **เก็บป่า ช่วยโลก
       “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ใช่เรื่องที่จะมีทีท่าว่าจะผ่านไปอย่างรวดเร็ว แต่กลับเป็นประเด็นสำคัญที่สามารถกำหนดอนาคตโลกได้ ยิ่งเมื่อคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปีที่แล้ว นั่นเป็นการส่งสารอย่างชัดเจนว่าภาวะโลกร้อนเป็นความจริง และเราก็รู้ว่าคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ที่เราปล่อยไปนั้นเป็นสาเหตุ” อูรูช มาลิก ผู้อำนวยการฝ่ายการเกษตร สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ แผนกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอบีดีอธิบาย
       
       ดังนั้น สิ่งที่ควรตระหนักมิใช่แค่การใช้ถุงผ้า แต่ต้องรวมการปรับพฤติกรรมของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเผาไหม้เชื้อเพลิงทั้งจากพืช และสัตว์ การตัดต้นไม้เพื่อแปรรูปเป็นกระดาษ ใช้งานอย่างอื่น ทั้งการเลี้ยงสัตว์ ฟาร์มขนาดใหญ่ซึ่งจะเป็นการทำลายทรัพยากรอันมีค่าที่ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ด้วย
       
       การสูญเสียป่าอย่างรวดเร็วมิเพียงทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น แต่กระแสชีวิตแบบดั้งเดิมก็จะถูกรุกคืบด้วยพลังแห่งทุนยุคใหม่เช่นกัน นี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่จะต้องเก็บแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งของโลกไว้ เพราะเมื่อถึงคราที่ว่านั้น...เมืองไทย และโลกจะเป็นอย่างไรแล้วก็ไม่รู้!!!
       
       สำหรับประเทศไทย ดร.ทรงธรรม สุขสวัสดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยอุทยานแห่งชาติ หนึ่งในคณะทำงานในประเทศไทย เล่าว่า สิ่งที่ไทยขาดและจำเป็นจะต้องรับการแก้ไขคือ ความยากจน แต่จะทำอย่างไรจะแก้ปัญหาความยากจนโดยที่ยังสามารถรักษาป่าไว้ได้ สิ่งแรกที่ต้องทำคือการให้ความรู้แก่เด็กโดยผ่านธรรมชาติ และชาวบ้านก็เริ่มเรียนรู้วิธีการกักเก็บและป้องกันภัยธรรมชาติด้วยการสร้างฝายทดน้ำ
       
       “เราเลือกเทือกเขาตะนาวศรีทางฝั่งตะวันตกของไทย ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีแปลงเพาะพันธุ์ไม้ 4 แห่งเพื่อใช้สำหรับฟื้นฟูป่า และเพาะเมล็ดพันธุ์พืช ผลไม้ ซึ่งต่อไปก็จะสามารถสร้างรายได้ให้แต่ละแปลงได้ และอาจจะมีการส่งเสริมรายได้ด้วยการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ตอนนี้กำลังมีการดำเนินการ โดยให้ชุมชนในบริเวณป่ามีส่วนร่วม ทั้งนี้ยังต้องสร้างความรู้และความเชี่ยวชาญให้คณะกรรมการท้องถิ่นด้วย” ดร.ทรงธรรม ชี้แจง

คำสำคัญ (Tags): #ลุ่มน้ำโขง
หมายเลขบันทึก: 187853เขียนเมื่อ 13 มิถุนายน 2008 13:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มีนาคม 2012 09:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท