คลังวิตกการเมืองไม่นิ่ง ลงทุนซบเศรษฐกิจชะงัก


คลังวิตกการเมืองไม่นิ่ง ลงทุนซบเศรษฐกิจชะงัก

มอร์แกน สแตนเลย์ ชี้ไทยเข้าสู่จุดเสี่ยง"เศรษฐกิจชะงักงัน"ต่างชาติผวาชุมนุม ยืดเยื้อเทขายหุ้นดัชนีรูด 12 จุด  คลังห่วงสถานการณ์การเมืองไม่นิ่งฉุดการลงทุนชะลอตัวยาว ส่งผลจีดีพีปี 2549 ขยายตัวได้แค่ 4.5%   มอร์แกน สแตนเลย์ กังวลการเมืองบานปลาย จุดเสี่ยงทำให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะชะงักงัน ด้านนักลงทุนต่างชาติผวาชุมนุมไล่ "ทักษิณ" ยืดเยื้อ เริ่มเทขายหุ้นกดดัชนีรูด 12 จุด นักวิเคราะห์จับตาเส้นตายพันธมิตร วันที่ 14 มีนาคม      ชี้หาก "ทักษิณ" ยอมลาออก ดันหุ้นพุ่งแตะ 770 จุด
ดร.นริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ตัวเลขการลงทุนในประเทศชะลอลงนับตั้งแต่ไตรมาสของปีที่แล้ว แม้จะไม่มีปัญหาการเมืองเข้ามากระทบ  โดยไตรมาส 3 ปีที่แล้วตัวเลขการลงทุนขยายตัว 11.6% ต่อปี  จากนั้น ไตรมาส 4 ขยายตัวลดลงเหลือ 9.3% และต่อมาตัวเลขการลงทุนในเดือนมกราคมก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเหล็กเป็นอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนที่ลดลงมากเป็นอันดับหนึ่ง โดยชะลอการลงทุนต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7   "ประเมินว่า ตัวเลขการลงทุนที่ชะลอลงตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 น่าจะมาจากการรอแผนการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจคของรัฐบาล ซึ่งยังไม่ชัดเจนมากนักในช่วงที่ผ่านมา ส่วนสถานการณ์การเมือง ยังไม่น่าจะเป็นปัจจัยให้นักลงทุนชะลอการลงทุนในช่วงดังกล่าว"
ดร.นริศ กล่าวว่า ตัวเลขการลงทุนที่ชะลอ แม้จะไม่มีเหตุการณ์การเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้เป็นห่วงและประเมินว่าสถานการณ์การเมืองที่ยืดเยื้อจะเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนในประเทศ แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่า จะลดลงถึง 50% เมื่อเทียบกับปีที่แล้วหรือไม่ เนื่องจากต้องรอดูความชัดเจนในโครงการลงทุน        เมกะโปรเจคด้วยว่า จะสามารถเดินหน้าได้มากน้อยแค่ไหน   ทั้งนี้ เดิม สศค.ประเมินว่า การลงทุนในประเทศปีนี้
จะขยายตัวประมาณ 6.9% ลดลงจากปีก่อนที่คาดว่าจะขยายตัว 12.1%  โดยคาดว่า การลงทุนภาคเอกชน

จะขยายตัวลดลง โดยเฉพาะในหมวดก่อสร้างที่มีแนวโน้มลดลงตามการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์  "ต้องยอมรับว่า สถานการณ์การเมืองจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในประเทศ เพราะคงไม่มีใครกล้าลงทุนใหม่  นอกจากนี้ การเจรจาการค้าเสรีกับสหรัฐที่ต้องชะลอออกไปก็จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในประเทศด้วย" อย่างไรก็ตาม การชุมนุมที่ไม่มีความรุนแรง อาจทำให้ต่างชาติมองว่า ไทยมีการพัฒนาในแง่ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนได้
ก่อนหน้านี้ สศค. ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่องเฉลี่ยที่ 5% ต่อปี แม้สถานการณ์การเมืองจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น แต่ก็ยอมรับว่า จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการบริโภคและการลงทุนในประเทศในระยะนี้ แต่เนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับที่ดี ทั้งจากเสถียรภาพภายในและภายนอก      ก็เชื่อว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ในระดับดังกล่าว   อย่างไรก็ตาม กรณีสถานการณ์การเมืองยืดเยื้อ ได้ประเมินอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจต่ำสุดไว้ที่ 4.5% ต่อปี   หากสถานการณ์การเมืองจบลงด้วยดี จะส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ถึง 5.5% ต่อปี   "ต้องยอมรับว่า สถานการณ์การเมืองส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนชะลอตัว เพื่อดูความชัดเจน แต่ถ้าการเมืองนิ่ง ทุกอย่างก็จะกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขจีดีพี         ที่เราประเมินนั้น ค่อนข้างอนุรักษนิยม ยกตัวอย่าง เรื่องการลงทุนในเมกะโปรเจค เราก็ไม่ได้นำมาประเมินไว้" ดร.นริศกล่าว
มอร์แกน สแตนเลย์ วาณิชธนกิจดังของสหรัฐ ปรับลดประมาณการตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยในปีนี้ มาอยู่ที่ 4.9% จากเดิม 5.4% เพราะเห็นว่า ภาวะไร้เสถียรภาพทางการเมือง มีแนวโน้ม  ที่จะทำให้การฟื้นตัวด้านการลงทุนชะลอออกไป   วาณิชธนกิจสหรัฐชี้ว่า แม้เศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นมาอย่างเต็มที่ แต่การฟื้นตัวด้านการลงทุนก็เป็นเงื่อนไขที่จำเป็นในการทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจกลับฟื้นขึ้นมา พร้อมคาดว่า อัตราเงินเฟ้อในปี 2549 อาจจะขึ้นสูงถึง 5% ผลจากราคาเชื้อเพลิงในระดับสูง และอัตราการใช้กำลังการผลิต   ในระดับสูง   "หากความไม่มั่นคงทางการเมืองยืดเยื้อออกไป และมีแนวโน้มว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราการใช้ กำลังการผลิตจะชะลอตัวลง ซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อทรงตัวในระดับสูงแล้ว อันจะทำให้ในปี 2549 และปี 2550    ไทยจะมีความเสี่ยงที่จะตกอยู่ในภาวะ stagflation อันเป็นภาวะเศรษฐกิจที่ชะงักงันและมีเงินเฟ้อสูง" มอร์แกน สแตนเลย์ระบุ
ฟิทช์ เรทติ้งส์ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของโลก เปิดเผยในรายงานเมื่อวานนี้ (7 มี.ค.) ว่า ภาวะวุ่นวายทางการเมืองในบางประเทศ เช่น ไทย ฟิลิปปินส์ และไต้หวัน อาจส่งผลกระทบต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ และหากความวุ่นวายทางการเมืองยังคงดำเนินต่อไป เราอาจจำเป็นต้องทบทวนอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ   "ประเทศที่ตกอยู่ในภาวะถดถอยทางการเมือง ก็ต้องเผชิญกับอัตราการขยายตัว     ทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอที่สุดในเอเชียด้วย และอาจจำเป็นต้องมีการปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจ" นายแมคคอร์แมคกล่าว   นอกจากนั้นแล้ว สภาพการเมืองไทยในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะส่งผลให้ต้องมีการนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญ ๆ ของประเทศ โดยเฉพาะนโยบายที่ต้องการให้ภาคเอกชนมีบทบาทมากขึ้นในการสนับสนุนเศรษฐกิจ
ดัชนีหุ้นไทยวานนี้ (7 มี.ค.) ได้รับผลกระทบจากความไม่เชื่อมั่นในสถานการณ์การเมืองอย่างหนัก    ทำให้ดัชนีตอนปิดตลาดลดลง 12.45 จุด หรือ 1.66% มาที่ 738.36 จุด มูลค่าการซื้อขายรวม 12,053 ล้านบาท  นักลงทุนต่างชาติเริ่มขายสุทธิประมาณ 700 ล้านบาท โดยมีแรงขายในหุ้นกลุ่มแบงก์และพลังงาน
นางวิริยา ลาภพรหมรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.เกียรตินาคิน กล่าวว่า ตลาดหุ้นปรับตัวลงแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัจจัยการเมืองที่กดดันหนักขึ้นและต้องติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยจะปรับตัวสูงขึ้นอีกประมาณ 0.25% รวมทั้งมีปัจจัยตลาดหุ้นในแถบภูมิภาคปรับตัวลงแรง  "แนวโน้มตลาดหุ้นคาดว่าดัชนีมีโอกาสอ่อนตัวลงต่อ โดยดัชนีมีกรอบการเคลื่อนไหวแนวรับอยู่ที่ 735 จุดแนวต้านอยู่ที่ 740-745 จุด แนะนำให้รอดูสถานการณ์" นางวิริยากล่าว
ด้านนางสาวสุภากร สุจิรัตนวิมล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ทีเอสทีซี กล่าวว่า ดัชนีปรับตัวลดลง  เป็นผลมาจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นหลัก และนักลงทุนไม่มีความมั่นใจในเศรษฐกิจ รวมถึงข่าวลือเรื่องการรวมตัวของม็อบที่จะเดินทางมาที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย    สำหรับเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ ประเมินว่านักลงทุนต่างชาติจะเริ่มชะลอการลงทุนเนื่องจากมีสัญญาณว่า      ค่าเงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้น และเงินบาทจะอ่อนตัวลง   อย่างไรก็ตาม เชื่อว่านักลงทุนต่างประเทศจะยังไม่ลดการลงทุนในตลาดหุ้นไทยช่วงนี้ แต่เป็นเพียงการชะลอการลงทุนเท่านั้น
นายวิวัฒน์ เตชะพูลผล หัวหน้ากลยุทธ์การลงทุน บล.ทิสโก้ กล่าวว่า ในปีนี้ คาดว่าจีดีพีจะอยู่ที่ 5% จากปีที่ผ่านมาที่จีดีพีอยู่ที่ 4%   ทั้งนี้ หากสถานการณ์ทางการเมืองและการชุมนุมของพันธมิตรยังยืดเยื้ออาจจะมีการปรับลดเป้าจีดีพีในปีนี้ลง   ส่วนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในปีนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 800 จุด โดยมีค่าพี/อี อยู่ที่ 10 เท่า ซึ่งเชื่อว่าตลาดหุ้นไทยยังคงได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติถึงแม้ว่าในระยะนี้ปัญหาทางการเมืองยังคงเป็นตัวแปรสำคัญที่กดดันดัชนีให้เคลื่อนไหวไปไหนได้ไม่ไกล   "การประกาศเคลื่อนไหวใหญ่ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในวันที่ 14 มีนาคม 2549 ไปยังทำเนียบรัฐบาล ยังถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่กระทบต่อจิตวิทยาการลงทุน ดังนั้น นักลงทุนต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด"
นายวิวัฒน์ กล่าวหาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ลาออกจากตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรีคาดว่าดัชนีหุ้นจะปรับเพิ่มขึ้นไปทดสอบแนวต้านที่ 770 จุด แต่ถ้านายกฯ ไม่ยอมลาออกจากตำแหน่งดังกล่าวอาจส่งผลให้ดัชนีปรับลดลงไปทดสอบแนวรับที่ 740 จุดและถ้าหากหลุด แนวรับต่อไปอยู่ที่ 705 จุด
ด้านนายจักรกริช เจริญเมธาชัย ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจหลักทรัพย์ บล.ฟินันซ่า กล่าวว่า หาก พ.ต.ท.ทักษิณ ลาออก   ดัชนีหลักทรัพย์ก็มีโอกาสที่จะปรับตัวสูงขึ้น โดยดัชนีมีแนวต้านที่ 760 จุด แต่ภาวะการลงทุนในช่วงนี้ ยังไม่น่าไว้วางใจ เพราะมีการนัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 14 มีนาคมนี้   รวมทั้งการรวมพลเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ซึ่งเมื่อมีผู้ชุมนุมมากขึ้น อาจจะทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกันได้ง่าย   ดังนั้น ดัชนีมีโอกาสที่จะซึมลงต่อเนื่อง
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึง ความขัดแย้งทางด้านการเมืองในขณะนี้ ว่า ยังไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างแน่นอน  เพราะขณะนี้การส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยยังคงขยายตัวได้ ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนของไทยก็ยังคงขยายตัวได้ในอัตรา 10% จึงยังไม่เห็นสัญญาณของการชะลอตัวของเศรษฐกิจใดในขณะนี้  ส่วนการลงทุนเมกะโปรเจคมีผลต่อเศรษฐกิจในปี 2550 มากกว่า  "เศรษฐกิจแยกจากการเมืองมากพอสมควร การท่องเที่ยวตอนนี้ก็ยังคงเพิ่มขึ้น ตอนนี้ความขัดแย้งแรงที่สุดแล้วก็ยังมีเงินทุนไหลเข้ามาอยู่ เศรษฐกิจยังเดินได้ การส่งออกก็ยังไปได้ ผู้ส่งออกและนักลงทุนต่างประเทศเค้าไม่ได้กลัว จึงไม่กระทบจีดีพี ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมถึงคิดว่ากระทบกันไปหมด ไม่กระทบแล้วบอกกระทบเดี๋ยวก็พัง"
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ยังได้กล่าวถึงการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาทขณะนี้ ธปท. ไม่ได้แทรกแซง และเป็นผลมาจากเงินทุนของ บริษัทเทมาเส็ก สิงคโปร์ ที่ไหลเข้ามาเพื่อทำคำเสนอซื้อ (เทนเดอร์ออฟเฟอร์) หุ้นชินคอร์ป และบริษัทลูก ซึ่งในวันที่ 9 มีนาคมนี้ ซึ่งเป็นวันที่ทำการเทนเดอร์ออฟเฟอร์วันสุดท้ายน่าจะหยุดไหลเข้ามาแล้ว  "แม้ว่าไม่นับรวมเงินที่เข้ามาซื้อหุ้นชิน เงินทุนไหลเข้ามาในตลาดหลักทรัพย์สุทธิก็ยังเป็นบวกอยู่ แต่ว่าก็เข้ามาน้อยลงจากเดือนมกราคม" ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว        ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวเพิ่มเติมถึงการแสดงความเห็นทางการเมืองในขณะนี้ด้วยว่า ยิ่งมีการขัดแย้งในประเทศมากขึ้น หน่วยงานเศรษฐกิจก็ควรจะนิ่ง ไม่แสดงความเห็นเข้าข้างฝ่ายใด เพราะจะกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจไม่เป็นไปตามสิ่งที่เป็นจริงได้
น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รักษาการโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วานนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เชิญนักธุรกิจมาร่วมประชุมประมาณ 20 คน เพื่อหารือการจัดนิทรรศการการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาส     ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยก่อนเข้าวาระประชุม นายกรัฐมนตรีกล่าวกับนักธุรกิจว่า  ไม่ต้องกังวลกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งรัฐบาลจะพยายามรักษากติกาประชาธิปไตยไว้
น.พ.สุรพงษ์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีชี้แจงว่าเป็นคนเคารพกติกาและจะไม่ยอมทำอะไรที่ไม่เคารพกติกา โดยเมื่อนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงเรื่องสถานการณ์การเมืองจบแล้วนักธุรกิจที่เข้าร่วมประชุมไม่ได้แสดงความเห็นหรือเสนอทางออกต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด
นายชาติศิริ โสภณพนิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวถึงสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง   ในขณะนี้ว่า ได้ติดตามสถานการณ์ตลอดเวลา คงต้องรอดูสถานการณ์อีกระยะว่าจะเป็นอย่างไร โดยยืนยันว่าธนาคารยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการปล่อยสินเชื่อ ทุกอย่างยังดำเนินไปตามที่วางแผนไว้
นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สถานการณ์  ที่เกิดขึ้นยังไม่น่ากังวลอะไรมาก โดยเห็นว่าแผนการดำเนินงานต่าง ๆ ที่เอกชนวางไว้ยังคงสามารถดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งในส่วนโตโยต้ายังไม่มีการปรับแผนการลงทุนของปีนี้แต่อย่างไร และเห็นว่าเอกชนส่วนใหญ่ก็คงทำงาน      ไปตามปกติ    ส่วนการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ในส่วนของ ส.อ.ท.ยังไม่มีการเตรียมเนื้อหาอะไรเพราะต้องรอให้นายประพัฒน์ โพธิวรคุณ ประธาน ส.อ.ท. กลับมาจากต่างประเทศก่อน
นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานหอการค้าไทย กล่าวยอมรับว่าหลายฝ่ายมีความเป็นห่วงเกี่ยวกับ   สถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ เพราะถ้าสถานการณ์จบลงโดยเร็ว ทุกอย่างโดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจ          คงไม่กระทบอะไร แต่หากยืดเยื้อ 3 เดือน หรือ 6 เดือน จะกระทบภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศแน่นอน และอาจจะเห็นตัวเลขเศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวต่ำกว่า 4% ได้


กรุงเทพธุรกิจ  8  มีนาคม  2549

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 17970เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2006 10:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2012 14:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท