คิดตาม เชื่อตาม หรือแค่ตาม


ถ้าคนไทยกล้าคิด และกล้าบอกความคิดนั้นภายใต้อัตลักษณ์ (identity) ของตัวเอง ประเทศไทยเจริญแน่นอนครับ

ผมอ่านบันทึกของท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ ชื่อเรื่องว่า "ท่านทราบหรือไม่" และ "ท่านทราบหรือไม่ (๒)" รวมทั้งบันทึก "ทำไม ตีพิมพ์ลง International Journals จึงยากนัก?" ของ ดร.จันทวรรณ ก็เกิดความคิดที่จะเขียนบันทึกเพื่อเสนอความคิดของตัวเองที่มีต่อประเด็นในบันทึกเหล่านั้นเป็นยิ่ง แต่ก่อนจะเขียนบันทึกนั้น ผมกลับนึกได้ถึงประเด็นอื่นซึ่งใหญ่กว่า (a meta topic) และน่าเขียนถึงกว่า

ประเด็นนั้นคือ "ทำไมผมหรือ ดร.จันทวรรณ ถึงกล้าเขียนบันทึกที่เห็นด้วยบ้างและขัดแย้งบ้างกับท่านอาจารย์หมอวิจารณ์"

ผมมีคำตอบสำหรับประเด็นนี้ครับ และผมเชื่อว่าสำคัญยิ่งเมื่อนำไปพิจารณาใช้สำหรับวงการการจัดการความรู้ของประเทศไทย

ผมและ ดร.จันทวรรณ เขียนเพราะเรา "ตาม" ท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ แต่การตามของเราเป็นแบบ "คิดตาม" ไม่ใช่ "เชื่อตาม" หรือ "แค่ตาม"

ใช่แล้วครับ การ "ตาม" มีสามแบบ

"คิดตาม" คือการตามในประเด็นที่ "ผู้นำ" ยกขึ้นมา ด้วย "การคิด"

เมื่อมีการคิดเข้ามาเกี่ยวข้อง ผลลัพธ์ของการคิดก็ย่อมเป็นไปได้ตั้งแต่ในทิศทางเดียวกันกับผู้นำจนถึงในทิศทางตรงข้ามกับผู้นำ จะกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ผลลัพธ์ของการ "คิดตาม" เป็นไปได้ 180 องศานั่นเอง สาเหตุที่เป็นดังนั้นก็เพราะการคิดของบุคคลแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน มีปัจจัยหลากหลายประการที่ฝังลึกในแต่ละบุคคลซึ่งจะทำให้ผลลัพธ์ของการคิดออกมาแตกต่าง ผมเชื่อด้วยซ้ำว่า ถ้าปล่อยให้คนทุกคนคิดในประเด็นใดประเด็นหนึ่งอย่างอิสระแล้ว ผลลัพธ์ของการคิดนั้นจะไม่มีทาง "เหมือน" กันได้เลย ความเป็นไปได้สูงสุดก็คือ "คล้าย" กันเท่านั้นเอง

"เชื่อตาม" คือการตามในประเด็นที่ "ผู้นำ" ยกขึ้นมาด้วย "การคิด" เพื่อ "ให้มีผลลัพธ์ตรงกับผู้นำ" หรือ "เสริมความคิดของผู้นำ"

การ "เชื่อตาม" นี้ก็ยังมีความคิดเข้ามาเกี่ยวข้องเช่นเดียวกับ "คิดตาม" ครับ แต่แตกต่างกันในประเด็นเดียวก็คือ เมื่อผู้คิดได้ผลลัพธ์ในการคิดแล้ว ถ้าผลลัพธ์นั้นแตกต่างจากผู้นำมากเกินไป ผู้คิดก็จะยกเว้นไม่กล่าวถึงหรือนำเสนอผลลัพธ์นั้นเสีย นั่นคือผลลัพธ์ของการคิดจะถูกกลั่นกรองอีกชั้นหนึ่งว่าต้องให้อยู่ในทิศทางเดียวกันกับผู้นำ กล่าวได้ว่าผลลัพธ์ของการ "เชื่อตาม" มีทิศทางเป็นไปได้ 45 องศา ซึ่งเป็นองศาที่อยู่ในพื้นที่ที่ไปในทางเดียวกับผู้นำนั่นเอง

ต้องหมายเหตุไว้ตรงนี้เสียหน่อยนะครับ ถ้ามีผลลัพธ์ของการคิดที่ไปในทิศทางเดียวกับผู้นำแล้ว ไม่ได้หมายความว่าเจ้าของความคิดจะ "เชื่อตาม" นะครับ ผลลัพธ์นั้นอาจจะเกิดจากการ "คิดตาม" ก็ได้ เพราะการ "คิดตาม" (180 องศา) เป็น superset ของการ "เชื่อตาม" (45 องศา) นั่นเองครับ

"แค่ตาม" คือการตามในประเด็นที่ "ผู้นำ" ยกขึ้นมาโดยไม่ต้องใช้ความคิด หรือถ้าใช้ความคิดก็คือการคิดเพื่อพยายามคิดให้ตรงกับผู้นำ

การ "แค่ตาม" นี่คือการตามตรงๆ นั่นเอง นั่นคือผู้นำจะว่าอย่างไรผู้ตามก็ว่าอย่างนั้นไม่บิดพริ้ว กล่าวได้ว่าผลลัพธ์ของการ "แค่ตาม" นั่นมีทิศทางเป็นไปได้ 0 องศา คือในองศาเดียวกับผู้นำ

การ "ตาม" ทั้งสามแบบมีคุณต่างกันไป เริ่มจากการ "แค่ตาม" ก่อน การ "แค่ตาม" อาจจะฟังดูไม่ดี แต่ที่จริงแล้วมีประโยชน์มากเมื่อใช้ในสถานการณ์หรือองค์กรที่ถูกต้อง ได้แก่ในการทหารหรือในสถานการณ์คับขันจวนตัวเป็นอย่างมาก

ส่วนการ "เชื่อตาม" นั้นก็มีประโยชน์อย่างยิ่งเช่นกัน ตัวอย่างได้แก่ในองค์กรที่มีวัตถุประสงค์อยู่ชัดเจนอยู่แล้ว หรือในสถานที่ที่มีกระบวนการการทำงานต่างๆ ที่ออกแบบไว้เพื่อให้รัดกุมแล้ว อาทิเช่น โรงงานอุตสาหกรรมในฝ่ายผลิตเป็นต้น ในที่เหล่านี้ เราต้องการให้คนใช้ความคิดไม่ได้ต่างจากที่อื่นๆ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วเราไม่ต้องการให้ความคิดไปไกลเกินกว่า 45 องศาจากผู้นำ

สำหรับการ "คิดตาม" นั้นมีประโยชน์ล้นเหลือครับ ผมเชื่อว่าในองค์กรเกือบทุกประเภทที่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์พิเศษเฉพาะตัวอย่างในสองประเภทที่กล่าวมาแล้ว เราต้องการให้คนในองค์กร "คิดตาม" ผู้นำ เพราะการ "คิดตาม" จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ถ้าจะกล่าวว่าการ "คิดตาม" คือการจัดการความรู้ที่แท้จริง ก็คงแทนความหมายของการ "คิดตาม" ที่ผมอธิบายตรงนี้ได้ชัดเจนทีเดียว

จากประเภทการ "ตาม" ทั้งสามแบบนั้น ผมและ ดร.จันทวรรณ เลือกที่จะใช้วิธี "คิดตาม" เพื่อตามท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ เพราะเราเชื่อว่าท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ซึ่งให้ความสำคัญกับการจัดการความรู้นั้น ย่อมเป็นผู้นำที่ต้องการการ "คิดตาม" อย่างแน่นอน

คุณอาจจะสงสัย ถ้าผู้นำต้องการการ "คิดตาม" แล้วเราพยายาม "คิดตาม" จะไม่กลายเป็นการ "เชื่อตาม"

ไม่ใช่ครับ เพราะการ "คิดตาม" เป็น superset ของการ "เชื่อตาม" นั่นไงครับ

นอกจากนี้ผมยังยอมรับอีกประการว่าท่านอาจารย์หมอวิจารณ์เลือกประเด็นได้อย่างน่า "คิดตาม" มาก เห็นประเด็นที่อาจารย์ยกมาในแต่ละบันทึกแล้ว เกิดอาการคันมืออยากคิดเป็นยิ่งนัก ทั้งคิดเหมือนและคิดแย้งในหลายต่อหลายองศาด้วยกัน

เมื่อมาพิจารณาเกี่ยวกับบล๊อกแล้ว การ "คิดตาม" นี่เป็นธรรมชาติที่สำคัญของบล๊อกนะครับ กล่าวได้ว่า "บล๊อกคือเครือข่ายของการคิดตาม" ได้ทีเดียว

เครือข่ายของการ "คิดตาม" เริ่มจากคนหนึ่งคิด อีกคนหนึ่ง "คิดตาม" โดยลิงก์ไปหาต้นความคิด คนต่อไปอาจจะ "คิดตาม" ต้นความคิดในมุมที่เหมือนหรือแตกต่างหรืออาจจะ "คิดตาม" คน "คิดตาม" คนต้นความคิดก็ได้ และคนต่อไป "คิดตาม" ต่อ และคนต่อไปก็ต่ออีกไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็กลายเป็นเครือข่ายทางความคิด เครือข่ายอย่างนี้นี่เองที่เป็น "จิตวิญญาณ" (soul) ของบล๊อกที่ทำให้บล๊อกเป็นเทคโนโลยีของความคิดอย่างทุกวันนี้

หมายเหตุว่า เราจะไม่ "คิดตาม" ด้วยการแสดงความคิดเห็น (comment) นะครับ ใน comment เราไว้แสดงความคิดเห็นเล็กๆ น้อยๆ ถ้าเราจะ "คิดตาม" เราจะเขียนเป็นบันทึกแล้วลิงก็ไปหาต้นความคิดแทน ที่จริงแล้วนี่คือสิ่งหนึ่งที่ทำให้ blog ต่างกับ webboard นั่นเอง

สำหรับ GotoKnow.org นั้น นอกจากเราจะใช้ในการเล่าความสำเร็จในการทำงาน (success stories) เพื่อดึงความรู้ฝังลึกที่ทำให้เราประสบความสำเร็จนั้นแล้ว ใน GotoKnow.org เรายังมีผู้เขียนที่เป็นคนต้นความคิดที่ดีอยู่ไม่น้อยไม่ใช่เฉพาะท่านอาจารย์หมอวิจารณ์เท่านั้น ผมจึงขอสนับสนุนให้เรามาช่วยกันสร้างเครือข่ายของการ "คิดตาม" ผ่านบล๊อกให้เกิดขึ้นในประเทศไทยโดยการเริ่มต้นที่ GotoKnow.org นี่เอง

ช่วยกันนะครับ มาช่วยกันสร้างวัฒนธรรมไทยใหม่ที่ว่า "ความคิดอาจจะผิด แต่คนคิดไม่ผิด" หรือ "การไม่คิด ผิดและเสียหน้ายิ่งกว่าการคิดผิด" หรือ "คนเก่งต้องกล้าคิด"

มาช่วยกันเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างวัฒนธรรมใหม่ให้ลูกหลานของเรากันนะครับ ถ้าคนไทยกล้าคิด และกล้าบอกความคิดนั้นภายใต้อัตลักษณ์ (identity) ของตัวเอง ประเทศไทยเจริญแน่นอนครับ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 1810เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2005 16:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท