BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

หัวครก ๒


หัวครก

ที่ชื่อว่า ท้ายเล็ด เพราะ ส่วนล่าง ของผลมะม่วงหิมพานต์เรียกกันตามภาษาใต้ว่า ท้าย และเมื่อมีเมล็ด ที่เรียกกันตามภาษาใต้ว่า เล็ด ติดห้อยอยู่ด้วย จึงเรียกผลไม้นี้ว่า ท้ายเล็ด... ตามนัยนี้ หมายความว่า ผลไม้ชื่อว่า ท้ายเล็ด เพราะมีเมล็ดอยู่ที่ส่วนล่าง...

อีกอย่างหนึ่ง คำว่า เล็ด ในภาษาใต้แปลว่า โผล่ออกมา ... (เล็ด ในภาษาใต้เป็นไวพจน์หรือ Synonym กับคำว่า ล่อ แปลว่า โผล่ออกมา... นั่นคือคำทั้งสองนี้พอจะใช้แทนกันได้ แต่ความหมายแคบกว้างกันนิดหน่อย กล่าวคือ เล็ด หมายถึง โผล่ออกมานิดเดียว ส่วน ล่อ หมายถึง โผล่ออกมามากกว่าเล็ด)...  ตามนัยนี้ ผลไม้ที่ชื่อว่า ท้ายเล็ด จึงหมายถึง ผลไม้ที่มีบางอย่าง (คือเมล็ต) โผล่ออกจากจากส่วนล่าง

และเพราะคำว่า เล็ด กับ ล่อ พอใช้แทนกันได้นี้เอง ดังนั้น ผลไม้ที่ชื่อว่า ท้ายเล็ด จึงอาจเรียกว่า ท้ายล่อ ได้อีกชื่อหนึ่ง.... ซึ่ง ท้ายล่อ หรือ ท้ายเล็ด ตามนัยนี้ แปลเหมือนกันว่า มีบางอย่าง (คือเมล็ด) โผล่ออกมาจากส่วนล่าง

..........

ตามเคยเล่าไว้หลายครั้งแล้ว คูขุดบ้านเดิมของผู้เขียนเป็นโสดล่างหรือบ้านต่ำ อยู่ติดทะเลสาบสงขลา ... โดยทั่วไปโสดล่างจะไม่มีต้นมะม่วงหิมพานต์ ดังนั้น ผลไม้ชนิดนี้จึงต้องนำเข้าจากที่อื่น ซึ่งนำมาจากสองแหล่ง ได้แก่ จากชาวเกาะ และพวกเนินหรือโสดบน ที่จะนำมาขายวันนัด (วันที่มีตลาดนัด)...

ในทะเลสาบสงขลาตอนในมีเกาะอยู่เป็นส่วนๆ เช่น เกาะหมาก เกาะโคบ เกาะนางคำ เกาะแหลมกรวด (เกาะเกือบทั้งหมดในทะเลสาบสงขลา ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอปากพยูน จังหวัดพัทลุง) ซึ่งชาวเกาะจะพาเรือบรรทุกสินค้า เช่น ไม้ฟืน ปลากัด ย่านเชือก หรือผลไม้ตามฤดูกาล เช่น ลูกหัวครก (ผลมะม่วงหิมพานต์) มาขายตามหมู่บ้านชายทะเลสาบในวันนัด ... นอกจากชาวเกาะข้างต้นแล้ว ก็มีพวกเนินหรือโสดบนก็จะนำลูกหัวครกมาขายในวันนัดด้วย... ดังนั้น ชาวคูขุดจึงอาศัยซื้อลูกหัวครกจากพวกเกาะหรือพวกโสดบนตามนัยนี้

ผลผลิตจากหัวครกที่นำเข้ามาขาย มี ๓ประเภท กล่าวคือ ลูกหัวครก โม้งหัวครก และยอดหัวครก

ลูกหัวครก ก็คือผลมะม่วงหิมพานต์ตามที่ว่านั่นเอง ชาวเกาะหรือพวกเนินจะเลือกเก็บลูกที่สุกหรือพองเต็มที่แล้ว นำมาร้อยเป็นพวงๆ ด้วยก้านมะพร้าว ประมาณพวงละ ๕-๑๐ ผล... ราคาที่ขายตอนสมัยผู้เขียนเด็กๆ (ก่อนพศ. ๒๕๑๘) ก็พวงละสลึง สองสลึง หรือสามพวงบาท ซึ่งขึ้นอยู่กับคุณภาพและปริมาณในแต่ละวัน... เฉพาะลูกหัวครกที่ร้อยพวงมาขายนี้ จะต้องมีโม้งติดอยู่ด้วยเสมอ มิอย่างนั้น จะขายไม่ได้... และลูกหัวครกพวงใดที่โม้งได้หลุดหายไปในระหว่างการขนส่งก็จะถูกกดราคาให้ต่ำลงมาก หรือกลายเป็นเพียงของแถมเท่านั้น... การกินลูกหัวครกสุกนี้ ผู้เขียนค่อยนำไปเล่าต่างหาก...

โม้งหัวครก คือ เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ ซึ่งอาจแยกประเภทออกไปเป็น โม้งดิบ และ โม้งสุก ...

  • โม้งดิบ คือ เมล็ดที่ยังมีเปลือกหุ้มอยู่ ซึ่งมักจะใช้จานหรือถ้วยตวงขายถูกๆ แต่เมื่อพวกเราไปซื้อแล้วนำมาเล่นกัน ในหมู่บ้านจะนับโม้งขายเป็นร้อย...
  • โม้งสุก ก็คือ เม็ดหัวครกที่ปรุงสุกแล้วพร้อมกินได้ เช่น ต้มเกลือ หลาน้ำผึ้ง หรือคั้ว ซึ่งประเด็นของการปรุงโม้งหัวครกนี้ ผู้เขียนค่อยแยกไปเล่าต่างหาก...

ยอดหัวครก คือ ใบอ่อนของมะม่วงหิมพานต์ จัดเป็นผักเหนาะชั้นดีชนิดหนึ่ง (ผักเหนาะ คือผักที่กินสดๆ ผู้เขียนเคยเล่าไว้บ้างแล้ว ดู ขนมจีน... ) ยอดหัวครก มีรสชาตฝาดๆ มันๆ นิยมนำมากินกับขนมจีน แกงไตปลา หรือน้ำพริก .... ยอดหัวครกนี้ ผู้ขายจะมัดเชือกหรือยางเส้นมาเป็นมัดๆ ขนาดกำมือ จึงเรียกกันว่า กำ ราคาขายก็แล้วแต่ตกลงกัน เช่น กำละสลึง หรือ สามกำสองสลึง...

พวกเราเด็กๆ มักชอบจะให้พ่อแม่ซื้อลูกหัวครกมาในวันนัด เพื่อจะได้โม้งไปเล่นซัดราวตามที่เล่าไว้ข้างต้น... และบางครั้งเมื่อมีโอกาส พวกเราก็มักขึ้นไปเนิน หรือลงไปตามเกาะ เพื่อหาโม้งหัวครกโดยเฉพาะ

.............

ตำบลคูขุดเป็นโสดล่าง ส่วนโสดบน(เนิน) ที่ตรงกับคูขุดก็คือตำบลจะทิ้งพระ ซึ่งเป็นที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอ โดยมีทุ่งนากั้นกลางและมีถนนตัดผ่านทุ่งนา... ระยะทางจากโสดล่างไปโสดบนประมาณ ๓ กิโล ซึ่งมีรถเครื่องรับจ้างทั่วไป แต่พวกเราเด็กๆ อาจเดินตามยาวถนนหรือเดินลัดไปตามคันนาเพื่อไปเที่ยวได้ ซึ่งบางครั้งเหตุผลที่ชวนกันไปก็คือ ไปหาโม้งหัวครก... แต่ที่มักจะขึ้นไปก็คือวันเสาร์ โดยไปฝากออมสินในตอนเช้า แล้วตอนบ่ายก็เที่ยวหาโม้งหัวครก ตามสวนชาวบ้าน หรือตามชายทะเล...

ประสบการณ์หาโม้งหัวครก ถือว่าสนุกสำหรับเด็กๆ เพราะบางสวน พอเข้าไปก็ถูกหมาไล่กัด ต้องวิ่งหนีตัวใครตัวมัน... บางสวนเจ้าของก็ด่าหรือบ่นพึมพำ จึงต้องรีบจากมา ขณะที่บางสวนเจ้าของก็ใจดีพูดไพเราะชวนให้เก็บได้สะดวก... แต่ที่พวกเราชอบที่สุดก็คือ สวนที่เจ้าของไม่อยู่ (5 5 5...)

สมัยก่อน ต้นหัวครกมักปลูกไว้ไม่ไกลจากบ้านนัก บ้านละ ๒-๓ ต้น และใต้โคนต้นหัวครกอาจมีหมูถูกล่ามไว้เพื่อจะได้กินลูกหัวครกที่สุกหล่นลงมา แต่หมูไม่กินโม้ง... ดังนั้น โม้งหัวครกซึ่งเป็นส่วนเหลือจากหมูกิน และลูกหัวครกที่สุกหล่นอื่นๆ เราก็อาจเก็บเอาเฉพาะโม้งมาได้... ส่วนบางต้นที่มีลูกหัวครกเต็มต้น แต่ยังไม่หล่น ก็ต้อง ลดหัวครก หรือ ลดโม้ง

คำว่า ลด ในภาษาใต้แปลว่า ตอน ในภาษากลางได้ เช่น หมูตอน ไก่ตอน ภาษาใต้เรียกว่า หมูลด ไก่ลด ... หรือพ่อบ้านแม่เรือนที่ทำหมันแล้ว ก็อาจพูดกันขำๆ เชิงหยอกล้อว่า ลดแล้ว (5 5 5)

ลดโม้งหัวครก ก็คือ การปลิดเอามาเฉพาะโม้ง (เมล็ด) ของมันมา ส่วนลูก (ผล) ของมันซึ่งยังไม่หล่น ก็ปล่อยให้ห้อยคากิ่งคาต้นอยู่อย่างนั้น... ตามนัยนี้ การลดหัวครก ก็คือการตอนหัวครกมิให้เจริญเติบโตต่อไปนั่นเอง... แต่ลูกหัวครกทั้งหมดที่ถูกลดหรือถูกตอนนี้ ไม่นานก็จะร่วงหล่นลงมา ดังนั้น หัวครก จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า ยาร่วง

  • ยาร่วง = หย่า + ร่วง
  • ยา หรือ หย่า แปลว่า การทำให้ขาดจากกัน
  • ร่วง แปลว่า หล่นลงมา

ดังนั้น ผลไม้ที่ชื่อว่า ยาร่วง เพราะ เมื่อใครบางคนทำให้เมล็ดขาดออกจากผลของมันแล้ว มันก็จะร่วงหล่นลงจากต้น..

 

เจ้าของสวนจึงไม่พอใจเสมอที่เด็กบ้านต่ำโสดล่างเช่นพวกเรา ไปเที่ยวลดหัวครก และนี้คือเหตุผลที่เจ้าของบางสวนดุด่าหรือบ่นไม่ให้เก็บโม้ง... ขณะที่เจ้าของบางสวนอาจมีเมตตาอยู่บ้าง บอกพรางสอนว่า

  • เก็บตะโลกบ่าว ใต้ต้นนะ แต่อย่าลดโม้ง...

 

 

หมายเลขบันทึก: 180161เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2008 10:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 22:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

นมัสการ...ครับ

บรรยายได้ดีมากครับ ท่านมหา

วันนั้น มาที่วัดไม่ได้เสวนาด้วย

ฝากนมัสการพระโกวิท (เขียว)ด้วย

ยินดีรับใช้...ที่จังหวัดเลย

จาก

นวกะ...2533

  • นมัสการพระคุณเจ้า
  • มาลงชื่อว่าเข้ามาอ่านครับกระผม

P

aggatut

 

  • เห็นข้อความก็รู้ว่าเป็นใคร...

พอดีวันก่อนทำงานค้างอยู่นิดหนึ่ง คิดว่าเสร็จงานจะออกไปคุยด้วย พอเสียงข้างนอกเงียบๆ ก็เสร็จงานพอดี ออกมาจึงรู้ว่ากลับไปหมดแล้ว...

เห็นของฝากแขวนอยู่ที่ลูกปิดประตู จึงรู้ว่าคงจะรีบกลับ...

ชมหน่อย เครื่องแบบที่แต่งนะ สุดยอดเลย (5 5 5...) เพียงแต่หน้าไม่ชัด จึงมองไม่ออกว่าเป็นใคร...

............

P

กวิน

 

ความเห็นส่วนตัว เรื่องเล่าทำนองนี้ เขียนยากกว่าทฤษฎีจริยศาสตร์ การใช้หลักตรรกะแย้งข้อความอื่น...

........

เจริญพร

 

นมัสการหลวงพี่เจ้าค่ะ

ฮ่า ๆๆ เห็นด้วยเครื่องแบบหล่อ แต่คนนี่สิ .... (แซวเล่นค่ะ)

ตามเดิม เข้ามาแล้วก็ต้องวนไปวนมาอ่านเรื่องโม้ (เรื่องราวน่ะคะ)ของหลวงพี่ค่ะ เพราะตัวเองไม่ได้เขียนเลยค่ะ ยุ่งซะอีลุงตุงนัง ขอให้ดูแลรักษาสุขภาพนะคะ

ก่อนจบมีคำถามนิดนึงค่ะ... พระนี่เค้าออกกำลังกายได้หรือเปล่า อย่างไรคะ?

ขอบคุณค่ะ

สุ

P

สุรีรัตน์

 

อ่านสำนวนอาจารย์ว่าที่ดอกเตอร์... คิดว่าน่าจะรู้จักคนเครื่องแบบหล่อนะ...

การออกกำลังกายของพระ-เณร คงเป็นไปตามสภาพ เช่น ตอนเช้าก็บิณฑบาต ว่างๆ ก็กวาดวิหารลานเจดีย์  เดินจงกรม หรือทำการงานอื่นๆ ภายในวัดตามสภาพ... สำหรับการงานในวัดที่จะออกำลังกายนั้น ถ้าจะทำแล้ว มีงานเยอะแยะ...

แต่พระ-เณรก็มีทั้งขยัน-เกียจคร้านในเรื่องต่างๆ แตกต่างกันไป ทำนองเดียวกับญาติโยมนั้นแหละ...

ส่วนหลวงพี่จัดอยู่ในจำพวกขี้เกียจไม่ค่อยทำอะไร... เดียวนี้ อายุเริ่มมากขึ้น ก็อาศัยออกเดินบิณฑบาตเช้าๆ พอให้ร่างกายยืดเส้นยืดสาย...

อีกอย่างหนึ่ง ที่หลวงพี่ผอมๆ ไม่อ้วนทำนองเดียวกับว่าที่ดอกเตอร์ฌอง เพราะหลวงพี่คิดเรื่องควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วนมาตั้งแต่อายุยี่สิบกว่าๆ... ประจวบกับเรียนหนังสือ ถ้าฉันมากง่วง จึงฉันน้อยๆ มาตั้งแต่โน้น จนกลายมาเป็นอุปนิสัย...

เจริญพร

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท