การบริหารแบบมีส่วนร่วม


ไม่เฉพาะบุคลากรทุกระดับของมหาวิทยาลัยเท่านั้นที่มีส่วนร่วม บุคลากรภายนอกที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ ก็มีส่วนสร้าง "ระบบบริหารงานวิจัยของมหาวิทยาลัยนเรศวร" เช่นกัน

ครบรอบสถาปนามหาวิทยาลัยนเรศวรปีที่ 15  เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2548 นี้ นับเป็นปีช่วยจำสำหรับดิฉันได้เป็นอย่างดี  เพราะมีเหตุการณ์ที่ควรค่าแห่งการจดจำบังเกิดขึ้นตลอดทั้งวัน ฝนตกแทบทุกวันก่อนหน้าวันดังกล่าว แต่ไม่ตกเลยในวันนี้ มีพิธีสักการะพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรในเช้าตรู่ของวันเพื่อเป็นสิริมงคล  ดิฉันมีบุญได้นั่งรถตู้คันหรูไปรับ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช (สคส.)จากสนามบินพิษณุโลกมายังที่ประชุม "นเรศวรวิจัย ครั้งที่ 1" เพื่อพาท่านมาร่วมวิพากษ์การบริหารงานวิจัยในมหาวิทยาลัยนเรศวรในการก้าวสู่มหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิระดับประเทศ อีก 3 ท่าน คือ ศ.ดร.อานนท์ บุญรัตเวช (วช.) รศ.ดร.พีรเดช  ทองอำไพ (สกว.) และ ดร.ประสิทธิ์  ทองไสว(สกอ.)

การได้อยู่ใกล้ชิดปราชญ์ แม้เพียงวินาทีเดียวก็เกิดประโยชน์มากมายมหาศาล  ดิฉันได้รับโอกาสนั้นทั้งระยะใกล้และไกล ไม่ทราบจะดูดซับความรู้อย่างไรไหว เหมือนท่านผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลายกำลังเทขุมทรัพย์ความรู้ออกมาให้พวกเราได้ตักตวงกันอย่างท่วมท้น

ดิฉันจับเอาเคล็ดลับในความสำเร็จของการสร้าง "บรรยากาศของการมีส่วนร่วม" กันอย่างเต็มที่ ในช่วงเช้าของการสัมมนาในวันนี้ได้ว่า  เป็นเพราะการเตรียมการมาอย่างดีของคณะวิจัย นำโดย ท่านรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยฯ ผศ.ดร.วิบูลย์ วัฒนาธร  ที่ได้ร่วมกันสร้างโมเดลระบบบริหารงานวิจัยของมหาวิทยาลัยนเรศวรออกมาก่อนอย่างเป็นระบบ และก่อนที่จะให่ท่านผู้ทรงคุณวุฒิวิพากษ์  ได้มีการนำเสนอให้เห็นแนวคิด และแนวทางดำเนินการแก่ท่านผู้ทรงคุณวุฒิได้รับฟัง นับเป็นรูปแบบใหม่ของการสัมมนาที่ฉีกไปจากแนวเดิมๆ อย่างสิ้นเชิง และนี่เองที่เป็นเหตุให้ท่านผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่าน เกิดความเมตตาอยากสอนอยากแนะให้ดีขึ้น เพราะได้ทำให้ท่านประจักษ์แล้วว่า เป็นเด็กขยัน ตั้งใจศึกษา ค้นคว้า และทำการบ้านมาอย่างดี

เคล็ดลับสุดยอดที่สำคัญอีกประการหนึ่งของการสร้าง "ความรู้สึกมีส่วนร่วม" ในการสร้างสรรค์งานใหม่ก็คือ ตลอดตั้งแต่ต้นกระบวนการสร้างแนวคิด แนวปฏิบัติ ในการจัดทำโมเดล  "กระบวนทัศน์ใหม่ในการบริหารงานวิจัยในมหาวิทยาลัยนเรศวร" ไล่เรื่อยมาจนกระทั่ง การจัดให้มีการวิพากษ์ จากผู้ทรงคุณวุฒิของหน่วยงานระดับสูงที่เกี่ยวข้อง มีการดำเนินการให้เกิดความร่วมมือ ร่วมใจ กันโดยตลอด เช่นการไปดูงานร่วมกัน  การจัดเสวนาสมาชิกเครือข่ายการจัดการความรู้ด้านวิจัย 5 สถาบัน  การนำเสนอผลการดูงานแก่กลุ่มผู้บริหารงานวิจัยทุกคณะ/หน่วยงาน  การเชิญผู้บริหารสถาบันทั้งอดีตและปัจจุบันมาให้วิสัยทัศน์ต่างๆ เป็นลำดับ ดังนั้น ไม่เฉพาะบุคลากรทุกระดับของมหาวิทยาลัยเท่านั้นที่มีส่วนร่วม บุคลากรภายนอกที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ ก็มีส่วนสร้าง "ระบบบริหารงานวิจัยของมหาวิทยาลัยนเรศวร" เช่นกัน

นอกจากนี้  รูปแบบของการจัดประชุมวิชาการ นเรศวรวิจัยในครั้งนี้ นับว่าเป็นรูปแบบที่แหวกแนว ไปจากการจัดประชุมวิชาการแบบเดิมๆ อีกด้วย โดยมีรูปแบบเสมือน "ตลาดนัดวิชาการ" ที่มีความรู้ให้บุคลากรทุกระดับ ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ได้มา Shopping  กันอย่างสนุกสนาน ไม่ว่า จะเป็น นักเรียน นิสิต ศิษย์เก่า บุคลากรสายสนับสนุน ครู อาจารย์ จากมหาวิทยาลัยเครือข่ายภาคเหนือตอนล่าง  คณาจารย์ในมหาวิทยาลัย ตลอดจนผู้บริหารมหาวิทยาลัย  เพราะเป็นการ รวมการนำเสนอผลงานวิจัยของบุคลากรทุกประเภท ทุกระดับ และทุกกลุ่มสาขา เช่น  งานวิจัยระบบบริหาร(งานวิจัย)  งานวิจัยดีเด่น งานวิจัยบูรณาการ งานวิจัยระดับนานาชาติ วิทยานิพนธ์ของอาจารย์ที่สำเร็จการศึกษาปริญญาเอกในรอบปีที่ผ่านมา ผลงานด้านนวัตกรรมของนิสิต ผลงานวิจัยจาก Mobile Unit  ผลงานวิจัยด้านพัฒนาองค์กร (QA, KM, กพร., วิจัยสถาบันและการตรวจสอบภายใน) ผลงานวิจัยของอาจารย์  ผลงานวิจัยของคลินิกเทคโนโลยี โปสเตอร์ผลงานทางวิชาการ ตลอดจนการประชุมวิชาการ การสัมมนาและนิทรรศการทางวิชาการ อีกหลายแขนง

เกรงเสียแล้วซิค่ะว่า  ปีหน้าสถานที่ ที่จะจัดเป็นตลาดนัด จะคับแคบไป เพราะบรรยากาศคราวนี้คงสร้างความกระตือรือร้น ให้พ่อค้า แม่ขาย ที่ยังไม่แน่ใจอีกหลายๆ ท่าน ให้มีความมั่นใจมากขึ้น ที่จะนำสินค้ามาขายบ้างในปีหน้า ก็ขอให้ทุกท่านเตรียมผลิตสินค้าคุณภาพดี เพื่อจะได้ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าทุกท่านนะค่ะ 

    

หมายเลขบันทึก: 1788เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2005 17:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 เมษายน 2012 20:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
สมลักษณ์ วงศ์สมาโนดน์

เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง งาน "นเรศวรวิจัย ครั้งที่ 1" สำเร็จลุล่วงด้วยดี ขอปรบมือให้กับทีมงานของ ดร. วิบูลย์ วัฒนาธร ทุกคน (รวมทั้งผู้ทีปิดทองหลังพระด้วยนะครับ)

ปล. เมื่อไรดร.วิบูลย์ จะมี weblog กับเขาบ้างหนาหรือว่ามีแล้วแต่ผมไม่ทราบ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท