ใช้ “ค.ว.ย.” ให้อยู่ในวิถี 2


เราติดอยู่กับกับดักกับการวัดว่าผู้อื่นคิดได้เท่าใด เราพยายามสร้างเครื่องมือเพื่อวัดการคิด แต่เราลืมสอนวิธีคิด และลืมดูวิธีคิดของคนอื่น

สืบเนื่องจากตอนที่ 1 หากใครยังทำไม่ได้ไว้จะเฉลยให้ทีหลังครับ

งั้นเรามาดูภาพต่อไป....

โจทย์มีอยู่ว่า ในภาพมีรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสกี่รูป?

o   หมู ๆ ครับ 16 รูป เด็กหลังห้องคนหนึ่งลุกขึ้นตอบอย่ามั่นใจแต่เมื่อได้ยินเฉลย ผิด! ท่าทางที่มั่นใจเมื่อสักครู่กลับกลายเป็นความลังเลพร้อมกับการเกาหัวแกรก ๆ และคงคิดใจใจว่า แม่ง...ผิดได้ไงวะ

o  17 รูปครับ รวมรูปใหญ่อีก 1 รูป เด็กอีกคนลุกขึ้นตอบ ผิด....ลองมาทบทวนโจทย์กันดีมั้ย รูปสี่เหลี่ยมจตุรัสมีลักษณะอย่างไร? ไม่ถึง 30 วินาทีก็มีเสียงตะโกนแข่งกันตอบความกว้างความยาวเท่ากันครับ

ใช่...แล้วเราลองดูดี ๆว่ามีแค่ 17 รูป แค่ช่องเล็ก ๆ ที่มี 16 และรูปใหญ่รวมเป็น 17 แค่นั้นหรือเปล่า? เวลาผ่านไปสักครู่หนึ่ง ก็มีเสียงทยอยตอบ 20 รุปบ้าง 22 บ้าง 25 บ้าง และ 30 บ้าง และคำเฉลยที่ถูกต้องคือ 30 รูป คนที่ตอบถูกได้ออกมาแสดงวิธีคิดบนกระดานให้เพื่อนได้เห็นพร้อมกับอธิบายว่า ก่อนอื่นต้องจดลงในกระดาษก่อนว่ามีกี่รูปกันลืม คือจากภาพ มีสี่เหลี่ยมช่องเล็ก แนวตั้งแนวนอนเป็นแบบ4 x 4 มีจำนวน 1 รูป ขนาดช่องเล็ก 3x3 มีจำนวน 4 รูป 2x2 มีจำนวน 9 รูป และ 1x 1 มีจำนวน 16 รูป (ไม่เชื่อลองนับดู)

และสรุปข้อคิดที่ได้จากกิจกรรมนี้นั่นคือการรู้จักจำแนกแยกแยะให้เห็นรายละเอียดของสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ว่าจะป็นวัตถุ สิ่งของ เรื่องราว เหตุการณ์และต้องหาความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบเหล่านั้นเพื่อค้นหาความจริงหรือสิ่งที่กำหนดให้ เราเรียกกระบวนการเหล่านี้ว่า การคิดวิเคราะห์ แยกแยะ มีตัวย่อที่ต้องจำขึ้นใจ ใช้อย่างสม่ำเสมอว่า ค.ว.ย. เราต้องเตือนตัวเองอยู่เสมอก่อนที่จะตัดสินใจอะไรไปว่า เราใช้ ค.ว.ย.แล้วหรือยัง? เป็นที่มาของมุมบนขวาในสมุดจดงานของ เด็ก(ที่เขาว่า)เลว ห้องนี้ที่เขียนว่า ค.ว.ย.

ซึ่งขั้นตอนการใช้ ค.ว.ย. มีบันได 5 ขั้นหลักคือ

1.   กำหนดสิ่งที่ต้องการวิเคราะห์ ด้วยกรอบสากล คือ 5W 1H อันประกอบด้วย What Where When Why Who How

2.      กำหนดปัญหา หรือวัตถุประสงค์ที่ต้องการวิเคราะห์ ตีโจทย์ให้แตก

3.      กำหนดหลักเกณฑ์หรือกฎเกณฑ์ที่จะใช้หรือต้องวิเคราะห์ แยกย่อยทำความเข้าใจโจทย์

4.   พิจารณาแยกแยะ ตามทักษะหรือวิธีการของแต่ละบุคคล โดยอาศัยการแยกแยะองค์ประกอบ แยกแยะความสัมพันธ์ หรือแยกแยะหลักการ

5.      สรุปคำตอบ ว่าตอบโจทย์ได้ครบถ้วนถูกต้องหรือไม่

 

บัญญัติ 10 ประการในการสอนคิด***

1.      ใช้คำถามกระตุ้นให้เด็กคิด และสร้างความสนใจใฝ่รู้ กระตือรือร้นที่จะแสวงหาคำตอบอยู่เสมอ

2.   เปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความคิดเห็น ได้ใช้จินตนาการ โดยใช้สถานการณ์จำลอง หรือประเภทคำถาม ถ้า...แล้วอะไรจะเกิดขึ้น?

3.   เปิดโอกาสให้เด็กได้ทำกิจกรรม ทั้งกิจกรรมที่ทำคนเดียวและทำเป็นกลุ่ม การทำกิจกรรมเดี่ยวจะช่วยให้เด็กได้ไตรตรอง ทบทวนกับสิ่งที่ทำอย่างรอบคอบในขณะที่การทำกิจกรรมกลุ่มจะช่วยให้เด็กได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกันทำให้มีความคิดกว้างไกลขึ้น

4.      ให้เด็กได้ฝึกทักษะการคิดอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เริ่มจากทักษะการคิดขั้นพื้นบาน สู่ขั้นกลางและขั้นสูง

5.   ควรกระตุ้นและเสริมแรงเป็นระยะ ๆ เพื่อคงระดับความสนใจใฝ่รู้ของเด็กและผู้สอนควรมีความตั้งใจจริงในการพัฒนาทักษะการคิด

6.   ผู้ใหญ่ควรรับฟังความคิดเห็นของเด็กด้วยความตั้งใจเพื่อเป้ฯการเสริมแรงให้กับเด็กอีกทางหนึ่งและเป็นแบบอย่างของนักฟังที่ดี

7.      ควรใช้วิธีชี้แนะ การกระตุ้นทีเหมาะสมแทนการบอกคำตอบที่ถูกต้องในทันทีทันใด

8.      สร้างสภาพแวดล้อมและบรรยากาศที่เอื้อให้เด็กรู้สึกอบอุ่น มั่นใจ และมีความกระตือรือร้น

9.   จัดแสดงสื่อและอุปกรณ์การคิดหลากหลายประเภทและมีปริมาณเพียงพอ เปิดโอกาสให้เข้าถึงสื่อและอุปกรณ์ได้ง่ายและสะดวก

10. จัดตกแต่งบอร์ดหรือผนังห้องมีคำถามเตือนใจ มีที่แสดงผลงานทางความคิดของเด็ก

 

***อ้างอิงจาก อรพรรณ  พรสีมา.  การคิด.  กรุงเทพมหานคร : สถาบันพัฒนาทักษะการคิด.  2543



ความเห็น (1)

โดน ครับ โดน ค.ว.ย. (คิด วิเคราะห์ แยกแยะ)ขอใช้ด้วยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท