ลำปลายมาศพัฒนา..โรงเรียนที่สร้างความสุข


กิจกรรมการเรียนการสอนจะถูกสอดแทรกไว้ด้วยแนวคิดต่างๆ ที่เป็นข้อดีจากหลากหลายนวัตกรรมด้วยกัน ซึ่งต้องเหมาะกับชุมชนด้วย
ลำปลายมาศพัฒนา..โรงเรียนที่สร้างความสุข พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย Administrator   
จันทร์, 14 เมษายน 2008

จากคอลัมน์  รอบรั้วอนุบาล  นิตยสาร  

  50p.jpgmagazine_kids_title.png

 

 

มองเผินๆ ที่นี่อาจไม่แตกต่างจากโรงเรียนทั่วไปนัก จะโชคดีกว่าก็ตรงที่มีต้นไม้ร่มรื่น และมีเนื้อที่กว้างถึง 50 ไร่ มากพอที่จะให้เด็กๆ ทำกิจกรรมนอกห้องเรียนและวิ่งเล่นได้อย่างสบาย


หากแต่ความต่างของโรงเรียนนี้ได้แทรกตัวอยู่ ในทุกกิจกรรมการเรียนการสอน เพราะที่นี่นำเอาข้อดีของนวัตกรรมการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบมารวมกันไว้ ด้วยความมุ่งหวังที่จะไปให้ถึงการเป็นโรงเรียนที่สร้างพลเมืองดี

 

"กิจกรรมการเรียนการสอนจะถูกสอดแทรกไว้ด้วยแนวคิดต่างๆ ที่เป็นข้อดีจากหลากหลายนวัตกรรมด้วยกัน ซึ่งต้องเหมาะกับชุมชนด้วย เพราะเราต้องการพัฒนาเด็กที่นี่ ถึงเขาจะเก่งจะดีอย่างไร แต่ก็อยากให้เขารักชุมชน ไม่ใช่จบมาแล้วอยากเข้ากรุงเทพฯ อย่างเดียว ผมรู้ว่ายากครับ แต่อย่างน้อยเขาก็น่าจะคิดที่จะทำอะไรให้บ้านเกิดบ้าง

โดยทั่วไปหลายคนมองเรื่องเรียนเก่ง เป็นคนดีแล้วจึงค่อยมีความสุข แต่ที่นี่มองกลับกันว่า มีความสุขเสียก่อน แล้วค่อยเป็นคนดีและการเรียนเก่งจะตามมาเอง" คุณวิเชียร ไชยบัง อาจารย์ใหญ่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ต. โคกกลาง อ. ลำปลายมาศ จ. บุรีรัมย์ เล่าถึงหลักการของโรงเรียนแห่งนี้ให้ฟัง ก่อนที่เราจะไปเจาะลึกถึงวิธีปฏิบัติกันค่ะ
v001.jpg

ผสมผสานนวัตกรรม

ตารางสอนในแต่ละวันของชั้นอนุบาลก็เหมือนกับหลักสูตรโดยรวมตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดคือ เข้าแถว กิจกรรมพัฒนาทักษะ จัดเวลาสำหรับอาหารว่างอาหารกลางวัน และการนอน แต่ลึกไปกว่านั้น ทุกกิจกรรมมีแนวคิดทางการศึกษาเรื่องต่างๆ ซ่อนอยู่ค่ะ ซึ่งกิจกรรมพัฒนาทักษะประกอบด้วย 4 เรื่องใหญ่ๆ คือ

1. กิจกรรมสงบพัฒนาคลื่นสมอง ซึ่งจะทำหลังจากเข้าแถว เช่น การกอด สัมผัสกาย

ยิ้มทักทาย โยคะ สมาธิ เปิดเพลงคลาสสิคเบาๆ กำกับกายทำให้เข้าสู่ภาวะภวังค์ (ครึ่งหลับครึ่งตื่น) เพราะเมื่อเด็กผ่อนคลาย คลื่นสมองจะลดความเร็วลงสู่ระดับแอลฟา (สภาวะคลื่อนสมองต่ำ) จิตใจจะสงบ มีสมาธิ อารมณ์ดี กระตือรือร้น พร้อมที่จะรับสิ่งต่างๆ ในการเรียนรู้ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของ พีอาร์ ซาร์การ์ นักจิตวิทยาแนวนีโอฮิวแมนนิส

2. กิจกรรมพัฒนาทักษะด้านร่างกายและสุนทรียะ เช่น แอโรบิก กระโดดยาง เครื่องเล่นต่างๆ สำหรับเช้านี้น้องหนู อ.1 และ อ.2 เขาก็ร้องเพลงประกอบท่าทางระหว่างรอเพื่อนๆ ไปเข้าแถวหน้าเสาธงพร้อมกัน

"ตู่ ตะลุ๊ด ตุ๊ดตู่ อะฮอลิเดย์ ตู่ ตะลุ๊ด ตุ๊ดตู่ อะฮอลิเดย์

แปรงฟัน แปรงฟัน เช้า กลางวัน เย็น มืด"


3. กิจกรรมพัฒนาทักษะด้านการคิดและจินตนาการ เช่น การสมมติตัวเองเป็นรถไฟ

ส่วนวันนี้เด็กๆ ได้เล่นเกมใช้มือคลำแล้วทายว่ามีอะไรอยู่ในกล่อง โดยที่คุณครูจะเฉลยพร้อมกับบอกศัพท์ภาษาอังกฤษไปด้วย ของในกล่องก็คือ ตุ๊กตาผ้าสีเหลือง ไม้หนีบผ้า นั่นเอง

เท่านั้นยังไม่พอค่ะ เพราะเด็กๆ ต้องสมมติตัวเองเป็นก้อนหินเมื่อเพลงจบลง แล้วเปลี่ยนตำแหน่งของไม้หนีบผ้าไปตามร่างกายตามกติกา เช่น ผม เสื้อ กางเกง และสุดท้ายไม้หนีบผ้าของแต่ละคนจะมารวมตัวกันเป็นรูปต่างๆ ตามจินตนาการของเด็กค่ะ

เกมนี้นอกจากใช้อุปกรณ์ที่หาง่ายแล้ว เพลงประกอบเกมก็เป็นภาษาถิ่นอย่าง "น้ำตามดแดง" ซึ่งถูกใจเด็กๆ เป็นนักหนา เพราะพากันเต้นและร้องตามเสียงสนั่นเชียวค่ะ

4. กิจกรรมพัฒนาทักษะด้านสติปัญญา เช่น การทัศนศึกษา แต่งนิทานจากกการปั้น เป็นต้น


นอกจากนี้แล้ว ยังมีอีกหลากหลายกิจกรรมที่น่าสนใจและบ่งบอกถึงแนวคิดของโรงเรียนอีกเพียบ ไปดูพร้อมๆ กันเลยนะคะ

* ห้องเรียนรูป 6 เหลี่ยม เพื่อต้องการแก้ปัญหาคำล้อเลียนและค่านิยมที่ว่า "เด็กหลังห้อง" จึงออกแบบไม่ให้มีหน้าห้องและหลังห้อง แบ่งเป็นห้องละ 30 คนและมีคุณครู 2 คนต่อ 1 ห้อง

* เรียนรู้ภาษาแบบโฮลแลงเกวจ ซึ่งเด็กจะซึมซับเรื่องภาษาจากสิ่งที่เห็นรอบตัว เช่น ชั้นวางรองเท้าของแต่เละคน จะมีชื่อและภาพผลไม้แต่ละชนิดติดอยู่

* ช่วยเหลือตัวเองแนวมอนเตสเซอรี่ เด็กๆ ทุกคนต้องช่วยเหลือตัวเองในขั้นพื้นฐานได้ เช่น สวมถุงเท้า ใส่รองเท้า เข้าห้องน้ำ อาบน้ำ กินข้าว เป็นต้น

* เชื่อในเรื่องความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับแนวคิดนีโอฮิวแมนนิส เพราะโรงเรียนแห่งนี้เชื่อว่าการศึกษาช่วยพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ และต้องการให้เด็กๆ เรียนรู้อย่างมีความสุข เต็มศักยภาพ สอดคล้องกับชีวิต และกลมกลืนกับวิทยาการสมัยใหม่สู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ พร้อมด้วยคุณธรรม ภูมิปัญญาและสำนึกความเป็นพลเมืองดี

ความเป็นพลเมืองดีจึงเริ่มต้นจากเรื่องสิทธิพลเมือง ที่สามารถใช้สิทธิของตนเองอย่างมีวิจารณญาณ ปกป้องสิทธิของตัวเองและเคารพสิทธิผู้อื่น

อาจารย์ใหญ่ยกตัวอย่างการสอนเรื่องสิทธิให้กับเด็กๆ ว่า " เมื่อไรก็ตามที่เด็กไปทำผิดหรือละเมิดสิทธิผู้อื่น จะพูดให้เด็กรู้สึกทันที เช่น น้องเอชอบมั้ยถ้ามีคนอื่นมาทำกับน้องเออย่างนี้ ถ้าน้องเอตอบว่าไม่ชอบ เราจะอธิบายต่อว่า น้องบีก็ไม่ชอบเหมือนกันที่น้องเอมาทำอย่างนี้

ต่อไปเวลาเด็กคนไหนโดนละเมิดสิทธิ เขาจะบอกเพื่อนคนนันทั้นทีว่าเขาไม่ชอบ แล้วพฤติกรรมอย่างนี้จะค่อยๆ ลดลง แต่ต้องทำอย่างต่อเนื่องนะครับ"

* เรียนรู้แบบโครงการ ตามแนวคิด Project Approach โดยปกติแล้ว น้องหนูอนุบาลจะเรียนเป็นหน่วยค่ะ เช่น หนูน้อยกับตัวเรา หนูน้อยกับสิ่งรอบตัว แต่เด็กๆ จะได้ทำกิจกรรมแบบโครงการอีกเทอมละหนึ่งครั้ง ซึ่งช่วยให้น้องหนูสนุกกับการตั้งคำถามและค้นหาคำตอบ แถมทางโรงเรียนยังมีข้อได้เปรียบเรื่องแหล่งความรู้จากชุมชน และมีฟาร์ม แปลงผัก บ่อเลี้ยงปลาอยู่ในโรงเรียนเองเสียด้วย

* เรียนรู้เรื่องเวลาตั้งแต่อนุบาล โรงเรียนนี้จึงไม่มีกระดิ่งแต่มีนาฬิกาแขวนตามจุดต่างๆ แทนค่ะ เด็กๆ เรียนรู้เวลาที่เป็นจุด เช่น 8 โมง โดยดูจากเข็มสั้นและเข็มยาวเชื่อมโยงกับกิจกรรมที่ต้องทำ และเรียนรู้เวลาที่เป็นขนาด เช่น 20 นาที 5 นาที โดยดูจากช่วงระยะที่เข็มยาวหมุน ถ้าให้เด็กกินข้าว 20 นาที เข็มยาวเริ่มจากเลข 3 เดินไปถึงเลข 7 น้องหนูก็จะเห็นขนาดและกะขนาดของเวลาได้ ทำให้เขารู้เรื่องการมาสาย หรือเหลือเวลากินข้าวอีกเท่าไรไปด้วย
v002.jpg

ความสำเร็จของลูก พ่อแม่ต้องมีส่วนร่วม

ใช่ว่าเรื่องทุกอย่าง ทางโรงเรียนเขาจะทำเองเสียทั้งหมดนะคะ เพราะถึงเด็กๆ ในชุมชนละแวกนี้จะได้เรียนฟรีตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงป. 6 ด้วยวิธีจับฉลาก แต่ก็ต้องผ่านกฏเหล็กข้อสำคัญให้ได้เสียก่อน นั่นคือ ผู้ปกครองต้องพร้อมจะร่วมมือกับโรงเรียนเพื่อช่วยพัฒนาเด็กด้วยกัน เริ่มตั้งแต่

1. ผู้ปกครองต้องมาเซ็นชื่อรับส่งให้ทันเวลาเพื่อจะได้คุยกับคุณครู และห้ามมารับเกิน 4 โมงเย็นเพื่อให้คุณครูมีเวลประชุมวางแผนการสอน

อะแฮ่ม...แต่ถ้ามารับช้าก็ต้องเจอมาตรการทางสังคมกันหน่อย โดยคุณครูจะพาเด็กเข้าห้องประชุมไปพร้อมกัน จะได้ดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดและทำงานไปด้วย ส่วนคุณพ่อคุณแม่ที่มารับช้าบ่อยๆ ก็ไม่สามารถหลบหน้าคุณครูได้ค่ะ

2. พ่อแม่ต้องช่วยดูการบ้านให้ลูก

3. เด็กยืมหนังสือกลับบ้านไปสัปดาห์ละ 2 เล่ม พ่อแม่ต้องอ่านให้ลูกฟังหรืออ่านกับลูก

4. พ่อแม่ต้องสื่อสารผ่านสมุดบันทืกที่คุณครูมีถึงผู้ปกครองทุกสัปดาห์

5. ผู้ปกครองแต่ละชั้นเรียนจะผลัดเวียนกันมาช่วยกิจกกรมของโรงเรียน เช่น ช่วยเตรียมอาหารกลางวัน

ขอบอกว่านี่เป็นแค่ตัวอย่างเท่านั้น เพราะทางโรงเรียนยังสื่อสารกับคุณพ่อคุณแม่ด้วยวิธีอื่นๆ อีก เช่น จดหมายข่าว การประชุมผู้ปกครอง ซึ่งอาจารย์ใหญ่มีเคล็ดลับในการพูดคุยมาบอกกันด้วยค่ะ

"เวลาประชุม ผมจะใส่ทีละเรื่องครับ เพื่อให้เขารู้ว่าเรากำลังเน้นเรื่องอะไรเป็นพิเศษ เช่น ทำไมจึงไม่เร่งให้เด็กอนุบาลเขียนหนังสือตามรอยประ หรือถ้าไม่ทำการบ้านมีผลต่อเด็กอย่างไร โดยจะพูดตั้งแต่ความสำคัญ และความเหมาะสมของรูปแบบการบ้านเลยครับ"

ส่วนพ่อแม่ที่ลูกยังไม่ถึงวัย ทางโรงเรียนก็เปิดรับด้วย "โครงการส่งเสริมการเลี้ยงดูบุตรก่อนวัยเรียน" เพื่อติดตามและส่งเสริมพัฒนาการเด็กกลุ่มที่จะเข้าเรียนและเด็กในชุมชนใกล้เคียงตั้งแต่อยู่ในครรภ์ โดยจะแนะนำกันตั้งแต่เรื่องอาหารการกินของแม่ตั้งครรภ์ เพลงเปิดให้ลูกฟังอย่างไร การกินไอโอดีนเสริม จัดบรรยากาศให้มีความสุข จักกิจกรรม เล่านิทาน ทำหุ่นอย่างง่าย

หรือหากเด็กคนไหนมีปัญหาเรื่องการเรียน คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถจูงน้องหนูมาร่วม "โครงการศูนย์กิจกรรมบำบัดสำหรับเด็กที่มีปัญหาการเรียนรู้" เพื่อช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาด้านการเรียน ให้สามารถเรียนรู้และประสบผลสำเร็จได้ค่ะ

แอบรุ้มาอีกอย่างหนึ่งว่า ขนาดชุดนักเรียนสีสันสวยงามของเด็กๆ ยังเป็นลวดลายของท้องถิ่นและทอจากฝีมือชาวบ้านเลยค่ะ แหม...อย่างนี้แล้วจะไม่ให้ชาวบ้านเขารักโรงเรียนได้อย่างไรไหว


ไปให้ถึงฝัน...โรงเรียนสร้างพลเมืองดี

โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนามีจุดเริ่มต้นจาก คุณมีชัย วีระไวทยะ นายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน อยากจะให้มีโรงเรียนเป็นแบบอย่างการจัดการเรียนการสอนในการสร้างเยาวชนให้เป็นพลเมืองดีของประเทศ และเพื่อให้เด็กในชนบทมีโอกาสได้รับการศึกษาที่ดีมีคุณภาพ เพราะเชื่อว่าการศึกษาพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ โดยในระยะแรกนี้ได้รับการสนับสนุนเรื่องงบประมาณจากมูลนิธิ เจมส์ คลาร์ค ประเทศอังกฤษ

อาจารย์วิเชียรบอกว่า"วันหนึ่งถ้าผลมันออกมาดี ผมจะตอบภาครัฐได้ว่าการปฏิรูปการศึกษา และการทำโรงเรียนนั้นควรมีต้นแบบอย่างไร ด้วยงบประมาณที่ไม่ฟุ่มเฟือยและด้วยความร่วมมือของครู บ้าน โรงเรียน ตอนนี้ผ่านมา 3 ปีซึ่งก็น่าจะพอเป็นคำตอบได้แล้ว... "

นอกจากนี้การจะเดินไปให้ถึงเป้าหมายที่โรงเรียนตั้งไว้ เพียงแค่รูปแบบการเรียนการสอนคงยังไม่เพียงพอ เพราะอีกหนึ่งแรงผลักดันที่สำคัญคือครู

"ถ้าได้ครูที่ไม่ทุ่มเทหรือไม่เข้าใจแนวทางของโรงเรียน ทุกอย่างก็จะเป็นไปได้ยาก ครูสำคัญมากพอๆ กับการยึดเด็กเป็นสำคัญ อยากให้เด็กเป็นอย่างไรก็ใส่ที่ครู เพราะท่าทีของครูมีผลกับเด็กทั้งหมด

ถึงจะเป็นเรื่องที่ยาก แต่ผมทำเรื่องนี้อย่างจริงจังมาตลอด ที่นี่เปิดโอกาสให้ครูจบใหม่เยอะครับ เพราะต้องการให้คนที่ไม่ติดกรอบกับแนวคิดเก่าๆ มาทำงานกับเรา ก่อนช่วงโรงเรียนจะเปิดการเรียนการสอน เรามีโอกาสได้คลุกคลีและเตรียมงานกับคุณครูชุดแรกอยู่นาน พอมีคุณครูชุดที่ 2 เข้ามา คุณครูรุ่นแรกก็ช่วยถ่ายทอดแนวคิดต่อครับ

ที่สำคัญเราดูแลสวัสดิการคุณครูทั้งเรื่องเงินเดือน ตำแหน่ง มีกองทุนครู ประกันชีวิต อาหารเช้าและอาหารกลางวัน ผมคิดว่าถ้าลดเวลาเตรียมอาหารลงไปก็จะทำให้ครูมีเวลาทุ่มเทกับงาน เพราะคุณครูที่นี่ต้องคุยกับผู้ปกครองที่มาส่งมารับนักเรียนอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังคำนึงในเรื่องการพักผ่อนและการดูงานเพื่อให้ครูได้พัฒนาตัวเอง ด้วยครับ"


นี่คืออีกหนึ่งตัวอย่างของความตั้งใจที่คุณครูและคุณพ่อคุณแม่ลงมือทำด้วยความมุ่งมั่น เพราะอยากเห็นโรงเรียนดีๆ สำหรับเด็กไทยที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในเมืองหลวงเท่านั้น ทุกอย่างขับเคลื่อนไปด้วยแรงกาย แรงใจ และกำลังพิสูจน์ตัวเองอยู่ค่ะ

จากคอลัมน์  รอบรั้วอนุบาล

หมายเลขบันทึก: 185921เขียนเมื่อ 3 มิถุนายน 2008 13:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 09:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอขอบพระคุณ คุณหมอ ที่มาช่วยเล่าเรื่องนี้ บังเอิญกำลังหาข้อมูลเกี่ยวกับโรงเรียน เพื่อไปดูงานค่ะ ได้รายละเอียดเห็นภาพมากขึ้น นี่คือประโยชน์ของบันทึกที่มีต่อสังคมจริงๆ ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท