การบริหารทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัย


มหาวิทยาลัย เป็นแหล่งรวมทรัพย์สินทางปัญญาที่หลากหลาย หากมีการบริหารจัดการทรัพย์สินเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ จะเกิดประโยชน์ทั้งต่อมหาวิทยาลัยเองและประเทศชาติ

       มหาวิทยาลัย เป็นแหล่งรวมขององค์ความรู้ และทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ ประสบการณ์ หรือมีศักยภาพสูงยิ่ง เมื่อเทียบกับองค์กรต่าง ๆ ในประเทศ ซึ่ง องค์ความรู้ที่เกิดจากการวิจัยและทรัพยากรบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญเหล่านี้ ถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่มีค่ายิ่งของแต่ละมหาวิทยาลัย

 

       ในด้านการเป็นแหล่งความรู้ จะพบว่า มหาวิทยาลัยมีผลงานวิจัย ผลงานประดิษฐ์ต่าง ๆ มากมาย มีทั้งสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นฮาร์ดแวร์(จากงานวิจัยและพัฒนาในเชิงประดิษฐ์)  และซอฟแวร์  ในส่วนที่เป็นซอฟแวร์ ผมหมายถึงผลงานวิจัยประเภทพัฒนาโปรแกรมฐานข้อมูล โปรแกรมประมวลผล  พัฒนาระบบงาน ระบบการทำงาน วิธีการบริหารจัดการ  รูปแบบการพัฒนางานหรือพัฒนาองค์กรในแง่มุมต่าง ๆ ที่ผ่านการทดลองวิจัย หรือตรวจสอบคุณภาพมาอย่างดีแล้ว.....จุดอ่อนที่สำคัญในเรื่องนี้ คือ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ยังไม่มีความพยายาม หรือไม่มีกลไกที่เป็นระบบในการนำผลงานวิจัยเหล่านี้ออกสู่ตลาดผู้บริโภค  ไม่มีความจริงจังในการนำสิ่งเหล่านี้จากหิ้งไปสู่ห้าง...อาจเป็นเพราะมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ ยังเป็นมหาวิทยาลัยในระบบ ที่รอการขอเงินจากพ่อแม่(คือรัฐ) และไม่เดือดร้อน เพราะพ่อ-แม่(รัฐ)ส่งเงินมาให้ก้อนหนึ่งเพื่อการดำรงชีพอยู่แล้ว(เงินเดือน) เป็นประจำทุกปี

 

       ในด้านทรัพย์สินประเภทบุคคล แต่ละมหาวิทยาลัย มีศาสตราจารย์(ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ)  รองศาสตราจารย์(ผู้เชี่ยวชาญ)  ผู้ช่วยศาสตราจารย์(ผู้ชำนาญการพิเศษ) มากมาย  ในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยไม่ได้ใช้อาจารย์เหล่านี้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่มหาวิทยาลัย   ผมหมายถึง การสร้างรายได้และความเข้มแข็งแก่มหาวิทยาลัย  ส่วนใหญ่ก็ใช้วิธีการบริหารแบบไม่เข้มงวดและไม่มีเกณฑ์ในการประเมินผลงานที่ชัดเจน  ศาสตราจารย์ หรือ รองศาสตราจารย์บางคน ไม่มีผลงานวิจัยในรอบปี ก็อยู่ได้ ไม่ต้องคืนเงินประจำตำแหน่ง

 

       ถึงเวลาหรือยัง ที่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะต้องจริงจังกับการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา และทรัพย์สินประเภทบุคลากร(คณาจารย์ทุกคน น่าจะนับเป็นทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย) โดยเน้นการกำหนดเงื่อนไขแบบส่งเสริม(ไม่ใช่เงื่อนไขเพื่อลงโทษ) เช่น อาจารย์ที่จะได้ผลตอบแทน 2 ขั้น ในรอบปี จะต้องเป็นผู้ที่สามารถเซ็นสัญญาวิจัยกับองค์กรภายนอกได้ไม่ต่ำกว่า  1 เท่าของเงินเดือน  หรือ จัดหลักสูตรฝึกอบรม นำเงินเข้ามหาวิทยาลัยได้ไม่ต่ำกว่า 1 เท่าของเงินเดือน หรือทั้งสองประการรวมกัน เป็นต้น  โดยทุกคนต้องมีผลงานขั้นต่ำ คือ งานสอนต้องปรากฏผลงานตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด (เช่น ลูกศิษย์ในความรับผิดชอบวิทยานิพนธ์ ต้องจบภายใน 3  ปี ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70  เป็นต้น) หรืออีกทางเลือกหนึ่ง ผู้ที่สามารถเซ็นสัญญาโครงการวิจัยจากองค์กรภายนอก เข้าสู่มหาวิทยาลัยเกิน 2 เท่าของเงินเดือน ให้ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัย ที่มหาวิทยาลัยจะยกภาระงานด้านการสอนออกไป(ไม่ต้องสอน)ก็ได้

 

       ในด้านการสร้างรายได้ให้กับมหาวิทยาลัย เพื่อแบ่งเบาภาระจากรัฐ มหาวิทยาลัยควรจะส่งเสริมและจริงจังกับการผลักดันให้คณาจารย์ที่เชี่ยวชาญ/เชี่ยวชาญพิเศษ สามารถสร้างรายได้ให้แก่มหาวิทยาลัย เช่น เก็บค่าตอบแทนจากโครงการวิจัย 5-10 %   เก็บค่าธรรมเนียมรายได้ของคณาจารย์ที่ได้จากการบรรยาย เป็นที่ปรึกษา หรือวิทยากร 5-10 % ของรายได้ เป็นต้น   หรือการแปลงรูปผลงานวิจัย  หรือตำราที่เขียนโดยคณาจารย์ ออกสู่ตลาดผู้บริโภคในลักษณะของการหารายได้เพื่อการเลี้ยงตนเองมากขึ้น   หรือ มหาวิทยาลัยควรให้ความสำคัญกับการเซ็นสัญญากับหน่วยงานภาครัฐเพื่อดำเนินการโครงการที่สำคัญ ๆ ที่สามารถนำมาบูรณาการกับการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัย(จะทำให้นักศึกษามีโอกาสได้เรียนรู้จากโครงการ/โครงงานจริง ๆ ที่มหาวิทยาลัยรับมาดำเนินการ)

 

       ที่เขียนมาทั้งหมด ไม่มีเจตนาที่จะทำให้ชาวมหาวิทยาลัยเดือดร้อนหรือทำงานหนักมากขึ้นนะครับ แต่ผมคิดว่า มหาวิทยาลัยไทยจะมีคุณค่ามากขึ้น หากผลักดันให้เกิดการทำงานกันอย่างจริงจัง และวัดผลงานของมหาวิทยาลัยกันที่ งานทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อการพัฒนาประเทศ(รวมทั้งผมเองก็จะได้ทำงานอย่างจริงจังมากขึ้น สามารถนับผลงานที่เป็นรูปธรรมในแต่ละปีได้มากขึ้น หรือต้องเร่งรัดพัฒนาตนเองมากขึ้นด้วย)

หมายเลขบันทึก: 184477เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2008 20:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2012 09:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ขอบคุณมาก หนูจิ คนเก่งหลายด้าน(ดูจากประวัติน่ะ)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท