วิกฤติ (คุณภาพ) คน : วิกฤติชาติ ?


ปัจจุบันประเทศชาติน่าเป็นห่วง แต่อนาคต น่าเป็นห่วงมากกว่า

 ท่ามกลางปัญหานานัปการที่ประเทศไทยต้องเผชิญ  จนดูเหมือนว่าจะกลายเป็นวิกฤติทั้งด้านเศรษฐกิจ  สังคม  การเมือง  และความมั่นคง  จนทำให้สถาบันจัดดัชนีความสงบสุขโลก (Global Peace Index) จัดอันดับไทยที่ 118  ต่ำกว่าสิงคโปร์ (29)  เวียดนาม (37)  มาเลเซีย (38)  ลาว (51)  อินโดนีเซีย (68)  กัมพูชา (91)  สูงกว่าพม่า (126) เพียงประเทศเดียว  โดยไทยมีปัญหาภาพลักษณ์เสียหลายด้าน  อาทิ  แนวโน้มการเกิดการก่อการร้าย (4 คะแนน  จากเต็ม 5)  การเคารพสิทธิมนุษยชน (4 คะแนน  จากเต็ม 5)  ระดับความขัดแย้งขององค์กรภายใน (3 คะแนน  จากเต็ม 5)  ความไม่เชื่อมั่นของพลเมืองต่างชาติต่อความสงบสุขภายในประเทศ (3 คะแนน  จากเต็ม 5) ฯลฯ  (มติชนสุดสัปดาห์  23 พ.ค. 51  ฉบับที่ 1449)

 หากนำวิกฤติปัญหาข้างต้นมาวิเคราะห์จะพบว่า  รากของปัญหาทั้งหมดมาจากวิกฤติ(คุณภาพ) คน  ซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤติ (คุณภาพ) การศึกษา

 เราจะต้องเผชิญวิกฤติข้างต้นไปอีกนานเท่าใด  ดูได้จากผลลัพธ์ของคุณภาพการศึกษาของอนาคตของชาติในปัจจุบัน

1.  วิกฤติคุณภาพการศึกษา (นักเรียน)

     ระดับชาติ
     1.1  ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6  ดูจากผลการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) และ A-NET  ปี พ.ศ.2551  จำนวน 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้ (สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ 2551) ปรากฏผลดังนี้

 กลุ่มสาระ           คะแนนเฉลี่ย O-NET  คะแนนเฉลี่ย A-NET
1.  ภาษาไทย            50.70                     50.26
2.  สังคมศึกษา          37.76                     35.48
3.  วิทยาศาสตร์         34.62                     33.94
4.  คณิตศาสตร์         32.49                      21.96
5.  ภาษาอังกฤษ        30.93                     32.52

    คะแนนเฉลี่ยของ 4 กลุ่มสาระ สอดคล้องกัน  ยกเว้นคะแนนคณิตศาสตร์  ที่ A-NET ต่ำกว่า O-NET มาก  ที่น่าสังเกตคือ  คะแนนเฉลี่ยสูงสุดคือ ภาษาไทย  เด็กไทยมีความรู้เฉลี่ยแค่ร้อยละ 50

    1.2  ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3  ดูจากผลการสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (National Test = NT)  ประจำปีการศึกษา 2549  จำนวน 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้  และระดับประถมศึกษาปีที่ 6  จำนวน 4 กลุ่มสาระการเรียนรู้ (สมเกียรติ  ชอบผล  คมชัดลึก  25 เม.ย. 51) ปรากฏผลดังนี้

                              มัธยมศึกษาปีที่ 3                 ประถมศึกษาปีที่ 6
 กลุ่มสาระ        คะแนน NT (เต็ม 40 คะแนน)   คะแนน NT (เต็ม 40 คะแนน)
1.  ภาษาไทย            17.58  (43.95%)                17.10  (42.74%)
2.  สังคมศึกษา          16.67  (41.67%)                        -
3.  วิทยาศาสตร์         15.75  (39.37%)                17.27  (43.17%)
4.  คณิตศาสตร์         12.46  (31.15%)                15.55  (38.86%)
5.  ภาษาอังกฤษ        12.34  (30.85%)                13.81  (34.51%)

    คะแนนเฉลี่ยของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3  กับระดับประถมศึกษาปีที่ 6  ค่อนข้างจะสอดคล้องกันทุกกลุ่มสาระ แต่ที่น่าตกใจคือ
          1. คะแนน NT ปี 2549  ต่ำกว่าปี 2547
          2. คะแนนเฉลี่ยภาษาไทยของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 3 และประถมศึกษาปีที่ 6  มีแนวโน้มลดลงตามลำดับ  เมื่อเปรียบเทียบกับคะแนนภาษาไทยของ O-NET และ A-NET ของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6

    ระดับนานาชาติ
     1.3  International Institute for Management Development (IMD) จัดอันดับการศึกษาของไทย พ.ศ.2549  ประเมินความสามารถในการแข่งขันอยู่อันดับที่ 48  จาก 61 ประเทศ  เมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคเดียวกันเหนือกว่าเพียงอินโดนีเซีย  สาธารณรัฐประชาชนจีน  และฟิลิปปินส์  (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา, 2549)

     1.4  ผลการประเมินโครงการ Program for International Student Assessment (PISA) ครั้งล่าสุด ปี พ.ศ.2546  พบว่าวิชาคณิตศาสตร์  ฟินแลนด์, ฮ่องกง  และเกาหลีได้คะแนนเฉลี่ยกลุ่มสูง  โดยเด็กไทยได้คะแนนเฉลี่ย 417  ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD ที่มีคะแนนเฉลี่ย 500 คะแนน  ในขณะที่ฮ่องกง, เกาหลี  และญี่ปุ่น  ได้คะแนน 550, 542 และ 534 ตามลำดับ  ส่วนผลการประเมินวิชาวิทยาศาสตร์  ฟินแลนด์ได้คะแนนเฉลี่ยสูงสุด 563 คะแนน  เด็กไทยได้คะแนนเฉลี่ย 429 คะแนน  ส่วนฮ่องกง, เกาหลี  และญี่ปุ่น  ได้คะแนน 539, 538 และ 548  ตามลำดับ

     อะไรคือสาเหตุของวิกฤติคุณภาพการศึกษา ?
 
2.  วิกฤติผู้สอน (ครู)

    วิกฤติด้านปริมาณ
     2.1  จากข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการพบว่าอัตรากำลังครูที่เกษียณอายุและเออร์ลี่รีไทร์  ขาดอัตรากำลังสะสมตั้งแต่ปีงบประมาณ 2540  ถึงปี 2549  จำนวน 76,133 คน

     2.2  สภาพอุปสงค์และอุปทานครูในประเทศไทย  ระหว่างปี พ.ศ.2534-2547  ครูประถมศึกษา มีจำนวนลดลง  เฉลี่ยร้อยละ -0.4 ต่อปี  ส่วนครูมัธยมศึกษามีจำนวนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 3.7 ต่อปี (ยูเนสโก  5 ต.ค. 2006)

     2.3  สถาบันผลิตครู  มีการผลิตบัณฑิตไม่สอดคล้องกับความต้องการอันแท้จริงของการ ศึกษาขั้นพื้นฐาน  อาทิ  ผลิตครูปฐมวัย  สังคมศึกษา  มัธยมศึกษา  และพลศึกษา  ในขณะที่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานมีความต้องการครูคณิตศาสตร์  วิทยาศาสตร์  และภาษาต่างประเทศ  เป็นต้น (พฤทธิ์  ศิริบรรณพิทักษ์, 2544)

     2.4  จากข้อมูลจำนวนข้าราชการครูกับช่วงอายุตามปฏิทินพบว่าครูที่มีอายุช่วง 45-50 ปี  มีจำนวนมากที่สุด คือ 136,308 คน คิดเป็นร้อยละ 33.61 ของครูจำนวน 405,576 คน (ไทยรัฐ 9 ต.ค. 50)

     ข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นวิกฤติครูด้านปริมาณ  โดยเฉพาะอีก 10-15 ปีข้างหน้า  คือระหว่าง พ.ศ.2561-2566

    วิกฤติด้านคุณภาพ
     2.5  ผลการจัดอันดับโรงเรียนจำนวน 2,898 แห่ง  โดยใช้คะแนน O-NET ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6  ปีการศึกษา 2550  ของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.)  และผลการประเมินคุณภาพรอบแรกของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.)  ซึ่งได้จัดคุณภาพโรงเรียนเป็นระดับดีขึ้นไป (คะแนน 2.51 ขึ้นไป)  และคุณภาพต่ำกว่าระดับดี (คะแนนน้อยกว่า 2.51) โดยจำแนกตามขนาดโรงเรียนพบว่า  โรงเรียนส่วนใหญ่มีคุณภาพต่ำกว่าระดับดี  คิดเป็นร้อยละ 62.35

     2.6  ครูและพนักงานราชการที่ไม่ได้สอน  และหรือสอนไม่ตรงวิชาเอก (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2551) มีดังนี้

    วิชาเอก           ไม่ได้สอน    สอนตรงเอก  สอนไม่ตรงเอก           รวม   
ฟิสิกส์                       209           4,830         1,342                     6,381   
เคมี                          129           4,529         1,400                     6,058   
ชีววิทยา                    139           4,937         2,027                     7,103   
คณิตศาสตร์               313         18,098         8,724                   27,135   
คอมพิวเตอร์              249           4,354         5,454                    10,057   
ภาษาอังกฤษ             360         21,215         7,449                    29,024   
   รวม                   1,399       57,963       26,396                   85,758 

     2.7  มีครูที่สำเร็จการศึกษาเกินกว่า 20 ปี  อยู่ในระบบถึง 266,017 คน  คิดเป็นร้อยละ 65.60  ขณะที่ยังไม่มีการฝึกอบรมครูประจำการอย่างเป็นระบบ  รวมทั้งกรณีครูมีวุฒิไม่ตรงกับวิชาที่สอนจำนวนมาก  ทำให้ครูขาดความรู้เกี่ยวกับเนื้อหาที่ทันสมัย  กระบวนการสอนที่ต้องการประสบการณ์และทักษะ  ซึ่งส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน  และสอดคล้องกับผลการวิจัยในโครงการ TIMSS  และ  SACMEQ  ของอาฟริกาใต้และตะวันออกที่พบว่า  นักเรียนจะเรียนได้ความรู้มากจากครูที่มีทักษะทางวิชาการสูง  มากกว่าครูที่มีทักษะทางวิชาการต่ำ  เด็กที่เข้ารับการทดสอบทำคะแนนได้คล้ายกับครูของตน (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา, 2550)

3.  วิกฤติหลักสูตร

     3.1  หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ได้มีความพยายามพัฒนาแนวคิดและวิธีการมาจากต่างประเทศ  โดยเฉพาะประเทศแถบตะวันตก  แต่เหตุใดผลสัมฤทธิ์ของการเรียนจึงต่ำกว่า  แม้แต่กลุ่มประเทศตะวันออกด้วยกัน  เราควรจะได้กลับไปทบทวนโดยการศึกษาเปรียบเทียบกับหลักสูตรไทยในอดีตหรือไม่  เพื่อให้เด็กไทยอ่านออกเขียนได้เหมือนบรรพบุรุษ

     3.2  เด็กไทยเรียนหนักถึงหนักมาก  โดยมีชั่วโมงการเรียนเฉลี่ยต่อปี  ระดับประถมศึกษา 800-1,000  ช.ม.  ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 1,000-1,200 ช.ม.  และมัธยมศึกษาตอนปลาย 1,122 ช.ม.  ในขณะที่เด็กฟินแลนด์, เกาหลี  และญี่ปุ่น  ที่ได้คะแนนการสอบระดับนานาชาติ PISA  สูงกว่าเด็กไทยมาก  มี ช.ม.เรียนเฉลี่ยต่อปี  ระดับประถมศึกษา 680, 828  และ 648 ช.ม.  ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 595, 565 และ 534 ช.ม.  และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 553, 550 และ 466 ช.ม. ตามลำดับ  ถ้าเรียนน้อยแล้วฉลาด ทำไมต้องเรียนมาก ?

     ปัจจุบันประเทศชาติน่าเป็นห่วง
     แต่อนาคต  น่าเป็นห่วงมากกว่า

     ถึงเวลาหรือยังที่ผู้รับผิดชอบทุกฝ่ายต้องลงมือแก้ปัญหาด้วยการผ่าตัดการศึกษาของชาติทั้งระบบ  เพื่อมิให้วิกฤติ (คุณภาพ) คน  กลายเป็นวิกฤติชาติ  จนไม่อาจเยียวยา

 

 

หมายเลขบันทึก: 186139เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2008 15:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 15:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

เรียนท่านอาจารย์สมบัติ

  • ผมอ่านผ่านๆ ครับ กลัวว่าจะไปเพิ่มดัชนีแห่งความสุข มีผลทำให้คะแนนประเทศไทยต่ำลงไปอีก
  • ผมขอสะท้อนความคิดของผู้ปกครองส่วนหนึ่งครับ ที่อยากให้ลูกเก่ง ส่งลูกไปเรียนพิเศษ หลายแห่ง ทั้งตอนเย็นและวันหยุด..เช้าก็ไปส่งลูก เย็นไปรับกลับ...
  • พอลับตาผู้ปกครอง เด็กเรียนจนเครียดแล้วก็หนีเรียนพิเศษไปเที่ยวบ้างก็มี
  • ลูกผม ผมไม่เคยส่งเข้าสถาบันกวดวิชาที่ไหน ก็มีผลการเรียนไม่แตกต่างกับนักเรียนในห้อง และสามารถสอบเข้าได้ในอันดับต้นๆ ของโรงเรียน
  • ดังนั้นนอกจากมีโรงเรียนนักเรียนปกติแล้ว ยังต้องมีโรงเรียนผู้ปกครองด้วยว่า ควรจะเลี้ยงลูกอย่างไรดี
  • สะท้อนแค่ปัญหาเดียวครับ..ความจริงยังมีปัญหาอีกมาก..ถ้าพูดถึงปัญหาก็จะพากันเครียดครับ...เอาเป็นว่าใครมี Best Practice ดีๆ ก็เอามาขยายสู่กันอ่านที่บันทึกนี้ก็แล้วกัน

สวัสดีครับ อาจารย์ :)

ขออนุญาตมารับความรู้ทางการศึกษาจากบันทึกนี้ครับ

ขอบคุณครับ

ดูจากสถิติแล้วน่าเป็นห่วงจริงๆครับ

ก็น่าแปลกใจว่า cai หรือสื่อต่างๆที่ นิสิตป.โท ป.เอก ทำวิจัยกัน มีประสิทธิภาพ 80/80 กันเป็นทิวแถว

แต่สำหรับนักเรียนมัธยม กลับได้แค่ประมาณ 50

นั่นอาจมองได้ว่าครูสอนอย่างไร? หรือนักเรียนมีปัญหาอะไร?

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ปล.ขออภัยหากความคิดเห็นของข้าพเจ้าแสดงความเขลา

สวัสดีค่ะอาจารย์สมบัติ

ขอบพระคุณสำหรับข้อมูลและสถิติต่างๆ มากนะคะ

ความรู้สึกของผู้สอนเองก็บอกได้ค่ะว่านักศึกษาที่เข้ามาศึกษาในแต่ละปีนั้น มีคุณภาพลดลงโดยรวม ได้เห็นตัวเลขก็สนับสนุนสิ่งที่เห็นในการปฏิบัติงานมาตลอดค่ะ

เป็นเรื่องที่น่ากังวลเกี่ยวกับการเรียนในระดับก่อนอุดมศึกษานะคะ เหมือนจะไปผิดทางกันไปหมดเลย.. ดิฉันจำได้ว่าตัวเองเรียนหนังสือสนุก ไม่เครียด และไม่ได้เรียนพิเศษมากขนาดเด็กๆในยุคปัจจุบันนี้..แต่ยอมรับว่าอ่านหนังสือเองเยอะ(ตอนจะเอ็นทรานซ์เท่านั้น)

ความสุขในการเรียนเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เด็กอยากเรียน หรือเรียนแล้วได้ความรู้ ได้หลักการและความคิดที่เป็นระบบ.. ชั่วโมงเรียนที่มากไปนั้นไม่น่าจะดี แต่ปัญหาเรื่องครูและคุณภาพครูก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ต้องแก้ไขกันในระดับชาติ และใช้เวลานาน..

คงได้แต่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นค่ะ แล้วก็ทำงานตัวเองให้ดี..ขอบพระคุณอีกครั้งค่ะ

ข้อมูลอาจารย์น่าสนใจมากครับ น่าเป็นห่วงการศึกษาไทยจริงๆ

อยากช่วยเสริม และฝากไปที่

http://gotoknow.org/blog/kamolss/184233

http://gotoknow.org/blog/kamolss/183847

ด้วยครับ

ฝาก อาจารย์กมลวัลยไปที่ http://gotoknow.org/blog/kamolss/185858 ด้วยครับ

  • อาจารย์วิเคราะห์และชี้ประเด็นได้ชัดเจนยิ่งครับ
  • ขออนุญาตนำไปใช้อ้างอิงและพูดคุยต่อ นะครับ

ขอขอบคุณทุกท่านที่ร่วมแสดงความคิดเห็นครับ

และขอเสริมความเห็นของท่านดังนี้ครับ

1. beeman เห็นด้วยอย่างยิ่งครับว่าผู้ปกครองมีส่วนสำคัญยิ่งสำหรับเด็ก บ้าน วัด โรงเรียน คือ สถานศึกษาครับ

2. Wasawat Deemarn หวังว่าลูกศิษย์คงสบายดีและก้าวหน้าทั้งการงานและส่วนตัว

3. ttechno สำหรับผม CAI คือ เครื่องมือ (tool)
    - เครื่องมืออยู่เฉยๆ ไม่มีคุณภาพ
    - เครื่องมือต้องใช้กับสมอง และมีวิธีการใช้ที่มีประสิทธิภาพครับ

4. กมลวัลย์ ครูอย่างผมและอาจารย์ ก็คงได้แต่กังวลและห่วงใย หากคนที่รับผิดชอบโดยแท้จริงไม่ขยับ และผ่าตัดเสียที แต่เราก็ยังต้องช่วยกันอยู่นะครับ

5. kamolss ด้วยความยินดีครับ ผมก็ติดตามงานของอาจารย์

6. ดร.สุพักตร์ ด้วยความยินดีเช่นกันครับ และผมก็ติดตามงานของอาจารย์

เห็นข้อมูลแล้วรู้สึกเป็นห่วงอนาคตของตัวเอง และอนาคตของชาติเรานะคะอาจารย์

หากปล่อยสถานการณ์เป็นแบบนี้นานไป ไม่รู้ว่าอีกหน่อยเราจะรู้จักแต่คำว่า

"ความสุข" แต่ไม่เคยรู้สึก สัมผัสหรือเข้าถึงธรรมชาติของ "ความสุข" ที่แท้จริงได้

ในฐานะบุคลากรทางการศึกษาคงต้องช่วยกันต่อไป

(โดยการทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด)

เป็นกำลังใจสู้ๆ กันต่อไปนะคะ

ยังมีศรัทธาในบรรพบุรุษของไทยและมีหวังเพราะมีท่านนะคะ

สวัสดีค่ะอาจารย์

ระลึกถึงคำสั่งสอนอาจารย์เสมอค่ะ

ขอบพระคุณบันทึกที่เป็นกระจกส่องให้เห็นหลายๆด้าน ทำให้มองดูตัวเองและลูกศิษย์มากขึ้น

แต่ปัญหาต่างๆนับวันจะทวีมากขึ้นเรื่อยๆ วันใดเกิดความรู้สึกท้อแท้ กำลังใจของครูประถมจะอยู่ที่ลูกศิษย์ตัวน้อยๆ เป็นอนาคตของชาติค่ะ

nu.11 นว.ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท