คนรุ่นเก่า "เล่าสะท้อน" คนรุ่นใหม่


ของเก่า...คนเก่า ก็เห็นว่าดี ของใหม่...คนใหม่ก็ว่าดี ทำอย่างไรจะให้สังคมเป็นแบบ "ใหม่ก็เอา..เก่าก็ไม่ทิ้ง"

การทำความเข้าใจกับวัยรุ่นและปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอันสมควรอย่างยิ่งที่จะมองปรากฏการณ์อย่างรอบด้าน นอกจากการอาศัยมุมมองผ่านตัวตนของวัยรุ่นแล้ว ยังควรที่จะอาศัยข้อมูลจากผู้ที่อยู่ภายใต้มิติเวลาที่ยาวนานกว่าในฐานะผู้อาบน้ำร้อนมาก่อน ถึงแม้ว่าน้ำร้อนสมัยก่อนจะไม่กดปุ๊บร้อนปั๊บเหมือนสมัยนี้ก็ตาม ซึ่ง พี่โตเป็นอีกท่านหนึ่งที่เป็นกัลยาณมิตรในการทำงานด้านเยาวชนเล่าให้ฟังในมิติของเวลาว่าเด็กสมัยนี้มันไปเรียนหนังสือส่วนใหญ่ไม่ค่อยเรียนในหมู่บ้าน เดี๋ยวนี้การคมนาคมสะดวกเด็กมันก็แห่กันเข้าไปเรียนในเมือง จริงๆ แล้วสมัยก่อนบ้านเราในชนบทจะมีวัดเป็นศูนย์รวม มีบ้านคนก็ต้องมีวัด โรงเรียนสมัยก่อนยังไม่มี คนที่จะบวชก็ต้องมาเป็นขะโยม (เด็กวัด) ก่อน ต้องรู้จักปฏิบัติกิจต่างๆ ก่อนทั้งหิ้วบาตร ล้างจานกวาดลานวัด ตอนเย็นหัวค่ำไม่มีไฟฟ้าใช้ก็จะจุดเทียนฝึกสวดมนต์กันพออายุครบบวชก็บวชเณรแล้วก็สวดมนต์ได้เลยเพราะฝึกมาก่อน แต่เด็กสมัยนี้ไม่ค่อยเป็นเด็กวัด บางคนก็เริ่มจากการบวชฤดูร้อน ต้องมาเริ่มฝึกสวดมนต์นุ่งผ้ากันใหม่บางคนก็ทนบางคนนุ่งผ้าเหลืองยังไม่เป็นก็สึกออกก่อนก็มี ทางเหนือคนที่บวชเณรพอสึกเมื่อก่อนเขาจะเรียกเป็นคำนำหน้าว่าน้อย เช่น น้อยคำ น้อยแก้ว คนที่บวชพระแล้วสึก เขาจะเรียกว่าหนานคำ หนานแก้ว  เขาถือว่าเป็นคนสุกแล้ว จะได้รับการนับหน้าถือตา เป็นที่เคารพนับถือชาวบ้าน พูดอะไรใครก็ฟัง

นอกจากการ ห่างวัด แล้วคนที่ได้บวช ได้เรียนในพุทธศาสนา ในปัจจุบันน้อยรายที่จะได้บวชเรียนจากความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาจริง แต่ส่วนหนึ่งเกิดจากการแสวงหาโอกาสในการเรียนให้แก่ตนเองของคนที่ด้อยโอกาสกว่าในสังคม พี่โตแสดงความคิดเห็นต่อว่า  พอมีโรงเรียนสมัยก่อนโรงเรียนก็จะอยู่ในวัดเพราะเมื่อก่อนแต่ละวัดจะมีเนื้อที่กว้างขวาง ที่ให้โรงเรียนอยู่ในวัดก็เพราะว่า เดิมทีวัดจะมีศาลา อาคารอยู่แล้วไม่ต้องทำเพิ่มเติม เพราะเมื่อก่อนการจะสร้างศาลาอาคารเองไม่มีงบประมาณ เหมือนสมัยนี้ โต๊ะ เก้าอี้ ชาวบ้านก็จะช่วยกันหาไม้มาตอก ต่อให้พอนั่งได้ ไม้เมื่อก่อนมันมีเยอะไม่ต้องซื้อต้องหา ช่วยกันคนละไม้คนละมือเรียนกันไปตามมีตามเกิด ครูก็มีคน สอง คนแต่ครูสมัยก่อนจะดุมากนักเรียนจะกลัวครูพ่อแม่นักเรียนก็จะกลัวครูด้วย เพราะเมื่อก่อนจะมีการตกชั้นแล้วตกชั้นอีกบางคนก็เป็นหนุ่มเป็นสาวเมื่อจบจากโรงเรียน จบ ป. 4 ก็แต่งงานกันมีลูกก็เอาลูกเข้ามาเรียนที่โรงเรียนอีก สมัยก่อนเลิกโรงเรียนแล้วก็ไปเลี้ยงควาย เอาควายเข้าแหล่ง (เข้าคอก) ถึงหน้านาบางทีก็ไม่ได้ไปโรงเรียนเพราะต้องไปช่วยพ่อแม่ไถนาแต่เช้า แต่เด็กสมัยนี้มันไม่เหมือนเมื่อก่อนให้ไปโรงเรียนก็ไม่อยากไป ไปอยู่กันตามร้านเกม บางทีแต่งตัวออกบ้านแต่ก็ไม่ถึงโรงเรียน พ่อแม่ว่าอะไรก็ไม่ฟัง บางคนก็ด่าพ่อด่าแม่ สมัยก่อนเขาสอนกันว่าถ้าใครด่าพ่อตีแม่ ตายไปจะเป็นผีเปรตปากจะเท่ารูเข็ม มือเท่าใบลาน แต่สมัยนี้เด็กมันไม่กลัวแล้ว เพราะมันไปกินนมวัวนมควาย เลยดื้อเหมือนวัวเหมือนควาย สะท้อนให้เห็นภาพของการอยู่ร่วมกันอย่างไม่แปลกแยกของ บ้าน วัด และโรงเรียนตามแบบวิถีชาวบ้านก่อนที่เราจะแยกโรงเรียนออกจากวัดและชุมชน ละเลยเรื่องการมีส่วนร่วมของชุมชนและสร้างวาทะกรรมการศึกษาที่ว่า รัฐคือผู้จัดการศึกษา

ในด้านวัตนธรรมชุมชนนั้นปราชญ์ท้องถิ่นภาคเหนือคนหนึ่งได้อธิบายว่า เมื่อก่อนเขาจะมีข้อห้ามเรื่องอาหารการกินหลายอย่าง เช่น คนโบราณบอกว่าเป็นเด็ก ห้ามกินไข้ด้านหรือไข่ฮ่วน (ไข่ค้างรังที่ไม่ฟักเป็นตัว) เพราะจะทำให้เด็กดื้อด้าน ซึ่งจริงๆ แล้วมันเป็นภูมิปัญญาของคนสมัยเก่าอยู่พอสมควรเพราะเขาจะไม่สอนหรือบอกตามตรงทั้งนี้อาจจะเพราะว่าเด็กภูมิต้านทานยังน้อย การรับประทานไข่ค้างรังที่ไม่ฟักเป็นตัวเพราะว่าเป็นไข่ที่ไม่สมบูรณ์หรืออาจจะมีเชื้อโรคอยู่ที่อาจจะเป็นอันตรายได้ เขาจึงไม่ให้ทานเพราะเด็กมีภูมิคุ้มกันน้อยอาจจะเป็นอันตรายได้ การสอนของคนสมัยก่อนจึงมีนัยยะแฝงเร้นไว้ในข้อห้ามต่าง ๆ  ซึ่งต้องอาศัยการคิดต่อแทบทั้งสิ้นว่ามีเหตุผลแฝงเร้นไว้อย่างไร

 นอกจากนี้เองสมัยก่อนก็ยังมีเรื่องของ ความขึด หรือสิ่งที่ไม่เป็นมงคล สิ่งที่ไม่ดีไม่งาม เช่น ถมน้ำบ่อ ปิดทางเดิน ก็จะเป็นขึด สร้างบ้านเรือนทับตอต้นไม่ใหญ่ก็จะตกขึด แม่มาน (คนท้อง)ก็ห้ามไปงานศพ ห้ามตากผ้าพาดบ่อน้ำ ห้ามล้างถ้วยล้างชามกลางคืน แต่เมื่อเรามานั่งพิจารณาดี ๆ สิ่งที่คนโบราณเรียกว่าขึดเหล่านี้จะมีความหมายในตัวของมันเอง เช่นการห้ามปิดทางเดิน ห้ามถมบ่อน้ำ เพราะคนสมัยก่อนถือว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นของส่วนรวมที่ต้องใช้และรักษาร่วมกัน น้ำบ่อบ้านไหนกินอร่อยหรือไม่แห้งในหน้าแล้ง ชาวบ้านก็ไปตักกินได้ เขาห้ามสร้างบ้านทับตอต้นไม้ก็แฝงถึงคติความเชื่อหากสร้างบ้านทับตอไม้ เมื่อตอไม้นั้นผุพังไปก็อาจจะเกิดอันตรายแก่เจ้าของบ้านได้ หรืออาจจะเป็นเรื่องของความเชื่อเรื่องผีคือ ในต้นไม้ใหญ่จะมีเทวดาอารักษ์อยู่ การสร้างบ้านคร่อมทับสิ่งศักดิ์สิทธิจึงเป็นการไม่สมควร หรือแม้แต่เรื่องของการห้ามตากผ้าบาดบ่อน้ำก็อาจจะเนื่องจากว่าสมัยก่อนมีโรคห่าระบาด การตากผ้าพาดบ่อน้ำซึ่งเป็นสิ่งที่คนใช้ร่วมกันอาจจะเป็นการแพร่เชื้อโรคไปสู่คนอื่นได้ รวมถึงเรื่องการห้ามให้คนท้องไปงานศพก็อาจจะเป็นเพราะงานศพเป็นงานที่มีความโศกเศร้า คนท้องเป็นคนที่ต้องดูแลสุขภาพตัวเองแลลูกในท้องจึงไม่ควรเจอภาพหรือเหตุการณ์ที่มีความเศร้าหมอง เราจะเห็นว่าคนโบราณเขามองเรื่องคนเป็นเรื่องของวิถีชีวิต มองทุกอย่างเกี่ยวข้องกันไม่แยก มันเป็นการถ่ายทอดความรู้จากรุ่นสู่รุ่น ทุกคนอยู่กันอย่างพึ่งพาอาศัย การใกล้ชิดกันของผู้หญิงผู้ชายก็ต้องมีการเสียผี  พี่โต แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า เดี๋ยวนี้ไม่เป็นแบบนั้นแล้วเพราะเด็กเรียนแต่ความรู้สมัยใหม่ ปวดหัวก็กินยา เป็นไข้ก็กินยา ปวดท้องก็กินยาสมัยใหม่ที่แพงก็แพง กินแล้วก็ไม่ค่อยหายอีก โรคภัยไข้เจ็บก็เยอะขึ้น เมื่อก่อนโรคเอดส์นี่ไม่มีแต่สมัยนี้มันเป็นโรคฮิตตายกันเยอะ ข่าวโรคเอดส์ลามเข้าถึงในวัดก็เคยมี ถ้าเป็นไปได้อยากให้สังคมเป็นแบบเมื่อก่อนมากกว่าถึงแม้ว่ามันไม่เจริญเหมือนเดี๋ยวนี้ เมื่อก่อนมันทุกข์กาย ไปไหนมาไหนลำบาก แต่มันสบายใจกว่าสังคมสมัยนี้เยอะ  การมองย้อนไปภายใต้มิติเวลาที่กว้างขึ้นทำให้เห็นถึงภูมิปัญญาและทุนทางสังคมที่เกาะเกี่ยวคนในสังคมในอดีตให้อยู่กันอย่างพึ่งพาและพึ่งพิงกันในรูปแบบของคนกับคน คนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ และคนกับธรรมชาติ ที่เห็นความสำคัญของระบบ คุณค่า มากกว่าระบบ มูลค่า อันเป็นปัจจัยหนึ่งในการควบคุมสังคมโดยวิถีชุมชนที่ถูกทำลายไปจากหลายเหตุปัจจัยโดยเฉพาะเศรษฐกิจและการพัฒนาให้ทันสมัยผ่านระบบการศึกษาที่มุ่งสร้างความฉลาดแต่ขาดปัญญา

หมายเลขบันทึก: 178119เขียนเมื่อ 22 เมษายน 2008 13:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ยาวมาก

น่าจะเน้นตัวหนา ด้วย จะได้ไม่ปวดตาครับ

ขอบคุณสำหรับคำแนะนำครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท