สถิติสำคัญผู้สูงอายุไทย


แนวโน้มของสัดส่วนผู้สูงอายุไทยกำลังบ่งชี้ว่าบ้านเรากำลังก้าสู่สังคมผู้สูงวัย

สถิติสำคัญผู้สูงอายุไทย 2550
6 พฤษภาคม 2551

 

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เรื่องสถิติสำคัญผู้สูงอายุไทย 2550 สรุปสาระสำคัญดังนี้

 

1. โครงสร้างประชากรไทย: จากอัตราเกิดของประเทศไทย ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 42.2 คนในปี 2507 เป็น 10.9 คนต่อประชากรพันคนในปี 2548 ทำให้ประชากรวัยเด็กอายุ 0-14 ปี มีจำนวนลดลง ในขณะที่ประชากรวัยสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มมากขึ้น โครงสร้างของประชากร จึงมีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ปี 2550 ประเทศไทยมีประชากรสูงอายุประมาณ 7.1 ล้านคน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มอายุ 60-69 ปี ร้อยละ 58.8 กลุ่มอายุ 70-79 ปี ร้อยละ 31.7 และกลุ่มอายุ 80 ปีขึ้นไป ร้อยละ 9.5

 
2. การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย: ตามนิยามสังคมผู้สูงอายุ หมายถึง การมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ ประเทศไทย จึงอยู่ในเกณฑ์ที่ได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มาตั้งแต่ปี 2548 ขณะที่ประเทศญี่ปุ่น ได้เข้ามาแล้วถึง 30 ปี ประเทศสิงคโปร์ เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุปี 2543 และปี 2550 ประเทศญี่ปุ่นมีผู้สูงอายุร้อยละ 29  สิงคโปร์มีผู้สูงอายุร้อยละ 11.9 ขณะที่ประเทศไทยมีผู้สูงอายุร้อยละ 10.7 ของประชากรทั่วทั้งประเทศ
 
3. ลักษณะการอยู่อาศัยอย่างไทย: ผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 58.3 ยังมีการอยู่แบบครอบครัวขยาย อย่างวัฒนธรรมไทย ขณะที่ร้อยละ 31.0 มีการอยู่แบบครอบครัวเดี่ยว ตามวัฒนธรรมตะวันตก และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว ผู้สูงอายุอยู่กับคู่สมรสโดยลำพัง และผู้สูงอายุที่อยู่กับหลาน มีสถิติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
 
4. การดูแลผู้สูงอายุ: ผู้สูงอายุกลุ่มใหญ่ คือ ร้อยละ 59 เป็นกลุ่มที่มีอายุ 60-69 ปี ยังมีสุขภาพที่แข็งแรง จึงทำให้ผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 89 สามารถดูแลการทำกิจวัตรประจำวันด้วยตนเองได้ มีเพียงร้อยละ 11.5 เท่านั้นที่ไม่สามารถดูแลตนเองได้ กรณีนี้ผู้ดูแลส่วนใหญ่จะเป็นบุตร โดยเฉพาะบุตรสาว คู่สมรสหรือภรรยา จะเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุชาย มากถึงร้อยละ 53.2 ในขณะที่สามี จะเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุหญิง เพียงร้อยละ 11.5 เท่านั้น
 
5. การเยี่ยมเยียนผู้สูงอายุ: ผู้สูงอายุไทยมากกว่าร้อยละ 80 ได้รับการเยี่ยมเยียนจากบุตรหลาน และญาติมิตรต่างๆ โดยเฉพาะในวันผู้สูงอายุ วันที่ 13 เมษายน ซึ่งตรงกับวันหยุดสงกรานต์ของไทย บุตรหลานที่จากบ้านไปอยู่ต่างถิ่น จะกลับไปเยี่ยมเยียนผู้สูงอายุที่บ้าน
 
6. การเตรียมพร้อมรับมือการเข้าสู่สังคมสูงอายุ: ประเทศญี่ปุ่น เป็นสังคมผู้สูงอายุที่มีประชากรสูงอายุประมาณร้อยละ 30 และได้มีการเตรียมความพร้อมมาตั้งแต่ปี 2502 ปัจจุบัน มีกฎหมายบำนาญแห่งชาติ มีระบบประกันการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว นอกจากนี้ ยังมีระบบโครงข่ายคุ้มครองทางสังคม โดยส่วนใหญ่งบประมาณในระบบนี้ เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้สูงอายุมากถึงร้อยละ 70.4
 

แหล่งที่มา : ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุดนายสมัคร สุนทรเวช. “สถิติสำคัญผู้สูงอายุไทย 2550.” มติคณะรัฐมนตรี. 3 เมษายน 2551.

หมายเลขบันทึก: 181189เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2008 09:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 ตุลาคม 2014 11:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สมัยนี้ น่าเห็นใจคนแก่น่ะครับ ที่บุตรหลานต้องออกไปทำงานหามรุ่งหามค่ำ แทบไม่มีเวลาที่จะเลี้ยงดูคนแก่เลย

สวัสดีครับ คุณaonjung

  • เห็นด้วยครับ
  • และเมื่อแนวโน้มทางประชากรของบ้านเราเป็นแบบนี้ ก็ยิ่งต้องหาทางป้องกัน เพราะนอกจากจำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มมากขึ้นแล้ว เรื่องที่เกี่ยวเนื่องที่ตามมา ไม่ว่าจะเป็นหารเรื่องดูแล การเจ็บป่วย การลดลงของสัดส่วนประชากรวัยแรงงาน ฯลฯ ต่างมีผลเกี่ยวเนื่องกันทั้งระบบ

ด้วยความเคารพรัก

  • สวัสดีค่ะ
  • การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร  เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ของสังคมไทยเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้  และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ประชากรมีอายุขัยเฉลี่ยยืนยาวขึ้น ประกอบกับความก้าวหน้าทางการแพทย์  ในกลุ่มผู้สูงอายุเองยังสามารถแบ่งออกได้เป็น  กลุ่มผู้สูงอายุตอนต้น (60-69 ปี) เป็นกลุ่มที่ยังสามารถดูแลช่วยเหลือตนเองได้ กับกลุ่มผู้สูงอายุตอนปลาย (70 ปีขึ้นไป) ที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลช่วยเหลือจากบุคคลอื่น
  • ในบางประเทศจะมีเกณฑ์เกษียณอายุการทำงานที่อายุ 65 ปี
  • ขอแลกเปลี่ยนเท่านี้ก่อนค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับ อ.ศิริพร เกื้อกูลนุรักษ์

  • ขอบคุณครับที่แวะข้ามา ลปรร
  • แน่นอนครับ โครงสร้างทางประชากรที่กำลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย คงกระทบกับทุกภาคส่วนของสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
  • จึงต้องมีแนวทางที่ชัดเจนในการเรียมรองรับ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา

ด้วยความเคารพรัก

เรามักจะมองสถิติผู้สูงอายุ ที่สัดส่วนของประชากรสูงอายุ ในโครงสร้างประชากรโดยรวม แต่ที่สำคัญไม่น้อยกว่าก็คือ ปริมาณ ของประชากรสูงอายุ ที่เพิ่มขึ้น เพราะคงปฎิเสธไม่ได้ว่า ผู้ที่เข้าสู่วัยที่เรากำหนดให้เรียกว่าสูงอายุ คือ 60 ปีขึ้นไปนั้น เสมือนเครื่องยนต์ที่เดินมานาน ย่อมมีความเสื่อมถอยของสังขารเกิดขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องผ่านประสบการณ์ชีวิตที่เครียดและปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ทั้งต้องแบกรับภาระคนรุ่นเยาว์มาจนเขาเหล่านั้นพึ่งพาตนเองได้ในระดับหนึ่ง ผู้สูงอายุเหล่านนั้น ย่อมสัมผัสกับภาวะเสี่ยงมาในวัยต้น และเริ่มแสดงอาการของพยาธิสภาพต่างๆ จนถึงระดับการเกิดโรคเรื้อรัง ปริมาณของผู้สูงอายุเหล่านี้มีมากน้อยเพียงใด? มีผู้สูงอายุจำนวนเท่าไหร่ ที่ป่วยและต้องการรับการสนับสนุน การดูแลทั้งโดยการดูแลตนเอง และการได้รับการดูแลจากระบบการดูแลสุขภาพ ที่รวมทั้งการดูแลที่บ้าน และในสถานบริการ ลักษณะความจำเป็นด้านสุขภาพของผู้สูงอายุเหล่นนี้ ต้องการการดูแลในลักษณะที่เป็นองค์รวม และต่อเนื่องระยะยาว (Longterm care)

การดูแลผู้สูงอายุ ไม่ใช่เพียงการคัดกรองโรคแล้วจ่ายยาให้หากมีพยาธิสภาพ เพราะบ่อยครั้งที่แม้มียา ก็ทานไม่ถูกต้อง ไม่ทานตามที่กำหนด ทานยาไม่ต่อเนื่อง จะด้วยเหตุ หูตาฝ้าฟาง อายุฉลากยาไม่เห็น หรือหลงๆลืมๆ หรือ ไม่ทานต่อเนื่องเพราะอาการดีขึ้น ฯ

ลฯ นี่ยังไม่รวมถึงผู้สูงอายุ ที่ตกอยู่ในกับดักของความยากจน (Poverty trap) ทั้งจนเงิน และยังเจ็บป่วย แต่ยังต้องดิ้นรนเลี้ยงตัวเอง ถูกทอดทิ้ง ให้อยู่โดดเดี่ยว ฯลฯ

ประเด็นที่ยกขึ้นมาพล่ามในที่นี้ คงไม่ได้หวังแค่การจัดระบบสงเคราะห์ ไม่ได้ให้มองว่าผู้สูงอายุ เป็นภาระ แต่อยากจะรับข้อคิดเห็นในเชิงการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุ ให้สามารถดำรงชีพได้อย่างสมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ในฐานะที่เป็นคน และเป็นผู้มีคุณูปการต่อสังคมมาในช่วงต้นของชีวิต ให้สามารถมีความสุขในบั้นปลายของชีวิตอย่างสมอัตภาพ

ขอบพระคุณ อ.ชนินทร์ ครับ ที่เข้ามาอธิบายขยายความถึงความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องหยิบยกประเด็นสังคมผู้สูงวัยเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป

ด้วยความเคารพรัก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท