การสร้างนักจัดการความรู้ท้องถิ่น


ท้องถิ่นจะพัฒนาต้องอาศัยผู้นำ หากต้องการผู้นำที่ดี ชุมชนต้องร่วมกันสร้าง เมื่อคนในท้องถิ่นมาเป็นผู้นำเขาย่อมนำพาชุมชนไปสู่ความเข้มแข็งได้

“กลไกการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาท้องถิ่นระดับตำบล-อำเภอ” เป็นโครงการวิจัยที่ดำเนินการมาแล้ว 2 ปี ภายใต้การสนับสนุนทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) แบ่งพื้นที่ศึกษาออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับหมู่บ้าน ระดับตำบล และระดับเครือข่าย มีพื้นที่เป้าหมายอยู่ใน 3 อำเภอของจังหวัดขอนแก่น คือ อำเภอภูเวียง อำเภอหนองเรือ และอำเภอภูผาม่าน  จุดเด่นของการวิจัยนี้คือการนำเรื่องการจัดการความรู้เข้าไปใช้เพื่อสร้างกระบวนการสร้างผู้นำท้องถิ่นที่เป็นคนของพื้นที่ให้เป็นนักพัฒนาอย่างแท้จริง ที่สามารถนำพาชุมชนเรียนรู้และพัฒนาสู่การมีวิถีชีวิตที่รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกที่กระทบชุมชนท้องถิ่นของตนเอง  


งานวิจัยนี้จึงมุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพและขยายจำนวนวิทยากรกระบวนการในท้องถิ่น โดยใช้กระบวนการสืบสาวประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ค้นหาระบบการเรียนรู้ของชุมชนที่สัมพันธ์กับฐานทรัพยากร สังคมวัฒนธรรม และเศรษฐกิจ ในการพัฒนาวิทยากรกระบวนการจำเป็นต้องพัฒนาทักษะการรวบรวมความรู้ การใช้ความรู้ จึงสนับสนุนกิจกรรมที่เอื้ออำนวยให้ผู้นำได้มีโอกาสคิดร่วมกัน ทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง มุ่งเน้นให้เกิดการรวบรวมข้อมูล แสวงหาความรู้ ใช้ข้อมูล/ความรู้ และยกระดับความรู้ ทำให้ชาวบ้านตระหนัก เห็นความสำคัญของความรู้และการใช้ความรู้ ในขณะเดียวกันควรมีคน/กลุ่มคนที่ทำหน้าที่ในการวิเคราะห์และสังเคราะห์กระบวนการเรียนรู้ ให้ข้อเสนอแนะสู่การปฏิบัติไปพร้อมๆ กัน ทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ และมีการเปลี่ยนแปลงได้มากยิ่งขึ้น จะเห็นได้ว่าถ้าไม่สามารถทำให้คนในชุมชนทำหน้าที่วิทยากรกระบวนการได้ การพัฒนาทั้งหลายก็จะเป็นเรื่องของคนนอกอยากให้ทำ หรือคนนอกมีอิทธิพลต่อผู้บริหารภายในให้ทำ เพราะฉะนั้นวิทยากรกระบวนการจึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญให้คนในสามารถคิดเองทำเองได้


ผลการดำเนินโครงการฯ ในระยะแรกช่วงพัฒนาโครงการสามารถพัฒนาวิทยากรกระบวนการจำนวน 21 คน หลังจากเริ่มดำเนินงานโครงการฯ มีวิทยากรกระบวนการเดิมที่ผ่านการอบรมในระยะแรกจำนวน 13 คน  กลุ่มคนเหล่านี้เป็น “กลไก” ในการขยายจำนวนวิทยากรกระบวนการ โดยการชักชวนกลุ่มเพื่อน ญาติ ผู้นำในชุมชน รวมถึงคนรุ่นใหม่ที่มองเห็นศักยภาพตามเกณฑ์ที่ร่วมกันกำหนดไว้เบื้องต้น  ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้จำนวน 49 คน  คนเหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงในระดับที่แตกต่างกันทั้งในด้านทักษะการเป็นวิทยากรกระบวนการ และทักษะการจัดการความรู้ ซึ่งสามารถจัดกลุ่มได้ดังนี้


กลุ่มแรก มีการเปลี่ยนแปลงมากสามารถเป็นวิทยากรกระบวนการได้ มีทั้งหมด ๑๔ คน กลุ่มที่สอง มีการเปลี่ยนในระดับปานกลาง มีจำนวน ๑๐ คน และกลุ่มที่สาม มีการเปลี่ยนแปลงน้อย มีจำนวน ๒๔ คน นอกจากนี้ยังพบว่า คนที่มีทักษะการเป็นวิทยากรกระบวนการดี แต่อาจจะขาดทักษะด้านการจัดการความรู้ และมีจำนวนไม่น้อยที่มีทักษะการจัดการความรู้สูง แต่ขาดทักษะการเป็นวิทยากรกระบวนการ (จำนวน ๙ คน)   ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของคนเหล่านี้มาจากปัจจัยสำคัญ คือ (๑) เป็นความต้องการและเป้าหมายของตนเอง (๒) ประสบการณ์และการถ่ายทอดของครอบครัว (๓) การเข้าร่วมประชุมกับภายนอก ฝึกอบรม และศึกษาดูงาน เพื่อเปิดโลกทัศน์ สร้างแนวคิด และสร้างแรงบันดาลใจ (๔) การกระตุ้นจากภายใน เช่น ลูก หรือภรรยา ที่ได้เข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้ด้วย มีความสุขกับการทำงานกับกลุ่มคนที่มีแนวคิดเดียวกัน (๕) การกระตุ้นจากภายนอก ได้แก่ การติดตามในพื้นที่ของทีมวิจัย การให้ความรู้โดยวิทยากร ทำให้เกิดความตระหนักและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (๖) เห็นประโยชน์ของการใช้ข้อมูล ได้แก่ การทดลองเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ค่าใช้จ่าย เห็นผลสำเร็จของกิจกรรมที่เกิดจากการใช้ข้อมูลในการวางแผน  และ(๗) ผู้นำให้การสนับสนุน ได้แก่ ดึงผู้ใหญ่บ้านมาร่วมเรียนรู้ด้วย กิจกรรมอื่นๆ จึงดำเนินต่อได้ง่าย  แต่อุปสรรคของการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ ผู้นำในชุมชนไม่เห็นด้วยและไม่ให้โอกาส การเข้าร่วมกระบวนการไม่ต่อเนื่อง ขาดสมาชิกในกลุ่มสนับสนุน บางคนเชื่อมั่นในตัวเองสูงมาก ไม่ยอมรับความคิดเห็นหรือวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างจากความเชื่อของตนเอง เป็นต้น


หลักฐานการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ได้แก่ (๑) การนำความรู้ที่ได้ไปปฏิบัติจริงเป็นรูปธรรม เช่น การทำปุ๋ยหมักชีวภาพทั้งของตนเองและทำเป็นกลุ่ม การทำแปลงเกษตรแบบผสมผสานของตนเองเพื่อเป็นแบบอย่างให้กับชาวบ้าน การทำนาข้าวปลอดสารพิษและปลูกข้าวพันธุ์พื้นบ้าน และเป็นผู้ติดตามความก้าวหน้าของสมาชิกกลุ่มที่นำพันธุ์ข้าวพื้นเมืองไปปลูก (๒) มีการถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ และให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เช่น มีความรู้และถ่ายทอดประสบการณ์เกี่ยวกับการปรับปรุงบำรุงดิน และการปลูกพืชผักพื้นบ้านอยู่เสมอ พูดคุยกับชาวบ้านที่มาซื้อของที่ร้านค้าเสมอเกี่ยวกับการซื้อสินค้าบางอย่างที่ไม่ควรจะซื้อ (๓) ประสานให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น เป็นผู้ประสานให้เกิดความร่วมมือในการจัดเก็บข้อมูลป่าชุมชน และการจัดทำพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน สามารถรวมกลุ่มที่เข้มแข็งได้ในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง เช่น การทำนาข้าวปลอดสารพิษ ตลาดชุมชน การประชาสัมพันธ์ด้านการอนุรักษ์และอาหารปลอดภัย การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ การทำเครื่องอัดเม็ดปุ๋ยชีวภาพ การทำบ้านดิน เป็นผู้สนับสนุนการทำงานของกลุ่มทุกอย่าง เป็นผู้ที่คอยดึงสมาชิกให้คิดใคร่ครวญก่อนตัดสินใจอยู่เสมอ เป็นผู้ให้กำลังใจกลุ่ม และประสานการจัดงานบุญคูณลานทั้งผู้นำและชาวบ้านร่วมกันทำกิจกรรมเต็มที่ ทั้งที่ในหมู่บ้านมีความขัดแย้งของผู้นำสูงมาก (๔) ชักชวน โน้มน้าวให้คนอื่นทำตาม เช่น นำเสนอความเห็นการทำเกษตรปลอด-สารพิษจนสามารถโน้มน้าวคนได้ การดึงกลุ่มแม่บ้านเข้ามาร่วมงาน  การดึงลูกและภรรยาเข้ามาร่วมกิจกรรมด้วย เป็นผู้กระตุ้นให้กลุ่มเพื่อนทำกิจกรรม เป็นผู้กระตุ้นให้กลุ่มทำร้านค้าชุมชน เป็นตัวหลักสำคัญในการทำเครื่องอัดเม็ดปุ๋ยชีวภาพ กระตุ้นให้เกิดกลุ่มออมทรัพย์และการประชุมประจำเดือน

(๕) สรุปบทเรียนและพัฒนาให้ดีขึ้น เช่น สรุปบทเรียนการทำกลุ่มออมทรัพย์จากที่เคยล้มเหลว ปรับวิธีการบริหารจัดการใหม่ โดยดูบทเรียนที่ผ่านมา (๖) มีการบันทึกข้อมูลและความรู้ที่ได้รับ เช่น การบันทึกค่าใช้จ่ายต่างๆ การจดบันทึกการประชุมทุกครั้งและมีรายละเอียดครบถ้วน ทั้งเนื้อหา กระบวนการ และบรรยากาศ (๗) สนใจ ใฝ่รู้ และค้นคว้า เช่น สนใจศึกษา ขอทำงานวิจัยเรื่องการเพาะพันธุ์ไม้พื้นบ้าน รวมทั้งได้มีการประสานวิทยากรเพื่อไปเรียนรู้ด้วยตัวเอง กระตือรือร้น และตั้งใจที่จะเรียนรู้เพื่อไปสู่เป้าหมายที่ตนเองวางไว้ ค้นคว้าหาหนังสือที่เกี่ยวข้องกับงานพัฒนามาอ่าน ค้นคว้าหาความรู้ในหลายๆ รูปแบบ รวมทั้งการค้นหาจากอินเตอร์เน็ต (๘) เข้าร่วมกิจกรรม ประชุม และอบรมอย่างต่อเนื่อง เช่น การเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มสม่ำเสมอ แม้กลางวันไม่ค่อยมีเวลาแต่มาทำงานกับกลุ่มในช่วงกลางคืนอย่างเต็มที่ (๙) ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง เช่น ไม่บริโภคอาหารจากรถเร่ และไม่บริโภคผงชูรส ทำแชมพู สบู่ น้ำยาล้างจานใช้เอง  อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ หลังจากอบรมการรู้จักตนเอง ทำให้เข้าใจความแตกต่างของคนอื่นมากขึ้น หงุดหงิดน้อยลงเมื่อคนอื่นทำไม่ได้อย่างที่ตนเองคิด ผู้ใหญ่บ้านกลายเป็นผู้ประสานงานหลักของหมู่บ้านทั้งที่แต่ก่อนไม่ให้ความร่วมมือ (๑๐) ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในครอบครัว เช่น ช่วงแรกภรรยาห้ามไม่ให้เข้ามากลุ่ม แต่หลังจากภรรยาได้ไปศึกษาดูงานกับกลุ่มแม่บ้านแล้ว สามารถมาเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มได้เต็มที่ แต่ก่อนลูกไม่เคยพูดกับพ่อเลย หลังจากลูกมาเข้าร่วมกิจกรรมแล้วได้พูดคุยกับพ่อมากขึ้น บางครั้งพ่อมาร่วมกิจกรรมไม่ได้ก็ให้ลูกมาแทน (๑๑) กล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็น กล้านำเสนอความคิดเห็นที่แตกต่าง แสดงความคิดเห็นทั้งในที่ประชุมภายในเครือข่าย (๑๒) มุ่งมั่น ตั้งใจทำงาน


การศึกษายกตัวอย่างการนำ “กลไก” นี้ไปใช้ เช่น การให้ความรู้กับ อบต. เรื่องวิธีการทำงานกับชุมชนท้องถิ่นให้ได้ผลดีควรเป็นอย่างไร เพื่อให้ อบต. เห็นความสำคัญและจัดทำแผนบังคับใช้งบประมาณประจำปีมาสนับสนุนการทำงานขององค์กรอิสระที่น่าจะเกิดขึ้น และการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่จะเข้ามาทำงานร่วมกันแบบภาคีความร่วมมือนั้น จำเป็นต้องมีกระบวนการที่ทำให้พื้นที่มีความชัดเจนถึงความต้องการพัฒนาของตนเองก่อน จากนั้นจึงประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาวางแผนสนับสนุนการทำงานในพื้นที่ได้  ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย คือ ไม่ควรนำวิธีการและรูปแบบที่คิดเห็นว่าดีในการทำงานกับชุมชน ไปสร้างเป็นตัวแบบ (Model) ในการขยายผลที่มีลักษณะเหมือนกันหมดทุกประการแล้วทำแบบปูพรม เนื่องจาก “ชุมชนท้องถิ่น” ทุกแห่งล้วนมีบริบท   เปิงบ้าน อัตลักษณ์ พลังท้องถิ่น ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น วัฒนธรรมชุมชน ฯลฯ ที่มีลักษณะเฉพาะของตน จึงไม่สามารถลอกเลียนแบบวิธีการทำงานในชุมชนท้องถิ่นหนึ่ง แล้วนำไปใช้กับอีกชุมชนท้องถิ่นหนึ่งได้ทุกเรื่อง แต่ควรให้คุณค่ากับความหลากหลายของชุมชนท้องถิ่นในแต่ละแห่ง

การเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ที่เกิดขึ้นจากการทำโครงการวิจัยฯ ในระยะที่ผ่านมา ถ้าหากเราสามารถทำให้เกิดขึ้นเป็นประจำและต่อเนื่องได้ จะสามารถผลักดันจุดคานงัดทางสังคม ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่   และนี่คือ กลไกการจัดการความรู้ที่สร้างความเข้มแข็งจากระดับหมู่บ้าน  ตำบล และการเชื่อมโยงเครือข่าย ที่อาจทำให้ภาพการเรียนรู้ พัฒนา และพึ่งพิงกันของคนในสังคมไทยมีความชัดเจนยิ่งขึ้น

……………………………..
หมายเหตุ : ทีมประชาสัมพันธ์ สคส. เรียบเรียงจาก โครงการพัฒนากลไกการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาท้องถิ่นระดับตำบล-อำเภอ  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

บทความนี้ลงในคอลัมน์รากแก้วแห่งปัญญา  นสพ. ผู้จัดการ ฉบับประจำวันจันทร์ที่ 13 มีนาคม 2549

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 18619เขียนเมื่อ 13 มีนาคม 2006 14:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท