HA National Forum Guidebook


เนื้อหาที่เบา เอกสารประกอบการประชุมที่หลีกหนีไปจากความน่าเบื่อหน่าย

          การจัดทำ Guidebook สำหรับ HA Forum 7 มีความแตกต่างไปจากครั้งที่ผ่านๆ มา

          ใน 2 ครั้งที่ผ่านมานั้น ได้จัดพิมพ์เนื้อหาที่มีลักษณะวิชาการสูง เนื่องจากใช้ประโยชน์จากเอกสารที่ใช้สื่อกับวิทยากร กล่าวถึงความเป็นมา วัตถุประสงค์ และเนื้อหาที่จะนำเสนอ

          ในครั้งนี้ เห็นว่าน่าจะมีเนื้อหาที่เบากว่านั้น

          แต่ละครั้งที่ไปเข้าร่วมประชุมวิชาการ ผมพยายามอย่างยิ่งที่จะอ่าน abstract เพื่อว่าจะได้เรียนรู้ให้มากที่สุดแม้ไม่ได้เข้าประชุมในห้องนั้น  แต่ก็พบว่ายากอย่างยิ่งที่จะฝ่าความน่าเบื่อหน่ายสองประการไปได้ นั่นคือเนื้อหาที่พูดในเชิงหลักการและนามธรรมมากจนไม่เห็นรูปธรรมเชิงปฏิบัติ กับตัวเลขสถิติที่ต้องบอกว่าไม่มีนัยยะสำคัญต่อความอยากรู้อยากเห็น

          ผมอยากจะทำเอกสารประกอบการประชุมที่หลีกหนีไปจากความน่าเบื่อหน่ายดังกล่าว

          จากการไปฟังการนำเสนอคัดเลือกผลงานในที่ต่างๆ พบว่าแต่ละเรื่องมีจุดที่น่าสนใจแตกต่างกัน  เป็นความน่าสนใจที่ผู้นำเสนอไม่รู้ตัว  ผมได้จดบันทึกเนื้อหาที่รับฟังไว้เท่าที่จะทำได้  และพบว่าสิ่งที่จดบันทึกไว้นั้นมีประโยชน์มากในการเตือนความจำ ในการดึงเอาความน่าสนใจของเนื้อหานั้นออกมา ซึ่งหาไม่ได้ในเอกสารประกอบการนำเสนอ  ที่น่าเสียดายคือไม่ได้ขยันเรียบเรียงให้เป็นเรื่องเป็นราวเสียแต่เนิ่นๆ

 
            "แต่เมื่อเข้าไปทำประชาคม ไปรับฟังในพื้นที่ ก็ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับสาเหตุที่ไม่มาโรงพยาบาล เพราะการคลอดกับผดุงครรภ์โบราณนั้นคลอดง่าย  บางครั้งไปคลอดที่โรงพยาบาลไม่ทันเพราะไม่มียานพาหนะ  หรือไม่ก็กลัวถูกล้อเลียนด่าว่าจากเจ้าหน้าที่  ได้มีการทำแนวทางแก้ไขปัญหา คิดวิธีการแก้ปัญหา ณ จุดนั้น เช่น ไม่มียานพาหนะ อสม.รับอาสาจะพามา ถ้าไม่สามารถพามาได้ จะแจ้งเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลเพื่อแก้ปัญหาเป็นขั้นตอน" (รพ.กะพ้อ)
 
            "ที่น่าสนใจคือบริบทของชุมชนซึ่งที่อยู่อาศัย รก ทึบ บ้านใต้ถุนเตี้ย ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำอาชีพทอผ้าขาย จะห้อยผ้าสีดำไว้ตามบ้าน เป็นที่ชอบของยุง  เนื่องจากเป็นอำเภอที่แห้งแล้ง ขาดน้ำ ชาวบ้านต้องพยายามเก็บกักน้ำ แต่ภาชนะไม่ค่อยมีคุณภาพ ยุงไปวางไข่ได้" (รพ.ดอยเต่า)
 
            “แม้เด็กๆ จะมีปัจจัยสี่ครบทุกอย่าง มียาต้านไวรัสที่ดีที่สุด แต่เด็กๆ เหล่านี้ยังโหยหาไออุ่นจากอ้อมกอด และความรักจากผู้มาเยือนยิ่งกว่าผู้ใด เด็กๆ จะเก็บเกี่ยวความรักจากทุกคนที่ผ่านแวะเวียนมา และหยิบยื่นให้ด้วยความเมตตา เด็กหลายคนผ่านประสบการณ์ที่เลวร้ายจนไม่กล้าแม้แต่จะบอกความต้องการของตนเอง รู้สึกไม่มั่นคง และไม่มีความหวังกับอนาคต การรักษาด้วยยาต้านไวรัสอย่างเดียวคงไม่เพียงพอที่จะลบเลือนบาดแผลเหล่านั้นได้” (รพ.ศรีนครินทร์)

          การ rewrite สิ่งที่นักวิชาการเขียนมาให้อาจจะดูว่าไม่เคารพต่อเนื้อหาที่ผู้นำเสนอจัดทำขึ้น  แต่ผมทำด้วยความเคารพและพยายามสื่อให้เจ้าของรับทราบเมื่อมีโอกาส 

          ช่วงตีสองของคืนวันศุกร์ที่ 3 มีนาคม  หลังจากที่ผมเรียบเรียงเนื้อหาต่อเนื่องมาตั้งแต่เช้า ยกเว้นเวลากินข้าว ว่ายน้ำ และจัดการแก้ปัญหาคอมพิวเตอร์  ความอิ่มตัวของความคิด ความกดดันที่ตั้งใจจะทำให้เสร็จในเช้าวันรุ่งขึ้น และช่วงเวลาของการทำงานที่ไม่ปกติ  ทำให้ได้วิธีการนำเสนอที่แตกต่างไปจากต้นฉบับโดยสิ้นเชิง  แตกต่างเฉพาะวิธีนำเสนอ แต่ไม่ต่างในเนื้อหาสาระ

          นี่คือผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในดึกของคืนวันนั้น         

 
B24: Unrecognized Issues in Drug Safety: PKPD for Healthcare Provider
            จั่วหัวไว้ก่อนสำหรับท่านที่ไม่คุ้นเคย
            PK = Phamacokinetic (เภสัชจลนศาสตร์) ศาสตร์ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างความเข้มข้นของยาในซีรั่มหรือเนื้อเยื่อ กับปริมาณยาและระยะห่างของการให้ยา
            PD = Pharmacodynamics (เภสัชพลศาสตร์) ศาสตร์ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างระดับยาใน ซีรั่ม และ/หรือ เนื้อเยื่อ กับการออกฤทธิ์ยา
            PKPD เป็นความรู้เกี่ยวกับเกี่ยวกับ “การเดินทางของยาในร่างกายผู้ป่วย”  จากจุดที่ให้ยาไปจนถึงเนื้อเยื่อที่ยาออกฤทธิ์
            ยาจะได้ผลในการรักษาโรคหรือไม่ จะเกิดอาการไม่พึงประสงค์หรือไม่ ขึ้นกับความเข้าใจใน PKPD ของยานั้นๆ  ถือว่าเป็นสัจธรรมสูงสุดที่ผู้ให้จะต้องปฏิบัติตามให้สอดคล้อง จึงจะได้ผล
            การจะใช้ยาให้ปลอดภัยจึงต้องเข้าใจสัจธรรม PKPD
 

          ผมพบว่าผมได้เรียนรู้อย่างมากในการทำงานนี้ เรียนรู้เพราะต้องใช้สมาธิเต็มที่ที่จะต้องทำความเข้าใจกับเนื้อหาที่ต้องเขียน  ทุกประโยคที่เขียนต้องออกมาจากความเข้าใจของเรา มิใช่การคัดลอกประโยคที่เราเองก็ไม่รู้เรื่อง

          บางครั้งผมต้องไปเปิด internet เพื่อค้นคว้ารายละเอียดเพิ่มเติม  เป็นรายละเอียดที่มั่นใจว่าตรงกับที่ผู้พูดจะนำเสนอ  เช่น ในเรื่อง TPM ซึ่งผมได้ซักถามพูดคุยเป็นการเบื้องต้นกับคุณสมชายแล้ว  ผมไม่ได้รบกวนให้คุณสมชายเขียนอะไรเพราะรู้ว่าท่านมีภาระกิจมากมาย  แต่ผมสรุปองค์ประกอบของ TPM ไว้เพื่อประโยชน์ของผู้เข้าประชุม อย่างน้อยท่านไม่ต้องไปเสียเวลาจดเอาในห้อง

          มีเรื่องหนึ่งที่ผมต้องศึกษารายละเอียดใน slide ประกอบการบรรยาย ร่วมกับการค้นหาความหมายใน internet นั่นคือเรื่อง making decision in ethical dilemma ของ Janet Farrell  คำศัพท์ภาษาอังกฤษเรื่องจริยธรรม เป็นสิ่งที่คนทั่วไปไม่ค่อยคุ้นเคย  ถ้าให้แต่ศัพท์โดยไม่มีความหมายให้ ก็ดูจะไม่เกิดประโยชน์เท่าใด เป็นโอกาสให้ผมได้เรียนรู้ไปด้วย  บางคำก็ยังไม่ค่อยแน่ใจว่าจะให้ความหมายได้ครอบคลุมหรือไม่ คงต้องรับคำชี้แนะจากผู้รู้ในโอกาสต่อๆไป  งานนี้ทำในช่วงโค้งสุดท้าย ชั่วโมงที่ 30 หลังจากกำหนดที่ควรจะเสร็จ คือควรจะเสร็จเมื่อเย็นวันศุกร์ แต่มาใกล้เสร็จเอาตอนสี่ทุ่มของวันเสาร์

 
A4X :  Applying Ethical Principles in Dilemma Situations
            การตัดสินในบนหลักการจริยธรรมจะช่วยลดอคติส่วนตัวในการตัดสินใจ และสามารถอธิบายเหตุผลของการตัดสินใจได้  หลักการจริยธรรมที่ใช้ได้แก่ autonomy (ผู้ป่วยมีอิสระที่จะตัดสินใจโดยไม่ถูกบังคับ ผู้อื่นมีหน้าที่เพียงให้ข้อมูลและข้อเท็จจริง), beneficence (ถ้าปัจจัยอื่นๆ เท่ากัน ผู้ให้บริการจะทำเพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นสำคัญ), non-maleficence (ไม่ทำให้เกิดอันตรายแก่ผู้ป่วย), the common good (การเคารพในสิทธิและศักดิ์ศรี), double effect (ถ้าการกระทำนั้นมีทั้งผลดีและผลเสีย ให้ชั่งน้ำหนักเลือกใช้เมื่อมีผลดีมากกว่า), informed consent (การตัดสินใจเมื่อได้รับข้อมูลเพียงพอ), proportionate and disproportionate (การชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์และสิ่งที่ต้องเป็นภาระ), integrity and totality (การพิจารณาบุคคลอย่างเป็นองค์รวมทั้งร่างกายและจิตใจ)
 

          ในเอกสารประกอบการประชุม สิ่งที่กินเนื้อที่อีกไม่น้อยคือประวัติวิทยากร เป็นสิ่งที่คนไม่ค่อยได้อ่าน และใช้ประโยชน์ได้น้อยอีกเช่นกันในการที่หวังว่าจะใช้ค้นหาเมื่อต้องการ  ที่ใช้อย่างจริงจังคือให้พิธีกรอ่านให้ฟังตอนแนะนำตัววิทยากรเท่านั้น

          ผมพยายามฉีกรูปแบบการให้ข้อมูลวิทยากรออกไปโดยผสมผสานเข้าไปในเนื้อหาที่จะแนะนำให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้รับทราบ  แต่ก็ได้เพียงบางส่วน เพราะจำกัดด้วยข้อมูลและเวลา

 
            "อาจารย์ประเวศเป็นครูและเป็นหมอของสังคมไทย ท่านเป็นผู้ให้แนวคิดในการก่อตั้งภาคี HA และให้กำลังใจสนับสนุน HA มาตลอด  ท่านมาบรรยายให้เวที HA เป็นประจำทุกปี  ท่านเน้นในเรื่องความสุขในการทำงาน การพัฒนาตนเองและเชื่อมโยงกับคนอื่นที่ท่านเสนอแนวคิดเรื่อง INN (Individual-Node-Network) ท่านเสนอว่าศีลธรรมพื้นฐานของการดูแลผู้ป่วยคือเคารพในสิทธิและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และ ฯลฯ"
 
            "JCAHO กับ พรพ. มีหน้าที่คล้ายกัน มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน และเริ่มสร้างความร่วมมือระหว่างกัน  ในการประชุมครั้งนี้ Jerod ซึ่งมีประสบการณ์สูงมากในเรื่องของการวิจัย การประเมินผลและการวัดผลงาน จะเป็นตัวแทนของ JCAHO มาร่วมเป็นวิทยากรให้ พรพ.
 
            "มหาวิทยาลัยบูรพา จัดตั้งศูนย์การศึกษาวิจัยเรื่องการคิด (The Center for the Study of Thinking) มีจุดมุ่งหมายเพื่อเพาะบ่มความคิดสร้างสรรรค์ในสถานที่ทำงาน โดยเริ่มจากระบบการศึกษา  พรพ.ได้มีโอกาสพบกับอาจารย์สมศรีเมื่อครั้งไปประชุมที่บางแสน จึงได้ชักชวนให้อาจารย์มาช่วยเพาะบ่มความคิดสร้างสรรค์ให้กับระบบบริการสุขภาพบ้าง"
 
            "ท่านเป็นเจ้าของวลี 'ผมเขียนหนังสือได้ แต่ไม่ดัง'  ท่านชอบเขียนหนังสือมาตั้งแต่เด็ก เป็นผู้ปลุกปล้ำให้กำเนิดแก่วารสารทางการแพทย์ไม่น้อยกว่าสองฉบับ และเป็นนักเขียนประจำในคอลัมน์ต่างๆ มากมาย  ด้วยความที่คลุกคลีกับการสอบสวนคดีต่างๆ ของแพทยสภา จนกระทั่งไปเกษียณอายุด้วยตำแหน่งอธิบดีในกระทรวงยุติธรรมเมื่อปีที่แล้ว  ท่านจึงมีความกระจ่างชัดมากในเรื่องคดีทั้งหลายที่แพทย์ตกเป็นจำเลยอยู่ในขณะนี้"
 
            "คุณหมอโกมาตร เป็นผู้ที่มีมุมมองลึกซึ้งในเชิงมานุษยวิทยา เห็นในสิ่งที่พวกเรามักจะไม่เห็น  สามารถเชื่อมโยงวัฒนธรรมพื้นบ้าน มาแปลความหมายและให้ข้อคิดเห็นด้วยวิธีคิดที่ทันสมัยหรือก้าวล้ำนำสมัยได้  ด้วยความที่คลุกคลีกับการทำงานชุมชนมามาก จึงได้พัฒนาเครื่องมือการทำงานกับชุมชนอย่างมีความสุข และยังคงทำงานวิจัยเกี่ยวกับความสุขของคนทำงานบริการปฐมภูมิ"
 
            "ผู้เยี่ยมสำรวจทั้งสามท่าน เผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ มามากมาย ทั้งที่เอื้อต่อการเรียนรู้อย่างสนุกสนาน และที่เคร่งเครียดด้วยความเข้าใจไม่ตรงกัน  ช่วงนี้จึงเป็นโอกาสที่ผู้เยี่ยมสำรวจทั้งสามท่านจะมาถ่ายทอดเคล็ดวิชาว่าจะใช้การเยี่ยมสำรวจให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเองและการพัฒนาคุณภาพของโรงพยาบาลได้อย่างไร  มิใช่จะมาบอกเคล็ดวิชาว่าจะผ่านการรับรองได้อย่างไร นะ จะบอกให้"
 
 
 

          ลูกของพี่เลี้ยงที่เคยเลี้ยงลูกสาวคนเล็กมาจากต่างจังหวัด บอกกับน้องของเขาว่า “คุณหมอเล่นเกมส์ทั้งวันเลยนะ” แต่ครั้นเข้ามาดูใกล้ๆ ก็คงนึกเสียดายว่า “คุณหมอทำงาน ไม่ได้เล่นเกมส์)  กว่าลุงหมอจะเอาชนะเกมส์นี้ได้ก็สี่ทุ่มครึ่งเข้าไปแล้ว

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 18332เขียนเมื่อ 10 มีนาคม 2006 09:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 21:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
อยากให้อาจารย์เล่าให้ถี่ขึ้นค่ะ

ขอแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับHA

การทำงานหรือการพัฒนาคุณภาพ ทำให้มีผลดีต่อผู้รับบริการจริงผู้รับบริการ ได้ข้อมูลที่อยากรู้และไม่อยากรู้มากมาย ได้รับการปฏิบัติ/บริการที่มีมาตรฐานการปฏิบัติเดียวกัน ได้ใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ ยาที่มีระบบการกำกับตรวจสอบคุณภาพมากมาย ผุ้ให้บริการมีการทำงานที่เป็นระบบมากขึ้น ตรวจสอบกันมากขึ้น เอกสารมากมายเกิดขึ้น ต้องมีความรู้เรื่องนั้น เรื่อวนี้มากมาย ทั้งทีตอนร่ำเรียนมาบางเรื่องไม่มีการสอน   เมื่อมาทำงานต้องเหมือนกับทศกันฐ์รวมกับเจ้าแม่กวนอิมพันกร ต้องรู้และต้องทำ

ถ้ามองในอีกมุม เราขาดความไว้เนื้อเชื่อใจกันมากขนาดนี้หรือสัมพันธภาพระหว่างเรา(ผู้ให้บริการ/ผู้รับบริการ)มีความเป็นสากลมากขึ้นหรือ สิ่งที่เป็นอยู่ในวัฒนธรรมของคนไทยมันหายไปใหน ความเป็นอัตตาของเราสูงขึ้นจนแทบจะปิดกันหัวใจที่จะสื่อถึงกัน.......................

ผมว่าคุณบุษบาบรรณ เข้าใจอะไรผิดไปป่าวครับ รบกวนไปอ่าน core value and concept ให้เข้าใจก่อนก็ได้ครับ เราทำงานเพื่อผู้ป่วยก็จริง แต่คุณภาพที่ดีต้องสมดุลย์ระหว่าง ผู้รับผล  กับ คนทำงานครับ (ให้อ่าน core value ให้เข้าใจก่อนครับ)

ถ้าหากระบบที่ทำนั้นๆ ดูแต่ผลอย่างเดียวอาจจะทำให้เกิดความยุ่งยากดังที่คุณเป็นอยู่(ทศกันฐ์กับเจ้าแม่กวนอิมพันกร....) ถ้าผลดีจริงแต่ทำแล้วยุ่งยาก คุณต้องชั่งน้ำหนักว่าคุ้มหรือไม่ที่จะทำ ถ้าหากไม่คุ้มก็อย่าเพิ่งทำ เพราะเสียเวลา

 

อย่างที่หมอเอกว่า..ถ้าเป็นคนที่ศึกษาหรือพยายามพัฒนาคุณภาพ ความคิดอย่างที่คุณบุษบาบรรณบอกจะไม่มีอยู่ในความคิดหรือความรู้สึก..เพราะมันอินนะ..เวลาทำงานคุณภาพ..แต่ในฐานนะที่เคยเป็นระดับผู้ปฏิบัติมาก่อน..เราเคยเห็นมุมที่คุณบุษบาบรรณบอก..เคยรู้สึกอย่างนั้น และยังอยู่กับบุคคลากรที่รู้สึกอย่างนั้นอยู่..ไม่ใช่ไม่เข้าใจ concept แต่ทำงัยให้ concept กับชีวิตจริงอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน นั้นเป็นคำถามที่ผู้ประสานงานฯ หรือQMR ต้องตีโจทย์ให้แตก..การได้ใจบุคลกร หรือ การสร้างภาพอนาคตที่ต้องเห็นรวมกันทั้งองค์กร..นั่นคือโจทย์ทีตองหาสมการ หรือวิธีการในการสื่อสารให้บุคลากรทุกคนรู้สึกให้ได้..คนที่อยู่หน้างาน การจัดการหน้างานที่มากมาย การแก้ปัญหาประจำวันที่มากมาย..ทำให้ขาดช่วงของการคิด หรือสติไปชั่วขณะ แต่การสื่อสาร หรือประสานงานที่ดี การsupportที่เหมาะสม เราว่ามันจะช่วยทำให้ความรู้สึกอย่างที่คุณบุษบาบรรณว่าไว้ มันลดลง หรือหายไปได้..การวางระบบ หรือการมีแนวทางในการดูแลที่ดี..ส่งผลสุดท้ายให้คนไข้..ได้รับแต่สิ่งที่ดีกลับไปนั้น..การทำงานจนเป็นกิจวัตรอาจมองไม่เห็นความอิ่มใจตรงนั้น..นั่นแหละเป็นหน้าที่ ที่สำคัญที่ผู้ดูแลคุณภาพจะต้องช่วยให้เค้าเห็นคุณค่าในงานที่ทำให้มากที่สุด..มันก็แล้วแต่กลยุทธ์ของใคระ..เอาใจช่วยคุณบุษบาบรรณให้ก้าวข้ามไปได้นะค่ะ..ด้วยความเคารพ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท