การประชุมที่มีประสิทธิภาพที่สุดเท่าที่เคยจัดมา


ถ้าในอนาคต สมองของมนุษย์ จะต่อตรงและสามารถ download ความคิดเข้าไปยังคอมพิวเตอร์ได้โดยตรงจริง ๆ เหตุการณ์สั้น ๆ ในวันนี้ ก็น่าจะเป็นเค้าราง ของอนาคตแบบนั้นได้

ฟ้าครับ

ผมมีโอกาสได้มีส่วนร่วม ในการจัดประชุม ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ที่เคยเห็นจัดกันมา เมื่อวันอังคารที่ 3 มิ.ย. 2551 นี้เอง

ที่ว่าได้ร่วมนั้น ก็เพียงร่วมจัดในด้าน การออกแบบและเตรียมการประชุม (ที่ตอนนั้นยังไม่ค่อยแน่ใจด้วยซ้ำว่าจะได้ผลหรือไม่) เรียกว่าเป็น kick-off meeting สำหรับโครงการมองอนาคต ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย ผู้จัดตัวจริงคือ สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) ภายใต้คณะทำงานที่นำโดย ศ. ดร. อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) โจทย์คือมองหาภาพอนาคตระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศ ในเวลา 10 ปีข้างหน้า ทั้งที่อาจเป็นไปได้ และที่พึงปรารถนา (ซึ่งไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน และมักไม่ค่อยเหมือนกันด้วย)

เราเตรียมงานนี้มานานหลายเดือน ทบทวนวรรณกรรม ย่อยรายงานทบทวนต่าง ๆ ออกมาให้เหลือสรุปสั้น ๆ สำหรับเป็นข้อมูลพื้นฐาน และเลือกใช้รูปแบบการระดมความคิดด้วยวิธีการเดลฟาย (Delphi) ที่มีหลักการอยู่สามข้อ คือ

  1. Anonymous (ผู้เข้าร่วมไม่เห็นซึ่งกันและกัน หรือโดยปริยายคือหมายความว่า ออกความเห็นของตัวเอง โดยไม่ทราบว่าคนอื่นแต่ละคนมีความเห็นว่าอะไร)
  2. Iteration (มีการทำซ้ำ คือให้ความเห็นในเรื่องเดียวกันได้หลายรอบ)
  3. Controlled feedback (ป้อนความเ็ห็นรวมที่ได้จากกลุ่ม กลับไปยังผู้เข้าร่วม เพื่อให้โอกาสพิจารณาทบทวนความเห็นของตนเอง)

เกี่ยวกับเรื่องอนาคตของหลักประกันสุขภาพนี้ เราได้พัฒนาชุดคำถามขึ้นมา (เฉพาะส่วนนี้ก็กินเวลาหลายเดือน) ได้ในที่สุด 26 คำถาม แบ่งเป็นคำถามเกี่ยวกับค่านิยมหรือเป้าประสงค์ และผลกระทบของปัจจัยผลักดันรวมถึงความไม่แน่นอนต่าง ๆ ที่มีต่อค่านิยมหรือเป้าประสงค์เหล่านั้น ผู้เข้าร่วมโครงการ ที่เราได้ส่งจดหมายออกไปเชิญมาร่วมระดมความคิด มีจำนวนประมาณ 70 ท่าน ทุกท่านเป็นผู้ที่ปรากฏชัดเจนว่ามีความรู้ในประเด็นคำถามเหล่านี้ อยู่ในแวดวงอาชีพต่าง ๆ ในจำนวนนี้มีแพทย์อยู่มาก และเป็นผู้บริหารองค์กรก็มีไม่น้อย

อย่างที่บอกไว้ว่า วิธีการนี้จะต้องให้ผู้เข้าร่วมตอบคำถามเดียวกันซ้ำ ๆ เราจึงได้พัฒนาโปรแกรมให้ตอบคำถามได้ทางอินเตอร์เน็ท และทุกครั้งที่มีคนเข้ามาตอบ ผลก็จะถูกประมวลสะสมไปเรื่อย ๆ เมื่อคนเดิมเข้ามาดูแบบสอบถามในรอบต่อไปก็จะเห็นว่า ความเห็นของกลุ่มยังเหมือนเดิมหรือเปลี่ยนไปไหม อย่างไร โดยไม่มีใครรู้เลยว่า คนอื่นแต่ละคนตอบว่าอย่างไร

คล้าย ๆ กับเป็นแบบสอบถามที่มีชีวิต พอนึกภาพออกใช่ไหมครับ นี่เป็นที่มาของคำว่า Real-time Delphi

ในที่สุดทีมงานได้ตัดสินใจเชิญผู้ที่เข้าร่วมมาพบกันก่อนหนึ่งครั้ง เพื่ออธิบายทำความเข้าใจแบบ face-to-face จึงเรียกว่า kick-off meeting ก็มีมาเป็นจำนวน 40 ท่าน จากทั้งหมด 70 ตรงตามที่มีการตอบรับมาล่วงหน้า ทุกที่นั่งจะมีโน้ตบุคคอมพิวเตอร์เตรียมไว้ให้แล้ว ทุกคำถามที่ตอบจะถูกส่งเข้าประมวลผลยัง server  และแสดงผลรวมให้กลุ่มเห็นได้ทันที อาจารย์อัมมาร์เปิดการประชุมสั้น ๆ ขอให้ผู้อาวุโสที่ถูกเชิญมาทุกท่านเป็นนักเรียนที่ดี อย่าลอกข้อสอบคนข้าง ๆ คุณหมอจิรุตม์ (รองศาสตราจารย์ นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิจัยโครงการฯ) อธิบายที่มาที่ไปของโครงการ ส่วนผมก็อธิบายวิธีตอบแบบสอบถาม

ยังไม่ทันไร ท่านผู้เข้าร่วมก็ตอบคำถามกันใหญ่ สลับด้วยการซักถามอภิปรายบ้าง แต่ไม่มีการอภิปราย ถกเถียงหรือโน้มน้าวในประเด็นคำถาม ไม่มีการพรรณนาโวหาร อันนี้เราห้ามเด็กขาด เพื่อไม่ให้ความเห็นส่วนบุคคลของคนหนึ่ง ไปมีอิทธิพลต่ออีกคนหนึ่ง เพียงเพราะเห็นว่าคนพูดเป็นใคร อันนี้ก็คือหลักการข้อแรกของเดลฟายนั่นเอง

ในคำถามแต่ละข้อจะมีปุ่มให้ผู้ตอบสามารถแสดงเหตุผลออกมาเป็นคำพูดของตัวเองได้ด้วย น่าประหลาดใจที่เราได้รับเหตุผล ว่าทำไมจึงคิดอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นจำนวนมากกว่าที่คิดไว้ แทบทุกข้อมีเหตุผลประกอบนับสิบ ๆ เลยทีเดียว

คนสี่สิบคน นั่งคิดนั่งตอบคำถามเงียบ ๆ อยู่ในห้อง เพียงไม่ถึงสองชั่วโมง คนส่วนใหญ่ก็ตอบเสร็จอย่างน้อยหนึ่งรอบ (ยกเว้นท่านที่มาทีหลัง) หลายท่านกลับไปดูผล ทบทวน และแก้คำตอบใหม่ (ซึ่งยอมได้ และสอดคล้องกับหลักการของเดลฟาย) ความเห็นของกลุ่มเริ่มขมวดเข้าหากันโดยธรรมชาติ ไม่มีใครบังคับ ไม่มีใครใช้ความเป็น "ผู้เชี่ยวชาญ" โน้มน้าวใคร

สารภาพว่า เราจองห้องประชุมเผื่อไว้ถึงบ่ายสามโมง แต่การประชุมต้องปิดเมื่อตอน 11.30 เพราะทุกคนทำข้อสอบเสร็จหมดแล้ว และหลายท่านยัง "มัน" อยากจะตอบคำถามอีก เราจึงได้แต่บอกว่า จากนี้ไปราวสองสัปดาห์ จะมีอีเมล์แจ้งไปให้ทราบว่า ท่านควรเข้ามาดูแบบสอบถามและตอบอีกครั้ง เพราะว่าผลของกลุ่มเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นแล้ว ตามจำนวนคนที่เข้ามาตอบที่มากขึ้น โครงการนี้ปิดรับความเห็นในวันที่ 3 กรกฎาคม จากนั้นจะนำข้อมูลไปพัฒนาเป็น ภาพอนาคต (scenario) ระบบหลักประกันสุขภาพไทยครับ เชิญทุกท่านรับประทานข้าวกลางวัน และกลับบ้านได้เลย!

ผลพลอยได้คือ เราได้รับข้อคิดเห็นดี ๆ หลายอย่างที่จะนำไปปรับปรุงระบบให้ดีขึ้น มีความชัดเจนมากขึ้น แต่ผลของครั้งนี้ ยืนยันว่า วิธีการที่เราเลือกใช้น่าจะได้ผล ปัจจัยหนึ่งน่าจะเป็นเพราะว่า คำถามแต่ละคำถาม ทุก ๆ คำ ถูกกลั่นกรองมาอย่างดี ให้ชัดเจนที่สุด ตรงประเด็นที่สุด

ถ้าในอนาคต สมองของมนุษย์ จะต่อตรงและสามารถ download ความคิดเข้าไปยังคอมพิวเตอร์ได้โดยตรงจริง ๆ เหตุการณ์สั้น ๆ ในวันนี้ก็น่าจะเป็นเค้ารางของอนาคตแบบนั้นได้ เพราะได้ตัดสิ่งที่เรียกว่า "สำนวนโวหาร" ออกไปเกือบหมดนั่นเอง

ขอบคุณคุณหมอ ท่านผู้บริหาร ท่านตัวแทนเอ็นจีโอ ฯลฯ ทุกท่านที่ให้ความร่วมมืออย่างดียิ่ง ผลการศึกษาครั้งนี้ออกมาอย่างไร คาดว่าคงเปิดเผยต่อบุคคลภายนอกได้เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมครับ

และขอบคุณทีมงาน โดยเฉพาะทาง สวปก. ที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงมาก การประชุมครั้งจัดการได้อย่างดีเยี่ยม จึงประสบความสำเร็จเช่นนี้ครับ

 

หมายเลขบันทึก: 186716เขียนเมื่อ 7 มิถุนายน 2008 16:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

คุณ P นายประจักษ์

  • ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมให้กำลังใจกันบ่อย ๆ นะครับ
  • ช่วงนี้สุขภาพไม่ค่อยดี เพราะนอนดึกครับ แหะ แหะ
  • เยี่ยมมากเลยครับท่านนเรศ  ประทับใจครับ แม้จะไม่ได้เข้าไปในห้องประชุม แต่นึกบรรยากาศออกเลยครับ

อาจารย์สุพักตร์ครับ P

  • อาจารย์เคยอยู่ที่บ้านไผ่หรือครับ ผมไปบ่อยมากเหมือนบ้านอีกแห่งหนึ่ง เพราะบ้านเกิดพ่อผมอยู่ที่นั่นครับ
  • กระบวนการนี้เรายังอยู่ในขั้นพัฒนานะครับ แต่จากผลเบื้องต้น คิดว่าคงจะนำไปใช้ในโครงการวิจัยอื่น ๆ อีกอย่างแน่นอนครับ
  • ขอบคุณที่เยี่ยมชมครับ

น่าสนใจมาก ครับ

ผมคิดว่า TRIZ น่าจะมาเสริม Delphi ในการคาดการณ์อนาคตได้ดีเช่นกัน

http://www.trizthailand.com

อาจารย์ไตรสิทธิ์

ขอบคุณมากครับที่แวะมาเยี่ยม กำลังศึกษา TRIZ อยู่นะครับ อาจารย์มีอะไรจะแนะนำเกี่ยวกับ Delphi ด้วยก็เชิญได้เลยนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท