CoPทีมบริหารสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย


ทีมนี้เรียกสั้นๆว่าENV เขาจะนัดเจอกันทุกเดือนอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งถือได้ว่าเป็นCoPหรือCommunity of Practiceกลุ่มหนึ่ง

             เมื่อวาน 8 มีนาคม ช่วงบ่ายสองโมง ผมได้เชิญทีมENVมาร่วมประชุมพูดคุยกัน เนื่องจากผมเป็นประธานกรรมการชุมนี้ แต่ทั้งปีที่ผ่านมาผมแทบจะไม่ได้ร่วมประชุมด้วยเลย โดยที่ทางทีมเขาจะนัดคุยกันทุก 1 เดือนและมีการสำรวจสภาพสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาลทุก 4 เดือน ซึ่งเป็นความตั้งใจของผมเองที่ดูว่ากรรมการชุดไหน สามารถทำงานไปได้ด้วยตนเอง ผมก็จะถอยออกมาดูอยู่ห่างๆ ถ้าเขามีปัญหาที่แก้ไข ไม่ได้หรือต้องการความช่วยเหลือ ทางทีมก็จะมาขอคำปรึกษาเองได้ การประชุมครั้งนี้จึงเป็นการประชุมในลักษณะของการเริ่มต้นปีใหม่และติดตามงานในรอบ 1 ปที่ผ่านมา

              หากมองในเรื่องการจัดการกระบวนการหรือProcess Managementหรือ Operation Managementแล้ว การบริหารโครงสร้างกายภาพ สิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย จะถือเป็นกระบวนการสันบสนุน(Supporttive Activities)ที่สำคัญประการหนึ่งของโรงพยาบาล

              เดิมการตั้งคณะกรรมการชุดนี้ มาจากการส่งตัวแทนมาจากทุกฝ่าย ปรากฎว่าคณะกรรมการเยอะมาก และตัวแทนที่ส่งมาก็ไม่ค่อยจะมาประชุมเพราะคิดว่ามีกรรมการเยอะแล้ว จะขาดเราไปคงไม่เป็นไร แต่ปรากฎว่าคิดอย่างนี้กันเยอะ เวลานัดเจอกันก็มากันน้อย ต่อมาก็มีการปรับใหม่ให้สอดคล้องกับทีม 5 ส โดยการให้ตึกหรือทีม 5 ส ส่งตัวแทนที่สนใจในเรื่องโครงสร้างกายภาพ สิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย มาตึกละ 2 คนและมีตัวแทนที่รับผิดชอบงานจากกลุ่มงานบริหาร 1 คนและจากงานบริการสุขภาพชุมชนอีก 2 คน มาร่วมเป้นทีมที่ดูแลในเรื่องนี้โดยมีผมเป็นประธานและทันตแพทย์อีกท่านหนึ่งเป็นรองประธาน ก้ทำให้กิจกรรมต่างๆก้าวหน้าไปได้

              การประชุมพูดคุยในครั้งนี้ เริ่มต้นจากการนำเอาผลการเดินสำรวจอาคารสถานที่และสิ่งแวดล้อมที่มีข้อที่ต้องปรับปรุง 22 รายการ ก็นำเอารายการต่างๆมาพูดคุย อภิปรายกันว่า จะแก้ไขได้อย่างไรบ้าง เช่นระเบียงอาคารอาจมีเด็กพลัดตกได้ ฝ้าเพดานชำรุด บางจุดของโรงพยาบาลเสี่ยงต่ออาชญากรรม ระดับทางขึ้นตึกไม่เหมาะสม  ถนนภายในโรงพยาบาลไม่มีสัญญาณจราจรที่ชัดเจน มีห้องน้ำคนพิการน้อยเกินไป รางระบายน้ำทิ้งมีปัญหา ของเด็กล่นบางชิ้นชำรุด เป็นต้น ก็มีการระดมสมองเพื่อหาวิธีการแก้ไขที่เหมาะสมถูกทั้งหลักอาชีวอนามัย หลัก 5 สและกฎหมายเกี่ยวกับอาคารสถานที่ หลักการป้องกันควบคุมการติดเชื้อและสอดคล้องกับโครงสร้างอาคารเดิมที่มีอยู่ เพราะเราอาจจะไม่สามารถไปทุบ ไปรื้อ ไปปรับอาคารที่มีอยู่ได้มากนัก จึงต้องพยายามหาทางที่เหมาะสมที่สุดในหลักการต่างๆที่กล่าวมา เวลามีผู้ประเมินมาที่โรงพยาบาลจะพบว่าทีมประเมิน 5 ส ก็มองอย่างหนึ่งโดยใช้หลัก 5 ส มาเป้นตัวตั้ง ทีมประเมินHealthy workplace ก็มองอย่างหนึ่ง ทีมHAก็มองอย่างหนึ่ง เพราะมันมีหลายมาตรฐาน ฉะนั้นคนทำจึงต้องนำหลักที่มีอยุ่ทั้งหมดมาผสมผสานกันให้ได้ โดยเป้าหมายสำคัญอยุ่ที่ตอบสนองต่อภารกิจและเป้าหมายของเรา ไม่ใช่ตอบสนองต่อความต้องการหรือความเห็นของผู้ประเมิน

              ก่อนจะเลิกประชุมผมก็ได้ เสนอประเด็นคำถามเพื่อให้ทีมได้มีการทบทวนตนเอง โดยการตั้งคำถามว่า โครงสร้างกายภาพ สิ่งแวดล้อมที่ดีเป็นอย่างไร หน้าที่หลักๆของทีมเราคืออะไร แล้วเราจะต้องทำอย่างไรจึงจะได้สิ่งนั้น เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราได้ให้สิ่งนั้นกับลูกค้าแล้ว ฟังตอนแรกทีมก็งงๆไปเหมือนกันว่า ผมจะมาไม้ไหน แต่สักพักทีมก็ช่วยกันตอบจนได้

              สิ่งดีๆที่ทีมอยากให้เกิดคือสะอาด ปลอดภัย น่าอยู่น่าทำงาน ผมก็บอกว่าสิ่งนี้แหละที่เรียกว่าจุดคุณภาพ(Quality point)หรือตัวคุณภาพที่ลูกค้าอยากได้ ถ้าจะให้แน่ใจว่าใช่หรือไม่ก็ต้องไปถามตัวลูกค้าดูว่าเขามาโรงพยาบาลบ้านตาก เขาอยากได้อย่างนี้จริงไหม พอรู้ว่าคุณภาพคืออะไรแล้ว ถ้าจะรู้ว่าเราทำได้อย่างนี้ไหมก็ต้องมีตัวชี้ตัวบอกก็จะทำให้เราต้องหาตัวชี้วัดมาวัดสิ่งที่เรียกว่า สะอาด ปลอดภัย น่าอยู่น่าทำงาน เราก็จะได้ตัวชี้วัดที่เหมาะสมออกมา ตัวชี้วัดจึงมีได้มาก เพื่อจะให้รู้ว่าเราควรจะใช้ตัวไหนที่สำคัญๆ หรือวัดได้จริงๆ เรียกว่าเป็นตัวใหญ่ ตัวเจ๋ง ก็ต้องเริ่มคิดจากตัวคุณภาพหรือจุดคุณภาพ ไม่ใช่มานั่งคิดที่ตัวชี้วัดก่อน ซึ่งอาจไปคว้าเอาตัวเล็กๆมาใช้ก็ได้

               เพื่อให้ได้คุณภาพอย่างที่ลูกค้าต้องการนี้ เราจะต้องทำอะไรก็คือบริหารจัดการโครงสรางกายภาพ สิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย ซึ่งเป้นสิ่งที่เราต้องทำ แต่พอบอกสั้นๆอย่างนี้เราอาจจะมองไม่ออกนัก ก็ให้ขยายความออกมาเป็นขั้นเป็นตอนที่ชัดเจนขึ้น ก็เรียกว่ากระบวนการหลัก(Core process) โดยทีมเขาบอกว่าขั้นตอนที่ต้องทำคือ PASME(ผัดหมี่)

1.  วางแผน(Planing) จัดทำแผนปฏิบัติการ กำหนดเป้าหมายในเรื่องสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย

2.  แนะนำ(Advice) ให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ปฏิบัติในเรื่องสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย กำหนดกรอบ แนวทางปฏิบัติเพื่อให้บรรลุมาตรฐานในด้านนี้

3.  สนับสนุน(Support) มีการสนับสนุนทั้งด้านวิชาการ การฝึกอบรม การขอสนับสนุนเพื่อการปฏิบัติจากผู้บริหารเพื่อให้ผู้ปฏิบัติสามารถจัดให้เกิดความปลอดภัยได้

4.  ติดตาม(Monitoring) คอยตรวจสอบ ติดตามผลการปฏิบัติทางด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย ติดตามการปฏิบัติตามคุ่มือการทำงานที่กำหนดขึ้น

5.  ประเมินผล(Evaluation) เพื่อดูว่าสิ่งที่ปฏิบัติมาในเรื่องของสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยนั้นผ่านเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้หรือไม่ ต้องมีการแก้ไขปรับปรุงในเรื่องใดบ้าง

                จะเห็นได้ว่าคณะกรรมการชุดนี้ เป็นคณะทำงานแบบคร่อมหน่วยงาน ไม่ใช่เป็นผู้ลงไปทำกิจกรรมเอง แต่เป็นที่ปรึกษา เป็นผู้กระตุ้นให้เกิดการทำทางด้านนี้อย่างมีคุณภาพ เป็นผู้คอยสนับสนุนในแนวราบ(Horizontal) ที่คอยช่วยดูแลประสานกับกลุ่มงานหรือฝ่ายที่เป็นแนวดิ่ง(Vertical) บางทีแนวดิ่งไม่ค่อยเวอร์ค ก็จะมีแนวราบมาคอยช่วยกระตุ้นได้

                 ในการทำงานของทีมENVนี้ เมื่อรู้ว่าต้องทำอะไร(Mission)ให้เป็นอย่างไร(Vision)นั่นก็คือเป้าประสงค์หรือเจตจำนงค์ของทีม(Purpose)นั่นเอง เขารวมคำมาใช้เพื่อที่จะไม่ให้คนในโรงพยาบาลงงว่าทำไมวิสัยทัศน์ พันธกิจมันมีมากมายหลายระดับเหลือเกิน ตัวที่วัดวิสัยทัสน์นั้นก็คือตัววัดเป้าหมาย ตัวเป้าหมายที่ดีต้องเป็นคุณภาพที่ลูกค้าต้องการหรือคาดหวัง ที่เขาเรียกว่าเป็นตัวชี้วัดก็เพราะว่าตัวนี้มันจะช่วยบอกผลงานของเราโดยมันจะชี้ให้เห็นว่าเป็นไปตามที่ลูกค้าต้องการหรือไม่และมันจะช่วยวัดว่าทำได้สักเท่าไหร่ ผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนดหรือไม่ ดังนั้นตัวชี้วัดมันจึงเป็นตัวชี้กับตัววัด

                   หากดูจากชื่อเต็มของทีมก็คือคณะกรรมการบริหารโครงสร้างกายภาพ สิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย(Environment & Safety Management) จะทำให้เรามองไปที่ตัวขอบเขตของงานที่ทีมนี้ต้องเข้าไปช่วยดูและช่วยกระตุ้นการพัฒนาก็คือเรื่องของอาคารสถานที่ สวน สนาม ระบบผังหลักของอาคารสถานที่ อาชีวอนามัย เออร์กอนอมิส์ การระบายอากาศ ระบบประปา ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบกำจัดขยะ ระบบการซ่อมบำรุง ระบบไฟฟ้า ระบบแก๊สทางการแพทย์ ระบบจราจรในโรงพยาบาล ระบบรักษาความปลอดภัย ระบบรองรับอัคคีภัย โดยระบบเหล่านี้ต้องประกันได้ว่ามีความปลอดภัยต่อลูกค้าทั้งภายในและภายนอก

คำสำคัญ (Tags): #kmกับงานประจำ
หมายเลขบันทึก: 18067เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2006 09:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 22:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท