การจัดการศึกษาของมาเลเซีย


โครงสร้างระบบการศึกษามาเลเซีย แบบ K-6-3-2-2

City Edu / ระบบการศึกษาของมาเลเซีย            พิมพ์ครั้งแรก Thecity Journal กรกฎาคม 2551

ธนสาร  บัลลังก์ปัทมา

นักศึกษาปริญญาโทบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

[email protected]

                บทความนี้เป็นบทความที่สรุปจากบทความระบบการศึกษามาเลเซียที่ รศ.ดร.สุรศักดิ์  หลาบมาลา เขียนไว้และแจกนักศึกษาที่ขึ้นสอบภาคนิพนธ์(สอบจบ) ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าน่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเปรียบเทียบอย่างมาก จึงขอสรุปพอสังเขป โดยท่านรศ.ดร.สุรศักดิ์  หลาบมาลา ได้สรุปจากการบรรยายของ ดร.มอลลี (Dr.Molly N.N. Lee)

                ระบบการศึกษาของมาเลเซียได้รับอิทธิพลมาจากระบบการศึกษาของอังกฤษค่อนข้างมาก ประกอบกับความสนใจของฝ่ายบริหารและความมีเสถียรภาพของรัฐบาลทำให้การศึกษาของมาเลเซียพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยระบบการศึกษาของมาเลเซีย มาเลเซียจัดการศึกษาเป็นชั้นอนุบาล 3 ปี (รับนักเรียนอายุ 4-6 ปี), ระดับประถมศึกษา 6 ปี (รับนักเรียนอายุ 6-11 ปี) ระดับมัธยมต้น 3 ปี (รับนักเรียนอายุ 12-14 ปี) ระดับมัธยมปลาย 2 ปี (รับนักเรียนอายุ 15-16 ปี) เตรียมอุดมศึกษา 2 ปี (รับนักเรียนอายุ 17-18 ปี) และระดับมหาวิทยาลัยหลักสูตร 3-6 ปี เป็นโครงสร้างระบบ K-6-3-2-2

(K คือ อนุบาล)

                การศึกษาระดับก่อนประถมศึกษา รัฐบาลไม่ได้ดำหนดหลักสูตรที่แน่นอน

                การศึกษาระดับประถมศึกษา เรียกว่าชั้น Standsrd 1-6 ตามแบบอังกฤษ สามปีแรก เรียนระดับ 1 (Level one) สามปีหลัง เรียนระดับ 2 (Level two) เลื่อนชั้นตามอายุไม่นำผลการเรียนมาเกี่ยวข้อง เมื่อจบชั้นปีที่ 6 นักเรียนต้องสอบข้อสอบมาตรฐาน Primary School Evaluation Test (PSET) ของกระทรวงศึกษาธิการ ในวิชาภาษามาเลย์ อังกฤษ วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ แต่ไม่เป็นการบังคับ

                ด้วยเหตุที่มาเลเซียมีประชากร 22.2 ล้านคน เป็นชาวมาเลเซีย 58% จีน 35% และทมิฬอินเดีย 7% ประเภทของโรงเรียนประถมศึกษาจึงมี 4 ประเภท คือ โรงเรียนของรัฐ สอนเป็นภาษามาเลย์ โดยตั้งแต่ปี ค.ศ.2003 เป็นต้นมา วิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์สอนเป็นภาษาอังกฤษ, โรงเรียนจีน (Chinese school) โดยชุมชนชาวจีน ซึ่งได้รับค่าจ้างครูจากรัฐ โรงเรียนทมิฬ (Tamil chool) ซึ่งได้รับค่าจ้างครูจากรัฐ และโรงเรียนอิสระ ไม่รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล เช่น โรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนสังกัดองค์กรทางศาสนา  ซึ่งสามารถกำหนดหลักสูตรได้เอง

                ระดับมัธยมศึกษา มีระยะเวลาเรียน 5 ปี เรียกว่า From 1-5 โดยนักเรียนที่มีผลการเรียนต่ำต้องเรียนระดับ Remove เพิ่มอีก 1 ปี โดยเมื่อจบ From 3 นักเรียนต้องสอบ Lower Certificate of Education (LCE) เพื่อคัดเด็กสายวิทย์ (Science steam) สายศิลป์ (Art steam) ส่วนระดับมัธยมปลาย From 4-5 ใช้เวลาเรียน 2 ปี ตามสายที่สอบได้ หลังจากเรียน From 5 นักเรียนต้องสอบข้อสอบมาตรฐาน General Certificate of Education (GCE) และ Malaysian Certificate of Education (SPM) เพื่อจบการศึกษาระดับมัธยม ในส่วนนักเรียนที่โรงเรียนจีนมักเรียนต่อใน Chinese Independent High School ซึ่งแบ่งเป็นมัธยมต้น 3 ปี (Junior Middle School) และมัธยมปลาย 3 ปี (Senior Middle School)โดยเด็กต้องสอบผ่านจึงได้เลื่อนชั้น เมื่อจบมัธยม 3 เด็กที่เรียนโรงเรียนจีนต้องสอบ Unified Examination Certificate (UEC) ดำเนินการโดยสมาคม Chinese School Teacher and Trustees มี 3 ระดับ คือ อาชีวะ UEC-V ระดับมัธยมต้น UEC-JM (เพื่อแบ่งเด็กออกเป็นสายวิทย์ ศิลป์ หรือพาณิชย์ และระดับมัธยมปลาย UEC-SML เพื่อใช้สิทธิศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย โดยเด็กที่จบระดับมัธยมแล้วต้องศึกษาต่อระดับเตรียมอุดม FORM 6 อีก 2 ปี ปีแรกเป็น FORM 6 Lower และปีที่ 2 เป็น FORM 6 Upper

                ที่กล่าวมานี้ เป็นการจัดการศึกษาเฉพาะระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเท่านั้น ซึ่ง       ท่านรศ.ดร.สุรศักดิ์  หลาบมาลา นำเสนอให้ทราบในรายละเอียดที่น่าสนใจ ซึ่งในบทความของท่านยังได้กล่าวถึงการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย การพัฒนาครู การผลิตครูที่ดี  ที่น่าสนใจคือการสรรหาคนเก่งมาเป็นครู และเมื่อมีการเปลี่ยนหลักสูตร เปลี่ยนเนื้อหา ครูต้องได้รับการฝึกอบรมให้จัดการกับการเปลี่ยนแปลง

การศึกษาของมาเลเซีย เมื่อเปรียบเทียบกับการจัดการศึกษาไทย จะพบว่ามีโครงสร้างคล้ายคลึงกัน คือ อนุบาล-ประถม 6 ปี-มัธยม 6 ปี และมีการแบ่งช่วงชั้นในระดับประถมศึกษาเป็น ช่วงชั้นที่ 1 และช่วงชั้นที่ 2 มีการสอบระดับประถมศึกษาปีที่ 6 และการสอบระดับมัธยม 3 และมัธยม 5 ในโรงเรียนรัฐ (หรือมัธยม 6 ในโรงเรียนจีน) คล้ายกับการประเมินผลระดับชาติของไทย แต่ที่น่าสนใจคือทำไมระบบการศึกษาของมาเลยเซียจึงพัฒนาไปไกลกว่าประเทศไทย เป็นข้อคิดที่น่าสนใจอย่างยิ่ง///

ที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงย่อ ๆ เท่านั้น สนใจติดตามได้จากการศึกษาของมาเลเซีย ฉบับเต็ม ที่ท่าน รศ.ดร.สุรศักดิ์ หลาบมาลาได้เขียนไว้ และขอขอบพระคุณท่าน รศ.ดร.สุรศักดิ์ หลาบมาลา ที่อนุญาตให้นำบทความเผยแพร่ ณ โอกาสนี้///

หมายเลขบันทึก: 186056เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2008 08:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท