ทิศทาง ความก้าวหน้าของการศึกษาไทย..คิดเห็นอย่างไรบ้างคะ?


** ครู ยังมีความสำคัญที่สุดสำหรับศิษย์ เพราะ ศิษย์มาเรียนรู้ ด้วยหวังว่า ครู จะเป็นกัลยาณมิตร ที่คอยชี้นำทางเดินที่ถูกต้องดีงามให้ ** ศิษย์ มีความสำคัญที่สุดสำหรับครู ด้วยครูจะสอนศิษย์ให้เป็นคนดีได้นั้น ครูจะต้องให้ความสนใจในความต้องการ ความสามารถ ความสนใจ ของศิษย์ เพื่อจะได้ชี้แนะ แนวทางที่ดี ทั้งป้ิองกันภัยที่จะเกิดกับศิษย์ได้ด้วย **

สวัสดีค่ะผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียนทุกท่าน

วันนี้มีคำถามมาให้ลับสมอง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันนะคะ  กับคำถามที่ว่า


"ทิศทาง และ ความก้าวหน้า ของการศึกษาไทย." 

ดังนั้น ผู้ที่จะตอบคำถามนี้ได้ดี  ก็คงจะเป็นทุกท่านที่สนใจในการศึกษา   ในด้านความก้าวหน้า อยากทราบเกี่ยวกับ ข้อเปรียบเทียบอดีต - ปัจจุบัน   และ แนวโน้มในอนาคต เพื่อการจัดการศึกษาที่ดีต่อไป


ก่อนที่จะขอความคิดเห็นจากทุกท่าน ในฐานะผู้ตั้งประเด็นก็ขออนุญาตแสดงความคิดเห็นคนแรก  แต่อย่างไรก็ตาม   จุดมุ่งหมายของการตั้งคำถามนี้  ต้องการที่จะทราบแนวทางความคิดเห็นของเพื่อนๆ ผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียนทุกท่านนะคะ.   คำตอบของทุกท่านจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาการศึกษาไทยต่อไปได้

ขอบพระคุณค่ะ
==========================================


"ทิศทาง และ ความก้าวหน้าของการศึกษาไทย"?


ณ วันนี้ ถามว่า การศึกษาไทยมีทิศทางไปแนวทางไหน  หากพิจารณาจาก พรบ.การศึกษา พ.ศ. 2542  ก็จะเห็นได้ว่า "การศึกษาได้เปิดกว้างขึ้น ทั้งในระบบ นอกระบบ และอัธยาศรัย"  ด้วยเป้าหมายเน้นการจัดการศึกษาเพื่อมวลชน  ต้องการให้เกิดการศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิตนั่นเอง   นอกจากนี้ สิ่งสำคัญใน พรบ.การศึกษา  ยังให้ความสำคัญไปที่กระบวนการจัดการเรียนรู้ที่มุ่งให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้ และ พัฒนาความสามารถของตนอย่างเต็มที่  โดยเรามักได้ยินกันบ่อยในนามของคำว่า "ผู้เรียนสำคัญที่สุด" (Child Center)

จึงมีคำถามต่อว่า "รูปแบบการสอนแบบผู้เรียนสำคัญที่สุด"  เป็นวิธีที่ดีที่สุดแล้วหรือ?

หากจะตอบโดยเทียบเคียงกับความเป็นจริงของโลก  ก็จะเห็นได้ว่า  ตราบที่โลกยังมีการเปลี่ยนแปลง  ตราบทีี่ทุกอย่างยังไม่คงที่   สิ่งที่ดีที่สุด ณ วันนี้  ก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับอนาคต  สิ่งที่ดีที่สุดของคนๆ หนึ่ง  อาจไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดของอีกคนก็ได้     แล้วสิ่งที่เราคิดว่าดีที่สุดแล้วนั้น จะอยู่คงที่ คงทน ได้นานแค่ไหน  ก็ขึ้นกับเหตุปัจจัยต่างๆ   .. นักคิด นักเขียน นักการศึกษา นักวิจัย และ ทุกคน สามารถที่จะมีส่วนร่วมในการสรรหาสิ่งที่ดีที่สุด เพื่อความสวยงามของโลก

ดังนั้น  หากมองถึงความก้าวหน้า  จากประสบการณ์ตนเอง  สามารถพิจารณาความก้าวหน้าของการศึกษาไทย โดยขอแยกเป็น 4 ประเด็นหลักดังนี้

1. สถานที่    

หากมองในแง่ของที่ตั้ง  เช่น  โรงเรียน สถานศึกษา  หากพิจารณาด้าน จำนวน  ก็จะเห็นว่า ปัจจุบันมีมากกว่าในอดีต  ...    พร้อมทั้ง ยังมีสถานศึกษาเสมือนจริง ในอินเทอร์เน็ตต่างๆ   หากมองด้านนี้ก็จะเห็นว่า มีความก้าวหน้า

หากมองเรื่องสถานที่ ความสะดวกสบาย ก็คงจะเห็นว่า มีความก้าวหน้า  ใครมีโอกาสกลับไปสถานศึกษาเก่าๆ ที่เคยเรียน ก็คงจะเห็นความเปลี่ยนแปลงไป  มีวิชาใหม่ๆ เกิดขึ้น พร้อมทั้งเทคโนโลยีใหม่ๆ มากมาย    แต่ทั้งนี้  ความสะดวกสบายที่มีมากขึ้น  มาพร้อมกับ  ค่าเล่าเรียนที่เก็บจากผู้เรียนสูงขึ้นเช่นกัน

 

2. ครู  

ครู ไม่ว่าจะอดีต หรือ ปัจจุบัน  มีความสำคัญทุกท่าน   เพราะ ครู คือ ผู้ให้ความรู้ ซึ่งเป็นแสงสว่างทางปัญญา  ที่คอยชี้นำทางเดินถูกหรือผิด ในชีวิต

สำหรับตัวเองแล้ว    ครู ในอดีต  ไม่ได้มีอะไรที่ด้อยกว่าครูในปัจจุบัน เลยค่ะ  ยิ่งครูในระดับประถมศึกษาตามประสบการณ์ของตน  ก็เห็นว่า ครู แต่ละท่านทำหน้าที่ได้ดี  แ้ม้ว่า สมัยก่อน เงินเดือนครู จะน้อย   และ หากมองเกียรติโดยวัดจากตัวเงิน ก็อาจมองว่า อาชีพครูไม่มีเกียรติ  แต่หากวัดคุณค่าของครูด้วยคุณธรรม และ ความรู้แล้ว  เราจะเห็นว่า ครู  เป็นบุคคลที่มีเกียรติยิ่ง   ในแวดวงของชาวบ้านในชนบทสมัยนั้น จึงให้ความรักและเคารพครู   เพราะ คุณธรรมและความรู้ที่่ท่านมี

หากพิจารณาในด้านปริมาณ  ก็จะเห็นได้ว่า จำนวนครูมีมากกว่าในอดีตมาก
แต่หากพิจารณาในด้านคุณภาพ  ...  จะใช้สิ่งใดเป็นเกณฑ์ในการวัด??

3. นักเรียน - นักศึกษา   

- หากมองที่ปริมาณ  คือ จำนวนนักเรียน  จะเห็นว่า ในปัจจุบันสถานศึกษาสามารถผลิตนักเรียน หรือ บัณฑิตออกมารับใช้สังคมได้จำนวนมาก เมื่อเทียบกับอดีต

- หากมองถึงคุณภาพ  ซึ่งสามารถแยกเป็นประเด็นใหญ่ได้ 2 ประเด็น คือ

   - คุณธรรม (ไม่ทราบมีงานวิจัยใดบ้างที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะของคุณธรรมของผู้เรียนสมัยก่อน กับ สม้ยปัจจุบัน   หากมีก็จะได้เป็นหลักฐานอ้างอิงที่ดีในการพัฒนาต่อไป)   แต่หากดูจากข่าวสารบ้านเมืองก็คงจะพอตอบอะไรบางอย่างได

   - ความรู้  ด้านความรู้มีหลากหลายสาขา  หากมองในเรื่องของการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเช่นในปัจจุบัน ก็บอกได้ว่า  นักเรียนยุคใหม่นี้มีความสามารถมากกว่าเพราะว่า  มันเป็นไปโดยอัตโนมัติ   แต่ก็ใช่ว่า  คนนั้นยุคก่อน หากได้เรียนรู้แล้ว จะเรียนรู้ได้ไม่ดีก็หาไม่

    แต่หากมองว่า "ความรู้ คือ ความจริงของชีิวต ที่สามารถแก้ปัญหาชีวิต คือ ความทุกข์ได้... ไม่ว่า จะในอดีตหรือปัจจุบัน  ศาสตร์ที่สำคัญนี้  มันก็จะเป็นตัวเดียวกัน   คือ การรู้ทุกข์ และ วิธีการดับทุกข์  จึงเกิดคำถามว่า   คนที่ได้รับความรู้แบบเดิมๆ   กับ คนที่ได้รับความรู้แบบสมัยใหม่  ใครดับทุกข์ได้ง่ายกว่ากัน  เป็นปัญหาที่น่าขบคิดทีเดียว

4. อื่นๆ  ได้แก่  ประเพณี วัฒนธรรม เทคโนโลยี  สิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ของประชาชน
ถึงวันนี้  พวกเราพอใจกับสิ่งแวดล้อมในวันนี้หรือยัง .... ประเพณี วัฒนธรรมไทย   ไปมาลาไหว้  การให้ความเคารพผู้ใหญ่  ความอ่อนน้อมถ่อมตน  ความมีน้ำใจ ช่วยเหลือเผื่อแผ่แก่กัน... ณ วันนี้ กับสมัยก่อน คล้ายกันหรือไม่  ?   ในน้ำมีปลาในนามีข้าว    หรือว่า  ในน้ำไม่มีปลา ในนาก็ไม่มีข้าว  มีแต่ถนนหนทาง กับ รถรา แล ความเครียด หรืือเปล่า  ^*__*^

จึงถามว่า ... ทิศทางการศึกษาไทย   เราต้องการให้ไปแนวไหน?

ก่อนจบมีโอกาสได้อ่านพุทธวิธีการสอนของพระพุทธเจ้า  แล้วประทับใจมาก...จึงขอนำมาฝากไว้  และ มีความใฝ่ฝันว่า  อยากเห็นครู-อาจารย์  มีลักษณะการสอนเช่นนี้ เยอะๆ ...ในประเทศไทย และทั่วโลก

"อานนท์  การแสดงธรรมให้คนอื่นฟัง  มิใช่สิ่งที่กระทำได้ง่าย  
ผู้แสดงธรรมแก่คนอื่น  พึงตั้งธรรม ๕ อย่างไว้ในใจ  คือ

๑. เราจักกล่าวชี้แจงไปตามลำดับ
๒. เราจักกล่าวชี้แจงยกเหตุผลมาแสดงให้เข้าใจ
๓. เราจักแสดงด้วยอาศัยเมตตา
๔. เราจักไม่แสดงด้วยเห็นแก่อามิส 
๕. เราจักแสดงไปโดยไม่กระทบผู้อื่น"

(อง. ปญจก.๒๒/๑๕๙/๒o๕)

หลายครั้ง  การถ่ายทอดความรู้ที่ดี  นั่นจะต้องประกอบด้วย 2 ฝ่าย คือ ผู้สอน กับ ผู้เรียน   ทั้งสองฝ่ายต้องมีความพร้อมพอเหมาะต่อกัน   เช่น  หากผู้สอนสอนดี ดีทุึกอย่าง  แต่ผู้เรียนไม่ฟัง ไม่สนใจ  ก็ยากที่จะส่งสารกันได้     

แต่ในฐานะครู   ซึ่งถือว่า เป็นผู้ที่มีความรู้  ย่อมประกอบด้วยเมตตา   ครู จะต้องรู้จริตของผู้เรียนแต่ละคน  รู้ความพร้อมและประสบการณ์ของเขา  จะต้องพิจารณาว่า เวลานี้ควรสอนหรือไม่  ควรสอนเรื่องอะไร  แก่บุคคลไหน?   เชื่อว่า หากครูทุกคน สามารถเรียนรู้และเลียนแบบพุทธวิธีการสอนตามพระพุทธเ้จ้า  ก็่น่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดีของการเรียนการสอน

ครูจะต้องมีความรู้ และสามารถถ่ายทอดให้เข้าใจได้ง่าย   พร้อมทั้งที่สำคัญและขาดไม่ได้  คือ  เมตตา   ซึ่งหากเด็กเล็กๆ เขาจะมีความรู้สึกที่รับรู้ได้  ว่า ครูคนนี้ใจดีหรือไม่  เมื่อเขารัก เขาก็อยากเข้าใกล้  อยากถาม  และ ก็จะทำตามที่ครูสอนด้วยดี   นอกจากนี้ ความประพฤติที่ดีของครู  สามารถถ่ายทอดมายังศิษย์  ได้โดยที่ครูไม่จำเป็นที่จะต้องสอน  แต่เมื่อเขารู้สึกว่า ครูเป็นคนดี  เขาก็อยากทำตามแบบอย่างของครู

** ครู ยังมีความสำคัญที่สุดสำหรับศิษย์   เพราะ ศิษย์มาเรียนรู้  ด้วยหวังว่า ครู จะเป็นกัลยาณมิตร ที่คอยชี้นำทางเดินที่ถูกต้องดีงามให้  **  ศิษย์ มีความสำคัญที่สุดสำหรับครู  ด้วยครูจะสอนศิษย์ให้เป็นคนดีได้นั้น ครูจะต้องให้ความสนใจในความต้องการ ความสามารถ ความสนใจ ของศิษย์  เพื่อจะได้ชี้แนะ แนวทางที่ดี  ทั้งป้ิองกันภัยที่จะเกิดกับศิษย์ได้ด้วย **

 

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ในฐานะที่เป็นศิษย์เก่าพระบิดา..ก็ยังจำปณิธาณได้เสมอ
"ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นกิจที่สอง  ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง แล้วลาภยศสรรเสริญจะเป็นของท่านเอง"

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

หมายเลขบันทึก: 185133เขียนเมื่อ 29 พฤษภาคม 2008 15:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 10:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

พรบ.การศึกษา พ.ศ. 2542  ต้องการให้ เด็กที่ได้รับการศึกษาแล้วเป็น มนุษย์ที่สมบูรณ์ ครูต้องสอนคน  เลิกสอนหนังสือ  เขาจะต้องพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกได้อย่างเหมาะสม  ที่สำคัญการศึกษาต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง พูดเรื่องนี้แล้วเหนื่อยครับ  ชมดอกไม้สวยๆๆดีกว่านะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท