inter law
วิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ บทที่ 8 กฎหมายระหว่างประเทศ

กฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสลัดอากาศ


สลัดอากาศจี้เครื่องบิน

กฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสลัดอากาศ  ( Hijack )

                สลัด หมายถึง โจรซึ่งปล้นเรือต่าง ๆ กลางทะเลหลวง เรียกว่า โจรสลัด เรือโจรสลัดสมัยก่อนมักจะชักธงรูปหัวกะโหลกมีกระดูกไขว้อยู่ข้างล่าง.
                คำว่า สลัด ตามความหมายนี้มาจากคำภาษามลายูว่า salat (อ่านว่า ซา-ลัต) ซึ่งแปลว่า ช่องแคบ หรือ ผู้ร้ายที่ดักปล้นตามช่องแคบ ต่อมาคำว่า สลัด ซึ่งใช้เรียกโจรประเภทนี้ได้ขยายความหมายไปเรียกโจรจี้เครื่องบินว่า สลัดอากาศ ด้วย

คำว่า  Hijack  เดิมทีนั้น  หมายถึง  การกระทำการชิงทรัพย์บนยานพาหนะที่กำลังวิ่งอยู่  อาจจะเป็นเรือ  รถยนต์  รถไฟ  หรือเครื่องบิน  แต่ปัจจุบันถือว่าเป็นการจี้เครื่องบิน  ซึ่งเป็นการกระทำด้วยการใช้กำลังบังคับให้เปลี่ยนเส้นทางการบินตามปกติ  ไปสู่ทางการบินตามที่ต้องการของตน  หรือจี้เครื่องบินเพื่อบังคับให้ผู้โดยสารเป็นตัวประกันเพื่อต่อรอง

ขบวนการจี้เครื่องบินที่นับว่ายิ่งใหญ่ที่สุดคือ  ขบวนการกองโจรของอาหรับ  ในปี  ค.ศ.1970  รายแรกเครื่องบินสหรัฐอเมริกาถูกจี้บังคับให้ไปลงที่ไคโร  รายที่สองเครื่องบินอิสราเอลถูกจี้แต่ไม่สำเร็จ  ได้จับกุมสาวอาหรับชือ  ไลลา  คาลิด  อีกคนหนึ่งถูกยิงเสียชีวิต  รายที่สามเครื่องบินของบริษัทสวิสแอร์  ถูกยึดที่เมืองซูริค  ถูกบังคับให้ไปลงที่จอร์แดน  ผู้ร้ายตั้งเงื่อนไขให้ปล่อยไลลา  คาลิค  และให้อิสราเอลปล่อยเชลยศึกอาหรับจำนวน 3 พันคน  จะขอยกข่าวเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสลัดอากาศ  ดังนี้

อัล-จาซีร่าแพร่ภาพย้ำ'ลาเดน'เสี้ยมสลัดอากาศ
บินพลีชีพ11กันยาฯจุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์โลก

อัล-จาซีร่าแพร่ภาพวิดีโอเทป ตอกย้ำสลัดอากาศพลีชีพ 11 กันยาฯได้รับการอบรมสั่งการจาก'บิน ลาเดน' ปฏิบัติการสั่งสอนอเมริกา สร้างจุดเปลี่ยนบนเส้นทางประวัติศาสตร์อารยะธรรมโลกสำนักข่าวต่างประเทศ รายงานจากกรุงโดฮา เมืองหลวงของกาตาร์ ว่าเมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา สำนักข่าวสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม "อัล-จาซีร่า" ได้เผยแพร่ภาพวิดีโอเทป ซึ่งทางสถานีอ้างว่า เป็นภาพที่ได้รับการบันทึกไว้ที่เมืองกันดาฮาร์ เมืองศูนย์กลางทางภาคตะวันออกของอัฟกานิสถาน ก่อนหน้าที่จะเกิดการวินาศกรรม ใช้เครื่องบินโดยสารพาณิชย์ของสหรัฐ พุ่งชนตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ และสำนักงานกระทรวงกลาโหมสหรัฐ เพียงไม่กี่เดือนและผู้ที่อยู่ในภาพนั้น ล้วนเป็นสลัดอากาศพลีชีพของอัลเคด้า องค์การก่อการร้ายต่อต้านการยึดครองดินแดนคาบสมุทรอาหรับของสหรัฐ และอิสราเอล ขณะเดียวกัน ได้มีเสียงพูดของนายโอซามา บิน ลาเดน หัวหน้าองค์การก่อการร้ายอัลเคด้าแทรกอยู่ด้วย โดยระบุว่า "การโจมตีนิวยอร์กและวอชิงตัน" นั้น คือการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ ช่วยชำระล้างกลุ่มชาติอาหรับ ให้ปราศจากกลุ่มผู้ปกครองที่ทรยศหักหลังประชาชนรวมทั้งบรรดาผู้นำในระดับรองลงมา

นอกจากนี้ นายบิน ลาเดน ยังได้ระบุชื่อนายโมฮัมหมัด อัตต้า หัวหน้าทีมก่อการร้ายชาวอียิปต์ ว่าเป็นผู้นำทีมสลัดอากาศที่จี้บังคับเครื่องบินพุ่งชนตึกระฟ้าเวิลด์เทรดฯหลังแรก นายไซอัด อัล จาร์ราห์ นักก่อการร้ายจากเลบานอน นายมาร์วัน อัล-เชห์ฮี จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ร่วมกันจี้บังคับเครื่องบินพุ่งอาคารระฟ้าของเวิลด์เทรดฯอีกหลัง พร้อมกันนี้ อัล-จาซีร่า ได้เผยแพร่ภาพถ่ายสลัดอากาศพลีชีพคนอื่นๆ ที่เหลือและเป็นกลุ่มคนเดียวกันกับที่เอฟบีไอได้ระบุหลังเกิดเหตุวันสยองโลก 11 กันยาฯแล้ว  วิดีโอเทปบันทึกภาพกลุ่มสลัดอากาศอากาศพลีชีพม้วนล่าสุด เผยให้เห็นกลุ่มชายสี่คนระบุชื่อนายวาอิล อัลเชรี นายแฮมซ่า อัลกัมดี นายซาอิด อัลกัมดี และนายอาเหม็ด อัลนามี โดยมีเสียงของนายอับดุล อาซิซ อัล-โอมาริ สลัดอากาศพลีชีพชาวซาอุฯกล่าวปิดท้าย ขอบคุณนายบิน ลาเดน ที่ได้ให้การฝึกฝนอบรมกลุ่มสลัดอากาศพลีชีพ สำหรับการโจมตีเพื่อจะได้สื่อให้เหล่าผู้นอกศาสนาอิสลามและสหรัฐอเมริกา ได้รับรู้ว่า จะต้องออกไปให้พ้นจากดินแดนคาบสมุทรอาหรับ ละเลิกการสนับสนุนกลุ่มชาวยิวในดินแดนปาเลสไตน์และขอพระเจ้าโปรดประทานรางวัลแก่นายบิน ลาเดน ปกป้องคุ้มครองนายบิน ลาเดน  อัล-จาซีร่ารายงานว่า วิดีโอเทปม้วนนี้ นับเป็นหลักฐานชิ้นแรกที่ยืนยันถึงการบงการของนายบิน ลาเดน ในการโจมตีสหรัฐอเมริกา และจะนำออกเผยแพร่ในวันที่ 12 กันยายนนี้ด้วย ในขณะที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐได้พบและเผยแพร่วิดีโอเทปที่เผยถึงการบงการของนายบิน ลาเดน ตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคมปีที่แล้ว

จากปัญหาที่เกิดขึ้น  ทำให้พนักงานบริษัทการบินเกือบทั่วโลกได้นัดหยุดงาน  และยื่นประท้วงต่อองค์การสหประชาชาติ  การกระทำดังกล่าวผิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ  การจี้เครื่องบินครั้งสำคัญที่สุดซึ่งโลกต้องจารึกเอาไว้ก็คือ  การจี้เครื่องบินโดยขบวนการก่อการร้าย  พุ่งเข้าชนตึกเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์  และเพ็นตากอน  ในสหรัฐอเมริกา  เมื่อวันที่ 11  กันยายน  2544

ความร่วมมือในการปราบปรามการยึดเครื่องบินหรือการกระทำที่เป็นภัยต่อการบินพลเรือน

                โดยที่การจี้เครื่องบินเกิดขึ้นบ่อย ๆ หรือมีการทำลายสิ่งอำนวยนความสะดวกสำหรับการบิน  ซึ่งประทบต่อความปลอดภัยของการบินมาก  จึงเกิดความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้

ความตกลงเกี่ยวกับการปราบปราม

                องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศได้จัดประชุมระหว่างประเทศเพื่อสร้างความร่วมมือในการปราบปรามการกระทำที่ผิดกฎหมายต่อการเดินอากาศ  โดยมีสนธิสัญญาหลายฝ่ายที่สำคัญหลายฉบับ  ด้วยกัน  ได้แก่

1.       อนุสัญญากรุงโตเกียวว่าด้วยความผิดและการกระทำอื่น ๆ บางประการที่กระทำบนอากาศ

อนุสัญญากรุงโตเกียว  ค.ศ.1963  ได้กำหนดให้ประเทศภาคีร่วมมือในการปราบปรามความผิดทางอาญาทุกประเภทที่กระทำโดยบุคคลที่อยู่บนเครื่องบินในขณะที่เครื่องบินกำลังบิน  โดยให้ประเทศที่เครื่องบินจดทะเบียนมีอำนาจลงโทษ  ส่วนประเทศอื่นที่มีอำนาจลงโทษในกรณีที่

-          ความผิดที่มีผลกระทบต่อดินแดนของตน

-          ความผิดกระทำโดยหรือกระทำต่อคนชาติของตน  หรือบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่ประจำในประเทศของตน

-          ความผิดที่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศตน

-          ความผิดต่อกฎข้อบังคับเกี่ยวกับการบินของประเทศตน

อนุสัญญากรุงโตเกียวให้ถือว่าเครื่องบินกำลังบินให้นับตั้งแต่ขณะที่เครื่องบินใช้พลังเพื่อที่จะบินขึ้นจนถึงขณะที่การวิ่งจากการลงสู่พื้นหยุดลง

2.       อนุสัญญากรุงเฮก  เพื่อปราบปรามการยึดอากาศยานโดยฝ่ายมิชอบกฎหมาย

หลังจากที่ได้ทำอนุสัญญากรุงโตเกียวก็พบว่า  ปัญหาจากการจี้เครื่องบินซับซ้อนกว่าที่อนุสัญญากรุงโตเกียวจะแก้ไข  จึงมีการประชุมที่กรุงเฮกเพื่อทำสนธิสัญญาฉบับใหม่  อนุสัญญากรุงเฮก  ค.ศ.1970  โดยกำหนดลักษณะความผิดไว้ดังนี้  การที่บุคคลหนึ่งบนเครื่องบินที่กำลังจะบินซึ่งมีจุดเริ่มต้นบิน  หรือจุดสิ้นสุดการบินอยู่นอกดินแดนของประเทศที่เครื่องบินจดทะเบียน  ได้กระทำการยึดหรือควบคุมเครื่องบินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย  ด้วยการใช้กำลังบังคับหรือคุกคาม  หรือด้วยการขู่เข็ญ  หรือพยายามกระทำการเช่นว่านั้น

        เครื่องบินที่กำลังบินนั้น  อนุสัญญากรุงเฮกให้นับตั้งแต่ประตูด้านนอกของเครื่องบินทุกบานเปิด  ภายหลังจากที่ผู้โดยสารขึ้น  จนถึงประตูเหล่านั้น  เปิดออกเพื่อให้ผู้โดยสารลง  ในกรณีที่ถูกบังคับให้ลงสู่พื้นดิน  ให้ถือว่าเครื่องบินยังคงทำการบินต่อไป  จนกว่าเจ้าหน้าที่ได้เข้ารับผิดชอบเครื่องบิน  บุคคล  และทรัพย์สินในเครื่องบิน  จะเห็นได้ว่าช่วงระยะเวลาที่เครื่องบินกำลังบินตามอนุสัญญากรุงเฮกยาวกว่าอนุสัญญากรุงโตเกียว

        ประเทศที่มีอำนาจลงโทษก็กำหนดไว้ดังนี้

-          ประเทศที่มีเครื่องบินจดทะเบียน

-          ประเทศที่เครื่องบินที่ถูกจี้ลงจอดพร้อมกับผู้จี้เครื่องบิน

-          ประเทศที่ผู้จี้เครื่องบินปรากฏตัว

              อนุสัญญากรุงเฮกได้เพิ่มประเทศที่มีอำนาจ ลงโทษกว้างขวางกว่าอนุสัญญากรุงโตเกียว  โดยให้ประเทศภาคีทุกประเทศมีอำนาจลงโทษผู้จี้เครื่องบิน  ที่ปรากฏตัวในดินแดนของตน  ซึ่งคล้ายกับการลงโทษโจรสลัดในทะเลหลวง  ที่กฎหมายระหว่างประเทศให้ทุกประเทศลงโทษได้

        3.  อนุสัญญามองเรอัล  เพื่อการปราบปรามการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมายต่อความปลอดภัยของการบินพลเรือน

                หลังจากที่ได้ทำอนุสัญญากรุงเฮกได้ไม่นานก็พบ่า  อนุสัญญากรุงเฮกยังไม่เพียงพอที่จะปราบปรามการจี้เครื่องบินอีก  จึงมีการประชุมที่นครมองเรอัล  ประเทศแคนาดา  และทำอนุสัญญามองเรอัล  ค.ศ.1971

                อนุสัญญามองเรอัลได้ขยายเพิ่มความผิดเกี่ยวกับการจี้เครื่องบิน โดยให้คลุมถึงความผิดดังต่อไปนี้

-          ประทุษร้ายบุคคลในเครื่องบินที่กำลังจะบิน  ถ้าการกระทำอาจเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของเครื่องบิน

-          ทำลายหรือก่อความเสียหายแก่เครื่องบินที่อยู่ในขณะบริการ

-          วางเครื่องมือหรือวัตถุระเบิดในเครื่องบินที่อยู่ในขณะบริการ  ซึ่งอาจทำลายหรือก่อความเสียหายแก่เครื่องบิน

-          ทำลายหรือก่อความเสียหายแก่เครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศ  เช่น  เครื่องมือสื่อสาร  เครื่องหมายสำหรับการเดินอากาศ  หรือเข้าแทรกแซงกับการปฏิบัติการของเครื่องอำนวยความสะดวกที่อาจเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของเครื่องบินที่กำลังบิน

-          แจ้งข่าวเท็จซึ่งเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของเครื่องบินที่กำลังจะบิน

อนุสัญญากรุงมองเรอัลมีข้อแตกต่งกับอนุสัญญากรุงโตเกียวและกรุงเฮก  คือ  ผู้กระทำความผิดตามอนุสัญญากรุงมองเรอัลไม่จำเป็นต้องเป็นบุคคลที่อยู่ในเครื่องบินลำที่ถูกจี้  ผู้จี้เครื่องบินอยู่บนพื้นดินก็ได้  ส่วนอนุสัญญาอีก 2 ฉบับ  ผู้กระทำผิดอยู่ในเครื่องบินที่ถูกจี้

นอกจากนี้อนุสัญญากรุงมองเรอัล ยังได้รวมความผิดที่มิได้กระทำต่อเครื่องบินโดยตรง  แต่กระทำต่อเครื่องมือสื่อสาร  ซึ่งเป็นสาเหตุแห่งความไม่ปลอดภัยของเครื่องบิน  อีกทั้งยังได้รวมความผิดการแจ้งข่าวเท็จซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อเครื่องบินด้วย

สำหรับการลงโทษนั้น  อนุสัญญากรุงมองเรอัลได้ให้ประเทศที่มีอำนาจลงโทษในทำนองเดียวกันกับอนุสัญญากรุงเฮก  เพียงแต่เพิ่มการลงโทษความผิดที่มิได้เกิดขึ้นบนเครื่องบินให้ประเทศที่มีความผิดนั้นเกิดขึ้นทำการลงโทษ

 

หมายเลขบันทึก: 178944เขียนเมื่อ 27 เมษายน 2008 00:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 15:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านบทความแล้วต้องการความรู้เพิ่มเติมอีก

มีคำอธิบายโดยละเอียดของทั้ง 3 อนุสัญญาไหม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท