เมื่อดูคะแนน NT/O-NET...ครูกลุ่มใดควรได้โบนัส


การสอนในโรงเรียนที่เด็กเรียนอ่อน หรือเด็กกลุ่มด้อยโอกาส “สอนหนักเกือบตาย ทุ่มเททุกอย่าง แต่คะแนนก็ยังออกมาต่ำ หรือได้คะแนนใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยกลางของประเทศเท่านั้น” ครูเลยไม่ได้โบนัส หรือไม่ได้เลื่อนวิทยฐานะสักที เราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร

วันที่ 11 มิ.ย. 2551  9.30-12.00 น. ได้ไปเป็นประธานในการประชุมกรรมการเขตพื้นที่การศึกษานนทบุรี เขต 2 เป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของคณะกรรมการชุดนี้ เพราะอยู่จนครบวาระ 2 ปี แล้ว

ที่ประชุมได้พูดอภิปรายถึงเรื่อง การใช้ คะแนนสอบ NT/O-NET หรือผลการสอบระดับชาติของนักเรียนชั้น ป.6 ม.3  และ ม.6 นำมาเป็นเงื่อนไขในการจ่ายเงินโบนัสของเขตพื้นที่การศึกษานนทบุรีเขต 2 ถือเป็นสิ่งที่ดีมาก ที่เขตตอบแทนครูหรือบุคลากรด้วยผลงานเชิงประจักษ์  "ถ้าคะแนน NT สูงก็แปลว่าครูโรงเรียนนั้นมีโอกาสได้โบนัสสูง” หรือได้เงินตอบแทนพิเศษมากกว่าครูในโรงเรียนที่ได้คะแนนต่ำกว่า ซึ่ง การกระทำนี้ น่าจะมีผลดีทำให้โรงเรียนหันมาสนใจกระบวนการสอนกันอย่างจริงจังมากขึ้น  หรือในกรณีที่ สำนักงานคณะกรรมการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) ได้ตกลงให้มีการนำผลการสอบ NTหรือ O-NET มาเป็นเงื่อนไขในการประเมินเพื่อเลื่อนวิทยฐานะครู ก็เป็นการตอบแทนในลักษณะเดียวกัน

ผมได้ชี้ให้ทุกคน มองผลในเรื่องนี้ ที่เป็นผลกระทบเชิงลบ คือ อาจส่งผลให้ครูทุกคนอยากไปสอนในโรงเรียนที่เด็กเรียนดี หรือโรงเรียนที่มีโอกาสคัดเลือกเด็กแบบ 100 % เพื่อหวังว่า "เด็กจะช่วยครู ให้ได้รับโบนัสสูง หรือเด็กช่วยให้ครูได้เลื่อนวิทยฐานะ  ยิ่งถ้าครูที่สอนไม่ดี ก็ต้องหวังพึ่งเด็กเยอะ ๆ"   โดยนัยนี้  "ครูอาศัยบารมีเด็กในการเลื่อนวิทยฐานะ(เด็กเก่งอยู่แล้ว ใครสอนก็เก่ง ผลการสอบระดับชาติ NT/O-NET ก็น่าจะสูงเป็นปกติอยู่แล้ว )"...เฮ้อ “ครูไม่ต้องช่วยเด็กเลย แต่เด็กกลับช่วยครูแทน”  

ปัญหาที่จะตามมาในเรื่องนี้ คือ ใครล่ะจะอยากไปสอนโรงเรียนที่เด็กเรียนอ่อน หรือเด็กในชุมชนที่ด้อยโอกาส  “สอนหนักเกือบตาย ทุ่มเททุกอย่าง แต่คะแนนก็ยังออกมาต่ำ หรือได้คะแนนใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยกลางของประเทศเท่านั้น”  ครูเลยไม่ได้โบนัส หรือไม่ได้เลื่อนวิทยฐานะสักที..ขอย้ายโรงเรียนดีกว่า(ไปอาศัยบารมีเด็กเอาดาบหน้า ไม่ใช่ไปตายเอาดาบหน้า) 

ในเรื่องนี้ ผมคิดว่า เราจะต้องให้ความสำคัญกับ “พัฒนาการ(Growth)ของผู้เรียน” ด้วย  ครูที่สอนเด็กกลุ่มอ่อนหรือกลุ่มแย่สุด ๆ ภายใต้สภาพแวดล้อมของชุมชนที่แย่มาก ๆ หากสามารถพัฒนานักเรียนให้เข้าใกล้ค่าเฉลี่ยกลางของประเทศ.. ผมว่า เขาเหล่านั้น คือ ครู “เกรด A (ครูที่สอนเด็กเกรด D แล้วสามารถพัฒนาเขาได้จนถึงเกรด C)  เขาเหล่านั้นควรได้รับโบนัสสูง และได้รับการเลื่อนวิทยฐานะเช่นกัน  ในทางตรงกันข้าม ครูที่สอนเฉพาะนักเรียนเรียนเก่ง พื้นฐานดี หรือ คัดเลือกมาทั้ง 100 % หากสามารถพัฒนาเด็กได้เพียงค่ากลางประเทศ หรือสูงกว่าค่ากลางนิดหน่อย...ครูเหล่านี้ น่าจะได้ “เกรด C

หมายเลขบันทึก: 187735เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2008 18:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 21:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

สวัสดีค่ะอาจารย์ พี่ชาย

  • ครูอ้อย  เห็นใจ เพื่อนครูที่ต้องสอนนักเรียนที่เรียนช้า  และได้คะแนน NT น้อย
  • แต่ไม่ได้หมายความว่า  เด็กๆ เหล่านั้น  จะไม่ได้เป็นเด็กดีนะคะ พี่ชาย
  • ช่วยด้วย หนูได้คะแนนน้อย แต่หนูอยากช่วยครูค่ะ.......

รักษาสุขภาพนะคะ

 

ครูปั้นดิน เป็นดาว สกาวใส

คือครูที่ ยิ่งใหญ่ ควรหวนหา

คนปั้นดาว เป็นดาวรุ่ง มุ่งตำรา

มีคุณค่า แต่ว่าต้อง มองอีกไกล

ครูบ้านนอก เด็กบ้านนา วาสนานิด

สอบไม่ติด ไม่ได้เพียร โรงเรียนใหญ่

กากกะทิ คั้นน้ำหมด รันทดใจ

ครูสอนได้ จนดี มีจรรยา

คศ.สาม สี่ให้ ใครได้หนอ

ใครเป็นต่อ เป็นรอง ต้องค้นหา

อย่ามุ่งเพียง ทำข้อสอบ ตอบตำรา

แล้วนำมา ประเมินผล คนเป็นครู

บริบท มากมาย ท่านไม่เห็น

เอกสารดีเด่น หรือเลิศหรู

สิ่งที่เห็น อาจไม่เป็น ดังที่รู้

จงฟังดู พินิจ คิดนานนาน

มิเคยคิด อิจฉา ค่าของครู

ที่ใฝ่รู้ เปลี่ยนแลก จนแตกฉาน

แล้วสั่งสม เจนจบ ประสบการณ์

เป็นผลงาน สู่เด็ก อเนกอนันต์

เหมือนครูอ้อย คนเก่ง เคร่งการสอน

สิริพร คนนี้ นี่ถึงขั้น

งานสู่เด็ก เด็กสู่งาน สานสืบกัน

สมควรได้ รางวัล ท่านทำมา

ชอบวิธีคิดของอาจารย์ครับ

ขอบคุณมาก :)

แนวคิดของท่านน่าคิดมากๆครับ

โรงเรียนเล็กๆที่ขาดปัจจัยทุกๆอย่างน่าเห็นใจมากๆสำหรับการใช้เกณฑ์เดียวกันเกือบทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องการประเมินของสมศ. การเลื่อนวิทยฐานะของครู

เรียน ครูอ้อย P

  • ครูอ้อยคงจะให้มองที่ความเป็นคนดีด้วย ผมเห็นด้วยครับ จะอย่างไรก็ตาม การประเมินด้านการเป็นคนดี อาจจะพิสูจน์ยากมาก ถ้าจะประเมิน แบบ 50000 โรง จะสียงงบประมาณมาก  เลยถือว่า "ความเป็นคนดี น่าจะรวมอยู่ในมาตรฐาน สมศ.แล้ว"
  • ผลการสอบ NT  O-NET จะเป็นตัวชี้วัดกลาง ๆ หรือไม้บรรทัดกลาง ในการประเมินโรงเรียน
  • ความสำคัญในเรื่องนี้ อยู่ที่ เราจะต้องให้ความสำคัญของครู โดยดูจาก "การพัฒนาเด็กให้มีความก้าวหน้า(GROWTH)"   ถ้าเด็กก้าวหน้า จะต้องให้คะแนนครู  ยิ่งครูที่สอนเด็กอ่อนแล้วก้าวหน้าสูง ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว(ถ้าสอนเด็กอ่อน แล้วประสบความสำเร็จใกล้เคียงกับค่ากลางประเทศ ก็น่าจะแปลผลได้ว่า "ครูยอดเยี่ยมแล้ว")

เรียน ครูพิสูจน์   P

  • เป็นบทกลอนที่ได้ความรู้สึกดีมากครับ   อ่านแล้ว เข้าใจ แจ่มแจ้งเลย
  • ขอบคุณมากครับ

 Pคุณ wasawat  และ คุณ โตP

  • ขอบคุณมากครับ ที่ชม/ให้กำลังใจ
  • กำลังคิด วิเคราะห์ ค้นหาเกณฑ์ หรือทางเลือกในการประเมินที่ให้ความยุติธรรมกับครูที่เสียสละสอนในโรงเรียนที่ไม่พร้อมครับ(ไม่ทราบเหมือนกันว่าจะนึกออกหรือไม่)
ธนะสิทธิ์ ศิริวรธรรม

เรียน ท่าน ดร.สุพักตร์ พิบูลย์

วันนั้นท่านเอ่ยถึงเรื่องโรงพยายาลใหญ่ๆ ที่มีความพร้อมรับรักษาคนไข้อาการหนัก (ขั้นวิกฤต)ไว้รักษา / เปรียบเทียบกับโรงเรียนที่มีความพร้อม เกือบทุกด้าน ว่าน่าจะรับนักเรียนที่มีฐานความรู้อยู่ในขั้นวิกฤตไว้สอนมากๆ ด้วยครับ

อมรรัตน์ รีกิจติศิริกูล

ได้อ่านบทความที่พี่เขียน

อยากบอกว่าบางโรงเรียนที่คนภายนอกดู

มองว่าเป็นโรงเรียนที่ดีเกือบร้อย

มันก็ยังมีเด็กที่ต้องรับการพัฒนาซ่อนอยู่

โรงเรียนขนาดเล็ก มีนักเรียน 82 คน มีครู 5 คน ไม่ครบชั้น จะทำอย่างไรให้ผลการประเมิน N.T./O-Net สูงขึ้น ตอนนี้แก้ปัญหาโดยใช้การสอนทางไกลผ่านดาวเทียมโรงเรียนวังไกลกังวล

  • จัดประชุมครู พร้อมกรรมการสถานศึกษาและแกนนำเครือข่ายผู้ปกครอง และเชิญตัวแทนศึกษานิเทศก์ จากเขตพื้นที่ เพื่อหารือแนวทางการพัฒนาร่วมกัน สัก 1-2 ครั้ง ผมคิดว่าน่าจะมีทางออกที่ดี

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท