พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กฎหมายที่ละเมิดกฎหมาย


แม้แต่บนโรงพัก มีประชาชนไปติดต่อราชการกันตลอดเวลา ยังมีการกระทำต่อผู้ต้องหาและประชาชนในทางที่ไม่ถูกต้องหลายครั้งหลายหน มีข่าวให้เห็นอยู่บ่อยๆ หากปล่อยให้ตำรวจ ปปส.ใช้เชฟเฮ้าส์(บ้านเช่าหรือห้องเช่าอันลึกลับ เป็นส่วนตัวของเขาแท้ๆ) อะไรจะเกิดขึ้นกับผู้ต้องหา เรื่องนี้ทุกคนพอจะทราบได้ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนจะนิ่งดูดายในประเด็นนี้ต่อไปอีกไม่ได้

 

มติชน วันที่ 05 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 10923


พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กฎหมายที่ละเมิดกฎหมาย


โดย ธัญศักดิ์ ณ นคร [email protected]



เป็นข่าวอื้อฉาว สะเทือนวงการตำรวจไทยอีกครั้งหนึ่ง เมื่อผู้กองสังกัดตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ทำหน้าสืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ (ทำหน้าที่ ป.ป.ส.) ถูกตำรวจนครบาลจับได้ยกแก๊ง โดยถูกกล่าวหาว่า ร่วมกันกระทำผิดกฎหมาย ในหลายข้อหาที่ร้ายแรง เช่น หน่วงเหนี่ยวกักขัง เรียกค่าไถ่ ทำร้ายร่างกาย เป็นเจ้าพนักงานละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

หลังจากนั้น ยังมีผู้เสียหายเข้าแจ้งความหลายท้องที่ ว่าถูกตำรวจชุดดังกล่าวยัดยาเสพติด เข้าจับกุม รีดไถ ทำร้ายร่างกาย ทรมานร่างกายและจิตใจ บีบบังคับให้รับสารภาพ รวมไปถึงกระทำอนาจารผู้หญิง ฯลฯ

โดยภาระหน้าที่ของตำรวจชุดนี้ ได้รับมอบหมายให้ทำการสืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ซึ่งทำหน้าที่เป็น "เจ้าพนักงาน" ตาม "พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2519 มาตรา 3"

พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2519 (ป.ป.ส.) เป็นกฎหมายพิเศษ มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาหลายครั้ง หลายมาตรา แต่ในการแก้ไขเพิ่มเติมแต่ละครั้ง ก็เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน

มิได้มุ่งทำความจริงให้ปรากฏ และเพื่อนำตัวตัวผู้กระทำผิดไปลงโทษ ซึ่งแตกต่างกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

อาจกล่าวได้ว่า พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2519 เป็นกฎหมายพิเศษที่ออกมายกเว้นหลักการทั่วไปที่ให้ "เจ้าพนักงานผู้จับกุม" มีอำนาจ "สอบสวน" ได้ด้วย

ทั้งนี้ โดยไม่ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในส่วนที่เกี่ยวกับระยะเวลาและสถานที่ควบคุมตัว ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ "เจ้าพนักงาน" ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ กระทำละเมิดกฎหมายได้โดยง่าย เช่น

มาตรา 14 ให้อำนาจตรวจค้น เรียกเอกสาร วัตถุ และทำการสอบสวนบุคคลใดๆ ได้

มาตรา 15 ให้มีอำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาได้ไม่เกิน 3 วัน และให้มีอำนาจสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ด้วย

พ.ร.บ.ฉบับนี้มุ่งที่จะปราบปรามยาเสพติด โดยในระหว่างจับกุมและควบคุมตัวเพื่อสอบสวนขยายผล มีระยะเวลาถึง 3 วัน โดยไม่มีองค์กรหรือบุคคลอื่นๆ คอยถ่วงดุลแม้แต่น้อย

กล่าวโดยสรุป คือไม่ต้องปฏิบัติตามหลักการดำเนินวิธีพิจารณาความอาญาที่ดี ซึ่งมีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของเรา ได้แก้ไขและพัฒนามาเป็นลำดับ มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ และยังคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนควบคู่ไปด้วย แถมยังเป็นเกราะกำบังมิให้เจ้าพนักงานกระทำผิดกฎหมายได้โดยง่ายอีกด้วย

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 84 บัญญัติให้ "เจ้าพนักงานผู้จับกุมจะต้องเอาตัวผู้ต้องหาไปที่ทำการของพนักงานสอบสวนโดยทันที" จะเห็นได้ว่าผู้จับกุมกับผู้สอบสวนเป็นคนละคนกัน

แต่ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เจ้าหนักงานผู้จับกุมมีอำนาจสอบสวนได้เอง และยังตีความกันว่าในระหว่าง 3 วันนั้น จะนำตัวไปสอบสวนที่ไหน อย่างไรก็แล้วแต่อำเภอใจของ "เจ้าพนักงาน" หลังจากนั้นแล้ว จึงจะส่งตัวไปยังพนักงานสอบสวน ซึ่งหลังจากนั้น พนักงานสอบสวนจะได้เริ่มทำการสอบสวนและนำตัวไปฝากขังศาลภายใน 48 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่ผู้ถูกจับกุมมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน

เป็นอันว่า ผู้ต้องหาที่ "เจ้าพนักงาน" ตามกฎหมาย ป.ป.ส.จับกุม ต้องถูกควบคุมตัวโดยผู้จับกุมเองไม่เกิน 3 วัน และโดยพนักงานสอบสวนอีกไม่เกิน 48 ชั่วโมง รวมเบ็ดเสร็จก่อนที่จะถึงศาล 5 วันเต็มๆ

ในระหว่างที่ถูกควบคุมตัวโดยพนักงานผู้จับกุมถึง 3 วันนั้น ยังจะต้องถูกสอบสวนขยายผลโดยวิธีพิเศษต่างๆ นานา จากผู้จับกุมนี้แหละ ซึ่งเทคนิคการสอบสวนหาความจริงในระหว่างนั้น พนักงานผู้ปฏิบัติไม่ต้องถูกตรวจสอบโดยองค์กรหรือบุคคลอื่นๆ เลย

ฉะนั้น การนำตัวผู้ต้องหาไปเข้า "เซฟเฮาส์" และวิธีการสอบสวนตามกฎหมายพิเศษฉบับนี้ จะทำกันอย่างไรบ้าง ก็แล้วแต่จิตสำนึกความรับผิดชอบชั่วดีของหัวหน้าชุดแต่ละชุด

เมื่อผู้ต้องหาตกอยู่ในกรงเล็บของผู้กล่าวหาถึง 3 วัน อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้เสมอ

การออกมาแจ้งความและร้องเรียนให้เอาผิดกับตำรวจชุดนี้จึงมีมากมายหลายคดีทั่วประเทศ อย่างที่เห็นๆ เป็นข่าวกันอยู่

ผู้เขียนมีความเห็นว่า ควรรีบแก้ไข พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดฯ ในประเด็นนี้ โดยให้พนักงานผู้จับกุมต้องนำตัวส่งพนักงานสอบสวนในท้องที่ที่เกิดเหตุโดยพลัน ส่วนจะสงวนอำนาจการสอบสวนขยายผลเอาไว้ ก็ให้ไปสอบสวน ณ ที่ทำการของพนักงานสอบสวนหรือที่เรือนจำหลังจากฝากขังต่อศาลแล้ว ไม่เห็นจะยุ่งยากตรงไหน?

โปรดอย่าได้ใช้ "บ้านเช่า" หรือ "เซฟเฮาส์" เป็นสถานที่ควบคุมและสอบสวนอย่างเด็ดขาด

โดยหลักการแล้ว กระบวนการยุติธรรม มีความจำเป็นที่จะต้องถูกตรวจสอบและถ่วงดุลกันในทุกขั้นตอน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก จะปล่อยให้ผู้กล่าวหา ผู้จับกุม เป็นผู้ควบคุมตัว และสอบสวนเองเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องอย่างแน่นอน

ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่จะทำกฎหมายให้เป็นสากล.

หมายเลขบันทึก: 182389เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2008 08:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 21:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีครับ

เห็นด้วยครับ กฎหมายนี้มืดจริง ๆ ที่นำตัวมาสอบในเซฟเฮ้าท์นั้น ผมก็เข้าใจว่าเป็นวิธีปฎิบัติแบบโจรกับโจรนะครับ เคยชินน่ะครับ แล้วก็คิดว่าเป็นการดำเนินการทางลับ เช่นบางทีอาจต้องซ่อนพยานเป็นต้นน่ะครับ บางทีในการปราบปรามของเจ้าหน้าที่นั้น ก็อธิบายยากจริงๆ ครับ

แต่ยังไงซะเราต้อง ทำกฎหมายให้เป็นสากลให้ได้นะครับ

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท