การประชุมเครือข่ายฯสัญจร ครั้งที่ 2/2549 (3.3) ต่อ


       วันนี้ขอเล่าเรื่องการประชุมเครือข่ายฯสัญจร ครั้งที่ 2/2549 ซึ่งองค์กรออมทรัพย์ชุมชนแม่พริกเป็นเจ้าภาพต่อเลยก็แล้วกันนะคะ หลังจากที่เมื่อวานนี้ผู้วิจัยจบเอาไว้ตรงข้อสังเกต ความคิดเห็นของ ผู้วิจัยเกี่ยวกับแผนงานการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาเครือข่ายองค์กรออมทรัพย์ชุมชนจังหวัดลำปาง

       วาระที่ 3 เรื่องสืบเนื่อง (ต่อ)

       คุณอุทัย ในฐานะรองประธานเครือข่ายฯ ได้ยกมือขึ้นขอเสนอความคิดเห็น โดยกล่าวว่า คณะทำงานทั้ง 10 คนที่เครือข่ายฯตั้งขึ้นมาเพื่อให้วางแผนร่วมกันนั้น ผมอยากทราบว่ามันเข้าหลักการวิชาการหรือไม่? ผมอยากให้อาจารย์อ้อมกับอาจารย์พิมพ์ช่วยเสนอแนะหน่อยว่าตรงไหนที่เข้าประเด็น หรือตรงไหนที่ไม่เข้าประเด็น อาจมีสิ่งที่ขาดตกบกพร่อง ก็อยากให้เสนอแนะมาว่าตรงไหนขาด ต้องการให้เพิ่มเติมตรงไหน ในฐานะนักวิชาการอยากให้อาจารย์ช่วยเสนอแนะหน่อย จะได้ปรับปรุงแก้ไข

        อาจารย์พิมพ์เป็นผู้เริ่มต้นพูดก่อน โดยกล่าวว่า ในช่วงระยะเวลาที่เหลืออีกประมาณ 6 เดือน หลังจากที่มีคณะกรรมการ 10 คนเข้ามาทำหน้าที่ดูแลโครงการและงบประมาณนั้น เท่าที่พิมพ์ฟังเข้าใจว่าแต่ละอำเภอมีคนทำงานอยู่แล้ว และมีการแบ่งโซนกันลงไปรับผิดชอบ เน้นทั้งสื่อที่เป็นลายลักษณ์อักษร สื่อบุคคล สื่ออิเล็กทรอนิกส์ สื่อวิทยุ สื่อหนังสือพิมพ์ ปากต่อปาก รวมทั้งการไปทำความเข้าใจด้วย คนที่จะไปถ่ายทอดความรู้ต้องมีความมั่นใจในตนเอง ที่สำคัญ คือ มีการทำความเข้าใจในพื้นที่ โดยการเชิญกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำกลุ่มต่างๆ อปท. ซึ่งตรงนี้ถ้ามองแล้วก็คือ มีการเชื่อมประสานไปด้วยในตัวอยู่แล้ว เพราะ บุคคลเหล่านี้ในมุมหนึ่ง เขาก็คือ ประชาชนคนหนึ่ง แต่อีกมุมหนึ่ง เขาก็คือ ผู้นำ ผู้มีอำนาจ ซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนอยู่แล้ว ดังนั้น ถ้าเรามองดูจากแผนงานที่เสนอขึ้นมานี้ก็ครอบคลุมแล้วทั้งเรื่องของการขยายผล และการเชื่อมประสาน ส่วนเรื่องการบริหารจัดการนั้น การประชุมสัญจรฯก็ถือว่าเป็นกิจกรรมหนึ่งที่จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อย่างครั้งที่แล้วเราก็ไปดูที่บ้านป่าตัน จะเห็นระบบของการทำงานที่เป็นทีม ซึ่งแต่ละกลุ่มหรือแต่ละองค์กรก็มีทีมเวิร์กที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง มาครั้งนี้ก็เห็นการเปลี่ยนแปลง จากรูปแบบเดิมที่เราประชุมกันที่โรงเรียนนาก่วมใต้ เราไม่มีโอกาสได้ออกมาดูว่าพื้นที่อื่นๆเป็นอย่างไรทั้งๆที่พื้นที่เหล่านี้ก็เป็นพื้นที่ที่อยู่ในจังหวัดเดียวกัน เรายังไม่สามารถมาเรียนรู้ได้ทั้งหมด ส่วนการไปร่วมประชุมที่จังหวัดตราดและที่กรุงเทพฯก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการความรู้เหมือนกัน เป็นการไปเรียนรู้กับพื้นที่อื่นๆ เชื่อว่าแต่ละกลุ่มก็คงเชื่อมั่นในศักยภาพของคณะกรรมการที่อาสาเข้ามาทำงาน แต่ละคนก็มีความรู้ของตัวเองอยู่แล้ว และคงจะได้ไปเติมเต็มเมื่อไปศึกษาดูงานที่ตราดและจันทบุรี รวมทั้งที่กรุงเทพฯด้วย ในส่วนของงบประมาณ แม้ว่างบประมาณที่มีอยู่ประมาณ 170,000 บาท ดูเหมือนจะมาก แต่เวลาที่มานั่งคิดแผนงาน กิจกรรมกันแล้วดูเหมือนว่ามันจะเกิน 170,000 บาท อย่างไรก็ตามคงจะตัดทอนกันลงไปได้ หรืออาจมีงบประมาณในส่วนอื่นที่สามารถหามาหนุนเสริมกันไปได้ ความจริงในเรื่องงบประมาณนี้ เมื่อครั้งที่เราประชุมกันที่ป่าตัน อาจารย์อ้อมก็ได้พูดเรื่องนี้ไปครั้งหนึ่งแล้วว่าปกติเครือข่ายฯก็ต้องมีการขับเคลื่อนหรือทำงานอยู่แล้ว ดังนั้น งบประมาณหลักที่ใช้อาจไม่ได้มาจากโครงการการจัดการความรู้อย่างเดียว นะคะ       หลังจากที่อาจารย์พิมพ์กล่าวจบก็โยนลูกมาที่ผู้วิจัยทันที

(ผู้วิจัยก็กำลังง่วงนอนได้ที่ พูดออกไปแบบเบลอๆ) ผู้วิจัยจึงกล่าวว่าคงจะมีอยู่ประมาณ 2-3 ประเด็น คือ       ประเด็นที่หนึ่ง ความครอบคลุมในสิ่งที่เราทำ ตอนนี้เราตั้งเป้าหมายการทำงานไว้ใน 3 ระดับ คือ ระดับเครือข่ายฯ ระดับกลุ่ม และระดับสมาชิก แต่ว่าจากการฟังแผนงานข้างต้น คิดว่าส่วนที่ยังขาดไป คือ ในระดับสมาชิก ที่ต้องการฝึกในเรื่องวินัยการออม การทำบัญชีครัวเรือน ซึ่งตรงนี้เราอาจประสานงานกับหน่วยงานสนับสนุน เช่น ธกส. ธนาคารออมสิน เป็นต้น ให้เข้ามาร่วมงานกัน

       สำหรับประเด็นที่สอง คือ เรื่องเกี่ยวกับการชี้วัด หรือ ตัวชี้วัด ตรงนี้หมายความว่าเมื่อเราประชาสัมพันธ์ไปแล้ว อบรมไปแล้ว เราจะวัดได้อย่างไรว่ามันเกิดประสิทธิภาพ มีสัมฤทธิผลเกิดขึ้น ตรงตามเป้าหมายที่เราตั้งไว้ นี่คือ สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของการจัดการความรู้ ไม่ใช่ว่าเราทำไปเรื่อยๆ ทำอย่างเดียว แต่อยากให้คิดต่อไปสักนิดว่าเราจะวัดผลอย่างไร

       ส่วนประเด็นสุดท้าย คือ เรื่องของงบประมาณ ตรงนี้เคยพูดไว้ตั้งแต่ครั้งที่แล้วว่าในส่วนของงบประมาณนั้น การที่เราได้งบสนับสนุนมาคิดว่าการทำทั้งในระดับเครือข่ายฯ กลุ่ม 5 กลุ่ม และสมาชิกของทั้ง 5 กลุ่ม งบแค่นี้อาจไม่พอ สิ่งนี้พวกเราได้เล็งเห็นแล้ว แต่อย่างที่ได้บอกไปแล้วนะคะว่าทางหน่วยงานที่ให้ทุนเรามาเขาก็เห็นอยู่แล้วว่าต่อให้ไม่ให้ทุนมาเราก็ต้องทำงานกันอยู่ดี เพราะฉะนั้น ตรงนี้อาจเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่เราต้องมาช่วยกันคิดว่าอาจไม่ใช่แค่การตัดงบประมาณยังไงให้เหลือภายในวงเงิน 170,000 บาท หรือ น้อยกว่า 170,000 บาท เพื่อให้มีเงินเหลือไปตราดและไปกรุงเทพฯ แต่เราน่าจะมาคิดดูว่ามันอาจเป็นยอดนี้ก็ได้ เพียงแต่ว่าในส่วนอื่นๆ เช่น ไปกรุงเทพฯ ไปตราด หรือค่ารถในการประชุมสัญจรฯ เราจะช่วยกันอย่างไร เครือข่ายฯจะช่วยกันอย่างไร กลุ่มจะช่วยเหลือตัวเองอย่างไร หรือไปหามาอย่างไร ตรงนี้เราสามารถบริหารมันได้ ขอยกตัวอย่างประสบการณ์ของตัวเองที่มาทำงานวิจัย เมื่อปีที่แล้วเราก็รับงานของ สวรส. เราไปตั้งหลายที่ทั้งพิจิตร แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ที่แม่เมาะเราก็ไป เวลาเบิกค่าน้ำมันรถเราก็ไปเบิกกับโครงการของ สวรส. นั่นแหละ เพราะ เรารู้ว่าโครงการนั้นเงินมันเหลือเยอะ แต่เวลาเราไปตามจังหวัดต่างๆ สมมติว่าไปพิจิตร เราต้องผ่านเถิน เราก็แวะลงที่เถิน เราก็ได้งานที่เถิน ถ้าผ่านเกาะคา เราก็แวะลงทำงานที่เกาะคา เราก็ได้งานที่เกาะคาด้วย แต่ถามว่าเราได้เอาเงินงบ สกว. ไปใช้หรือเปล่า ก็ขอตอบว่าเราไม่ได้เอาไปใช้ ที่ยกตัวอย่างมาตรงนี้เพราะอยากจะบอกว่ามันมีวิธีในการบริหารจัดการ มันสามารถยืดหยุ่นได้ ดังนั้น ตรงนี้เราต้องมาช่วยกันดูว่าเราจะบริหารจัดการอย่างไร เพราะ ถ้าเรามามัวแต่อิงตัวเลขงบประมาณของ สกว. อยู่อย่างนี้ ถ้าเกิดว่าโครงการจบไปแล้วเราจะช่วยเหลือตัวเราเองไม่ได้

       ขอจบแค่นี้ก่อนนะคะ ทั้งๆที่ความจริงประเด็นนี้ยังไม่จบ  แต่ถ้าเล่าต่อก็คงอีกนานค่ะ  เอาไว้จะเข้ามาเล่าต่อนะคะ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 17799เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2006 21:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท