AAR ชีวิตของตัวเองถึงวันนี้


After Action Review

จากการเขียนเรื่องย้อนรอย PhDฯ กับประโยคที่ได้รับฟังจากน้องในห้องแล็บ หลังจากเราออกปากไปว่า น้องๆเก่งจัง ลูกยังเล็กๆยังทำงานอื่นๆได้ตั้งเยอะ สมัยพี่ลูกเล็กๆดูเหมือนจะทำแบบนี้ไม่ได้ น้องพูดว่า พวกเราชื่นชมพี่นั่นแหละ ที่มีลูกตั้ง 3 คนแล้วทำได้ขนาดนี้ ทำให้กลับมาคิดว่า เราน่าจะ After Action Review (AAR) ชีวิตที่ผ่านมาดูเหมือนกัน แต่ขอทำตามสไตล์ตัวเองที่มีหัวข้อไม่ครบ ตามแบบของจริงของ สคส. ที่ต้องมี จุดมุ่งหมาย, สิ่งที่ได้เกินคาด, ได้น้อยกว่าที่คาด, จะทำอะไรต่อไป และ ข้อเสนอแนะ

สิ่งที่คาดหมายในชีวิต
ดูเหมือนจะเป็นคนที่ไม่คาดหมาย ไม่เคยตั้งเป้าหมายอะไร แต่ถ้ามีอันต้องทำอะไรแล้วจะทำให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ คิดว่าเป้าหมายในชีวิตคงเป็นอยากให้คนเห็นว่า เราเป็นคนดี มากกว่า เป็นคนเก่ง เพราะคิดว่าคนเราจะอิจฉาคนเก่ง แต่ไม่มีใครอิจฉาคนดี ถ้าไม่ชื่นชมก็แค่เฉยๆ อยากให้คนเฉยๆหรือชื่นชมกับเรามากกว่าไม่อยากให้ใครอิจฉา

จบ PhD แล้วต้องทำอะไร
โดนคนแซวว่า อะไรกัน จบด๊อกเตอร์แล้วยังมานั่งลงทะเบียนอีก ทำไมยังมาทำงานอะไรที่ใครๆก็ทำได้อยู่อีก เกิดคำถามว่าแล้วคนจบปริญญาเอกนี่ควรจะทำอะไร ถ้าเราคิดว่าการจบปริญญาเอกเป็นสิ่งที่ทำให้คนเป็นคนเก่ง ต้องทำอะไรที่มันสร้างสรรค์ ให้ประโยชน์ใหญ่หลวง ทำงานพื้นๆไม่ได้ ลองคิดดูว่าคนหวังอะไรจากคนที่จบปริญญาเอก ตัวเองคิดว่า การจบปริญญาเอกไม่น่าจะทำให้เราทำอะไรไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือใหญ่ ถ้าคนจบปริญญาเอกทุกคนต้องไปนั่งคิด นั่งเขียน นั่งสอนคนอื่น โดยที่งานที่เคยต้องทำทำไม่ได้ ไม่เหมาะสม ก็ดูจะเป็นเรื่องประหลาด อย่างนั้นเราก็น่าจะส่งคนที่ต้องคิด ต้องเขียน ต้องสอนไปเรียนเท่านั้น คนทำงานพื้นๆไม่ต้องไปเรียนหรอก มีคนมากมายที่รู้เรื่องมากและเก่งโดยไม่ต้องมีปริญญารองรับ แล้วในทางกลับกันเราก็จะเห็นคนที่มีดีกรีด๊อกเตอร์ติดตัวอีกมากมายที่ทำให้เราสงสัยว่า ได้ปริญญามาได้ยังไง สิ่งเหล่านี้ถ้าไม่ใช่คนที่มีดีกรีเองพูด คนก็อาจคิดว่าพูดเพราะตัวเองไม่มีนี่นาไปเสียอีก
   
การให้ความรู้แก่ผู้อื่นก็เป็นทางหนึ่งที่เราสามารถตอบแทนคืนให้จากการเรียนจบระดับนี้ คนจบ PhD ไม่ใช่คนรู้ทุกเรื่อง น่าจะเป็นคนรู้น้อย แต่เชี่ยวชาญชำนาญเฉพาะเรื่องมากไปด้วยซ้ำเพราะใช้เวลาศึกษาเรื่องเดียวนานๆถึงจะเรียนจบได้ (ระหว่างนั้นเรื่องอื่นๆแทบไม่ได้จับเลย) แต่การเรียนจบมีดีกรีนี้ติดตัวน่าจะเป็นการทำให้เรารู้จักคิด รู้จักวิเคราะห์วิจารณ์ รู้จักการโยงใยดัดแปลงสิ่งต่างๆมาใช้ มีระบบความคิดและการจัดการที่ดีมากขึ้นกว่าที่เคยเป็น (ย้ำตรงนี้ เพราะถ้าเราไม่ได้เป็นแบบนั้นอยู่แล้ว สิ่งที่เราได้มาก็คงจะพอๆกับคนที่เขามีเยอะอยู่แล้ว)  มีความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น (ส่วนหนึ่งก็เพราะคนรอบข้างให้เครดิต) พูดอะไรก็ดูเหมือนคนจะเชื่อมากขึ้น  และอีกส่วนหนึ่งก็ดูเหมือนว่าถ้าคนจบปริญญาเอกทำอะไรผิด ก็จะทำให้คนที่ทำถูกรู้สึกดีมากขึ้นว่ารู้มากกว่าคนจบเอกอีก ถ้ามีโอกาสได้ถ่ายทอดความเชี่ยวชาญที่เราได้มาจากการเรียนจริงๆก็ถือเป็นโชคดี แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องรอจนถึงเวลานั้นเพื่อจะทำอะไรให้เหมาะสมคู่ควรกับปริญญาเอก ไม่เช่นนั้นเราก็คงไม่ต้องทำอะไร เพราะงานไหนๆใครๆก็ทำได้ทั้งนั้น ไม่ต้องจบปริญญาเอกหรอก
ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
การมีตำแหน่ง การมีเงินมากขึ้น มีคนนับหน้าถือตา ไม่ใช่เป้าหมาย อาจจะดูแปลกและไม่ใช่ตัวอย่างที่ดี แต่คิดแล้วว่า ไม่ใช่สิ่งที่ต้องการจะไขว่คว้า อยากจะให้มากกว่า ให้อะไรก็ได้ที่คิดว่าให้ได้กับสังคม กับคนไทย กับเพื่อนร่วมงาน ถ้าการมีปริญญาเอกจะทำให้คนเชื่อเรามากขึ้น อยากเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องความเป็นคนดี มากกว่าเรื่องความเก่ง เพราะคนเก่งที่เป็นแบบอย่างได้มีอยู่มากมายแล้ว ตัวเองไม่สมบูรณ์แบบพอจะทำได้(ทั้งที่อยากเหมือนกัน)

ทำอะไรต่อไป
ให้คุณค่ากับสิ่งที่สำคัญในชีวิตจริงๆดีกว่า แล้วอะไรคือสิ่งที่สำคัญในชีวิตจริงๆ....นั่นนะสิ

ข้อเสนอแนะ
ให้พวกเราลอง AAR ชีวิตตัวเองจนถึงวันนี้ แล้วถ่ายทอดเป็นบันทึกให้อ่านกัน

หมายเลขบันทึก: 18273เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2006 20:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

"อยากเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องความดี มากกว่าเรื่องความเก่ง"

(ยิ้ม)...มีท่านอาจารย์หลายท่านพร่ำสอนว่า..คุณค่า...ความเป็นคน...หาใช่ที่ว่าใครจบอะไรมา..แต่หากเป็น.."ความรู้"...ที่มีของคนคนนั้นต่างหาก...ที่มีการนำมาใช้ให้เกิด...ประโยชน์อย่างไร...มากกว่า..

"ความรู้"..ที่ถ่องแท้..คือความรู้ที่ผ่านการนำทฤษฎีสู่ภาคปฏิบัติ..ได้อย่างแท้จริง ดังนั้น..อาจเห็นได้ว่า..ในบางคนเรียนมาอย่างมากมาย..เมื่อสู่ภาคปฏิบัติกลับไม่สามารถสะท้อนสิ่งที่รู้ออกมาได้ แต่ตรงกันข้ามในบางคน...ไม่ได้มีใบอะไรมารับรอง..แต่กลับมีการสั่งสม..."ความรู้"..และตกผลึก..ก่อเกิดประโยชน์นานัปการ

ปรัชญาของปริญญาเอก..ไม่ว่าสาขาอะไร..เมื่อศึกษาอย่างลึกซึ้งในแก่นของหลักสูตร ไม่ว่าจะเป็นในประเทศหรือต่างประเทศ...ต่างมีเป้าหมายเดียวกันนั่นคือ "คุณคิดเป็น.."...หาใช่ว่าคุณเก่งเนื้อหาอะไร...การเชี่ยวชาญในเนื้อหาคือสิ่งที่สะท้อน "การตกผลึก"...ทางความคิด..ในคนคนนั้นมากกว่า...

     อ่านแล้วรู้สึกดีมากเลยครับ น้อมรับมาไตร่ตรองครับ ทั้งตัวบันทึก และความเห็นของ Dr.Ka-poom ทำให้ผมเกิดปิติมาก...ขอบคุณครับ

ใช่แล้วครับบางทีคนจบป. 4 ยังคิดเก่งทำเก่งกว่าปริญญาเสียอีก

ค่ะ เห็นด้วยกับคุณชายขอบ รู้สึกดีมาก กับทั้งบันทึก กับความเห็นของ Dr. Ka-poom สิ่งที่คุณโอ๋ทำในขณะนี้ เป็นแบบอย่างที่ดีมากๆ ของการ "ให้" อย่างไม่มีเงื่อนไข แต่ขณะเดียวกัน ก็อยากให้คุณโอ๋ให้ตัวเองด้วย และจะเรียกว่าเป็นการให้ที่มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลยิ่ง หากหนทางแห่งการ "ให้" นั้น ก่อให้เกิดผลดีทั้งต่อคนอื่นและต่อตัวเอง (แถมองค์กรด้วย) แล้วเราค่อยๆ เดินไปด้วยกันนะคะ

พี่โอ๋เป็นทั้งคนดี และคนเก่งค่ะ

กลับมาอ่านสิ่งที่ตัวเองเขียนอีกครั้งเมื่อเวลาผ่านไปปีกว่าๆก็ยังคงจำได้ว่า เพราะอะไรถึงเขียนบันทึกนี้

ขอบคุณน้อง Dr.Ka-poom (ที่ตอนนั้นดูเหมือนจะไม่ยอมเปิดบล็อก)สำหรับส่วนเสริมที่ลุ่มลึก และทำให้บันทึกนี้ดูดียิ่งขึ้น

ขอบคุณคุณ ชายขอบ ที่มาให้กำลังใจ

ขอบคุณ คุณ ก ที่มาย้ำยืนยันเรื่องจริงที่พบได้เสมอ

ขอบคุณ คุณเอื้อ อ.หมอปารมี สำหรับกำลังใจและข้อคิดค่ะ แต่ยังคงคิดว่าประโยชน์ตนนั้นควรคิดถึงให้น้อยที่สุดเป็นดีค่ะ "ได้"มาเยอะเกินไปแล้วล่ะค่ะ

ขอบคุณ คุณศิริ สำหรับคำชื่นชมที่น่าจะเป็นกระจกของเรากันนะคะ ใครไม่ชม เราก็ชมกันเอง (คนห้อง Chem เชี่ยวชาญเรื่องนี้ที่สุด ใช่ไหมคะ)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท