ชื่อนั้นสำคัญไฉน?


“จงจดจำไว้ว่าชื่อบุคคลใดก็ตามสำหรับบุคคลนั้นเป็นสำเนียงที่หอมหวานที่สุดและสำคัญที่สุดในภาษามนุษย์”

ท่านเคยมีความรู้สึกแปลกใจปนกับความดีใจหรือไม่? หากคนที่ท่านเคยพูดคุยด้วยไม่กี่ครั้งสามารถจดจำชื่อและข้อมูลเกี่ยวกับตัวท่านได้อย่างแม่นยำและทักทายท่านเหมือนกับว่าคุ้นเคยกันมานาน ในทางตรงกันข้ามท่านเสียเองที่อยากจะเอ่ยชื่อของเขาแต่ก็นึกไม่ออก จนบางครั้งหลายท่านคิดว่าการจดจำชื่อของคนอื่นไม่ได้กลายเป็นปมด้อยหรือข้อบกพร่องของตนไปแล้ว หลายท่านจึงนิยมพกพานามบัตรที่ได้รับมาติดตัวไว้และเมื่อต้องมีการติดต่อหรือเจรจาทางธุรกิจกันจึงหยิบขึ้นมาดูสักครั้ง หากเราลองพิจารณากันให้ดีประโยชน์ของการจดจำชื่อและข้อมูลของผู้อื่นได้อย่างแม่นยำนั้น เปรียบเสมือนเป็นบันไดก้าวแรกของการสร้างปฏิสัมพันธ์ต่อกันให้เกิดความประทับใจเมื่อแรกพบ (First impression)

         เราลองมองย้อนเข้าไปในความรู้สึกของตัวเองว่า เราดีใจมากขนาดไหน หรือแอบยิ้มน้อยยิ้มใหญ่เมื่อมีคนขานชื่อเราและเข้ามาคุยกับเราโดยที่เขาแสดงความเอาใจใส่ในการเจรจากับเราอยู่ตลอดเวลาที่พูดคุยกัน นั่นคือการที่เขารู้จักช่วงชิงโอกาสในการจู่โจมและละลายพฤติกรรม หรือประเมินปฏิกิริยาตอบสนองของคุณ ตลอดจนทำให้คุณทอดสะพานให้เขาสามารถเดินเข้ามานั่งครองกลางใจคุณโดยที่คุณไม่รู้ตัว หลายคนอาจมองว่าวิธีการนี้เป็นการจู่โจมหรือมีการหวังผลประโยชน์อะไรแอบแฝงหรือไม่ ? หากในทางธุรกิจอาจเป็นเช่นนั้น แต่หากมองทางด้านสังคม มันคือเทคนิคการสร้างมนุษยสัมพันธ์ที่ยอดเยี่ยมวิธีการหนึ่ง

         ซึ่งท่าน เดล คาร์ เนกี้ ได้กล่าวว่า จงจดจำไว้ว่าชื่อบุคคลใดก็ตามสำหรับบุคคลนั้นเป็นสำเนียงที่หอมหวานที่สุดและสำคัญที่สุดในภาษามนุษย์ จงจดจำชื่อของเขาให้ได้และเขียนให้ถูกต้อง จึงนับได้ว่าเป็นการสนับสนุนการสร้างมนุษยสัมพันธ์ด้วยวิธีจดจำชื่อเป็นอย่างดี นอกจากนี้ท่าน เดล คาร์ เนกี้ ยังได้เสนอเทคนิคการสร้างมนุษยสัมพันธ์ที่ดี อีก 9 ข้อ ซึ่งจะกล่าวในครั้งต่อไป

      ดังนั้นหลากหลายอาชีพไม่ว่าจะเป็น นักบริหาร นักธุรกิจ นักขาย นักประชาสัมพันธ์ หรือผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้านการบริการลูกค้า ล้วนต้องตระหนักในข้อนี้ให้มาก แต่จะมีวิธีไหน ? ที่จะทำให้ท่านสามารถจดจำชื่อและข้อมูลของผู้อื่นได้อย่างแม่นยำ ผู้เขียนจึงขอเสนอแนะวิธีการที่ได้เคยใช้และประสบความสำเร็จมาแล้วไว้ 3 ขั้นตอนดังนี้

        ขั้นที่ 1 จงทำให้ชื่อนั้นฝังใจ (impression) หรือ ขั้นแรกพบ การพบกันครั้งแรกเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญจุดหนึ่ง ที่จะช่วยให้เราได้รับการแนะนำให้รู้จัก โดยใช้หลักการฟังชื่อของเขาอย่างตั้งใจและให้ชัดเจน โดยส่วนใหญ่เรามักจะลืมฟังการแนะนำชื่อในตอนแรก การลืมฟังชื่อในตอนแรกไม่ใช่เพราะไม่สนใจ แต่เกิดจากการที่เราพะวงอยู่กับการยกมือไหว้ หรือใช้คำพูดทักทายว่า สวัสดีครับ สวนตอบไปทันที นับว่าเป็นการทิ้งโอกาสที่ดีอย่างยิ่ง เราลองหัดตัวเองใหม่ด้วยการตั้งใจฟังชื่อคนที่เราได้รับการแนะนำเสียก่อนให้ชัดเจน จึงแสดงอาการเคารพหรือทักทายตอบ ถ้าฟังไม่ถนัดต้องถามทันที อย่าเพียงแต่ฟังผ่านไปเฉยๆ เพราะยากที่จะทำให้ชื่อนั้นฝังใจเรา ขอให้ถามอีกครั้ง เช่น ขออภัย ชื่ออะไรนะครับ สุชาติ หรือ ศุภชาติ ครับ ถ้ายังฟังไม่ชัดหรือจำยากให้ใช้วิธีถามต่อไปว่า เขียนอย่างไรครับ หรือ แปลว่าอะไรครับ และไม่ต้องกลัวว่าเขาจะรังเกียจ ตรงกันข้ามเขากลับรู้สึกดีว่าเราให้ความสนใจเขามาก และเราก็จะได้การตอบสนองกลับอย่างดี แต่หากท่านใดมีนามบัตรจงมอบให้เขาพร้อมกับแสดงการเกียรติและยินดีที่ได้รู้จักเขา หากไม่มีนามบัตรจงใช้วิธีการถามเบอร์โทรศัพท์และจดบันทึกลงในสมุดบันทึกของเรา นับว่าเป็นการแสดงถึงความสนใจและการสร้างความสัมพันธ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต

 

ขั้นที่ 2 จงนำชื่อที่ได้รับการแนะนำไปสัมพันธ์หรือผูกพันกับบุคคลที่มีชื่อเสียง ชื่อของคนที่เราได้รับการแนะนำให้รู้จักบางคนที่มีชื่อเหมือนหรือพ้องกับบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือคนดัง เช่น นักการเมือง ดารานักแสดง ให้คิดว่าเขาเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือคนดังคนนั้น

        เช่น  ชื่อ สมบัติ    ให้นึกถึง  สมบัติ เมทะนี

              ชื่อ สรพงษ์   ให้นึกถึง  สรพงษ์ ชาตรี

              ชื่อ ทักษิณ   ให้นึกถึง  ทักษิณ ชินวัตร

              ชื่อ อมร        ให้นึกถึง  อมร บ้านหม้อ (ตัวแทนจำหน่ายเครื่องเสียงชื่อดัง)

ขั้นที่ 3 จงนำชื่อที่ได้รับการแนะนำไปผูกพันกับตัวอักษรหรือความหมายแปลกๆ

        3.1 ชื่อสั้นๆ หรือนามสกุลแปลกๆ เป็นชื่อที่จดจำง่าย ไม่ค่อยมีซ้ำกัน พอเราฟังครั้งแรกก็สะดุดใจชวนให้จดจำและไม่ค่อยลืม

                เช่น   ชื่อ    ไมตรี  กางมุ้งคอย

                        ชื่อ    ขยัน   จึงมา

                        ชื่อ    ตถาตา (โอ๊ต) วุฒิศักดิ์  (มีจริงๆนะครับชื่อนี้)

                        ชื่อ    การุณ กูใหญ่

                        ชื่อ    ชวน  หลีกภัย

        3.2 ชื่อเมื่อนำมาผวนกลับน่าขัน (เป็นเทคนิคอย่านำไปใช้ให้เขารู้)

                เช่น   ชื่อ    สมนาม       ให้ผวนกลับเป็น    สาม - นม

                        ชื่อ    เกศรินทร์    ให้ผวนกลับเป็น    กิน สะ - เหรด

        3.3 ถ้าแปลี่ยนแปลงการเขียน ลด หรือเพิ่มสระแล้ว จะได้ความหมายใหม่

                เช่น   ชื่อ    จรวย          ให้นึกถึง     จะรวย (ไม่รวยสักที)

                        ชื่อ    พาณี          ให้นึกถึง     พาหนี (เมื่อไหร่เจอจะต้องพาหนี)

                        ชื่อ    ดำรงค์        ให้นึกถึง  ดำลง (ไม่ขาวสักที)

                        ชื่อ    ธีระพันธ์      ให้นึกถึง  ทีละพัน (แพงจัง)

        3.4 นำไปผูกกับนิสัย หรือลักษณะเฉพาะตัว

             เช่น   ชื่อ จรินทร์ ให้นึกว่าคนนี้จะไม่มีวันเมา (เพราะว่า จะริน แต่ไม่รินซะที)

                     ชื่อ นครินทร์  ให้นึกว่าคนนี้เมาแน่หรือทำให้เพื่อนเมาแน่ (เพราะว่า เป็นคุณหลวงนักริน)

                     ชื่อ ยุพดี     ให้นึกว่าคนนี้ถ้ายุบหรือผอมลงอีกนิดจะสวย (เพราะว่า

ถ้ายุบจะพอดี)

                     ชื่อ ยุพยงค์  ให้นึกว่านิสัยคนนี้ชอบยุยง (เพราะว่าจริงๆ เขาก็นิสัยชอบยุยง)

               

                นอกจากนี้การจดจำชื่อธรรมดาที่นิยมใช้กันมาก มักเป็นชื่อที่ฟังง่ายและลืมง่ายมากที่สุด เช่น สมชาย ปรีชา สมศักดิ์ สมบูรณ์ สะอาด ธงชัย ฯลฯ วิธีการจำชื่อเหล่านี้ให้ใช้วิธีจำลักษณะพิเศษของแต่ละบุคคลหรือจำข้อมูลของเขาเพิ่มเติมเพื่อให้จดจำง่าย หรือจัดทำเป็นบันทึกไว้ในสุมดบันทึก หรือในกรณีที่ชื่อซ้ำกัน เช่น พรชัย มีที่รู้จัก 3 คน ให้ใช้วิธีจดจำนามสกุลและลักษณะพิเศษของเขาเพิ่มเติม

 

                เช่น   ชื่อ พรชัย แก้วประเสริฐ   ให้จำว่า  พรชัย  แก้ว... (แก้วกับขวด เพราะว่าชอบชวนกินเหล้า)

                        ชื่อ พรชัย เบิกนา          ให้จำว่า  พรชัย  เบิก... (คนนี้อยู่สุพรรณบุรี มีอาชีพทำนา)

                        ชื่อ พรชัย เอี่ยมสะอาด    ให้จำว่า  พรชัย เอี่ยม... (คนนี้รักความสะอาดสวยงาม)

               

                เช่น   ชื่อ สมชาย คนที่ 1          ให้จำว่า  เพื่อนสมัยเรียนประถม

                        ชื่อ สมชาย คนที่ 2          ให้จำว่า  เพื่อนสมัยเรียนมหาวิทยาลัย

                        ชื่อ สมชาย คนที่ 3          ให้จำว่า  พี่ชายแฟนคนปัจจุบัน

                        ชื่อ สมชาย คนที่ 4         ให้จำว่า  เพื่อนใหม่เพิ่งรู้จักในงานสัมมนา

 

       แต่อย่างไรก็ตามนอกจากการจดจำชื่อได้แล้วควรจดจำข้อมูลเบื้องต้นของคนที่เราจะติดต่อให้ได้ด้วย เพื่อเป็นการช่วยในการสร้างเรื่องราวสนทนาได้มากยิ่งขึ้น จนในที่สุดจะเกิดความคุ้นเคยและไว้วางใจกัน ซึ่งจะทำให้การเจรจาหรือติดต่อประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ในที่สุด นอกจากนี้แล้วการมีศิลปะการพูด บุคลิกภาพที่ดี ตลอดจนการมีมนุษยสัมพันธ์ ยังเป็นปัจจัยที่สำคัญในการเปิดประตูสู่การพัฒนาศักยภาพของตนอีกด้านหนึ่งนอกจากวิชาความรู้แล้ว ซึ่งจะกล่าวในโอกาสต่อไป...

  

 

 

คำสำคัญ (Tags): #มนุษยสัมพันธ์
หมายเลขบันทึก: 184010เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2008 00:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2012 19:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท