ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สิงคโปร์


2. ความสัมพันธ์ด้านต่าง ๆ

                     2.1  การเมืองและความมั่นคง

- สิงคโปร์และไทยมีความสัมพันธ์ทางการเมืองที่ดีต่อกันมาโดยตลอด ผู้นำของไทยและสิงคโปร์มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด และมีวิสัยทัศน์ที่คล้ายคลึงกัน ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนการเยือนกันในทุกระดับอย่างต่อเนื่อง

- กองทัพไทยและสิงคโปร์มีความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ดีต่อกัน ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวมีลักษณะ หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เพื่อให้เกิดความมั่นคงในภูมิภาค โดยได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารร่วมระหว่างกองทัพไทย-สิงคโปร์ ด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เพื่อติดตามความก้าวหน้าและแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงของทั้งสองประเทศ รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างผู้บังคับบัญชา ระดับสูงของกองทัพทั้งสองประเทศอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกองทัพเรือไทย-สิงคโปร์ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถและความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพเรือของทั้งสองประเทศ โดยทั้งสองฝ่ายมีการแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านการฝึกและการซ้อมรบร่วมกัน โดยไทยอนุญาตให้สิงคโปร์ใช้พื้นที่ในการฝึกและมีการ ฝึกอบรมบุคลากรทางทหารร่วมกัน อาทิ การฝึกร่วมผสม (Cobra Gold)

การแลกเปลี่ยนการเยือน
-
ไทยและสิงคโปร์มีการแลกเปลี่ยนการเยือนอย่างต่อเนื่อง การเยือนของฝ่ายไทยในช่วงตั้งแต่ปี 2539 ที่สำคัญ ได้แก่ การเสด็จเยือนสิงคโปร์อย่างเป็นทางการของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (2-4 กรกฎาคม 2542) การเสด็จเยือนสิงคโปร์อย่างเป็นทางการของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี (12-17 เมษายน 2543 และ 22-25 มิถุนายน 2543) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีกำหนดจะเสด็จฯ เยือนสิงคโปร์อย่างเป็นทางการ ระหว่าง 12-14 พฤษภาคม 2547 การเยือนอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี (นายบรรหาร ศิลปอาชา) ระหว่าง 30 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน 2539 การเยือนอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ) ระหว่าง 20-21 มีนาคม 2540 การเยือนอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี (นายชวน หลีกภัย) ระหว่าง 17-18 ตุลาคม 2542 การเยือนอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี (พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร) ระหว่าง 20-23 สิงหาคม 2544 การเยือนอย่างเป็นทางการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายประจวบ ไชยสาส์น) ระหว่าง 4-5 กุมภาพันธ์ 2540 การเยือนอย่างเป็นทางการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย) เพื่อพบหารือกับนายลี กวน ยู รัฐมนตรีอาวุโสสิงคโปร์ (2-3 สิงหาคม 2545) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย) เยือนสิงคโปร์เพื่อเป็นประธานร่วมในพิธีเปิดการประชุม CSEP ครั้งที่ 5 (27-28 พฤศจิกายน 2545) เมื่อ 12 สิงหาคม 2546 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย) เดินทางไปหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์เกี่ยวกับแนวคิดว่าด้วยการจัดทำ Roadmap ไปสู่ประชาธิปไตยในพม่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เยือนสิงคโปร์เพื่อร่วมประชุม STEER ครั้งที่ 1 ระหว่าง 25-27 สิงหาคม 2546 และพ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเยือนสิงคโปร์เพื่อหารือกับนายโก๊ะ จ๊ก ตง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ (Singapore-Thailand Prime Ministerial Retreat ครั้งที่ 2) และร่วมพิธีเปิดสำนักงานเลขาธิการเอเปค (5-7 กันยายน 2546)

- การเยือนที่สำคัญของฝ่ายสิงคโปร์ ตั้งแต่ปี 2544 ได้แก่ การเยือนอย่างเป็นทางการของ ศ. เอส จายากุมาร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ ในโอกาสเป็นประธานร่วมในพิธีเปิดการประชุม CSEP ครั้งที่ 4 (15-16 พฤศจิกายน 2544) การเยือนอย่างเป็นทางการของนายโก๊ะ จ๊ก ตง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ และคณะ (18-20 กุมภาพันธ์ 2545) การเยือนอย่างเป็นทางการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ (ศ. เอส จายากุมาร์) เพื่อเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรียุติธรรมอาเซียน (17-18 มิถุนายน 2545) และเข้าร่วมการประชุมความร่วมมือเอเชีย (18-19 มิถุนายน 2545) การเยือนอย่างเป็นทางการของพลจัตวา จอร์จ เยียว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ เพื่อเข้าร่วมงาน ASEAN Trade Fair และเข้าเยี่ยมคารวะนายพรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช รองนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือเกี่ยวกับการประชุม STEER (13-15 ตุลาคม 2545) การเยือนของนายโก๊ะ จ๊ก ตง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ เพื่อร่วม Thailand-Singapore Prime Ministerial Retreat ครั้งที่ 1 ที่จังหวัดภูเก็ต (10-12 มกราคม 2546) การเยือนอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี (นายโก๊ะ จ๊ก ตง) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ (ศ. เอส จายากุมาร์) เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำอาเซียนและผู้นำอาเซียน-จีนสมัยพิเศษว่าด้วยโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (29 เมษายน 2546) การเยือนอย่างเป็นทางการของ ศ. เอส จายากุมาร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ เพื่อเข้าร่วมการประชุมความร่วมมือเอเชีย (21-22 มิถุนายน 2546) การเยือนอย่างเป็นทางการของนายโก๊ะ จ๊ก ตง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำเอเปค ครั้งที่ 11 (20-21 ตุลาคม 2546) การเยือนอย่างเป็นทางการของ ศ. เอส จายากุมาร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ ในโอกาสเป็นประธานร่วมในพิธีเปิดการประชุม CSEP ครั้งที่ 6 (17-18 พฤศจิกายน 2546) การเยือนอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลของนาย ลี กวน ยู รัฐมนตรีอาวุโส ในโอกาสกล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน Thammasart Business School International Forum 2003 ระหว่าง 14 – 17 ธันวาคม 2546 การเยือนอย่างเป็นทางการของ ผช.ศ. โฮ เป็ง คี รัฐมนตรีแห่งรัฐอาวุโส ดูแลด้านมหาดไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติ ครั้งที่ 4 และการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติ + 3 (จีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี) ระหว่าง 7-10 มกราคม 2547 การเยือนอย่างเป็นทางการของนายโทนี่ ตัน เคง ยัม รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประสานงานประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดูแลด้านความมั่นคงและกลาโหมสิงคโปร์ ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ ระหว่าง 12-16 มกราคม 2547 การเยือนอย่างเป็นทางการของนาย ลี ย็อค ซวน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการ
ต่างประเทศคนที่ 2 เพื่อเข้าร่วมการประชุม Forum on International Support for National Reconciliation in Myanmar เมื่อ 15 ธันวาคม 2546 นายแพทย์ วิเวียน บารากริชนัน รัฐมนตรีแห่งรัฐ ดูแลด้านการพัฒนาแห่งชาติ เยือนไทยอย่างเป็นการเพื่อเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเกี่ยวกับโรคระบาดในสัตว์ปีก เมื่อ 28 มกราคม 2547 และนายเอส อาร์ นาธาน ประธานาธิบดีสิงคโปร์ มีกำหนดเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะ (State Visit) ระหว่าง 17-21 มกราคม 2548

- การแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างผู้นำของไทยและสิงคโปร์ เพื่อร่วม Prime Ministerial Retreat ครั้งที่ 1 และ 2 ได้แก่
1) Thailand-Singapore Prime Ministerial Retreat
ครั้งที่ 1 ซึ่ง นายโก๊ะ จ๊ก ตง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ และคณะ ซึ่งประกอบด้วย นายเอส จายากุมาร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พลจัตวาจอร์จ เยียว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม นายเยียว เชียว ตง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและข้าราชการระดับสูงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินทางเยือนไทย ระหว่าง 10-12 มกราคม 2546 ตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรี เพื่อร่วม Thailand-Singapore Prime Ministerial Retreat ณ จังหวัดภูเก็ต โดยมีการหารือในทั้งประเด็นทวิภาคี ระดับภูมิภาค และระหว่างประเทศ ทั้งนี้ การเยือนไทยของนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ครั้งนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และนับเป็นมิติใหม่ของการหารือ ที่ผู้นำประเทศทั้งสองร่วมระดมสมองและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาในประเด็นต่าง ๆ ที่อยู่ในความสนใจและเป็นข้อกังวลร่วมกัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสิงคโปร์ได้พัฒนาไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนกันอย่างแท้จริง
2) Singapore-Thailand Prime Ministerial Retreat ครั้งที่ 2 เมื่อ 5-7 กันยายน 2546 ซึ่งนายกรัฐมนตรีเดินทางเยือนสิงคโปร์ตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ เพื่อเข้าร่วม Singapore-Thailand Prime Ministerial Retreat ครั้งที่ 2 ซึ่งจัดต่อเนื่องกับ Thailand-Singapore Prime Ministerial Retreat ครั้งที่ 1 ในการเยือนสิงคโปร์ครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้รับเชิญให้เป็นประธานในการเปิดสำนักเลขาธิการ เอเปคอย่างเป็นทางการร่วมกับนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ด้วย

 


                   2.2 ด้านการค้า การลงทุน และการเงิน
การค้า
-
ในปี 2546 ทั้งสองฝ่ายมีมูลค่าการค้ารวม 9,088.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยการส่งออกของไทยไปสิงคโปร์มีมูลค่า 5,853.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การนำเข้าของไทยจากสิงคโปร์มีมูลค่า 3,234.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ไทยได้เปรียบดุลการค้าสิงคโปร์ 2,618.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
-
ในปี 2546 ไทยเป็นคู่ค้าลำดับที่ 8 ของสิงคโปร์ (รองจากมาเลเซีย สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง และไต้หวัน) และสิงคโปร์เป็นคู่ค้าลำดับที่ 4 ของไทย (รองจากญี่ปุ่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป)

สินค้านำเข้าจากไทย - เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, น้ำมันสำเร็จรูป, แผงวงจรไฟฟ้า, เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ, ส่วนประกอบอากาศยานและอุปกรณ์การบิน, มอเตอร์และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า, อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไดโอต, เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ, รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์

สินค้าส่งออกมาไทย - เคมีภัณฑ์, แผงวงจรไฟฟ้า, เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ, เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรม, ผลิตภัณฑ์โลหะ, เครื่องใช้ไฟฟ้า, น้ำมันสำเร็จรูป, ผลิตภัณฑ์พลาสติก, และกระดาษ กระดาษแข็ง และผลิตภัณฑ์

ด้านการลงทุน - ในปี 2546 สิงคโปร์เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่อันดับ 6 ของไทย (รองจากญี่ปุ่น สหภาพยุโรป สหรัฐฯ มอริเชียส และไต้หวัน) การลงทุนสุทธิคิดเป็นมูลค่า 290.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ด้านการธนาคาร
-
ธนาคารของสิงคโปร์ได้ขยายสาขามาดำเนินธุรกรรมการเงินในไทย 4 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคาร Development Bank of Singapore (DBS), Overseas Chinese Banking Corporation (OCBC), United Overseas Bank (UOB) และ Overseas Union Bank (OUB) โดยดำเนินการภายใต้กรอบกิจการวิเทศธนกิจ (BIBF) โดย 2 ธนาคารหลังได้รับอนุญาตตามความตกลงพิเศษในการแลกเปลี่ยนสาขาธนาคารเพิ่มเติม ระหว่างกระทรวงการคลังของสองประเทศ นอกจากนี้ ในช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ธนาคาร UOB ได้ซื้อหุ้นธนาคารรัตนสินเป็นจำนวนร้อยละ 75 และเข้ามาบริหารงานอย่างเป็นทางการ รวมทั้งเปลี่ยนชื่อธนาคารเป็นธนาคาร UOB รัตนสิน จำกัด
- ธนาคารของไทย 3 แห่ง ได้ขยายสาขาและเปิดบริการที่สิงคโปร์ คือ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ อย่างไรก็ดี มีเพียงธนาคารกรุงเทพเพียงธนาคารเดียวที่ได้รับอนุญาต ให้ดำเนินกิจการธนาคารอย่างเต็มรูปแบบ ส่วนธนาคารไทยอีก 2 แห่ง มีขอบเขตการประกอบกิจการเพียงการให้บริการกู้ยืมระหว่างประเทศในลักษณะของ off-shore banking

ด้านแรงงาน - มีแรงงานไทยในสิงคโปร์ประมาณ 48,000 คน (2546) ซึ่งลดจำนวนลงจากประมาณ 70,376 คน ในปี 2544 อันเป็นผลมาจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ ทำให้ลดการจ้างงาน โดยเฉพาะในภาคการก่อสร้าง ซึ่งมีแรงงานไทยทำงานเป็นจำนวนมาก

 

             

หมายเลขบันทึก: 181228เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2008 12:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 17:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอสรุปรายงานความสัทพันธ์ไทยระหว่างสิงคโปร์ด้วยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท