การเพิกถอนเอกสารสิทธิในที่ดิน


สำหรับผู้ซื้อที่ดินโดยสุจริตจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล รวมถึงเจ้าหนี้ผู้รับจำนองโดยสุจริต ที่ได้รับความเสียหายจะทำประการใด ในประเด็นนี้เป้นที่สับสนของประชาชน บางท่านอ้างศาลและกรมบังคับคดีเป้นเกราะกำบัง เพื่อฟอกเอกสารสิทธิ แต่ความจริงแล้วศาลและกรมบังคับคดีมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการออกโฉนดชอบหรือไม่ชอบแม้แต่น้อย...ผู้ได้รับความเสียหายเหล่านั้นมีสิทธิฟ้องกรมที่ดินให้รับผิดให้รับผิดในทางละเมิด ภายในอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ไดรับความเสียหายหรือนับแต่วันรู้ว่าได้รับความเสียหาย

การเพิกถอนเอกสารสิทธิในที่ดิน

 

                   กรณีเจ้าพนักงานที่ดิน ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน(น.ส.3ก.)ให้แก่ผู้ใด  หากปรากฏต่อมาภายหลังว่า การออกโฉนดที่ดินหรือน.ส.3ก นั้น กระทำโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย  อธิบดีกรมที่ดินหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมที่ดิน มีอำนาจสั่งให้แก้ไขให้ถูกต้อง หรือให้เพิกถอนได้ (ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 วรรค 1)

                    แต่กว่าจะเพิกถอนได้ อธิบดีหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากอธิบดี  ต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนคณะหนึ่ง  เพื่อดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริง พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้มีส่วนได้เสียมีโอกาสคัดค้านภายใน 30 วัน (ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 วรรค 2)

                  ส่วนการสอบสวน คณะกรรมการต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน แล้วส่งรายงานการสอบสวนพร้อมความเห็นไปยังอธิบดีหรือผู้ได้รับมอบหมายจากอธิบดี แต่หากการสอบสวนไม่แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ต้องรายงานเหตุผลและขอขยายระยะเวลาการสอบสวนได้ตามความจำเป็น แต่ขยายได้ไม่เกิน 60 วัน (ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 วรรค 4)

                    เมื่ออธิบดีหรือผู้ได้รับมอบหมาย ได้รับรายงานการสอบสวนต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จ ภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับรายงานการสอบสวน  เมื่ออธิบดีหรือผู้รับมอบหมายจากอธิบดีพิจารณาแล้ว มีความเห็นประการใด ก็ให้ดำเนินการไปตามนั้น (ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 วรรค 5)

                      จะเห็นได้ว่า การที่จะเพิกถอนโฉนดที่ดินหรือ น.ส.3 ก. ตามประมวลกฎหมายที่ดินนั้น มีขั้นตอนที่ชัดเจนอยู่แล้วในประมวลกฎหมายที่ดิน

                       ส่วนรายละเอียด วิธีการสอบสวนในทางปฎิบัติ  คณะกรรมการสอบสวนจะต้องตั้งประเด็นในการสอบสวนว่ามีกี่ประเด็น  

                        การออกโฉนดที่ดินหรือ น.ส.3ก.ในที่ดินแปลงใดชอบหรือไม่ชอบ มิใช่จะหาข้อเท็จจริงกันได้ง่ายๆ  เพราะผู้ออกโฉนดเอาไว้ ก็คือเจ้าพนักงานที่ดินผู้ช่ำชองกฎหมายที่ดินนั่นแหละ เว้นแต่ข้อเท็จจริงนั้นๆจะมีพยานวัตถุ พยานเอกสารกำกับอยู่ เช่น มี สค. 1  มีประกาศของทางราชการเรื่องเขตป่าสงวน แผนที่หรือระวาง  สภาพภูมิประเทศ แอ่งน้ำ ลำคลอง ภูเขา ความลาดชัน หรือสิ่งมั่นคงถาวรอื่นๆในทำนองเดียวกันบ่งชี้ไว้อย่างชัดเจน

                      แต่หากการออกโฉนดที่ดินหรือ น.ส.3 ก โดยการอ้างว่าผู้ขอออกโฉนดหรือ น.ส.3ก  มีการครอบครองอยู่จริงอย่างต่อเนื่อง ทั้งๆที่ไม่เคยครอบครองมาก่อน และที่ดินที่ขอออกโฉนดฯอยู่นอกเขตป่าสงวนแห่งชาติ  ไม่เป็นที่วัด ไม่เป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน ไม่เป็นที่ดินสาธารณะที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน   การสอบสวนหาข้อเท็จจริงในประเด็นนี้ มีความยุ่งยากพอสมควร  เพราะพยานบุคคลในขณะที่ขอออกโฉนดที่ดินหรือ น.ส.3ก นั้น  อาจจะล้มหายตายจากไปแล้วก็ได้ และหากจะตามตัวมาสอบสวนได้  คงไม่มีพยานปากใดให้ถ้อยคำให้ต่างไปจากที่เคยให้ถ้อยคำไว้ในครั้งที่มีการสอบสวนสิทธิ  เพื่อขอขอออกโฉนดฯหรือ น.ส.3 ก นั้นแหละ

                       นอกจากนี้ หากอธิบดีกรมที่ดินหรือผู้ได้รับมอบหมาย มีคำสั่งให้เพิกถอนการออกโฉนดหรือน.ส.3ก แปลงใด เจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิฟ้องกรมที่ดินต่อศาลปกครองได้ เพื่อขอให้ศาลปกครองเพิกถอนคำสั่งฯนั้นอีกทีหนึ่ง โดยจะอ้างว่าคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินหรือผู้ได้รับมอบหมายเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริง  และเมื่อศาลปกครองตัดสินอย่างไร  หากคู่ความไม่พอใจ ก็อุทธรณ์ไปยังศาลปกครองสูงสุดได้อีกครั้งหนึ่ง

                       มีข้อน่าสังเกตว่า การออกโฉนดที่ดินหรือ น.ส.3 ก. ที่ไม่ชอบนั้น แม้เจ้าพนักงานผู้ออกจะบกพร่องโดยสุจริต เนื่องจากสาเหตุใดๆก็ตาม หากได้นำที่ดินที่ไม่สามารถออกเอกสารสิทธิได้ มาออกโฉนดหรือ น.ส.3 ก ก็ยังถือว่าเป็นการออกเอกสารสิทธิที่ไม่ชอบอยู่ตลอดไป การออกโฉนดที่ดินหรือ น.ส.3 ก. ที่คลาดเคลื่อนนั้น แม้เจ้าพนักงานที่ดินผู้ออกโฉนดหรือ น.ส.3ก. ไม่ถึงกับทุจริตต่อหน้าที่ หากเป็นการออกไปโดยประมาทเลินเล่น  ก็ต้องถูกเพิกถอนอยู่ดี  และแม้จะโอนกรรมสิทธิ์ไปกี่ทอดๆแล้วก็ตาม  ไม่มีกฎหมายใดให้ข้อยกเว้นไว้ที่จะไม่ต้องถูกเพิกถอน  ส่วนการได้มาโดยการซื้อจากการขายทอดตลาดโดยสุจริต อาจใช้ยันสิทธิระหว่างเอกชนด้วยกันได้ แต่หาอาจอาจใช้ยันรัฐได้ไม่

                       กล่าวโดยสรุป ที่ดินที่ออกโฉนดหรือ น.ส.3ก.โดยไม่ชอบนั้น แม้ต่อมาภายหลัง จะมีการทำนิติกรรม  ซื้อขาย จำนอง ยึดทรัพย์ บังคับคดี  ขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลไปแล้ว และผู้ซื้อจะซื้อไปโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน หรือครอบครองเปลี่ยนมือไปแล้วหลายๆทอด หรือครอบครองมาแล้วกี่สิบกี่ร้อยปีก็ตาม  ยังไม่มีกฎหมายใดให้ความคุ้มครอง หรือมีข้อยกเว้นมิให้ถูกเพิกถอนได้  กล่าวคือที่ดินหลวงก็ยังเป็นที่ดินหลวงอยู่นั่นแหละ

                     กรณีที่ดินของบริษัทศรีสุบรรณฟาร์ม จำกัด หลายพันไร่ที่อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี หากกรมที่ดินสั่งเพิกถอนน.ส.3ก แปลงใด และหากกระบวนการทางศาลปกครองถึงที่สุดแล้วปรากฏว่ากรมที่ดินชนะคดี (คือคำสั่งเพิกถอนเอกสารสิทธิของกรมที่ดินเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย)  มีแนวทางปฎิบัติสำหรับผู้มีส่วนได้เสีย  ใน 2 กรณี

                      กรณีที่หนึ่ง ที่ดินแปลงใดถูกเพิกถอนเอกสารสิทธิ อันเนื่องมาจากการออกเอกสารสิทธิ มิชอบด้วยกฎหมาย  ในกรณีที่ผู้ขอออกเอกสารสิทธิ ได้นำสำรวจรังวัดที่ดินแปลงดังกล่าว โดยมิได้มีการครอบครองอยู่จริง แต่หากมิได้ออกเอกสารสิทธิทับที่ดินสาธารณะประโยชน์ หรือมิได้ออกเอกสารสิทธิทับที่ดินหลวงประเภทอื่นๆ  เมื่อกรมที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิแล้ว ผู้ครอบครองและทำประโยชน์อยู่ในปัจจุบัน อาจไปยื่นคำขอให้ออกสำรวจรังวัด เพื่อสอบสวนสิทธิ และออกเอกสารสิทธิได้ตามกฎหมาย  ผู้ครอบครองอยู่จริงๆในปัจจุบันต้องเริ่มกระบวนการขอออกเอกสารสิทธิใหม่ ว่างั้นเถอะ

                     กรณีที่สอง สำหรับที่ดินที่ถูกเพิกถอนเอกสารสิทธิ อันเนื่องมาจาก การออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันเนื่องมาจากการออกเอกสารสิทธิทับที่ดินสาธารณะประโยชน์ หรือออกเอกสารทับที่หลวงประเภทอื่นๆ ในกรณีนี้ เมื่อถูกเพิกถอนเอกสารสิทธิแล้ว ผู้ครอบครองที่ดินต้องคืนที่ดินแก่ทางราชการ เพื่อให้ทางราชการจัดการดูแลตามกฎหมายต่อไป

                      สำหรับผู้ที่ซื้อที่ดินโดยสุจริตจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล  รวมถึงเจ้าหนี้ผู้รับจำนองโดยสุจริต ที่ได้รับความเสียหายจะทำประการใด  ในประเด็นนี้เป็นที่สับสนของประชาชน บางท่านอ้างศาลและกรมบังคับคดีเป็นเกราะกำบังเพื่อฟอกเอกสารสิทธิ  แต่ความจริงแล้วศาลและกรมบังคับคดีมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องออกโฉนดชอบหรือไม่ชอบแม้แต่น้อย

                          ผู้เขียนมีความเห็นว่า ผู้ซื้อที่ดิน หรือเจ้าหนี้ผู้รับจำนองโดยสุจริต  หากเกิดความเสียหายจากการออกโฉนดที่ดินโดยไม่ชอบของเจ้าพนักงานที่ดิน เช่นเสียเงินไปในการชำระราคาที่ดินหรือรับจำนองไป(เพราะหลงเชื่อเอกสารที่ออกโดยเจ้าพนักงานของกรมที่ดิน) ผู้ได้รับความเสียหายเหล่านั้น มีสิทธิฟ้องกรมที่ดินให้รับผิดในทางละเมิด  ภายในอายุความ 1 ปี นับแต่ได้รับความเสียหายหรือวันรู้ว่าได้รับความเสียหาย  ก็คือวันที่อธิบดีมีคำสั่งให้เพิกถอนโฉนดที่ดินหรือ น.ส.3 ก

                          แต่ทั้งนี้ ผู้ได้รับความเสียหายต้องพิสูจน์ให้ศาลเชื่อว่าเป็นผู้สุจริต กล่าวคือไม่มีส่วนรู้เห็นทั้งโดยทางตรงและทางอ้อมในการออกโฉนดที่ดินหรือน.ส.3ก ที่ออกมาโดยไม่ชอบนั้น  และในวันซื้อขายหรือรับจำนอง ผู้ได้รับความเสียหาย ไม่เคยล่วงรู้มาก่อนเลยว่า โฉนดที่ดินหรือน.ส.3ก ในที่ดินที่ตนซื้อหรือรับจำนองนั้นออกมาโดยไม่ชอบ

                           กรณีที่ดินของบริษัทศรีสุบรรณฟาร์ม จำกัด  เป็นหนังเรื่องยาวหลายตอน  น่าติดตามกันต่อไปว่า เรื่องราวจะจบลงประการใด  และผลที่ตามมาจะคุ้มหรือไม่หากรัฐได้ที่ดินคืนมา แต่กรมที่ดินต้องจ่ายค่าเสียหายหลายล้านบาท.

ธัญศักดิ์  ณ นคร

[email protected]

                              

                              

หมายเลขบันทึก: 181435เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2008 16:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ขอบคุณนะครับ พอดีเรียนกฎหมายว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน อาจารย์เน้นมากในเรื่องนี้ ขอบคุณครับ

คุณทนายคะอยากทราบว่าบริษัทศรีสุบรรณฟาร์มจะเรียกร้องค่าเสียหายใดๆได้จากใครบ้างที่เขาถูกกระทบสิทธิ์ที่เขาถูกเพิกถอนที่ดินที่เขาซื้อมาโดยชอบคะ และเขาจะปกป้องสิทธิ์และโต้แย้งสิทธิ์ตามกม.ที่ดิน กม.อาญา กม.แพ่ง ได้หรือไม่คะ ช่วยตอบด้วยนะคะ

หากซื้อมาโดยสุจริต คือไม่รู้เห็นเป็นใจกับผู้ขอออกเอกสาร ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากกรมที่ดินได้ครับ เนื่องจากเป็นผู้ที่ออกเอกสารสิทธิอันเป็นต้นเหตุให้หลงเชื่อ ถึงขนาดกล้าเสียเงินไปจำนวนมากครับ

เรียนคุณธัญศักดิ์ จากกรณีข้างต้น ผู้ซื้อจะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ขายได้ด้วยหรือเปล่าคะ ถ้าฟ้องได้ ...แล้วหากผู้ขายถึงแก่กรรมไปแล้ว จะฟ้องเรียกค่าเสียหายกับใครได้คะ ขณะนี้กำลังเจอปัญหาอย่างนี้กับตัวเองเต็มๆค่ะ รบกวนด้วยนะคะ ขอบพระคุณค่ะ

ถาม -จะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ขายได้หรือไม่?

ตอบ, หากผู้ขายเป็นผู้ขอออกเอกสารโดยไม่ชอบ ฟ้องได้ หากตายไปแล้วก็ฟ้องทายาทผู้มีสิทธิในกองมรดก แต่รับผิดไม่เกินทรัพย์มรดกที่เหลืออยู่ แต่หากผู้ขายไม่ใช่ผู้ขอออกเอกสารโดยไม่ชอบ เช่น รับมรกที่ดิน หรือซื้อมาอีกทีหนึ่ง หรือไม่มีส่วนในการขอออกเอกสารโดยมิชอบ ก็ฟ้องไม่ได้ เนื่องจากเขามิได้ร่วมกันทำละเมิด

อย่างไรก็ตาม ในทางปฎบัติ ควรฟ้องกรมที่ดิน ซึ่งเป็นส่วนราชการเพียงคนเดียว เนื่องจากส่วนราชการต้องรับผิดในผลละเมิดของข้าราชการอยู่แล้ว ที่สำคัญ เมื่อกรมฯแพ้ความ มีเงินจ่ายให้ตาทคำพิพากษาแน่นอน

ถ้าให้ละเอียดกว่านี้ โทรมาถามได้เลยครับ ยินดีตอบอย่างละเอียด

081-9786047

กราบเรียนท่านทนายความ ธัญศักดิ์ ณ นคร

ดิฉันอยากจะสอบถามเรื่องการบุกทางสาธารณประโยชน์ซึ่งเป็นสาธารรสมบัติของแผ่นดิน ที่ประชาชนใช้ร่วมกันมาเป็นระยะเวลากว่า 30, 40 ปี เป็นางเข้า - ออก ดิฉันขอบ้านข้างในได้รับความเดือดร้อนมาก เนื่องจากบานคนที่อยู่ข้างนอกเขาไปแอบทำเป็นโฉนดที่ดินเมื่อปี 36 ที่ดินของเจ้าของบ้านหลังนี้มีที่ดินติดกับทางสาธารณประโยชน์ ซึ่งแต่ก่อนเคยกว้าง 6-7 เมตร รถบรรทุกสิบล้อเข้า-ออกได้สบายมาก ตั้งแต่เขาไปออกเป็นโนดที่ดินก็ทำให้ทางสาธารณประโยชน์แคบลงเหลือเพียงแค่ 3 เมตร พอไปเจรจากับเขาเขาก็พูดด้วยวาจา และท่าทางที่ไม่สุภาพ ดิฉันซึ่งตอนนี้ก็อาศัยอยู่บ้านหลังข้างในกับพี่ 2 คน และทางสาธารณประโยชน์นี้ก็มีการใช้ประโยชนืเรื่อยมา มีประชาชนใช้เข้า - ออก อยู่ตลอด แต่บ้านคนที่รุกล้ำทางสาธารณประโยชน์นั้นเคยเป็นผู้นำหมู้บ้าน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. และนายก อบต. ดิฉันก็เกรงกลัวอิทธิพลของเขาเหมือนกัน แต่ก็รวบรวมความกล้าแล้วไปร้องเรียนกับนายอำเภอที่ศูนย์ดำรงธรรม เพราะดิฉันไม่อยากเห็นความไม่ถูกต้องนี้ พอนายอำเภอส่งเรื่องเพื่อแจ้งไปยังหน่วยงาน อบต. ทางนายก อบต.ก็เรียกให้ดิฉันซึ่งเป็นผู้ร้องเรียนและฝ่ายที่ถูกร้องเรียนมาเจรจาไกล่เกลี่ย แต่พอดิฉันพูดอะไรออกไปทางนายก อบต.และปลัด สอบต.ก็โต้กลับมาแล้วหนูก็ไม่ได้มีความรู้ทางด้านกฏหมายที่ลึกซึ้ง และก็ไม่เคยมีประวบการณ์เรื่องแบบนี้เลย ครั้งนี้เป็นครั้งแรก แล้วดิฉันจะหาคำพูดใดมาคัดค้านหรือโต้เขากลับ เหมือนกลับว่าดิฉันเป็นเด็กที่ไม่รู้อะไร พูดอะไรไปก็ไม่มีน้ำหนัก พอดิฉันพูดอะไรไปก็จี้คำพูดจนดิฉันจนมุม แต่พอทางฝ่ายผู้บุกรุกทางสาธารณประโยชน์พูดบ้างก็ไม่เห็นจะถามคำถามที่จี้เขาจนจนมุมเลย เพราะว่าดิฉันไม่ศรัทธาในหน่วยงานนี้ดิฉันถึงได้ไปร้องเรียนกับนายอำเภอ ศูนย์ดำรงธรรมไงคะ และเขาก็พยายามจะพูดให้ดิฉันยอมความเพื่อจะได้ไม่ต้องเอาเจ้าหน้าที่ที่ดินมา เขาพยายามจะให้เจ้าหน้าที่ที่ดินมาแต่ไม่เป็นทางการ เขาไม่ดูเลยว่าเอกสารหลักฐานที่ดิฉันเตรียมมาคือ ระหว่างแผนที่ซึ่งเป็นอันแรก และระหว่างแผนที่ที่เขาไปออกเป็นโฉนดที่ดินซึ่งเกิดขึ้นมาทีหลังเขาไม่เขามาเปรียบเทียบเลย ก็ดูแต่อันที่เกิดขึ้นมาทีหลัง ถ้าดูแต่หลักฐานอันนั้นแล้วดิฉันจะมาร้องเรียนให้เป็นเรื่องทำไมคะ แล้วคนสมัยก่อนเขาจะสร้างประตูที่มีนกว้างกว่าทางเข้าบ้านหรือ คนสมัยแต่ก่อนเขาฉลาดแต่ไม่ทันเทคโนโลยีสมัยนี้ เพราะเทียบกับสมัยนั้น เอกสาร นส3 ก. ก็เป็นเอกสารหลักฐานที่มีภาพถ่ายทางอากาศและมีหลักหมุด ชัดเจนมากกว่า เอกสาร นส3 ใช่ไหมคะ แล้วให้เรียกอดีตกำนันที่เซ็นต์รับรองทางสาธารณประโยชน์ให้มาพูดคุยชี้แจงว่าคุณเซ็นต์ไปยังงั้นคุณรู้เหรอว่าทางสาธารณแห่งนี้ความกว้างมันเท่ากับ 3 เมตร แต่เขาก็ไม่ยอมเชิญมาคุยกลับบอกว่าท่านแก่แล้วคงจำไรไม่ได้ซะงั้น ก็ในเมื่อแอบไปโกงให้มันถูกกฏหมาย แต่ถ้ารู้ตอนที่ไปทำเมื่อปี 36 รับรองได้ว่าต้องมีคนคัดค้านแน่นอน ที่ของหลวงตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้หรอก ที่สาธารณประโยชน์ผู้ใดจะครอบครองมิได้ไม่ใช่เหรอคะ ไม่มีการสิ้นของความเป็นที่สาธารณประโยชน์ และจะยกความขึ้นสู้ต่อศาลไม่ได้ด้วยใช่ไหมคะ

1. เราจะเอาผิดกับคนและผู้มีส่วนทุตริตในกรณีได้ไหมคะ และถ้าได้จะเอาผิดกับใครได้มั้ง

2. และมีอีกเรื่องหนึ่ง คือ ศาลาไทย (สมัยก่อนที่ใช้เรียกกัน) ปัจจุบันคือ ศาลาที่อ่านหนังสือที่มีประชาชนชาวบ้านมานั่งพูดคุย นั่งอ่านหนังสือเป็นประจำทุกวัน แต่ว่าได้สร้างขึ้นในเนื้อที่ของเจ้าของบ้านที่บุกรุกทางสาธารณประโยชน์แห่งนี้ เขายังไม่ยอมแบ่งหักเป็นที่สาธารณประโยชนืเลย ถ้าไม่เกิดเหตุการณ์นี้เราจะรู้ได้ไงว่าเขาไม่ได้เซ็นหนังสือแบ่งหักเป็นที่สาธารณประโยชน์หมู่บ้าน เขาก็จะไม่ยอมแบ่งหัก ถ้าเกิดสมมุติว่าเขาเอาที่ไปเข้าแบงค์ ๆ ก็ต้องประเมินที่ดินทั้งหมด เขาไม่สนใจหรอกว่าจะเนที่สาธารณประโยชน์ที่ได้มายังไงใช่ไหมคะ..ถ้าเขาไม่ยอมแบ่งหักจริง ๆ ก็ไม่มีบทลงโทษใช่ไหมคะ

ความเห็นที่ 6 ควรตอบเป็นการส่วนตัวครับ เนื่องจากไม่ได้เป็นเรื่องสาธารณะ คงเข้าใจนะครับ


ที่ดินที่ตกเป็นของทางหลวงแผ่นดินแล้วเจ้าของเดิมเขามีสิทธิ์เอาคืนไหมค่ะ แต่เอกสารสิทธิ์เป็นแค่เอกสารจับจองนะค่ะไม่ใช่โฉนด

ขออนุญาตสอบถามเรื่องการเพิกถอนเอกสารสิทธิ นส3ก ในกรณีเจ้าหน้าที่ออกรางวัดไม่ตรงครับ

เรียนคุณทนายครับ

ขออนุญาตุสอบถามเรื่องการเพิกถอนสิทธิที่ดินนส3ก ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ออกรางวัดผิดทำให้ที่ดินที่ครอบครองอยู่หายไปส่วนหนึ่ง คุณยายของผมท่านจะไปขอแบ่งที่ดินครับซึ่งที่ดินนี้เดิมที่ได้รับมรดกมาจากตาทวดของผมให้เป็นโฉนด แบ่งกันกับญาติอีกสี่คน แต่พอเจ้าหน้าที่มาออกรางวัดก็วัดเสร็จเรียบร้อยอะไรแล้วออกเป็นโฉนดให้ มาตรวจสอบอีกทีพบว่าที่ดินมันหายไปส่วนหนึ่ง เลยเข้าไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบให้ เจ้าหน้าที่เขาก็บอกว่าที่ดินผืนนี้ออกรางวัดผิดตั้งแต่ตอนเป็นนส3ก ของตาทวด เพราะว่าเขาใช้ภาพถ่ายดาวเทียม เลยต้องทำการขอเพิกถอนสิทธิ์ทั้งนส3ก และโฉนดที่ออกใหม่ ตั่งแต่ปี พ.ศ.2552 จนถึงทุกวันนี้ เกือบจะ 8 ปีแล้ว เรื่องก็ยังไม่ถึงไหน ไปสอบถามแทบจะทุกเดือนเจ้าหน้าที่ก็บอกว่ากำลังดำเนินการอยู่ไม่แล้วเสร็จ ขอสอบถามคุณทนายครับว่าระยะเวลาการเพิกถอนสิทธิ์จะใช้เวลานานขนาดนี้ไหม หรือว่าพอจะมีวิธีแก้ไขหรือทำยังไงให้ออกโฉนดได้เร็วขึ้น ต้องฟ้องกรมที่ดินหรือไม่ครับ


ขออนุญาตสอบถามเรื่องการเพิกถอนเอกสารสิทธิ นส3ก ในกรณีเจ้าหน้าที่ออกรางวัดไม่ตรงครับ

เรียนคุณทนายครับ

ขออนุญาตุสอบถามเรื่องการเพิกถอนสิทธิที่ดินนส3ก ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ออกรางวัดผิดทำให้ที่ดินที่ครอบครองอยู่หายไปส่วนหนึ่ง คุณยายของผมท่านจะไปขอแบ่งที่ดินครับซึ่งที่ดินนี้เดิมที่ได้รับมรดกมาจากตาทวดของผมให้เป็นโฉนด แบ่งกันกับญาติอีกสี่คน แต่พอเจ้าหน้าที่มาออกรางวัดก็วัดเสร็จเรียบร้อยอะไรแล้วออกเป็นโฉนดให้ มาตรวจสอบอีกทีพบว่าที่ดินมันหายไปส่วนหนึ่ง เลยเข้าไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบให้ เจ้าหน้าที่เขาก็บอกว่าที่ดินผืนนี้ออกรางวัดผิดตั้งแต่ตอนเป็นนส3ก ของตาทวด เพราะว่าเขาใช้ภาพถ่ายดาวเทียม เลยต้องทำการขอเพิกถอนสิทธิ์ทั้งนส3ก และโฉนดที่ออกใหม่ ตั่งแต่ปี พ.ศ.2552 จนถึงทุกวันนี้ เกือบจะ 8 ปีแล้ว เรื่องก็ยังไม่ถึงไหน ไปสอบถามแทบจะทุกเดือนเจ้าหน้าที่ก็บอกว่ากำลังดำเนินการอยู่ไม่แล้วเสร็จ ขอสอบถามคุณทนายครับว่าระยะเวลาการเพิกถอนสิทธิ์จะใช้เวลานานขนาดนี้ไหม หรือว่าพอจะมีวิธีแก้ไขหรือทำยังไงให้ออกโฉนดได้เร็วขึ้น ต้องฟ้องกรมที่ดินหรือไม่ครับ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท