ทางกลับคือการเดินทางต่อ (3)


บทความนี้เขียนเพื่อลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น "ไทยนิวส์" ฉบับประจำเดือนมีนาคม 2549

8 มีนาคม 2549

ช่วงนี้ปี่กลองทางการเมืองโหมกระหน่ำอย่างอึกทึกครึกโครม คลื่นแห่งข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อมวลชนทุกรูปแบบเต็มไปด้วยเนื้อหา เหตุการณ์ และทัศนะวิจารณ์ในการมองปัญหาแตกต่างกันไป เสียงปลุกเร้าจากเวทีไม่ว่าจะเป็น “ทักษิณ...ออกไป !!!” หรือ “ทักษิณ...สู้ สู้ !!!” ลุกลามผ่านเข้ามาทางเสียงโทรศัพท์ สร้างความแตกต่างทางความคิด ค่อย ๆ ร้าวลึกจนกลายเป็นความแตกแยกทางการกระทำ

ผมถือว่าเป็นโชคดีที่มีบ้านอยู่ใกล้สถานีรถไฟชุมพร ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีคณะมาเปิดเวทีอภิปรายทางการเมืองกันเป็นประจำ ในช่วง 1-2 สัปดาห์นี้ก็ได้ไปยืนฟังการเปิดเวทีปราศรัยชี้แจงการไม่ส่งผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคประชาธิปัตย์ หรือเวทีของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ขณะที่ฟังอยู่สารภาพตามตรงครับว่า ไม่ได้ตื่นตัว มีอารมณ์ร่วมไปกับถ้อยคำปลุกเร้าที่กู่ก้องอยู่บนเวทีจนถึงกับต้อง ออกอาการ ไปตามจังหวะเร่งเร้าของผู้อภิปราย ตรงกันข้ามกับค่อย ๆ คิดใคร่ครวญว่า ผู้อภิปรายคิดอะไรอยู่ เหตุผลอะไรที่เขานำมาผสมผสานออกมาเป็นแนวความคิดที่แสดงออกอยู่บนเวที ข้อมูลที่นำเสนอมานั้นเมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่เราเคยเรียนรู้มาก่อน จริงหรือไม่จริง และเขาแสดงอย่างนั้นเพื่อชักจูงกลุ่มผู้ฟังไปยังบทสรุปอะไร

ในเวทีการประชุมที่มีการแสดงความคิดเห็นหลากหลาย ผมชอบจดบันทึกโดยขีดตารางออกเป็น 4 ช่อง เขียนหัวข้อลงไปในแต่ละช่องว่า S = จุดแข็ง, W = จุดอ่อน, O = โอกาส และ T = ภัยอุปสรรค สิ่งที่ได้รับฟังส่วนใหญ่แล้วจะสามารถสรุปประเด็นลงไปในตารางทั้ง 4 ช่องได้เกือบทุกประเด็น เมื่อทำบ่อย ๆ ก็จะทำให้เราแม่นยำในการวิเคราะห์เนื้อหาบอกได้ว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นภายในตัวตน เรื่องนี้เป็นสภาพแวดล้อมภายนอก นำไปสู่การสรุปข้อคิดเห็นในภาพรวมและเติมเต็มส่วนที่ขาด ทำให้รู้และเข้าใจ เห็นแนวทางการแก้ปัญหา อย่างน้อยก็ไม่หลงวนอยู่กับมิจฉาทิฐิเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

ผมเคยใช้รูปแบบของการบันทึกข้อมูลเช่นนี้ในการฟังเล็คเชอร์บรรยายโดยอาจารย์อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในการเรียนหัวข้อ เศรษฐกิจกับการเมือง หลักสูตรการบริหารเศรษฐกิจสาธารณะสำหรับนักบริหารระดับสูง ที่สถาบันพระปกเกล้า เมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2548 อ.อภิสิทธิ์อธิบายได้อย่างมีเหตุมีผล ชัดถ้อยชัดคำ น้อมนำให้เกิดการคล้อยตามทางความคิดและบทสรุปในทิศทางที่อาจารย์นำเสนอ ความเหนือชั้นอยู่ที่การบรรยายตลอด 2 ชั่วโมงนั้นไม่มีคำว่า รัฐบาลของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ออกมาเลยแม้แต่เพียงครั้งเดียว

แต่เมื่อมองภาพรวมจากตาราง 4 ช่องที่จดบันทึกลงไป ผมก็ต้องแปลกใจว่าทำไมผมถึงจดได้แต่เฉพาะประเด็นที่เป็น W = จุดอ่อน และ T = ภัยอุปสรรค มันคล้าย ๆ กับเนื้อหาที่เรามักจะได้รับจากเวทีอภิปราย และนั่นก็นำไปสู่คำถามที่ผมถามจากท่าน อ.อภิสิทธิ์ว่า ผมมั่นใจว่าท่านอาจารย์คือผู้นำทางการเมืองรุ่นใหม่ที่จะก้าวไปได้ไกลถึงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในความเห็นของผมการเป็นผู้นำจะต้องเป็นผู้ที่มองเรื่องราวใด ๆ อย่างรอบด้าน ยิ่งถ้าเป็นการมองในทางวิชาการแล้วจะต้องไม่มีอคติ จริงกับตรง คือสิ่งที่ต้องแสดงออก แต่ทำไมเมื่อผมวิเคราะห์การบรรยายของท่านอาจารย์แล้ว ผมถึงจดบันทึกได้เฉพาะประเด็นที่เป็น จุดอ่อนและภัยอุปสรรค ถามตรง ๆ เถอะครับว่า ท่านอาจารย์มองเห็น จุดแข็งและโอกาส อะไรที่เกิดขึ้นจากการบริหารของนายกทักษิณบ้าง

คำตอบที่ผมได้รับยอมรับว่าเกิดจากปฏิภาณไหวพริบของ อ.อภิสิทธิ์อย่างแท้จริงและจบลงได้ อย่างสวยงาม ด้วยข้อคิดที่จะต้องนำกลับไปคิดต่อ (เพราะหาคำตอบได้ไม่ทันในตอนนั้น) อ.อภิสิทธิ์ตอบว่า ถูกต้องแล้วครับที่ผมนำเสนอหนักไปในประเด็นที่เป็นจุดอ่อนและภัยอุปสรรค สำหรับจุดแข็งของนายกทักษิณที่ผมยอมรับ คือ การคิดตัดสินใจแล้วลงมือปฏิบัติการได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งการทำงานที่มียุทธศาสตร์ แต่ไม่ว่าท่านนายกทักษิณจะมีจุดแข็งมากมายเพียงใด ในความเห็นของผมและพรรคประชาธิปัตย์ เราให้ความสำคัญกับจุดแข็งที่ควรจะเกิดขึ้นกับประชาชนเป็นหลักสำคัญ

นี่แหละครับคือสิ่งที่ผมเรียกว่า พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส.

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 18016เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2006 17:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ผมอยากให้พี่ไอศูรย์ลองนำเสนอตาราง SWOT ของการที่พี่ได้ไปฟังอภิปรายของพรรคประชาธิปัตย์  และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย  เพื่อว่าคนที่ได้อ่าน Blog  นี้จะได้ความรู้เพิ่มเติม  และจะได้เกิดสัมมาทิฐิ  และจะได้นำไปใช้ในชีวิตด้วย 
  • เมื่อตอนค่ำของวันที่ 26 เม.ย.49 พาเพื่อนร่วมรุ่นจากสถาบันพระปกเกล้าฯ เข้าพบและนั่งคุยกับท่านผู้ว่าฯ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ท่านให้ความเห็นในเชิงทฤษฎี Political Portrait จับความได้ว่า ผู้คนในสังคมของท้องถิ่นนั้น ๆ เป็นอย่างไร คิดอย่างไร มันสะท้อนออกมาได้ทางพฤติกรรมการเมือง, ตัวตนของผู้แทนฯ ที่เขาเลือก
  • ผมมองดูผลการเลือกตั้ง สว. แล้วคิดเป็นสมการสนุก ๆ ตามมุมมองของตัวเองได้ดังนี้

ผลคะแนน = (พวกพ้อง + เงินทอง + อำนาจบารมี)^กระแส + ชื่อเสียงความดี

  • อ.เทียมพบ สนุกไปกับการสังเกตปรากฎการณ์เหล่านี้ด้วยไหมครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท