แนวทางส่งเสริมการดูแลตนเองของผู้ป่วยหลังการบำบัดฟื้นฟู


ฝากไว้ให้คิด
          แนวทางส่งเสริมการดูแลตนเองของผู้ป่วยหลังการบำบัดฟื้นฟู

      จากประสบการณ์ตรงของผู้ที่ผ่านการบำบัดฟื้นฟูทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน
             


               ในปี2548ที่ผ่านมาศูนย์ฟื้นฟูผู้ป่วยนอกขออนุมัติจัดทำโครงการวิจัยในหน่วยงานเรื่องการจัดทำแนวทางการส่งเสริมการดูแลตนเองของผู้ป่วยและครอบครัวหลังการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยนอก  หนึ่งในโปรแกรมการช่วยเหลือ เป็นแนวคิดที่ได้จากการไปสัมภาษณ์และเก็บข้อมูลผู้ที่ผ่านการบำบัดฟื้นฟูทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในของสถาบัน       ธัญญารักษ์ที่สามารถดูแลตนเองได้ไม่กลับไปเสพติดซ้ำ จำนวน20ราย  จัดทำประเด็นในการสัมภาษณ์เพื่อเก็บข้อมูล   และนำมาจัดทำเป็นแนวทางในการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการกลับไปเสพติดซ้ำให้กับผู้ป่วยหลังการบำบัดฟื้นฟู เมื่อดิฉันได้อ่านข้อมูลดิบที่ได้จากความคิดของทุกคนดิฉันตั้งใจในทันทีว่าต้องหาโอกาสถ่ายทอดให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดเพื่อเป็นประโยชน์ต่อไป                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                  

1.       การนำความรู้ ทักษะที่ได้จากการเข้ากลุ่มไปใช้ในชีวิตจริงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
2.       สำหรับผู้ที่เคยใช้ยาเสพติดมาก่อน ต้องฉลาดในการเอาตัวรอดในการดำรงชีวิตที่ปลอดจากยาเสพติด(เพราะสิ่งยั่วยุมีมาก)
3.       มีกิจกรรมที่ชอบเพื่อใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
4.       มีความซื่อสัตย์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น
5.       มีการสื่อสารที่ดีและสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัวหรือผู้ใกล้ชิด
6.       การทำปัจจุบันให้ดีที่สุด เพราะจะมีการส่งผลไปถึงวันข้างหน้า
7.       ไม่ใช้ยาเสพติดชนิดอื่นทดแทน / รวมถึงการดื่มสุรา
8.       การเผชิญปัญหา
9.       การปรับตัวกับเพื่อนกลุ่มใหม่
10.   หากมีเหตุผลเฉพาะในการใช้ยา ต้องคอยระมัดระวัง
11.   ต้องมีงานทำที่แน่นอนหรือมีสถานที่ศึกษาต่อ
12.   ต้องรู้จักแบ่งเวลาในแต่ละวันให้เป็นประโยชน์ในการใช้ชีวิตประจำวัน
13.   ต้องรู้จักคบเพื่อนที่จะไม่ชักชวนกันไปในทางที่ผิด เช่น การเสพยา การดื่มของมึนเมา การเล่นเกมส์เป็นกิจวัตร การเที่ยวเตร่ หรือชักนำไปในทางล่อแหลมหรือสิ่งผิดกฎหมายทั้งปวง
14.   เวลาเกิดความเบื่อหน่ายในแต่ละครั้ง ต้องมีสิ่งรองรับหรือหาทางออก เพื่อคลายความเบื่อนั้น ๆ เช่น  การพักผ่อน, หากิจกรรมที่ชอบหรือถนัดทำ ถ้ามีเวลา  ควรพักผ่อนนอกสถานที่บ้าง เป็นการให้รางวัลชีวิต
15.   ต้องเข้าใจตนเองและคนรอบข้างในการใช้ชีวิต   หลีกเลี่ยงการประชดชีวิต และอดีตที่ผ่านมา กรณีไม่ได้รับการยอมรับหรือความไว้วางใจ (ต้องใช้เวลาพิสูจน์)
16.   เวลามีปัญหาที่หาทางออกไม่ได้ควรหาที่ปรึกษาหรือบุคคลที่ตนเองไว้ใจ เชื่อใจ พูดถึงปัญหานั้น ๆ เพื่อหาข้อคิดในการแก้ปัญหา
17.   หลังจากจบโปรแกรมควรมาคุยกับเจ้าหน้าที่ตามเวลานัด หรือพูดคุยทางโทรศัพท์เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของตนเองในสังคม และพูดคุยถึงปัญหาที่ผ่านมาและสามารถแก้ไขปัญหานั้นได้
18.   ต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบของตนเองในปัจจุบันและในอนาคต เช่น ภาระหน้าที่ต่อ พ่อ แม่ ภรรยา บุตร หรือสังคม
19.   ต้องรู้จักการใช้เงินที่มีอยู่ ไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย รู้จักประหยัด ใช้ในสิ่งที่ควรใช้
20.   รู้จักวางแผนหรือมีเป้าหมายชีวิตให้กับตนเอง
21.   การสร้างระเบียบวินัยให้ตนเองอย่างเคร่งครัดจริงจัง และมีความต่อเนื่อง
22.   ตระหนักรู้ ความรู้สึก เท่าทันตนเองอยู่ตลอดเวลา
23.   ไม่ประมาทว่าตนเองเลิกยาได้แล้ว เพราะจะทำให้กลับไปติดซ้ำได้
24.   มีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ เพื่อสร้างแรงจูงใจ และเกิดกำลังใจในการเลิกยาได้ต่อเนื่อง
25.   การออกกำลังกาย และมีวิธีผ่อนคลายความเครียดของตนเอง
26.   อย่ากลับไปเสพยา เพียงแค่คิดว่าสามารถควบคุมได้หรือหยุดเสพได้ เพราะเคยเลิกได้หรือหยุดได้
27.   เปลี่ยนกิจวัตรที่ทำอยู่ในครั้งที่ใช้ยาเสพติด โดยการจัดตารางเวลาการทำกิจวัตรในแต่ละวันใหม่
28.   มีการวางแผนในเรื่องของการใช้เงิน
29.   อย่าปล่อยให้เกิดเวลาว่างโดยที่ไม่ทำอะไร
30.   ไม่ควรคิดท้อแท้ สิ้นหวังกับอดีต เพราะเราไม่สามารถไปแก้ไขอดีตได้แต่สามารถนำอดีตมาเป็นประสบการณ์ เพื่อเป็นคู่มือในการดำรงชีวิตอย่างไม่ประมาท
31.   การหางานอดิเรกที่เหมาะกับตนเอง โดยที่งานอดิเรกนั้นควรเกี่ยวข้องกับธรรมชาติมากกว่าเทคโนโลยี อาจช่วยให้จิตใจที่สับสนในบางครั้งผ่อนคลายได้
32.   การสวดมนต์ภาวนาหรือทำสมาธิตามแนวทางของแต่ละศาสนาในโอกาสที่อำนวย
33.   ไม่คบหาเพื่อเก่าที่เสพ เริ่มคบหาเพื่อนใหม่
34.   จงคิดว่าเรามีคุณค่าอยู่เสมอ
35.   เลิกคบเพื่อนที่เคยติดยาเสพติด หรือหลีกเลี่ยงไม่ให้ความสนิทสนมมาก
36.   ให้เตือนตนอยู่เสมอว่า “ยาเสพติด มิใช่ทำร้ายตนเองอย่างเดียว แต่คนรอบข้างที่รักเราจะเจ็บไปด้วย”
37.   ทบทวนดูซิว่า  ก่อนใช้ยาเสพติด เกิดอะไรขึ้น?
38.   เราหลุดจากอาณาจักรความสุขอันจอมปลอมของยาเสพติด ความสุขที่แท้เรากำลังทำอยู่ คืออะไรจะได้เกิดความภาคภูมิใจ และพบกับความสุขที่แท้จริงตลอดไป
39.   ใน 1 เดือน แบ่งรายได้ทั้งหมด เป็นรายจ่าย 4 ส่วน
ซื้อของจำเป็น 55 %
ให้รางวัลตนเอง 30 %
ภาษีสังคม 10 %
สะสม 5 %
40.   ไม่สมควร เอาของมึนเมาเป็นที่พึ่งพา
41.   ต้องหลีกเลี่ยงเพื่อนเก่าที่เคยเสพยาเสพติดด้วยกัน
42.   ฝึกการซื่อสัตย์ต่อตนเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการยกระดับจิตใจของตนเองอย่างมีความมั่นคง
43.   ควรมีการฝึกสมาธิ ทำจิตใจให้สงบเพื่อดับความฟุ้งซ่านของอารมณ์ที่ไม่ดีต่าง ๆ จะได้ผ่อนคลาย
44.   สะสมของมีค่าที่ตนเองรัก เพื่อให้จิตใจมีความปิติยินดี
45.   หาเงินเก็บไว้ให้เป็นระบบ จะเป็นการสร้างความสำคัญแก่ชีวิตตนเอง                                                         
46.   เล่นกีฬาที่ตนเองถนัด อย่างสม่ำเสมอ
47.   ต้องให้รางวัลแก่ตนเอง เช่นการไปพักผ่อนตามสถานที่ต่าง ๆ
48.   ควรเรียนวิชาชีพ หรือศิลปะเพื่อเป็นการสอนตนเองให้เกิดทักษะต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี
49.   ต้องรู้จักการแต่งกายให้สง่างาม เป็นการเสริมบุคลิก มีความเชื่อมั่นต่อตนเอง
50.   ควรระลึกอยู่เสมอว่า คนเราย่อมมีศักดิ์ศรี อย่าให้ใครดูถูกศักดิ์ศรีของเรา                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                      
เป็นอย่างไรบ้างคะทุกท่านที่อ่านแล้วรู้สึกอย่างเดียวกับดิฉันหรือไม่(ยังไม่ได้บอกความรู้สึกจะรู้ได้ไง)
ดิฉันรู้สึกชื่นชม ปลื้มใจ ภาคภูมิใจที่เขาเหล่านั้นมีหลักการในการดำเนินชีวิตของตนเอง ที่ถึงแม้จะเป็น
แนวทางที่เรียบง่าย แต่สามารถนำไปใช้ได้จริง และไม่ยุ่งยาก   ซึ่งเป็นหลักการของการพัฒนาคุณภาพที่ว่า   “ คุณภาพควรควบคู่กับความเรียบง่าย ”               
          ขอบคุณทุกท่านที่ได้ถ่ายทอดประสบการณ์อันล้ำค่าให้กับผู้ที่กำลังจะก้าวเดินตามทุกท่านไป และนักบำบัดอย่างดิฉันให้ได้ทราบแนวคิด รอยประสบการณ์ จนได้นำมาถ่ายทอดในวันนี้
วันเพ็ญ ใจปทุม
หัวหน้างานการพยาบาลฟื้นฟูผู้ป่วยนอก
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 17963เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2006 10:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท