เด็กแก๊ง กับ นัก(ขาย)ข่าว


ถ้า "สื่อ"มีเจตนารมณ์สะท้อนความเป็นไปของสังคม ควรจะมีการสะท้อนความเป็นไปของ "สื่อ" ด้วยเช่นเดียวกัน

แก๊งซามูไรโหด ฟันโจ๋แขนกระจุยกลางสี่แยก แก๊งเด็กเลวอาละวาด ยิงถล่มคู่อริคาโรงพยาบาล หมอ-นางพยาบาลคนไข้กระเจิง 6 ขาโจ๋ ม.ต้นรุมโทรม คอซอง 13 ปี ม.3 ยิง ม.2 แย่งสาว ป.1 ถูกลูกหลง หลังงานไหว้ครู

 เหล่านี้เป็นตัวอย่างพาดหัวข่าวในสังคมที่หาดูได้ไม่ยากตามหนังสือพิมพ์ทั้งระดับภูมิภาคและท้องถิ่นอันเกี่ยวเนื่องกับวัยรุ่น กลุ่ม แก๊ง ซึ่งที่เขาว่าความรุนแรงมักมีสาเหตุหลักจากครอบครัว และสิ่งแวดล้อมแต่อีกส่วนหนึ่งมันเกิดจากการผลิตซ้ำของสื่อเอง ที่ต้องการขายข่าว หรืออีกด้านหนึ่งก็เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความรุนแรง จากการเห็นตัวอย่าง เช่นในละคร(น้ำเน่า)หลังข่าว ซึ่งในบางเรื่อง มีตัวอย่างที่เกี่ยวกับความรุนแรงอย่างน้อยก็ตอนหรือ สองตอนที่แฝงเร้นเพื่อเป็นจุดดึงดูดโดยใช้สัญชาตญาณดิบที่แฝงอยู่ในจิตใจคน ซึ่งผู้จัดหรือผู้กำกับเองก็จะหลีกความน้ำเน่าโดยการกำหนดเนื้อเรื่องให้หักมุม ให้ชวนติดตามบ้าง และให้ข้อคิดเมื่อละครจบ โดยที่เขาก็คาดหวังตามรูปแบบของศิลปินว่า เมื่อดูจบแล้วคนดูจะได้ข้อคิดอะไร เช่น บาปบุญคุณโทษ ซึ่งส่วนใหญ่คนที่ดูก็จะไม่ค่อยคิด รวมถึงคนที่ดูก็ไม่ได้ดูตั้งแต่ต้นจนจบ บางคนดูเฉพาะบางตอนหรือแค่ช่วงเปลี่ยนช่องรายการเพื่อหนีโฆษณาน่าเบื่อ แต่ภาพที่เจอเพียงแว้บเดียวเป็นภาพที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงทั้งเรื่องของการใช้คำพูด การกระทำต่อเด็ก ภาพลามกหรือการทำร้ายร่างกาย จิตใจ ซึ่งมักจะไม่เกิดผลต่อผู้ชมในทันทีแต่จะทำให้คนที่ดูที่เห็นภาพ หรือได้ยินเสียง มีความคุ้นเคยและใกล้ชิดกับความรุนแรงมากขึ้น และหากย้อนมาคุยกับสื่อที่เป็นหนังสือพิมพ์ คนทำข่าวคนหนึ่งได้เคยพูดให้ฟังว่า การเสนอข่าวมันต้องขายได้ คือเขียนข่าวไปแล้วมีคนอยากอ่าน น่าสนใจ ซึ่งมันเป็นเทคนิคที่เขาใช้ดึงความสนใจ เช่นการเขียนข่าวจากหน้านั้นอ่านต่อหน้านั้น หรือแม้แต่การใช้เทคนิคที่เรารู้จักกันดีคือ การตั้งหัวข้อข่าวให้มันดูน่าสนใจ โดยก็ยอมรับว่าสื่อเองก็ดึงจุดอ่อนของคนไทยมาในการนำเสนอข่าว  เช่น คนไทยชอบข่าวที่มีความรุนแรง การทำร้ายร้างกาย การกระทำที่ผิดจากธรรมชาติ หรือเรื่องแปลก ๆ ต่าง ๆ  เราจึงไม่ค่อยพบเห็นข่าวเชิงบวกด้านเด็กหรือเยาวชน ที่ทำความดีเท่าใดนัก เพราะคนในสังคมไม่ค่อยสนใจ สังคมจะสนใจข่าวการฆ่ากัน การตีรันฟันแทงมากกว่า หรืออย่างรูปหน้าปกที่สื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ก็ต้องดึงดูดใจด้วยรูปเปลือย รูปวาบหวิว มากกว่าการเอารูปนักเรียนหรือเด็กที่ทำความดีมาขึ้นปก ซึ่งเหตุปัจจัยมันก็มีทั้งสื่อที่เสนอตามความต้องการของสังคม และสังคมเองก็ได้รับอิทธิพลจากสื่อ ว่ากันไปว่ากันมาก็เหมือนกับงูกินหาง ตัวคนนำเสนอข้อมูลเองบางทีก็ไปติดกับดักของเงินจนรายงานข่าวเกินข้อเท็จจริงก็มี เนื่องจากว่านอกจากที่จะเป็นผู้สื่อข่าวให้กับสื่อท้องถิ่นแล้ว คนทำสื่อเองก็ผูกตัวเองเชื่อมโยงกับการขายข่าวและเป็นคอลัมน์นิสให้กับหนังสือพิมพ์ส่วนกลางอีกด้วย การนำเสนอข่าวจึงต้องเป็นเรื่องของการใช้ความน่าสนใจมากกว่าข้อเท็จจริงที่เชื่อถือได้เท่าที่ควร ในลักษณะของการให้เด็กเป็นข่าว เช่นกรณีของนักเรียนโรงเรียน เอกชนแห่งหนึ่งที่ทะเลาะกับเพื่อนแล้วไปบอกผู้ปกครองว่าถูกครูทำร้ายจนเรื่องลุกลามใหญ่โต จากเรื่องของเด็กมาเป็นผู้ใหญ่ทะเลาะกันที่ลุกลามไปจนถึงขั้นการเป็นข้อพิพาทกันของโรงเรียนกับสื่อที่เสนอข่าว เพราะหากเรามองให้ดีจะเห็นว่าการเสนอข่าวมุมหนึ่งเป็นการทำร้ายเด็ก สื่อเองก็ไม่ได้มีความรู้ซึ้งเรื่องสิทธิเด็ก หรือรู้แต่ว่าการขายข่าวให้น่าสนใจมันดึงดูดใจมากกว่า บางทีความเร่งด่วนของสถานการณ์ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สื่อเองไม่ได้ใส่ใจกับรายละเอียดปลีกย่อย เช่น กรณีเกิดการทะเลาะวิวาทหรือทำร้ายร่างกาย หรือมีข่าวน่าสนใจ สื่อจะรับทราบผ่านทางตำรวจ หรือหน่วยกู้ภัย ซึ่งมีการแจ้งข่าวสารกันทางวิทยุสื่อสาร และช่วงหลังก็ใช้การโทรศัพท์มากขึ้น ซึ่งคนทำสื่อที่ทราบข่าวอาจจะไม่ได้ไปเนื่องจากติดภารกิจอื่น ก็จะมีการแจ้งให้นักข่าวที่อยู่ใกล้ๆ กับที่เกิดเหตุไปทำข่าวก็มี ทั้งนี้มีความเป็นไปได้สูงที่คนที่อยู่ใกล้หรือคนที่ไม่ได้เกาะติดสถานการณ์อาจจะไม่รู้หรือไม่ใส่ใจในรายละเอียดปลีกย่อยเท่าที่ควร พอไปถึงที่เกิดเหตุหรือเจอคู่กรณี หรือตำรวจจับผู้ต้องหาได้ พอมีปรากฏการณ์เหล่านี้ สิ่งแรกที่ผู้สื่อข่าวต้องทำก็คือ เก็บรายละเอียดต่าง ๆ ให้มากที่สุด ทั้งการสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย ในช่วงระยะเวลาที่จำกัด เมื่อได้ข้อมูลมาแล้วก็นำส่งส่วนกลางเพื่อตีพิมพ์นำเสนอ ซึ่งแน่นอนว่ากระบวนการตรวจสอบความถูกต้องทำได้ไม่เต็มร้อย อีกทั้งบรรณาธิการข่าวก็ไม่ได้เป็นคนลงพื้นที่ รายละเอียดของปรากฏการณ์บางอย่างมันจึงหายไป และหลายครั้งสื่อเองก็กลายเป็นจำเลยโดยการพิพากษาของสังคม ว่าเป็นต้นเหตุทำให้เหตุการณ์เล็ก ๆ บานปลายไป และบางทีก็เกิดจากการใช้ภาษาสื่อ ที่ถ้าเรามองตามหลักการใช้ภาษามันไม่ถูกต้องเสียทีเดียว แต่นั่นคือเทคนิคที่สื่อเองชอบเล่นคำ และใช้คำที่น่าสนใจ เช่น โจ๋ 16 รุมโทรมเวียนเทียน เด็ก ป.6..เป็นต้น เพราะมาตรฐานเหล่านี้เองที่ยังไม่ได้รับการดูแลหรือเอาใจใส่จากผู้เกี่ยวข้อง ถึงแม้ว่าตามระบบของสื่อจะมีกลไกการควบคุมเป็นชั้นๆ อยู่ แต่กลไกเหล่านี้จริงๆ แล้วอ่อนแอมาก ถ้าไม่มีเรื่องราวที่สังคมสนใจหรือเป็นประเด็นใหญ่ กลไกที่ควบคุมอยู่ก็อ่อนล้ามาก นี่เฉพาะสื่อหนังสือพิมพ์ที่มองเห็น ไม่รวมสื่ออื่น และจากการได้สัมภาษณ์กลุ่มวัยรุ่นที่ทำผิดว่าการลงข่าวของหนังสือพิมพ์ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เขาทำความผิด เพราะเด็กที่มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มที่เราเรียกว่าแก๊งต่าง ๆ นี้ เวลาถูกจับ เช่นพกอาวุธ ยกพวกตีกัน ถึงแม้ว่าพอลงข่าวเขาจะใช้ชื่อสมมุติ หรือไม่โชว์หน้าตา เด็กเขาก็จะรู้และเอาไปคุยกันว่าเป็นพวกไหน กลุ่มไหน ซึ่งมองไปมันเหมือนดาบสองคมว่า ใครได้ก่อวีรกรรมไว้ การถูกเป็นข่าวลงหนังสือพิมพ์ก็เหมือนกับเป็นการสร้างชื่อเสียงให้เขา เพราะเด็กเขาเองก็ไม่ได้กลัวกับโทษที่ได้รับ เพราะอย่างน้อยที่สุดพ่อแม่ก็มาวิ่งเต้น หรือบางคนที่ทำผิดครั้งแรกก็แค่ถูกทำโทษทำทัณฑ์บนไว้ หรือแจ้งไปที่โรงเรียน หรือเสียค่าปรับนิด ๆ หน่อย ๆ ก็กลับบ้าน ไม่กี่วันก็ออกมารวมตัวกันอีก แล้วเขาก็เกิดการเรียนรู้ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ถูกจับอีก การถูกจับเป็นเรื่องท้าทายที่กลุ่มวัยรุ่นชอบ พอพ้นโรงพักไปเด็กเขาก็ไปนั่งคุยกันว่าที่พลาดถูกจับเพราะอะไร ใครเป็นต้นเหตุ ต่อไปจะทำอย่างไรไม่ให้ถูกจับ เป็นต้น พอกระบวนการจัดการของสังคมอ่อนล้า พัฒนาการทำความผิดของเด็กก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพราะมันถูกจัดการแยกส่วน สื่อเสนอข่าวเหมือนจะรุนแรง กระบวนการจัดการของตำรวจก็เน้นการปราบปราม การใช้อำนาจ ในขณะที่กระบวนการทางยุติธรรมก็มีบทกำหนดโทษอีกอย่างหนึ่งไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ณ เวลานี้สื่อควรหันมาทบทวนจริยธรรม จรรยาบรรณ และทิศทางกับความเป็น สื่อ (ทั้งที่จริงมีการทบทวนกันมาตั้งนานแล้วแต่เหมือนวกกลับมาที่จุดเดิมทุกที) ที่จะสื่อเรื่องราวเรื่องหนึ่ง เรื่องใดสู่สาธารณะโดยไม่ใส่ความคิดเห็นของตัวเองลงไป หรือคำนึงถึงผลกระทบอันจะเกิดขึ้นกับสังคมโดยเฉพาะเด็กเยาวชนมากกว่าคำนึงถึงผลกระทบของเงินในกระเป๋า

หมายเลขบันทึก: 178116เขียนเมื่อ 22 เมษายน 2008 13:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท