เห็นกงจักรเป็นดอกบัว


มารดาบิดาเป็นพระพรหมของลูก

 

 

..................มิตตวินทุกะ  เป็นบุตรของเศรษฐีในเมืองสาวัตถี   ในครั้งศาสนาพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า  มีมารดาเป็นผู้บรรลุธรรมขั้นโสดาบัน  แต่ตนนั้นเป็นคนไม่มีศีล  ไม่มีศรัทธา  เมื่อบิดาล่วงลับไปแล้ว  มารดาก็ได้ทำหน้าที่ทุกอย่างแทนบิดา

..................อยู่มาวันหนึ่ง  มารดาได้สอนลูกว่าลูกเอ๋ย  การได้เกิดมาเป็นมนุษย์เป็นของยาก  เจ้าจงให้ทาน  รักษาศีล   ถืออุโบสถ และธรรมเถิด

..................แต่เขากลับกล่าวว่า ฉันไม่ต้องการอย่างนั้น  ขอแม่อย่าพูดถึงอีก  ฉันจะเป็นไปตามเรื่องของฉัน

..................แม้มิตตวินทุกะจะปฏิเสธสิ่งที่มารดาเสนอ  แต่ด้วยใจของมารดาที่อยากให้ลูกเป็นคนดี  ได้รับสิ่งที่ดี ๆ ในชีวิต   จึงไม่ละความพยายาม   จนวันหนึ่งซึ่งเป็นวันอุโบสถ  มารดาได้ขอให้มิตตวินทุกะไปวัดโดยได้ตั้งรางวัลไว้เป็นทรัพย์พันหนึ่ง   ซึ่งมิตรวินทุกะก็ได้ทำตามที่มารดาขอเพราะเห็นแก่ทรัพย์ที่จะได้มา   แต่เมื่อรับศีลอุโบสถแล้ว  ก็หลบไปนอนเสียไม่ได้ฟังธรรม  จนกระทั่งกลับบ้านในรุ่งเช้าวันใหม่

..................ด้านมารดา  เข้าใจว่าลูกได้ฟังธรรมคงมีความซาบซึ้ง  รุ่งเช้าคงนิมนต์พระผู้กล่าวธรรมมารับอาหารบิณฑบาตร   จึงได้จัดแจงข้าวปลาอาหารไว้พร้อม  แต่การณ์มิเป็นเช่นที่คาด  มิตตวินทุกะกลับบ้านแต่เพียงผู้เดียว   ผู้เป็นมารดาจึงได้เจรจาถามไถ่ว่า

                มา...      “ลูกเอ๋ย  เจ้าไม่นิมนต์พระธรรมกถึกมาด้วยหรือ

                มิต…      “นิมนต์มาทำไม  ฉันไม่ต้องการนิมนต์

                มา…       “ถ้าอย่างนั้นเจ้าจงทานข้าวต้มนี้เสีย

                มิต…      “เดี๋ยวก่อน  ไหนล่ะ  แม่บอกว่าจะให้ทรัพย์พันหนึ่ง  เอาทรัพย์มาก่อน

                มา…       “ทานเสียก่อนเถิดลูก  แม่จะให้ทีหลัง

                มิต…      “ไม่ได้  ต้องรับเงินก่อนถึงจะทาน

..................มารดาจึงได้ยกถุงทรัพย์ไปวางไว้ข้างหน้า    หลังจากทานข้าวต้มเสร็จแล้ว  เขาก็รีบเอาทรัพย์นั้น  ออกจากบ้านไปทำการค้าขาย  จนกระทั่งไม่นานเขาก็ได้ทรัพย์เป็นกำไร    แสน   จึงคิดว่า  จักไปค้าขายทางเรือสำเภา    เขาจึงได้จัดหาสำเภาแล้วบอกมารดาตามความประสงค์  แต่

                มา…       “ลูกเอ๋ย  เจ้าเป็นลูกคนเดียวของแม่  ทรัพย์สมบัติเราก็มีอยู่มาก  การเดินเรือไปท่ามกลางสมุทรมีอันตรายมากน่ะลูก  แม่ว่าอย่าไปเลย

                มิต…      “ไม่ต้องห้ามหรอก  ฉันจะไป  ไม่มีใครห้ามฉันได้

                มา…       “แม่นี้แหล่ะ  จะห้ามเจ้า” 

 

..................จากนั้นมารดาจึงจับมือเขาไว้มั่น  ส่วนมิตตวินทุกะนั้นก็ไม่ได้รู้สึกเห็นด้วยกับผู้เป็นมารดาเลย  กลับสลัดมือแล้วตบตีมารดาจนล้มลง  แล้วจึงหนีไปลงสำเภาตามที่ต้องการ  

..................เมื่อเรือสำเภาซึ่งบรรทุกพ่อค้าหลายชีวิต  ได้เดินทางไปในมหาสมุทรได้    วัน  เรือก็หยุดนิ่ง  และดูท่าว่าจะอับปางลง  ทุกคนในเรือสำเภาจึงวิเคราะห์ว่า  ที่เป็นเช่นนี้เพราะในเรือต้องมีคนกาลกิณีมีบาปหนาอยู่ด้วยเป็นแน่  การเดินทางถึงได้ติดขัดอย่างนี้  จึงได้ทำสลากกาลกิณีให้ทุกคนจับ   ผลปรากฏว่า  มิตตวินทุกะจับได้ทั้ง    ครั้ง   จึงถูกจับลงลอยแพไปคนเดียว  และเรือสำเภาก็แล่นต่อไป  

..................มิตตวินทุกะถึงคราชะตาขาด  ถูกลอยแพจนชีวิตต้องจบสิ้นลงในท่ามกลางมหาสมุทรในเวลาต่อมา  และด้วยบาปกรรมที่ทำกับมารดาผู้เป็นอริยบุคคลบรรลุโสดาปัตติผล   จึงดลให้ไปปฏิสนธิในเปตภูมิ ได้พบกับเปรตหลายจำพวกเสวยทุกขวิบากโดยลำดับ   จนกระทั่งได้ไปปฏิสนธิ    อุสสุทนรก  ซึ่งเป็นสถานที่ลงโทษสัตว์นรกเป็นอันมาก  

..................ด้วยนัยน์ตาอันมืดมิดเพราะบาปกรรมปกปิด มิตตวินทุกะได้เห็นนรกนั้นดุจเมืองที่ประดับประดาไว้อย่างสวยงามมาก   และณ ที่นั้นเองมีสัตว์นรกตนหนึ่ง  มีกงจักรหมุนอยู่บนศีรษะ  มีเครื่องจองจำรัดตัว สายโลหิตก็ไหลอาบไปทั้งตัว มีเสียงร้องครวญครางด้วยความเจ็บปวด แต่มิตตวินทุกะถึงคราจะต้องเสวยผลกรรม  จึงมองเห็นกงจักรที่อยู่บนศีรษะของสัตว์นรกตนนั้นว่าเป็นดอกบัว   เห็นเครื่องจองจำว่าเป็นเครื่องประดับตัว  เห็นโลหิตที่อาบไปทั้งตัวว่าเป็นจันทร์แดงชุบตัว  เสียงร้องครวญครางก็เข้าใจว่าเป็นเสียงร้องเพลงที่ไพเราะ   เขาจึงเข้าไปใกล้สัตว์นรกตนนั้นแล้วเจรจากัน

 

               มิต…      “ดอกบัวนี้ท่านได้ประดับประดามานานแล้วใช่ไหม ให้เราประดับบ้างเถิด

               สัต…      “ไม่ใช่ดอกบัวหรอกคุณ  เป็นจักรกรดต่างหาก

               มิต…      “ท่านไม่อยากให้เราใช่ไหม  จึงตอบอย่างนั้น

 ..................จากนั้น  สัตว์นรกจึงคิดว่า  บาปวิบากของตนคงจักสิ้นแล้ว   ผู้นี้คงจักทุบตีมารดาเหมือนกับเรา  ถ้าอย่างนั้นเราจักให้แก่เขา   จึงยกจักรกรดออกจากศีรษะของตน  ไปวางไว้บนศีรษะของมิตตวินทุกะ

 ..................ฝ่ายมิตตวินทุกะ  เมื่อจักรกรดอยู่บนศีรษะก็รู้ทันทีว่าไม่ใช่ดอกบัว  เกิดความเจ็บปวดทรมานมาก  จึงได้ร้องขอให้สัตว์นรกตนนั้นเอากลับคืนไป  แต่เจ้าของได้หายไปเสียเพราะสิ้นวิบากกรรมนั้นแล้ว   มิตตวินทุกะจึงเสวยทุกขเวทนาอยู่ไปในที่นั้นนับกาลยาวนาน

 ..................ท่านผู้อ่านทั้งหลาย จากเรื่องนี้ซึ่งมีปรากฏในคัมภีร์อรรถกถาชาดก ทสกนิบาต อาจให้สันนิษฐานได้ว่า สำนวนไทยที่ว่าเห็นกงจักรเป็นดอกบัว”  น่าจะมีความเป็นมาเกี่ยวเนื่องกับชาดกเรื่องนี้   แต่การที่นำเรื่องนี้มาเล่าไว้  ใช่ว่าประสงค์จะให้เห็นที่มาของคำว่าเห็นกงจักรเป็นดอกบัวเท่านั้น   สิ่งสำคัญ คือ ประสงค์จะเตือนใจท่านทั้งหลายว่า  การก่อบาปกับบิดามารดาซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดนั้นเป็นบาปหนัก ยิ่งในเรื่องนี้มารดาเป็นอริยบุคคลบรรลุโสดาปัตติผลด้วยแล้ว ยิ่งหนักหนากันไปใหญ่  ผู้ก่อบาปกรรมกับมารดาหรือผู้บริสุทธิ์ จึงมีผลเร็ว  แรงและร้าย  จึงควรสำรวมระวังไว้ เดี๋ยวถึงคราพลาดพลั้งไป ต้องเสวยวิบากกรรมอย่างมิตตวินทุกะแล้วยากนักจักแก้ไข  จะโยนวิบากกรรมให้ผู้อื่นรับกับไม่ได้  ผู้ก่อเวรย่อมได้รับเวร  ผู้เบียดเบียนย่อมได้รับการเบียดเบียน  ผู้ทำกรรมชั่วเองย่อมได้รับผลชั่วเอง 

 ..................ในทางพระพุทธศาสนา   บิดามารดานั้น  พระพุทธองค์ทรงยกย่องไว้ในฐานะอันสูงส่งอย่างยิ่ง  ดังพระพุทธวจนะที่ว่า 

                            พฺรหฺมาติ  มาตาปิตโร     ปุพฺพาจริยาติ  วุจฺจเร

                        อาหุเนยฺยา จ  ปุตฺตานํ     ปชาย  อนุกมฺปกา

                        มารดาบิดาผู้อนุเคราะห์ลูก ได้ชื่อว่า  เป็นพระพรหม 

                        เป็นบูรพาจารย์  และเป็นอาหุไนยบุคคล  ของลูก

 ..................ฐานะของบิดามารดาทั้ง    ที่พระพุทธองค์ทรงยกย่องนี้  ล้วนแล้วแต่เป็นฐานะที่สูงส่ง  ดังนั้น  จึงไม่สงสัยเลยว่า  ทำไมผลกรรมที่ทำกับบิดามารดานั้นจึงมีผลเร็ว  แรงและร้ายนัก

 ...................ฐานะพระพรหม  ซึ่งหมายถึง  ผู้สร้างโลก  สร้างสรรพสิ่ง  เป็นผู้ประเสริฐ  เป็นพระเจ้าของพราหมณ์  แต่ที่ทรงยกย่องบิดามารดาในฐานะพระพรหมนั้น  ก็เพราะมีธรรมอันประเสริฐอยู่ในใจ    อย่าง  ได้แก่  เมตตา (รักหวงลูก)  กรุณา (สงสารลูก  ยามลูกมีทุกข์ทนอยู่เฉยไม่ได้ต้องช่วยเหลือลูกมุทิตา (ยินดีด้วยกับลูก  ยามลูกได้ดีไม่อิจฉาริษยา) และอุเบกขา (วางเฉยได้ เมื่อลูกพร้อมที่จะดำเนินชีวิตด้วยตัวเอง มีครัวมีเรือน  แต่ก็เฉยมองพร้อมที่จะช่วยเหลือลูกเสมอในคราที่ควร  ไม่ใช่เฉยเมย)

 ...................ฐานะบูรพาจารย์  หมายถึง  อาจารย์คนแรก  เพราะบิดามารดาสอนลูกก่อนใคร  สอนให้ยืน  นั่ง  เดิน  นอน  พูด  กิน  ถ่ายและอื่น ๆ จนกระทั่งเติบใหญ่  วิชาการต่าง ๆ ในโรงเรียนล้วนเริ่มต้นจากบ้านซึ่งมีบิดามารดาเป็นอาจารย์ผู้ปรารถนาดีต่อลูกศิษย์คตลอดกาล

 ...................ฐานะอาหุไนยบุคคล  หมายถึง  ผู้ที่ลูกควรบูชา  คำว่า  “อาหุไนยนั้นเป็นคุณลักษณะอย่างหนึ่งของพระอริยบุคคล  ฉะนั้น หากจะกล่าวว่า  บิดามารดา  เป็นพระอริยบุคคลหรือเป็นพระอรหันต์ของลูก ย่อมถูกต้องชัดเจน  เพราะบิดามารดามีใจบริสุทธิ์สำหรับลูกเสมอดุจดังพระอรหันต์ที่ปราศจากสิ่งเศร้าหมองภายในจิตใจ

 ..................ด้วยเหตุนี้แล  ทำร้าย  กล่าวร้าย  คิดร้าย  กับบิดามารดาจึงมีผลร้ายมาก  ถึงขนาดมีนัยน์ตามืดมิดเห็นผิดเป็นถูก  เห็นกงจักเป็นดอกบัว  เห็นเครื่องจองจำตัวเป็นเครื่องประดับ  จนต้องประสบกับทุกขเวทนายิ่งนัก  ที่สำคัญผู้ทำร้ายบิดามารดาใช่จะรับผลในชาติหน้าเท่านั้น  แม้ชาติปัจจุบันก็เห็นกันมามากมายแล้วว่าไม่เจริญแน่นักแล

หมายเลขบันทึก: 183013เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2008 23:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 23:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะ

แวะมาอ่านค่ะ ได้รู้ที่มาของ "เห็นกงจักรเป็นดอกบัว" ขอบคุณค่ะ

ได้ทราบเช่นกัน ขอบคุณค่ะ

  • สวัสดีครับท่านญานภัทร
  • เคยทราบมาก่อนเหมือนกัน แต่ได้อ่านจากบันทึกท่านแล้ว แจ่มแจ้งขึ้นครับ
  • คนเราหากเห็นกงจักรเป็นดอกบัวได้ละก้อ...ถ้าไม่เมาก็คงบ้าครับ, ฤๅกรรมบัง / เวรทัน, ฤๅกรรมทัน / เวรบัง
  • โชคดีมีความสุขครับ

ขอบคุณครับท่านทนัน ภิวงศ์งาม

ที่เข้ามาเยี่ยมเยียน

โชคดีมีสุขเช่นกันครับ

อภิสิทธิ์ วงศ์อุดม 51/25 ท่องเที่ยว

เห็นกงจักรเป็นดอกบัว

จะมีจริงๆเหรอครับอาจารย์

แต่ถ้าไม่ได้ตั้งใจ

จะเป็นอย่างนี้หรือป่าว

อภิสิทธิ์ วงศ์อุดม 51/25 ท่องเที่ยว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท