สรุปสาระสำคัญวิชากฎหมายอาญาภาคทั่วไปครั้งที่ 1


ททํ มิตฺตานิ คนฺถติ ผู้ให้ย่อมผูกมิตรไว้ได้

เกริ่นนำเกี่ยวกับการเรียนกฎหมาย

 

          ผ่านไปแล้วหนึ่งสัปดาห์เต็ม ๆ น่ะครับ  สำหรับเพื่อนนิติภาคบัณฑิต ธรรมศาสตร์ รุ่น 51 ที่ได้เข้าสู่กระบวนการเรียนรู้นิติศาสตร์  เท่าที่สังเกตห้องเรียนยังคับคั่ง  ที่นั่งยังไม่ค่อยว่าง  สะท้อนให้เห็นว่า ทุกคนต่างมุ่งมั่นตั้งใจกับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง  สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ผมเองมีกำลังใจและตั้งใจที่จะสู้อย่างต่อเนื่องเช่นกัน (แม้ว่าจะยากลำบากมากขึ้น เพราะตอนนี้เปิดเทอมแล้วจึงมีภาระงานการสอนเข้ามาเกือบทุกวัน)  

                    อุปสรรค  หนักหนา  มาขวางกั้น

                    สาระพัน  ปัญหา  มารุมสุม

                    หลากหลาย  ภาระกิจ  ให้คิดกลุ้ม

                    แต่ยังทุ่ม  เทใจ  ใฝ่เรียนรู้

                    นิติศาสตร์  ศาสตร์สำคัญ  มุ่งมั่นเรียน

                    ด้วยพากเพียร  เพียรฝักใฝ่  ใจทนสู้

                   สักวันหนึ่ง  คงสม อารมณ์กู่

                   บรรลุสู่  บัณฑิต  สมคิดเอยฯ

          ขอใช้บทกวีบทนี้เป็นสัญญาใจสำหรับตนเองและขอเป็นกำลังใจสำหรับเพื่อน ๆ น่ะครับ  คงเหลืออีกไม่นานเกินรอ   ประมาณ 1,090 วันเอง  ที่เราจะบรรลุเป้าหมายในการเรียนนิติภาคบัณฑิตด้วยกัน  สู้ ๆ ครับ

          เอาล่ะครับ  เข้าเรื่องวิชากฎหมายอาญาภาคทั่วไป  210  กันดีกว่าครับ  ผมเองต้องขออภัยด้วย  ที่สรุปวิชานี้ช้าไปหน่อย  (หลายท่านคงรออ่านอยู่)  กลับจากเรียนที่ มธ. แต่ละคืนก็พยายามครับ  พยายามจับประเด็นที่จดมาพิมพ์ใส่คอมไว้  แต่ไม่ได้นำมาขึ้นบล๊อกเพราะยังไม่เสร็จ วันนี้ก็เลยขอสาระการเรียนที่ได้สรุปจากการบันทึกการบรรยายของอาจารย์มาแบ่งปันกันเช่นเคยครับ

          วิชากฎหมายอาญาภาคทั่วไปนี้  ท่านอาจารย์ผู้บรรยายคือ รศ.แสวง  บุญเฉลิมวิภาศ เมื่อวันพฤหัสบดี(ที่ 5 มิ.ย.)ที่ผ่านมาเป็นวันแรกของการเรียน  ซึ่งท่านอาจารย์ได้บรรยายในเชิงปฐมนิเทศ ชี้แนะเรื่องการเรียนเป็นเบื้องต้น   เหมือนอย่างวิชาอื่น ๆ ที่วันแรกก็ยังไม่เข้าเนื้อหาของวิชามากนัก   แต่ก็เป็นเรื่องที่ดีครับ  เพราะทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจ   เห็นความสำคัญของการเรียนกฎหมาย  ได้แนวทางในการเรียนและมีกำลังใจที่จะเรียน   จากนั้นวันศุกร์ (ที่ 6 มิ.ย.) ที่ผ่านมา จึงค่อยเข้าเนื้อหามากขึ้น  รอบนี้ขอสรุปรวมกันทั้งสองวันก็แล้วกันน่ะครับ

 

สาระสำคัญเบื้องต้นเกี่ยวกับการเรียนกฎหมาย

 

          ท่านอาจารย์ได้ชี้แจงว่า การเรียนกฎหมายของธรรมศาสตร์จะหนักไปทางทฤษฎี ไม่ใช่ท่องจำตัวบทอย่างเดียว   ต้องเข้าใจด้วย  ถ้ามีความเข้าใจประกอบก็เป็นศาสตร์  ถ้าตรงกันข้ามกันคือจำอย่างเดียว  ไม่เข้าใจก็เป็นการจำแบบไม่รู้เรื่อง ไม่เป็นศาสตร์  ท่านเล่าต่อว่า  ที่อเมริกา คนที่จะเรียนนิติศาสตร์ได้ต้องจบปริญญาตรีมาก่อน  และมีการวิจัยพบว่า  สาขาที่จบมาแล้วเรียนนิติศาสตร์ได้ดีก็คือ คณิตศาสตร์  แสดงให้เห็นว่านิติศาสตร์ไม่ใช่ศาสตร์ของความจำแต่เป็นศาสตร์ของความเข้าใจ (คนที่เรียนคณิตศาสตร์ต้องตีโจทย์  ต้องเข้าใจคำถามและคำนวณออกมาตามสูตรทางคณิตศาสตร์  เช่น เดียวกับนิติศาสตร์ที่ต้องเข้าใจข้อเท็จจริงหรือคดีต่าง ๆแล้วนำตัวบทกฎหมายมาปรับบทเพื่อแก้ปัญหาหรือหาข้อยุติในกรณีนั้น ๆ )

          กฎหมายนั้นบางทีก็เขียนไว้ชัดได้  แต่บางทีก็เขียนแบบพรรณนาไม่ได้  ต้องใช้หลักการตีความ  ซึ่งหากตีความด้วยศาสตร์จริง ๆ ก็แก้ปัญหาได้  ยกตัวอย่างง่าย     เช่น  จะเขียนว่า ห้ามบ้วนน้ำลาย  น้ำหมาก  ทิ้งขยะ  ...(อื่น ๆ อีกมาก)  ลงบนรถ  มันเขียนได้ไม่หมด  เพราะถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่งมันก็ไม่ครอบคลุม  สิ่งต่าง ๆ ที่จะทำให้รถสกปรกมีมากมาย  เพราะฉะนั้น ทางที่ดีควรเขียนว่า ห้ามทำรถสกปรก  เมื่อใช้หลักการตีความก็จะเข้าใจได้ว่าทำอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเป็นเหตุให้รถสกปรกนั้น  ไม่ได้   อย่างนี้เป็นต้น  ในการเขียนกฎหมายก็อาศัยหลักอย่างนี้  แต่การตีความก็ไม่ใช่ตีความแบบเล่นคำ  เช่น  ป้ายบอกว่า  ห้ามจอดตลอดแนว  ก็นัดกันไปหลายคน  ตกลงกันว่าเราจะจดเป็นหย่อม ๆ  อย่างนี้ไม่ได้  เล่นคำไม่ได้   ต้องตีความด้วยศาสตร์หรือด้วยหลักการเหตุผล

          การตีความกฎหมายนั้นต้องตีความถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย  ไม่ใช่ตีความตามอักษร  จึงเป็นเหตุผลที่ต้องมีการเรียนการสอนนิติศาสตร์  ไม่ใช่ทำความเข้าใจกันด้วยความรู้สึกทั่ว ๆ ไป  เวลาเขียนตอบคำถามก็ต้องเขียนให้เป็น  ในขั้นตอนการเรียนก็ต้องฝึกสงสัยและถาม  ก่อนเรียนถ้าให้ดีก็ควรอ่านหนังสือมาก่อนอย่างน้อย 1 รอบ

          ตัวบทต้องท่องหรือไม่ ?   ไม่  มันมีวิธีที่จะถ่ายทอด ไม่จำเป็นต้องใช้ถ้อยคำแบบตัวบท  วิธีเขียนเราก็สรุปตัวบทเป็นคำให้สื่อหลักเหมือนตัวบท  ที่สำคัญ อย่า!ไปเขียนว่า บัญญัติว่า  คำที่ตามมาต้องเหมือนตวบท  แต่ให้ใช้คำว่า วางหลักไว้ว่า  ซึ่งเราก็สรุปหลักกฎหมายตามตัวบทนั้น

          ในการเรียน หากจับประเด็นได้จะเห็นว่า การเรียนกฎหมาย ไม่ได้เรียนเรียงตามลำดับมาตรา  มันมีชุดของมัน  มันเชื่อมโยงกัน  บ้างก็มีการอ้างอิงกันไว้อย่างชัดแจ้ง  บ้างก็เชื่อมโยงในลักษณะละเว้นคำที่กล่าวไว้แล้วเสีย  การจะเข้าใจกฎหมายจะดูแต่คำในตัวบทอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูหลักด้วย  เช่น  มีหลักทั่วไปในมาตรา  59 ว่า  บุคคลจะต้องรับผิดทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  แต่มาตรา  288  ละคำว่า เจตนา ไว้  ดังความว่า ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุก ตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี   แม้ไม่มีคำว่า เจตนา อยู่  แต่ก็มีความหมายเหมือนกัน  คือ ฆ่าโดยเจตนาหรือมีเจตนาฆ่า  เพราะหลักทั่วไปวางไว้แล้วอย่างนั้น 

                กฎหมายอาญา คือ อะไร ?   ตอบสั้น ๆ ได้ว่า  กฎหมายที่ว่าด้วยความผิดและโทษ  โทษในทางอาญานั้น (ตามมาตรา 18) มีดังนี้ (1) ประหารชีวิต (2) จำคุก (3) กักขัง (4) ปรับ
(5) ริบทรัพย์สิน         

 

          (ยังมีอีกน่ะครับ  แต่ขอเพิ่มเติมพรุ่งนี้ก็แล้วกัน...ขอเอวังเท่านี้ก่อนครับ)

         

หมายเลขบันทึก: 187598เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2008 04:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 18:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณค่ะ คุณญาณภัทร ยังไม่มีโอกาสเข้าเรียนเลย เนื่องจากติดภาระกิจสอนค่ะ คิดว่ากลางเดือนกรกฏาคม จะได้พบกันค่ะ

เรียนเขียนสรุปต่อไวๆนะครับ ขอบคุณมากครับ แล้วไม่ทราบว่าจะหาข้อสอบเก่าๆได้ที่ไหนบ้างครับ รบกวนด้วยนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท