ระบบการรับรองวิทยะฐานะสถาบันอุดมศึกษา (Accreditation)


แต่ถ้าจะให้ดี ผมอยากเสนอแนะให้ สกอ. ศึกษากรณีของ ENQA (European Network for Quality Assurance) ให้ดี จะพบว่าเขาทำ Accreditation ระดับหลักสูตร เพื่อให้เกิดมาตรฐานที่เท่าเทียมกัน และสามารถเทียบโอนหน่วยกิต (credit transfer) ระหว่างสถาบัน/ระหว่างประเทศในกลุ่ม EU ได้ ซึ่งถ้าทำทำนองนี้ (ประยุกต์ใช้) ผมเห็นด้วยเต็มที่

         กำลังจะมี “มือที่ 3” (ที่ยังมองไม่เห็น) มา accredit สถาบันอุดมศึกษาไทยในอีก 3 ปีข้างหน้า และถ้าสถาบันอุดมศึกษาไหนไม่ผ่านการรับรอง (Accreditation) ก็จะต้องยุติการจัดการเรียนการสอนโดยทันที (อ้างอิงจากเอกสารร่างนโยบาย หลักการฯ หน้า 3)

         วันศุกร์ที่ 6 มิ.ย.51 ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ สกอ. (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา) ได้จัดให้มีการนำเสนอ “ระบบการรับรองวิทยฐานะสถาบันอุดมศึกษาและเกณฑ์มาตรฐานสถาบันอุดมศึกษา” เพื่อให้อธิการบดี และ/หรือ ผู้แทนจากทั่วประเทศได้อภิปรายและให้ข้อเสนอแนะ

         ตามกำหนดการจะมีการอภิปรายและให้ข้อเสนอแนะ ทั้งภาคเช้าและภาคบ่าย แต่เอาเข้าจริง ๆ มีแค่ภาคเช้า และมีคนอภิปรายได้เพียงประมาณ 10 คนเท่านั้น (จากประมาณ 200 คน) ในบรรยากาศที่ สกอ. ขอที่จะไม่ยอมตอบคำถามใด ๆ (เน้นฟังและเก็บข้อคิดเห็นกลับไปเพื่อจะได้อ้างว่าเกิดการมีส่วนร่วมจากสถาบันอดมศึกษาทั่วประเทศแล้ว และจะได้ไม่ถูกกล่าวหาอีกครั้งว่า “คนทำไม่ได้คิด คนคิดไม่ได้ทำ”)

         ภาพรวมของการนำเสนอและการอภิปราย คือ

         1. เรื่องแนวคิด ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า เป็นเรื่องดีที่จะต้องมีระบบอะไรสักอย่าง เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค และเป็นการรับผิดชอบต่อสังคม มีหลายท่านอภิปรายให้กำลังใจ สกอ. ในจุดนี้

         2. เรื่องการปฏิบัติ ผู้อภิปรายเกือบทั้งหมด ไม่เห็นด้วยกับวิธีการของ สกอ. และขอให้ สกอ. ไปทบทวนความคิดเสียใหม่ หลายท่านแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง (แต่อภิปรายอย่างสุภาพ)

         ข้อเสนอแนะของผมที่ไม่มีโอกาสได้พูดในที่ประชุม และยังไม่มีใครพูดถึง ก็คือ

         1. ในช่วงพิธีเปิด สกอ. สรุปว่า เรื่องนี้ สกอ. เป็นต้นคิด และกำลังจะนำเสนอ กกอ. (คณะกรรมการการอุดทศึกษา) ให้มีการลงมือปฏิบัติในอีก 3 ปีข้างหน้า (ก่อนอภิปรายก็มีการเน้นในจุดนี้มากว่า เป็นเรื่องอนาคตและจะไม่เป็นภาระกับผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาที่อยู่ในห้องประชุมขณะนั้น กล่าวคือ ทุกท่านที่กำลังจะอภิปราย คงจะหมดวาระกันไปหมดแล้ว)

         สกอ. กล่าวว่า สกอ. มีหน้าที่เป็นเลขานุการให้กับ กกอ. ซึ่งมีหน้าที่กำหนดนโยบาย กำหนดมาตรฐาน ให้การสนับสนุนและติดตาม/ตรวจสอบ/ประเมินผลสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ หน้าที่ทัง้หมดนี้ สกอ. บอกว่าได้ทำมาหมดแล้ว ยกเว้นเรื่องสุดท้าย คือ ติดตาม/ตรวจสอบ/ประเมินผล จึงได้คิดริเริ่มที่จะทำ แต่ว่าจะเอาใครมาทำการ accreditation นั้น สกอ. บอกว่า อยากให้เป็น “มือที่ 3”

         ซึ่งในจุดนี้ผมขอแสดงความเห็นว่า “มือที่ 3” ที่ สกอ.ยังมองไม่เห็นนั้น ความจริงน่าจะมีอยู่แล้ว เป็นองค์กรอิสระตาม พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ 2542 ซึ่งก็คือ สมศ. (สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา) สกอ. น่าที่จะประสานงานกับ สมศ. เพื่อทำในจุดนี้ให้ดี จะได้ไม่ต้องทำอะไรที่ซ้ำซ้อนกัน ทำให้เสียเวลา เสียเงินทองของประเทศชาติ

         แต่ถ้า สกอ. ยังคงยืนยันว่าเป็นหน้าที่ ที่ สกอ. จะต้องทำ ผมก็ขอเสนอแนะต่อว่า ก่อนที่จะให้ “มือที่ 3” ไปทำการ accredit ใครนั้น ตัว “มือที่ 3” เอง ควรที่จะต้องถูก accredit ก่อน เพื่อจะได้มีมาตรฐานเดียวกันในการประเมิน (เพราะมีผลถึงต้องยุติการจัดการเรียนการสอนโดยทันที) และเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนและสับสนในผลการประเมินที่มาจากหลายค่าย ผมก็ขอเสนอแนะ ให้ยุบ สมศ. เสียเลย จะทำให้ประหยัดเงิน ประหยัดเวลาของทุกฝ่ายได้ด้วย

         2. ที่ผมแสดงความคิดเห็นในเชิงไม่ค่อยจะเห็นด้วยในข้อ 1. นั้น เนื่องจากว่า วิธีการและหลักการของ สกอ. ที่นำเสนอนั้น คล้ายกันมากกับของ สมศ. และถ้าจะว่าไปตามความจริงแล้ว ของ สมศ. จะดูดีกว่าด้วยซ้ำ กรอบระยะเวลาการประเมินก็ทุก 5 ปีเท่ากับ สมศ. โดยสรุปคือ ผมไม่เชื่อว่า วิธีการนี้ของ สกอ. จะทำให้อุดมศึกษาไทยดีขึ้น ไม่เป็นการคุ้มครองผู้บริโภคที่แท้จริง ทำให้เกิดความสับสน และเสียเงินเสียเวลาของประเทศชาติโดยใช่เหตุอีกต่างหาก

         แต่ถ้าจะให้ดี ผมอยากเสนอแนะให้ สกอ. ศึกษากรณีของ ENQA (European Network for Quality Assurance) ให้ดี จะพบว่าเขาทำ Accreditation ระดับหลักสูตร เพื่อให้เกิดมาตรฐานที่เท่าเทียมกัน และสามารถเทียบโอนหน่วยกิต (credit transfer) ระหว่างสถาบัน/ระหว่างประเทศในกลุ่ม EU ได้ ซึ่งถ้าทำทำนองนี้ (ประยุกต์ใช้) ผมเห็นด้วยเต็มที่ เพื่อที่ สกอ. จะได้มีระบบและกลไกที่จะมาติดตาม/ตรวจสอบ/ประเมิน “หลักสูตร” ต่าง ๆ ที่ สกอ. ได้อนุมัติ/เห็นชอบ ให้สถาบันอุดมศึกษามาทำการผลิตบัณฑิตนั้น ว่าได้มีการดำเนินการตามมาตรฐานที่ สกอ. กำหนดไว้จริงหรือไม่ เป็นการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างแท้จริง ทำให้เกิด credit transfer จากวิทยาลัยชุมชนสู่มหาวิทยาลัย 4 ปีได้ และจากระหว่างสถาบัน / ระหว่างประเทศในกลุ่ม Asian ให้มีความเป็นไปได้ในอนาคต และยังไม่ซ้ำซ้อนกับบทบาทของ สมศ. อีกด้วย

         ผมอาจจะยังคิดไม่รอบคอบก็ได้ อยากให้ทุกท่านช่วยแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมด้วยครับ เพื่ออนาคตของอุดมศึกษาไทยโดยรวม (สามารถดูรายละเอียดเกี่ยวกับ accreditation ของ สกอ. เพิ่มเติมได้ที่ www.mua.go.th)

 

 

         วิบูลย์ วัฒนาธร

หมายเลขบันทึก: 186782เขียนเมื่อ 8 มิถุนายน 2008 02:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 18:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ขอบพระคุณอาจารย์สำหรับข้อมูลข่าวสารค่ะ

ตกข่าวไปเยอะเลย ไม่ได้รู้ว่าเขาจะมีการรับรองวิทยฐานะสถาบันฯกัน

ฟังเรื่อง"มื่อที่๓" ประกอบกับเหตุผลที่ สกอ.บอกว่าทำแล้ว แต่ยังขาดในเรื่องติดตาม/ตรวจสอบ/ประเมินผล จริงๆ แล้ว สกอ.อาจจะเข้าใจผิดหรือไม่ว่าการตรวจสอบนั้นควรจะตรวจสอบตัวเองด้วย ว่าที่ทำมาเบื้องต้นนั้นได้ผลขนาดไหน ไม่ใช่มาดูว่าหลักสูตรนั้นดี/ไม่ดี ควรเปิดต่อ/ปิดตัวลง เพียงอย่างเดียว.. บางทีการสะท้อนดูผลงานตนก่อนตรวจสอบคนอื่นน่าจะเป็นผลดีกว่า

รู้สึกว่า สกอ.กับสถาบันการศึกษาไม่ได้เกื้อหนุนการทำงานซึ่งกันและกันเลย.. รู้สึกอนาถกับระบบการอุดมศึกษาไทยจังค่ะ

ขอบพระคุณสำหรับข้อมูลข่าวสารและข้อคิดเห็นอีกครั้งค่ะ

หมายเหตุ: ไปหาเรื่องวิทยฐานะที่เวบของสกอ.แล้วยังไม่เจอค่ะ

สวัสดีครับพี่วิบูลย์

บันทึกนี้ดีมากเลยครับ ขอบคุณครับ จะได้เข้าใจเรื่อง

ผมขอสนับสนุน ความคิดเห็นครับ

  • ตรงนี้ต้องชัดเจนเรื่องบทบาทขององค์กรที่จะตั้งใหม่  ที่ผ่านมาเป็นที่ทราบดีอยู่แล้วว่า สมศ เป็นองค์กรอิสระ ที่ทำหน้าที่ดังกล่าวแล้ว
  • ทำให้การถ่ายโอนหน่วยกิตได้ เป็นความคิดที่ดีมากครับ ถ้าถ่ายโอนกันได้ก็แสดงว่ายอมรับในมาตรฐานของกันและกัน (ในหลักสูตรนานาชาติ ถ้าถ่ายโอนกับมหาวิทยาลัยต่างชาติได้ก็แสดงให้เห็นว่า มาตรฐานนั้นอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ วิธีนี้สวยงามและดูจากการสะท้อนของมหาวิทยาลัยกันเอง)

สวัสดีครับท่านอาจารย์

  1. บันทึกนี้เป็นประเด็นที่น่าสนใจมากเลยครับ ขอบคุณมากครับที่ท่านอาจารย์นำมาเสนอไว้ให้ได้ขบคิดร่วมกันต่อไป
  2. เมื่อต้องเกี่ยวข้องกับคุณภาพ ตัวผู้ประเมินต้องมีทั้งคุณภาพและประสิทธิภาพด้วย
  3. การประกันคุณภาพเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็อดห่วงไม่ได้ว่า ถ้าไม่มององค์รวมและออกแบบร่วมกันให้ดี อาจเกิดปัญหาการทับซ้อนกันขึ้นมาได้
  4. อย่า "ขี่ช้างจับตักแตน" อย่าใช้เงินสุรุ่ยสุร่ายเพราะเราไม่ใช่ประเทศที่มีเงินถุงเงินถังนะครับ
  5. เขียนไปเขียนมาก็งง ผมว่า ปัญหาข้อ 2,3,4 น่าจะเป็นปัญหาของ สมศ. มากกว่านะครับ หรือว่า เจ้า Accreditation จะเหมาะสมกับมหาวิทยาลัยกว่าเจ้า สมศ. ครับ งง

 

  • ประเด็นที่เกี่ยวกับ สมศ. จริง ๆ แล้วปัญหาการประกันคุณภาพในระดับมหาวิทยาลัย ผมว่าไม่ค่อยมีปัญหามากนัก  แต่จะมีปัญหาในระดับประถม มัธยม ทั้งนี้เพราะมีจำนวนมากเหลือเกิน ทำให้ดูแลลำบากครับท่านอาจารย์

การรับรองสถาบันจากหลากหลายหน่วยงาน ดูแล้วเป็นเรื่องดี แสดงความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้ แต่ต้องอยู่บนความคุ้มค่า เพียงพอ และที่สำคัญอีก 3 ปี ผู้บริหารปัจจุบันก็จะหมดวาระ น่าคิดว่า... จะมีใครอยากมาเป็นผู้บริหารเพื่อรับช่วงต่อในการเข้าสู่กระบวนการรับรองวิทยะฐานะของสถาบัน

- ขอบคุณทุกท่านครับ ที่ให้ความสนใจและเข้ามาแสดงความคิดเห็น

- ท่านที่สนใจรายละเอียดสามารถดาวน์โหลดได้ที่ www.mua.go.th สำนักมาตรฐานและประเมินผลอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา

- สำหรับบางท่านที่ยังงง ผมขอเพิ่มเติมดังนี้ครับ คือ สกอ.กำลังคิดจะทำ accreditation ระดับสถาบัน ด้วยวิ๊ธีที่ผมคิดว่าซ้ำซ้อนกับของ สมศ. ผมจึงไม่ค่อยจะเห็นด้วยนัก และแนะนำ สกอ.ว่าถ้าจะทำจริง ๆ ก็ขอให้ศึกษากรณีของ Accredit Council (AC) ของ EU (ENQA)ซึ่งผมเห็นว่าน่าที่จะมีประโยชน์มากกว่า

- ประเด็นที่เกี่ยวกับ สมศ. ทุกระดับมีปัญหามากครับ แต่ในเชิงเปรียบเทียบแล้ว อุดมศึกษาดูจะมีปัญหาน้อยกว่า

เรียน ท่านอาจารย์ที่เคารพ

ต้องขอบคุณสำหรับข่าวที่อาจารย์นำเสนอมา สำหรับมหาวิทยาลัยใหม่ที่ยังไม่ผ่านการประเมินรอบ 2 อย่างนราธิวาสราชนครินทร์ ดูแล้วน่าเป็นห่วยยิ่งนัก หากมือที่ 3ที่อาจารย์กล่าวถึงจะเข้ามามีบทบาทในการกำหนดชะตากรรม แค่ลำพังคนในประเทศจะเดินทางมาที่นราธิวาสต่างก็หวาดกลัวพออยู่แล้ว หากสถาบันการศึกาไม่สามารถเปิดสอนได้ คนใต้ตอนล่างจะเป็นอย่างไร

เห็นด้วยกับอาจารย์ค่ะเรื่องการต่อเนื่องระหว่างหลักสูตรของวิทยาลัยชุมชนกับสถาบันอุดมศึกษา เพราะนี่นคือ ประโยชน์ที่แท้จริงที่จะเกิดกับประเทศชาติในอนาคต

ทิพยวรรณ นราธิวาส

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท