วิธีการใช้บล็อกในการเรียนวิชาการจัดการความรู้ในระดับปริญญาโท


เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาผมเขียนบันทึก ถึงนักศึกษาปริญญาโท: ผมยินดีช่วยสอนด้วยการลบบันทึก เพื่อสื่อสารถึงนักศึกษาปริญญาโทกลุ่มหนึ่งในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งซึ่งได้มาใช้ GotoKnow ส่งการบ้านที่อาจารย์ได้สั่งมา

หลังจากเขียนบันทึกแล้วผมก็ไปบุรีรัมย์ พึ่งได้กลับมาดูรายละเอียดของสิ่งที่นักศึกษาเหล่านั้นทำในเมื่อคืนที่ผ่านมานี้เอง ผมเริ่มต้นจากการลบบันทึกที่เป็นการตัดแปะเนื้อหามาจากเว็บอื่นบ้าง forward mails บ้าง หรือนิตยสารหนังสือพิมพ์ต่างๆ ซึ่งพอลบไปลบมาก็ไม่เหลืออะไรในบล็อก ผมก็ลบทั้งบล็อก และในที่สุดผมก็พบว่าไม่เหลืออะไรที่เป็นสิ่งที่นักศึกษาเขียนเองเลย จึงลบทั้ง user ไปเลย

ผมพบว่าการบ้านที่อาจารย์สั่งนักศึกษาเหล่านี้ทำนั้น สะท้อนถึงความไม่มีความรู้ในเรื่องการจัดการความรู้ที่อยู่ใน GotoKnow ของผู้สั่งงาน อีกทั้งตัวอาจารย์เองนั้นเป็นใครก็ไม่รู้ ไม่เคยได้มาใช้ระบบ ไม่ได้รับรู้ถึงกิจกรรมการจัดการความรู้ที่เกิดขึ้นใน GotoKnow ผมคาดว่าอาจจะเกิดจากการที่อาจารย์ได้ข่าวมาจากที่ไหนแล้วก็สั่งงานนักศึกษาไปตามความเข้าใจเพียงผ่านๆ ของตน เมื่อสั่งงานแล้วก็ไม่ได้มาติดตามตรวจงานนักศึกษาอย่างที่อาจารย์พึงสมควรทำ

ผมพบว่างานที่อาจารย์สั่งคือ ให้นักศึกษาแบ่งเป็นกลุ่ม และแต่ละกลุ่มให้ลงทะเบียนใช้ระบบหนึ่งชื่อเพื่อใช้ username และ password ร่วมกัน จากนั้นก็ให้นักศึกษาแต่ละคนเปิดบล็อกโดยใช้ username และ password ที่ร่วมกันนั่นเอง แล้วให้นักศึกษาแต่ละคนไปนำเนื้อหามาแบ่งให้เพื่อนในกลุ่มอ่าน การบ้านนี้เป็นงาน "ตัดแปะ" (copy & paste) อย่างสมบูรณ์ ไม่มีอะไรเป็น KM อยู่เลย

ยิ่งกว่านั้น เมื่อผมลบไปเรื่อยๆ ผมพบว่าการตัดแปะนั้น ดูเหมือนว่าจะกระทำโดยบุคคลเพียงไม่กี่คนภายใต้ชื่อของนักศึกษาหลายคน จากการสังเกตของผมนั้นผมค่อนข้างเชื่อว่าน่าจะมีการ "ทำแทน" เกิดขึ้นแน่ๆ

การกระทำเช่นนี้ไม่มีส่วนเสริมให้นักศึกษาเรียนรู้สิ่งใดเลยเกี่ยวกับ KM ดังนั้นผมคิดว่าเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะปล่อยให้การทำงานเช่นนี้เป็นกิจกรรมในวิชา "การจัดการความรู้" ที่เกิดขึ้นใน GotoKnow

ถ้าผมปล่อยไปก็จะเสมือนว่านักศึกษาได้เกรดไปโดยง่ายจากอาจารย์คนนั้นซึ่งผมไม่ทราบว่าเป็นใคร และสามารถพูดได้ว่าตนได้เรียนรู้กิจกรรมการจัดการความรู้โดยใช้เว็บไซต์ GotoKnow มาแล้ว

การกระทำเช่นนี้เป็นการได้เพียงเปลือก ได้เพียงชื่อ และได้เพียงผ่านไป ไม่ใช่สิ่งที่ควรสนับสนุนโดยเฉพาะในระดับการศึกษาชั้นปริญญาโท

ผมไม่สนับสนุนการศึกษาที่เพียงกระทำเพื่อให้ได้กระดาษหนึ่งใบความรู้จริงไม่เกี่ยว ประเทศไทยเรามีผู้มีใบปริญญามากเกินไปแล้ว ในวันนี้เราต้องการผู้มีความรู้มาช่วยกันพัฒนาชาติบ้านเมืองมากกว่าผู้มีใบปริญญา

ดังนั้นผมจะสั่งงานใหม่ และผมจะลบสิ่งที่นักศึกษาได้ทำในกิจกรรมเดิมที่อาจารย์ของนักศึกษาสั่งออกให้หมดเพื่อไม่ให้เป็นต้นแบบที่ไม่ดีแก่ใครที่จะเรียนวิชาการจัดการความรู้ต่อไปในอนาคต

นักศึกษาอาจสงสัยว่าผมมีสิทธิ์สั่งงานใหม่ได้อย่างไร ผมสั่งได้เพราะนักศึกษามาใช้พื้นที่ GotoKnow เพื่อ "เรียนรู้" ในวิชา "การจัดการความรู้" เมื่อนักศึกษาจะมาใช้พื้นที่นี้แล้ว ผมไม่ปล่อยไปโดยที่นักศึกษาไม่ได้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการความรู้แน่

เริ่มต้นจากนักศึกษาต้องไปอ่านบล็อก ThaiKM ของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช โดยละเอียด นักศึกษาควรใช้เวลาให้มากในการบันทึกของอาจารย์หมอวิจารณ์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความรู้เพราะนี่เป็นแหล่งความรู้เกี่ยวกับการจัดการความรู้ที่สอดคล้องกับบริบทประเทศไทยที่ดีที่สุดที่นักศึกษาจะหาได้ ผู้หมั่นเพียรในการศึกษาไม่ควรจะปล่อยให้ความรู้เหล่านี้ผ่านไปได้โดยไม่ซึมซับมาเป็นความรู้แก่ตน

หลังจากนั้นให้นักศึกษาลงทะเบียนในระบบ โดยนักศึกษาหนึ่งคนต่อหนึ่งทะเบียนผู้ใช้ (username) และให้แสดงตัวชื่อ-นามสกุล รูปถ่าย พร้อมสถานที่ทำงานให้เรียบร้อย เป็นการเปิดเผยตัวตนที่พร้อมจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่น โดยนักศึกษาหนึ่งคนควรมีเพียงหนึ่งบล็อกที่นักศึกษาจะใช้ฝึกฝนในกิจกรรมใน GotoKnow นี้

กิจกรรมการจัดการความรู้ที่ดำเนินอยู่ใน GotoKnow นี้เรียกว่าการ "แลกเปลี่ยนเรียนรู้" ซึ่งคำนี้แบ่งได้เป็นสองส่วนคือ "แลกเปลี่ยน" เพื่อ "เรียนรู้" นักศึกษาจะนำความรู้ของตนที่เกิดจากการทำงาน เกิดจากชีวิตประจำวัน เป็นประสบการณ์ เป็นการประยุกต์ใช้ความรู้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงและมีผลลัพธ์ที่นำมาแลกเปลี่ยนได้ เป็นสิ่งที่เกิดจากการใคร่ครวญตีความของนักศึกษา มาเล่าผ่านบล็อกเพื่อ "ให้" ความรู้แก่ผู้อื่นได้ "เรียนรู้"

การให้นี้เรียกกว่าเป็นเรื่องเล่าเร้าพลัง (storytelling) เพื่อให้ผู้อื่นได้เรียนรู้นำไปประยุกต์ใช้หรือจุดประกายความคิดเพื่อให้ต่อยอดความรู้ในกิจกรรมการทำงานและกิจกรรมอื่นๆ ของผู้อ่านต่อไป

เมื่อเรื่องเล่าเร้าพลังเป็นเช่นนี้ เรื่องที่ตัดแปะมาจากที่อื่น ย่อมไม่ใช่เป็นสิ่งที่ควรทำเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แน่ การตัดแปะไม่มีคุณค่าของการจัดการความรู้ เพราะไม่เกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์ความรู้หรือประสบการณ์ที่ควรแค่แก่การถ่ายทอดของตัวนักศึกษาเอง กล่าวคือนักศึกษาไม่ใช่ "ผู้รู้" ในเรื่องนั้น ไม่มี "สาร" ที่เกิดจากการ "ปฎิบัติ" ที่จะถ่ายทอด ไม่เกิดการเรียนรู้ทั้งผู้ตัดแปะและผู้อ่าน นี่ยังไม่นับว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอีกด้วย

สำหรับผู้ใฝ่รู้ การอ่านบล็อกของอาจารย์หมอวิจารณ์ก็ย่อมเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะบอกนักศึกษาได้ว่าการจัดการความรู้ในรูปแบบที่ดำเนินอยู่ใน GotoKnow นี้เป็นอย่างไร แต่การอ่านบล็อกของอาจารย์หมอวิจารณ์ไม่เพียงพอที่จะทำให้นักศึกษาเข้าใจได้ทั้งหมด นักศึกษาต้องอ่านบล็อกของผู้ใช้คนอื่นๆ ใน GotoKnow ด้วย คุณ "คนโรงงาน" ได้สรุปไว้ดีมากที่นักศึกษาควรอ่านเพื่อให้ได้เห็นภาพถึงกิจกรรมที่เกิดขึ้นนี้ใน สร้างความรู้ให้มีชีวิต..เรียนรู้ g2k ผลักดันสร้าง blog ภายในองค์กร นักศึกษาควรอ่านให้เข้าใจ

โดยสรุปแล้ว เพื่อจะให้เข้าใจว่ากิจกรรมการจัดการความรู้เช่นนี้เป็นอย่างไร นักศึกษาต้องใช้เวลาอ่านสิ่งที่ยอยู่ใน GotoKnow ไม่น้อยทีเดียว แน่นอนว่าความรู้สำเร็จรูปย่อมไม่มี ความรู้ที่ดีย่อมเกิดจากความมานะพยายามขวนขวายของผู้เรียนรู้เอง

ทั้งหมดนี้คือคำสั่งในการทำการบ้านนี้ใหม่เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้เกี่ยวกับ "การจัดการความรู้" ตามที่นักศึกษาได้ลงทะเบียนเรียนไว้ หลังจากผมเขียนบันทึกนี้เสร็จแล้ว ผมจะลบ user ของนักศึกษาที่เปิดเป็นกลุ่มเพื่อตัดแปะเว็บเนื้อหาจากเว็บอื่นตามคำสั่งเดิมของอาจารย์ของนักศึกษาออกให้หมด เพื่อให้นักศึกษาได้ทำงานตามคำสั่งใหม่

นักศึกษามีโอกาสที่จะเรียนรู้แล้ว ขอให้ใช้โอกาสในการเรียนรู้นี้ให้เต็มที่ การเรียนให้ได้เกรดนั้นไม่ยาก การเรียนให้ได้ความรู้นั้นยากกว่า

ส่วนการจะได้คะแนนในวิชาที่นักศึกษาลงทะเบียนกับอาจารย์ผู้สอนเท่าไหร่ในคำสั่งใหม่ที่ผมให้นี้ ผมไม่ทราบ เป็นสิ่งที่นักศึกษาต้องเจรจากับอาจารย์ผู้สอนเอง ผมทราบดีว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากที่อาจารย์ผู้สอนจะยินดีปรับเปลี่ยนตามที่ผมเขียนนี้ แต่ผมก็ไม่อนุญาตให้นักศึกษาทำตามกิจกรรมที่อาจารย์ผู้สอนให้ทำภายใต้ชื่อวิชา "การจัดการความรู้" ที่นี่ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่อาจารย์ผู้สอนต้องแก้ปัญหาเอง

ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม สำหรับนักศึกษาแล้วการได้อ่านบันทึกนี้ของผมน่าจะช่วยให้นักศึกษาเข้าใจกิจกรรมการจัดการความรู้ได้ดีขึ้น ความรู้ที่ได้รับจะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ในวันที่นักศึกษาต้องใช้ความรู้เพื่อทำงาน "จัดการความรู้" หลังจากจบการศึกษาแล้วแน่นอน

ผมเชื่อว่าที่จริงแล้วเหตุการณ์นี้เป็นโอกาสที่ดีที่อย่างน้อยเราก็ได้เรียนรู้ร่วมกันแม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม การเรียนไม่ได้หมายความว่าต้องเริ่มต้นที่การลงทะเบียนและจบที่การให้เกรด

"การเรียนให้ได้เกรดนั้นไม่ยาก การเรียนให้ได้ความรู้นั้นยากกว่า"

หมายเลขบันทึก: 183267เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2008 17:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 00:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)
  • ^*__*^ สวัสดีค่ะ อาจารย์
  • ไม่ได้เข้ามา gotoknow นาน .. กลับมาอ่านคราวนี้ก็ได้แง่คิดดีๆ เยอะค่ะ
  •  "การสอนให้ได้เกรดนั้นไม่ยาก การสอนให้ได้ความรู้นั้นยากกว่า"   (ความรู้ ที่เป็น ปัญญา)
  • "เกรดที่ได้จากการเรียนนั้นไม่มีความหมาย  หากไม่นำมาใช้ให้เกิดคุณค่าและประโยชน์ต่อตนเองและสังคม"
  • ขอบคุณค่ะ
  • สวัสดีครับอาจารย์
  • ต้องยอมรับว่าตัวผมเองก็เป็นหนึ่งในนักตัดแปะตัวยง เพราะว่าบันทึกของผมจำนวนหนึ่งมาจากการตัดแปะ
  • ผมคิดว่านักศึกษาสามารถต่อยอดและเรียนรู้อย่างก้าวกระโดดได้จากการตัดแปะ (ผมเชื่ออย่างนั้น) เพราะผมคิดว่าในบางครั้ง เน้นนะครับว่าบางครั้ง การตัดแปะเป็นการปูพื้นฐานความรู้ในสามารถแลกเปลี่ยนได้สนุกยิ่งขึ้น เป็นการปรับให้เป็นพวกคนคอเดียวกัน
  • แต่อย่างที่อาจารย์เล่ามาผมว่าคงต้องผลักต้องดันนักศึกษากลุ่มนี้กันอีกเยอะ เพราะว่าตัดแปะอย่างเดียว โดยไม่มีการวิเคราะห์วิจารณ์เพื่อให้เกิดบรรยากาศแห่งการแลกเปลี่ยนมันก็ไม่มีประโยชน์อะไร
  • ผมได้อ่านบันทึกของอาจารย์เรื่อง ถึงนักศึกษาปริญญาโท: ผมยินดีช่วยสอนด้วยการลบบันทึก แล้ว ตั้งใจจะแสดงความคิดเห็นด้วย แต่ผมเองก็ยังอ่อนด้วยประสบการณ์ที่จะแสดงความคิดเห็นในเชิงนโยบายของสังคมนี้ แม้ผมจะพิมพ์เสร็จแล้วผมก็ตัดสินใจลบและไม่ส่งความคิดเห็นจะดีกว่า
  • สนับสนุนความเห็นของอาจารย์อย่างยิ่งครับที่จะปุพื้นฐานที่ดีให้แก่นักศึกษาปริญญาโท ไม่อยากเห็นแบบที่เรียกว่าเรียนแบบจ่ายครบ จบแน่ ในสังคมไทย
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีครับคุณสุดทางบูรพา สำหรับผู้ใช้ทั่วไปนั้นที่จริงแล้วเราไม่ได้มีนโยบายที่จำกัดมากมายแต่อย่างไรครับ การจะใช้งานอย่างไรนั้นก็แล้วแต่ผู้ใช้จะเห็นสมควรครับ

แต่สำหรับนักศึกษานั้น เมื่อเขาเข้ามาศึกษาพื้นที่นี้ ก็ต้องมีกฎเกณฑ์เพื่อให้พวกเขาได้เรียนรู้ถึงกิจกรรมที่เราเจตนาให้เป็นกิจกรรมของการจัดการความรู้ที่เราดำเนินอยู่ครับ

บันทึกสองบันทึกหลังนี้จึงเขียนเพื่อสื่อสารถึงนักศึกษากลุ่มนี้ครับ การที่เขาจะจบการศึกษาออกไปและได้ชื่อว่าเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการความรู้แล้วนั้น เขาไม่ควรได้เพียงแต่ชื่อว่าได้ลงทะเบียนเรียนแล้ว แต่ต้องได้ความรู้ออกไปด้วยครับ

คนเป็น "ครู" ด้วยจิญวิญญาณ เขาจะทราบว่า เขาควรจะสอนลูกศิษย์เขาให้ได้ความรู้ได้อย่างไร

คนเป็น "ครู" ด้วยคิดว่าเป็นอาชีพหรือสำหรับหาเงินเป็นหลัก เขาจะทราบเหมือนกันว่า เขาควรจะสอนลูกศิษย์เขาให้ผ่านง่าย ๆ ไปได้อย่างไร โดยไม่คิดถึง แล้วประเทศเราจะหวังอะไรได้จากบัณฑิต มหาบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิตที่จบมา

ขอบคุณครับ :)

ขอบคุณครับ อาจารย์ ธวัชชัย

ได้อ่านความตั้งใจของอาจารย์แล้ว ตรง และ ชัดเจนครับ..

ผมเชื่อว่า หาก นศ ได้ อ่าน คง เข้าใจ วัตถุประสงค์ และ สิ่งที่ที่นี่อยาก

สร้างให้เป็นสังคมเรียนรู้จริงๆ..และขอบคุณ ที่กรุณา อ้างอิง link

ของผมให้คนอิ่นๆได้อ่าน..มันทำให้หัวใจพองโตหน่ะครับ..

  • ขอบคุณที่อาจารย์สอน แบบ รู้แล้วชี้
  • สังคมปัจุปันน่ากลัวมากค่ะ เป็นสังคม "ไม่รู้แล้วชี้"
  • โดยเฉพาะถ้าเกิดในวงการการศึกษา

 

ดีค่ะอาจารย์ ในเมื่ออาจารย์เขาสอนไม่ได้แต่อยากให้นักศึกษามาใช้พื้นที่ตรงนี้ก็ต้องยอมรับกฎเกณฑ์ที่มีอยู่ บ้านมีกฎบ้าน เมืองมีกฎเมือง บล็อกก็เหมือนกัน อาจารย์ช่วยตีสอนถือว่าเมตตา จริงๆ ไม่ต้องมาชี้แจงหรือตอบคำถามเลยก็ยังได้ ถ้านักศึกษาที่ได้อ่านบันทึกนี้แล้วคิดได้ก็เป็นอะไรที่ดีแก่ตัว อาจารย์เขาก็เหมือนกันถ้าได้อ่านแล้วตระหนักได้ก็จะเป็นประโยชน์มหาศาลแก่ศิษย์

การอ้างว่าบอกนักศึกษาแล้วได้ทำหน้าที่อธิบายแล้ว แต่นักศึกษาไม่ทำตามนั้น มีหลายวิธีที่จะตักเตือน แก้ไข หรือจัดการ ถ้าเอาใจใส่ในการสอนและให้เวลาสนใจสิ่งที่ตัวเองสั่งอย่างเพียงพอ การที่เด็กมาทำผิดระเบียบวิธีวิจัยบนที่สาธารณะ เป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนในการเรียน ไม่ใช่การเขียนทั่วไป แล้วผู้ดูแลออกมาตักเตือน ติดต่อหลายครั้งหลายครา แต่กลับนิ่งเฉยไม่ตอบกลับในเบื้องต้น จากนั้นเมื่อเขาดำเนินการจัดการตามกฏระเบียบ กลับเกิดการออกมาโวยวายเพราะเกรงว่าจะไม่ได้คะแนน สนใจแต่เรื่องฝั่งตัวเอง ไม่ยอมทำความเข้าใจอีกด้าน สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่อาจารย์ผู้สอนควรรับผิดชอบ จะอ้างปฎิเสธความรับผิดชอบว่าไม่ได้เป็นผู้กระทำมิได้ เนื่องด้วยเป็นผู้สั่งแต่ไม่ติดตามผล 

ถามว่าทำไมคนข้างนอกเขาถึงมองว่าการศึกษาระดับปริญญาโทในเมืองไทยนั้นเชื่อถือได้เป็นบางสถาบัน บางสถาบันแค่ได้ยินชื่อก็เป็นอันรู้กันว่าจ่ายตังค์ครบ จบแน่ ไม่เพียงนักศึกษาที่ภายนอกไม่เชื่อถือ แม้แต่อาจารย์ที่สอนก็พลอยไม่ได้รับการนับถือไปด้วยเนื่องจากพฤติกรรมปล่อยปะละเลยให้คุณภาพการศึกษาตกต่ำลง

สิ่งที่เกิดขึ้นในบล็อกอ.ธวัชชัยเมื่อสองสามวันที่ผ่านมาคงสะท้อนถึงอะไรหลายๆ อย่างได้เป็นอย่างดี เกี่ยวกับความเข้าใจ แนวคิด ความรับผิดชอบ และมโนสำนึก ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม หวังว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นบทเรียนทั้งในฝ่ายนักศึกษาและตัวอาจารย์ผู้สอนได้ไม่มากก็น้อย

สวัสดีครับอาจารย์

  • ผมเป็นหนึ่งในคนตัดแปะครับ
  • แต่เข้ามาแสดงตัวเพื่อเห็นด้วยกับอาจารย์ครับ

สวัสดีครับ

เห็นด้วยกับอาจารย์ค่ะ ที่สมัยนี้คนมักจะทำอะไรง่ายๆ

การอ่านทำความเข้าใจ..เรื่องที่น่าสนใจ

แล้วนำมาสรุปหรือเล่าต่อ..ตามความเข้าใจและความรู้สึกของเราเอง น่าจะต่อยอดความคิดได้ดีกว่านะคะอาจารย์

สวัสดีครับอาจารย์

  • ก็เห็นด้วยกับอาจารย์นะครับ
  • แต่ก็ไม่ค่อยเข้าใจวัตถุประสงค์ของอาจารย์และนักศึกษากลุ่มนั้นเหมือนกัน
  • ขอบคุณครับ

ผมคิดว่าเราไม่ค่อยได้ปลูกฝั่งกันเรื่อง plagiarism ครับ

เรายังคิดกันว่า ของบนอินเทอร์เน็ตเป็นของฟรี หยิบมาใช้เมื่อไรก็ได้ไม่ผิด

แต่การทำเช่นนั้นมันทำให้เราสะสมความมักง่าย

อย่างที่อาจารย์ว่าครับ ทำงานเสร็จแต่ไม่ได้ความรู้อะไร (อาจจะได้ทักษะการ cut paste)สุดท้าย กลับกลายเป็นการเพิ่มขยะให้กับ cyberspace อีกต่างหาก

ผมเคยได้ยินมาครับว่าการพัฒนาประเทศเริ่มจากการเป็นแรงงานก่อน (ใช้ทักษะในการผลิต)

หลังจากนั้นต้องสั่งสมความรู้ แล้วขายผลงานไม่ใช่ขายแรงงาน(ใช้ปัญญาในการผลิต)

ดังนั้น เมื่อเริ่มที่จะ copy paste เป็นแล้ว ต้องรู้จักประมวลผลและเริ่ม read write เองเป็นด้วย ถึงจะดีครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท