เมื่อกลับไปเยี่ยมญาติพี่น้อง: ไทบรูอย่างไรก็ไทบรู


ไม่อยากเป็นหนี้ ขอเรียนรู้เอง แต่ก็ยอมรับในตัวบุคคล

วิถีอิสระปัจเจกชน วิถีการพึ่งพิงป่า ยังคงฝังลึกในหมู่พี่น้องชาวโซ่ดงหลวง

ประโยคที่ขึ้นต้นไว้ข้างบนเป็นข้อสรุปของผู้บันทึก ในวาระที่สองวันนี้มีโอกาสได้กลับไปทำงานในดงหลวง แม้ว่าจะมีเวลาเพียงน้อยนิด และได้พบปะเฉพาะพี่น้องชาวโซ่บ้านพังแดง หรือในพื้นที่โครงการสูบน้ำห้วยบางทราย แต่อย่างไรก็ยังคงได้มุมมองได้แง่คิดสะท้อนวิถีทางสังคมบางบริบทมาแลกเปลี่ยนอยู่ไม่มากก็น้อย

 

แน่นอนว่าบรรยากาศความเป็นกันเองใสซื่อ แบบชาวโซ่ของพี่น้องยังคงคุ้นเคยอยู่เหมือนเดิม พี่น้องชาวโซ่พูดตรงๆ แต่จริงใจ ภาษาที่พี่น้องคุยกันในหมู่พวกผมยังคง(พอ)เข้าใจ ไม่ถึงกับ ตะดัง = ไม่รู้ พี่น้องที่ผมเคยหยิบยื่น ปุ๋ยหรืออุปกรณ์การเกษตรให้ยังคงจำได้และมาบอกอย่างซื่อๆว่า หัวหน้ามาก็ดีแล้วเดี๋ยวแม่บ้านกลับจากไปหาของป่าแล้วจะเอาเงินมาผ่อนคืน ความซื่อสัตย์มีอยู่ในหมู่ชาวโซ่เสมอผมได้แต่บอกว่า ไม่ต้องๆให้ถือว่าผมลงทุนร่วมกับลุงก็แล้วกัน ในเมื่อขาดทุนก็แล้วกันไป หากจะเอามาใช้คืนให้ตามกันมาครบทุกรายก่อน หากใช้คืนบางคนเดี๋ยวจะหาว่าผมลำเอียง อันนี้ผมจำมาจากเมื่อครั้งที่ไปเดินเยี่ยมแปลงเมื่อปีก่อน พี่น้องรายที่ผมเดินผ่านไม่ได้แวะไปคุยด้วยจะโวยวายทุกครั้งว่า ทำไมอาจารย์ไม่แวะดูแปลงผม ความตั้งใจที่จะแวะเยี่ยมเฉพาะแปลงมีปัญหาให้แก้ไขก็เป็นอันพับไป คราวนั้นก็ต้องแวะเยี่ยมทุกๆแปลง การเยี่ยมเยียนให้กำลังใจจำเป็นสำหรับนักส่งเสริมผมว่านะ

 

ในที่ประชุมกลุ่มเมื่อวาน ชาวญี่ปุ่นค่อนข้างแปลกใจ และกังวลต่อจำนวนเกษตรกรผู้ปลูกพืชฤดูแล้ง ที่ลดจำนวนลงมาก แต่สำหรับผมนั้นเข้าใจดีกับเหตุผลซื่อๆของพี่น้อง เช่น ไม่คุ้มค่าเหนื่อย คำๆนี้มีความหมายมากมาย เพราะเมื่อถามลึกลงไปอีกก็พบว่า

·       ปลูกยาสูบ มะเขือเทศ ต้องอยู่ในไร่นาทุกวัน ไม่ได้เข้าป่าหายิงนกยิงบ่าง

·       ปลูกพืชขายเขาชอบกำหนดวันซื้อวันขายไม่เป็นอิสระเหมือนไปหาของป่า

·       ปลูกมันสำปะหลังดีกว่า ปีก่อนราคาดี แถมยังไม่ต้องดูแลมาก มีเวลาพักผ่อนไปหาของกินจากป่า

·    ไปหาของป่า เช่น ขี้ซี (wood resin; ผู้เขียน) ได้รายได้มากกว่าปีก่อนแม่บ้านผมไปคนเดียวขายได้สามพันหก เพื่อนบ้านที่มีลิงบางคนหาได้หมื่นกว่าบาท

สรุปก็คือพืชที่ส่งเสริมต้องไม่ใช่ประเภทเกษตรประณีตที่ต้องใช้เวลามาก และต้องมีรายได้สูงกว่ามันสำปะหลัง หรือสูงกว่าการหาของป่า

 

มันสำปะหลังก็มันฯ ผมพึมพำกับตัวเอง ความจริงมันฯก็ไม่ขี้เหร่หากเรามีวิธีการจัดการ การปลูกแบบอนุรักษ์ดิน และการเพิ่มผลผลิต

เมื่อเช้าก็เลยจัดประชุมปรึกษาหารือกัน มีผู้สนใจมาฟังหลายสิบคน (บางคนมาเพราะเป็นแฟนพันธุ์แท้ของ หัวหน้าเป ลี่ ยน

·       พี่น้องทุกคนปลูกมันฯกันอยู่แล้ว

·       หลายรายทดลองใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพในมันสำปะหลังทั้งแบบน้ำ และแบบแห้ง

·       บางรายกำลังทดลองใช้ปุ๋ยน้ำที่บริษัทเอกชนเอามาโฆษณาว่าจะได้ผลผลิตสามสิบสี่สิบตันต่อไร่

·    ผมได้เล่าถึงงานทดลองที่มีรายงานว่าหากไถดินลึก ด้วยไถสิ่วแล้วจะได้ผลผลิตสูงขึ้น พร้อมทั้งย้ำให้พี่น้องทดลองใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตเอง หรือปุ๋ยพืชสด เพื่อลดการลงทุน รวมถึงการทดลองปลูกมันฯหลังการทำนา

·    บริษัทโรงงานผลิตแป้งมันของชาวญี่ปุ่น มาเสนอรับซื้อผลผลิต มาแนะนำเทคนิคชั้นสูงในการปลูกมันซึ่งต้องใช้ปุ๋ยเฉพาะของเขา ลงทุนไร่ละสามสี่พันบาท โดยเขาพร้อมจะลงทุนค่าปุ๋ยค่าเตรียมพื้นที่ให้ แต่จะขอแบ่งผลผลิตจากเกษตรกร

·    ผมได้ต่อรอง และเสนออีกเงื่อนไขหนึ่งคือ ขอให้มาไถที่ให้เกษตรกร และให้เงินยืมซื้อปุ๋ย เงินค่าจ้างแรงงานขุดมันฯ แต่เกษตรกรต้องขายผลผลิตให้โรงงานในราคาตลาด

·       หลังจากได้รับฟังข้อเสนอ พี่น้องหันหน้าเข้าคุยกันด้วยเสียง ในฟิล์มจนผมแปลไม่ทัน

·    ได้ข้อสรุปว่า ไม่อยากกู้เงินบริษัท อยากไถที่เอง ขอใช้วิธีปลูกของตนเอง เพียงแต่ให้บริษัทมารับซื้อในราคาเป็นธรรมก็พอแล้ว

·       แต่หาก  หัวหน้าเป ลี่ ยน จะมาพาทดลองปลูกวิธีใหม่ ก็มาได้เลย ยินดี อยากจะดูเหมือนกัน

ดูสิครับว่า พี่น้องชาวโซ่ของผมจ๊าบเพียงใด ไม่อยากเป็นหนี้ ขอเรียนรู้เอง แต่ก็ยอมรับในตัวบุคคล

 

บันทึกนี้ได้พยายามจะถอดรหัส แนวคิด และวิถีชาวโซ่ หรือไทบรู ได้เป็นรายกรณีตามข้างบนไว้แล้ว แม้นไม่อาจเขียนบทสรุปรวบยอดได้ แต่ผมคิดว่าบันทึกเรื่องเล่านี้ คงสามารถให้แง่คิดต่อนักส่งเสริมการเกษตร นักพัฒนา ได้บ้าง...สะกิดท่านได้สักนิดก็ยังดี

หมายเลขบันทึก: 186254เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2008 00:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

วันสิ่งแวดล้อมโลก : 5 มิถุนายน ของทุกปี

3331

เพราะพี่เปลี่ยนมีแต่ความจริงใจ ชาวบ้านจึงยอมรับนับถือ

อ่านบันทึกแล้วรู้สึกอบอุ่นครับ คิดถึงครับ

ดีใจๆๆพี่เปลี่ยนได้พบญาติแล้ว อิอิๆๆๆ

  • อำเภอโซ่พิสัย(จ.หนองคาย)..สืบเผ่าพันธุ์มาจากไทบรู หรือชาวโซ่ในประเทศลาว
  • หลายคนยังมีญาติพี่น้องข้ามไปมาหาสู่กัน
  • แต่หลายคนก็กลายและกลืน เป็นคนไทย
  • ผมก็เป็นลูกเขยชาวโซ่ครับ
  • เคยเจอพี่น้องที่ข้ามมาจากฝั่งโน่น..
  • แต่ไม่เคยข้ามไป

อ้ายเปลี่ยน

ราวสัปดาห์ที่แล้วไปเยี่ยมบ้านเพื่อนที่ ครบุรี เมืองโคราชมา

เขาปลูกมันสัมปะหลังกันสุดลูกหูลูกตา ประมาณว่าอำเภอแห่งการปลูกมันฯ

และที่แน่ ๆที่จะตามมาคือ เมืองแห่งสารเคมีและยาฆ่าหญ้า

น่ากลัวจริง ๆ

ตอนนี้แถวบ้าน ...ไร่มันสำปะลัง  แทบหายเกลี้ยงแล้วนะครับ

เมื่อหลายสิบปี  ต้นยูคามาแทนที่ - ถัดจากนั้นก็เป็น ยางพารา ..

ทุกวันนี้  ไร่อ้อยคืบขยายเข้ามาอีกครั้ง

บางเวลา  ผมกลับบ้านก็ไม่ลืมที่จะแวะไปดูต้นยางพาราพลัดถิ่น(จากใต้มาอีสาน)  เพราะมันเหมือนกับคนอีสานอีกหลายคนที่คิดถึงบ้านแต่ต้องเผชิญชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่

มาสะดุด คำว่า "ขี้ซี" น่าจะเป็น ขี้ตั๋งนี หรือเปล่าผมไม่แน่ใจ อ่านบันทึกอ้ายเปลี่ยนได้เฮียนฮู้ดีแต้ๆครับ

เรื่องราวของชาวโซ่ หากได้เรียงร้อยผ่านคนพื้นที่ คนทำงานแบบอ้าย คงน่าอ่านมากๆ อย่าลืมมีเวลาเขียนหนังสือไว้ให้น้องๆได้อ่านได้ผ่อพ่องเน้อครับ

กึ้ดเติงหาครับอ้าย

สวัสดีค่ะคุณเปลี่ยน ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นานค่ะ หนูยึดถือเป็นชีวิตค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท