บทเรียนเรื่องมะเขือเทศจาก พี่น้องชาวโซ่ที่ห้วยบางทราย


“ผมอยู่บนพื้นฐานความจริง และผมเผื่อความเสี่ยงไว้เสมอ” เพราะ “พี่น้องไม่ใช่เครื่องทดลอง”

สวัสดีครับ

ที่เมืองหงสา สปป.ลาว วันนี้ชุ่มฉ่ำด้วยฝนที่กระหน่ำเทลงมาตลอดช่วงบ่ายครับ ถนนหนทางที่ไม่มีสายไหนได้ ปูยาง จึงเต็มไปด้วยโคลนตม ไปไหนมาไหนที เลอะเทอะเปรอะเปื้อนไปหมด แถมไฟฟ้าก็ติดๆดับๆ ให้ได้ลุ้นอยู่ตลอดเวลา ยิ่งสัญญานอินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียมนี่ไม่ต้องพูดถึง นานๆถึงจะส่งเมล์หรือเข้า G2K ได้ทีหนึ่งครับ

แต่คนฟื้นฟูอาชีพ และวิถีชีวิตอย่างผม ก็ต้องฝ่าสายฝน และโคลนตม ออกไปพบปะพี่น้องไม่ได้หยุดได้หย่อน ตามบทบาทหน้าที่ที่เขากำหนดให้

ด้วยเหตุที่มี คนที่เขาคิดว่าเป็นเจ้านายงาน หลายฝ่ายทั้งไทย ลาว จีน จึงทำให้มีข้อคิดเห็นข้อท้วงติงหลากหลายมากมาย บางท่านก็ฝากให้คิดเรื่องพืชที่แปลกใหม่ พืชต่างถิ่น พืชที่ต้องการมือดูแลรักษา ชั้นเทพ และผมเองก็ถูกมองว่าชักช้า คิดมาก หรือคิดในเชิงอนุรักษ์ (conservative) เนื่องเพราะผมไม่สนองตอบ ไม่สนองฝัน ของท่านๆ ซึ่งผมได้ก็เรียนเขาไปว่า ผมอยู่บนพื้นฐานความจริง และผมเผื่อความเสี่ยงไว้เสมอ เพราะ พี่น้องไม่ใช่เครื่องทดลอง และ มีปัจจัยอื่นๆอีกมากมายที่มนุษย์ไม่สามารถควบคุมได้

ทำให้นึกถึงบทเรียนที่ได้จากการทำงานร่วมกับพี่น้องชาวโซ่แห่งห้วยบางทราย เป็นบทเรียนที่ดีในเรื่องของการส่งเสริมเกษตรแผนใหม่ หรือเกษตรเชิงประณีต ที่เป็นรูปแบบการผลิตที่ใหม่ต่อวิถีการหาอยู่หากินแบบ อิสระนิยม ของพี่น้อง รวมถึงบทเรียนด้านผลของสภาพดินฟ้าอากาศที่เราไม่สามารถควบคุมได้ ตลอดจนถึงความ ไม่รู้จริง ของบรรดานักส่งเสริมซึ่งหมายรวมถึงผู้บันทึกเองด้วย

ชาวโซ่ที่พังแดง เรียกมะเขือเทศว่า มะเขือเครือ การปลูกมะเขือเทศส่งโรงงานเป็นของใหม่สำหรับพี่น้อง เราได้ฝึกอบรม พาไปดูเกษตรกรที่ปลูกในอำเภอใกล้ๆ พาไปแวะชมโรงงาน ตลอดจนได้ปลูกเป็นแปลงศึกษาเรียนรู้ไปพร้อมๆกับพี่น้องด้วย ผลการทำAPRได้พบว่า โดยภาพรวมแล้วถือว่าเสมอตัว มีพี่น้องบางรายได้มีรายได้สองสามหมื่นบาท พี่น้องหลายรายพอมีรายได้ และพี่น้องอีกหลายรายแทบไม่ได้ผลผลิตเลย ซึ่งผมและทีมงานร่วมกับพี่น้องได้วิเคราะห์หาสาเหตุแห่งความผิดพลาดได้ดังนี้ 

·    ความเคยชินกับวิถีการผลิตแบบอิสระ หรือการไม่คุ้นเคยกับระบบการผลิตตามเวลา หรือการเกษตรแบบประณีตที่ต้องใช้ปัจจัยเสริมตามที่พืชต้องการ เช่น

o   โรงงานกำหนดให้เพาะเมล็ด ย้ายปลูก ใส่ปุ๋ยตามรุ่น ตามงวดเพื่อไม่ให้ผลมะเขือเทศเกินกำลังการผลิต แต่พี่น้องทำตามใจอยากทำ ปลูกเมื่อว่าง ปลูกแล้วฝากดินไว้ก่อน ไปขุดมันฯ ไปหาของป่าก่อน แล้วค่อยมาใส่ปุ๋ย ผลผลิตจึงออกไม่ทัน โรงงานปิดก่อนผลผลิตจะสุก

o     ไม่ใส่ปุ๋ยตามที่โรงงานแนะนำ เพราะไม่อยากลงทุน ผลผลิตจึงน้อย เกิดอาการผลเน่าจากการขาดโบรอน

o     ไม่กล้าใช้สารเคมี ทำให้หนอนเจาะผลเสียหายต้องคัดทิ้ง

·       ปัจจัยด้านดินฟ้าอากาศที่ควบคุมไม่ได้

o     เกิดฝนตกหนักเมล็ดไม่งอก ต้นกล้าเน่าตาย

o   เกิดโรค สรรพโรคระบาดทำลาย แจ้งไปที่โรงงานปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ส่งเสริมคนเดิมลาออก คนใหม่ไม่ค่อยรู้เรื่องมาดูแล้วบอกว่า จนด้วยเกล้า ต้องถามไปยังบริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์ที่กรุงเทพฯ อีกสิบวันถัดไปถึงแวะมาดูแล้ว พี่ท่านก็ ส่ายหน้า เก็บต้นไปตรวจก่อน

o   ผมและทีมงานต้องเก็บตัวอย่างไปส่งวิเคราะห์ที่ ม.ขอนแก่น พบว่าสรรพโรคที่ทำให้มะเขือเทศของพี่น้องตายแล้วตายอีกนั้นมีหลายสาเหตุเหลือเกิน

§       เป็นโรคเหี่ยวเขียว(เปรียบได้กับโรคเอดส์ของมะเขือเทศ)

§       โรครากเน่าจากเชื้อรา

§       โรคโคนเน่าจากเชื้อราอีกชนิดหนึ่ง

§       และถูกไส้เดือนฝอยโจมตีรากเป็นปมอีก

นึกดูสิครับท่านผู้ชม ว่าสาหัสเพียงไหน พี่น้องที่เพิ่งปรับเปลี่ยนจากการปลูกมันฯเป็นปีแรกจะท้อแท้ ตระหนก และเสียกำลังใจมากเท่าไร และเหน็ดเหนื่อยเพียงไหนสำหรับคนทำงานที่ต้องทุ่มเทความรู้ความสามารถทั้งหมดไปจัดการ ต้องแบกถังพ่นยาไป ต้องหาสารนั่นหายานี่มาให้พี่น้องทดลองใช้ (แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ได้ผลเอาเสียเลย)

แต่ทั้งหมดที่นำเสนอเป็นการวิเคราะห์ในรายที่ได้รับผลไม่เป็นที่น่าพอใจนะครับ ในส่วนที่น่าพอใจทั้งจากตัวพี่น้องเอง และเจ้าหน้าที่เองก็มีหลายรายอยู่ และทำให้ผมได้บทเรียนอีกหลายบท เช่น

·       หากใส่ปุ๋ยตามอัตราที่แนะนำก็จะได้ผลผลิตดี ต้นแข็งแรงไม่มีโรคระบาด

·       ปุ๋ยอินทรีย์สามารถใช้เสริมปุ๋ยเคมีได้

·       มีเกษตรกรรายหนึ่งที่พ่นน้ำหมักชีวภาพทุกสัปดาห์ พบว่ามะเขือเทศไม่เป็นโรคเหี่ยวเขียวเลย

·       เกษตรกรรายที่ใช้น้ำสกัดใบสะเดา สามารถป้องกันหนอนเจาะผลได้

สรุปแล้วพี่น้องไทบรู หรือชาวโซ่ห้วยบางทรายของผมก็มีของดีอยู่เหมือนกัน

 

กล่าวโดยรวมถือว่าพี่น้องไม่ขาดทุน (แต่อาจขาดทุนแรงงานที่ลงไป ส่วนค่าสารเคมี สารอินทรีย์ที่ใช้ๆกันนั้น มีใครไม่รู้ควักกระเป๋าซื้อไปฝากพี่น้องเป็นส่วนใหญ่) มีหลายรายปลูกแก้ตัวในฤดูแล้งซึ่งดูแลง่ายกว่าก็พอได้เงินมาชดเชย

แต่ที่แน่ๆ คือพี่น้องชาวโซ่ทุกรายนำเงินไปชำระค่าเมล็ดพันธุ์คืนครบหมด ยืนยันอีกครั้งว่า เรื่องความซื่อนี่ต้องยกให้พี่น้องของผม  

 

บันทึกนี้ตั้งใจจะทบทวนถึงบทเรียนที่ตัวเองได้พบ เพื่อที่จะใช้เตือนตัวเองในการทำงานกับพี่น้องชาวขะมุที่หงสานี้อีก แต่ไหนๆก็เรียบเรียงแล้ว จึงนำมาถ่ายทอดไว้ ลปรร. เผื่อมีนักส่งเสริมการเกษตรท่านใดจะมีข้อเสนอแนะ ...เชิญบรรเลงครับผม

หมายเลขบันทึก: 187622เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2008 09:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)
  • สวัสดีครับอ้าย เป-ลี่-ยน
  • ยังไม่มีข้อเสนอแนะครับ
  • แต่อยากจะแลกเปลี่ยน
  • งานปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตของพี่น้องฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง คงต้องดูผลจากทางฝั่งขวาไว้ให้มากๆ
  • การผลิตคงมีหลายเหตุผลว่า ผลิตไปเพื่ออะไร เช่น เพื่อการบริโภค (พึ่งพาตนเอง) หรือเพื่อการแข่งขันสร้างรายได้
  • ผมว่าแนวทางของพี่เปลี่ยนที่สื่อออกมาจากบันทึกคงเน้นที่แนวทางแรกเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้วครับ
  • เพราะทุกอย่างต้องอยู่บนพื้นฐานของความจริง  และเป็นตัวตนของเขา 
  • ความล้มเหลวของการเกษตรบ้านเราแสดงให้เห็นแล้วว่า  การผลิตที่มุ่งเน้นเพื่อการค้าการขายมากเกินไป มีแต่นำความเสียหายมาสู่สังคมในระยะยาว ซึ่งกลับสร้างปัญหาใหม่ๆ ตามมาอีกหลายปัญหา และวนมาให้ได้แก้ไขกันไม่รู้จบ
  • อิอิ...ไม่รู้ว่าแลกเปลี่ยนตรงประเด็นหรือเปล่า
  • ขอบคุณมากครับ 

สวัสดีค่ะ ถึงอย่างไรก็ต้องสู้นะคะ อย่ายอมแพ้ แพ้ได้แต่อย่าถอย เสียชื่อหมดเลย

อ้ายๆ เอาวสาว ๆมาฝากครับ สนใจอยากรู้จักตามไปที่บันทึกด่วนๆ

 

สวัสดีครับ

พ่อน้องไผ่ ยินดีที่ได้แลกเปลี่ยนครับ งานทางนี้ท้าทายแสนสาหัสครับ พี่น้องเดิมเป็นชาวนาอยู่ดีๆ ไปย้ายเขามาอยู่บนเขาสูงชันมากๆขนาดแถวเพชรบูรณ์นี่แหละ ต้องปรับเปลี่ยนวิถีการหาอยู่หากิน การหารายได้อย่างขนานใหญ่ รูปแบบการผลิตที่วางไว้ก็เพื่อเลี้ยงปากท้องก่อน แต่ต้องมีอีกแปลงหนึ่งไว้เป็นพืชหารายได้ครับ ตอนนี้ทำแปลงทดสอบ ทดลองวุ่นวายไปหมดครับ ขอบคุณครับ

ขอบคุณ P สำหรับกำลังใจ ครับ บันทึกความรู้ชุดงานบ้านของท่าน มีเสน่ห์น่าติดตาม และภาษาสวยดีครับ

น้องออต  มาช่วยกันเร็วๆ....มาช่วยกันตามหาสาวลาวนางนี้ ฮิๆๆ 

ขอบคุณสำหรับบทเรียนนะคะ ติดตามอ่านค่ะ ^ ^

  • สวัสดีครับพี่
  • วันก่อนเห็นรถบรรทุกท่อนมันสำปะหลังมาจอดหน้าสำนักงานซึ่งติดกับด่านศุลกากรเพียบเลย
  • คงปลูกมันกันมากนะครับ ฝั่งโน่น

เปลี่ยน

ท่านครูบาบอกว่าจะชวนน้องหมู ไปดงหลวงปลายเดือน กรกฎาคม ลองจัดแผนดูนะ อยากให้มาช่วงนั้น ได้วันที่แล้วจะส่งข่าว

ขอบคุณค่ะสำหรับบทเรียนนี้

นึกดูสิครับท่านผู้ชม ว่าสาหัสเพียงไหน พี่น้องที่เพิ่งปรับเปลี่ยนจากการปลูกมันฯเป็นปีแรกจะท้อแท้ ตระหนก และเสียกำลังใจมากเท่าไร และเหน็ดเหนื่อยเพียงไหนสำหรับคนทำงานที่ต้องทุ่มเทความรู้ความสามารถทั้งหมดไปจัดการ ต้องแบกถังพ่นยาไป ต้องหาสารนั่นหายานี่มาให้พี่น้องทดลองใช้ (แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ได้ผลเอาเสียเลย)

พี่...อย่าท้อแท้อย่าสิ้นหวัง
ยังมีพลังที่อยู่ข้างหลังส่งไปช่วย
เพื่อนพ้องพี่น้องมากมายส่งกำลังใจให้อีกเต็มกระบวย
ขอรอยยิ้มจาก paleeyon ส่งคืนมาด้วยก็เพียงพอ
                  ดูแลสุขภาพด้วยครับ
                                 รพี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท