ทัวร์บุญอินเดีย3


การเดินทางแม้จะเหน็ดเหนื่อยอย่างไรก็ต้องอดทนไว้เป็นการฝึกตนเองด้วย เพราะเรื่องเล็กๆน้อยๆแค่นี้ เรายังทำไม่ได้เท่าปลายเล็บของพระพุทธเจ้าเลย พระพุทธเจ้าของเราพระองค์ท่านลำบากลำบนขนาดไหนเช่นตัวอย่างพระองค์ท่านทรงเดินด้วยเท้าเปล่าจากเมืองไวสาลีเพื่อมายังเมืองกุสินาราแห่งนี้ด้วยระยะเวลา 80 วันและด้วยพระชันษา 78 ชันษา

18มีค.51

          ครั้งที่แล้วเล่าเรื่องเที่ยวอินเดียไว้ 2บันทึกที่นี่ค่ะ ทัวร์บุญอินเดีย1 และ ทัวร์บุญอินเดีย2

          เมื่อวานหลังเช็คอินเข้าพักและรับประทานอาหารเย็น คณะของเราก็นัดหมายกันว่าพรุ่งนี้เช้าพร้อมกันเวลา 06.00น เพื่อไปนั่งเรือชมพระอาทิตย์ขึ้น และชมพิธีกรรมต่างๆริมฝั่งแม่น้ำคงคา ปรากฏว่าเราลงมาสายประมาณ 10 นาที คณะทัวร์เขาไปกันหมดแล้วเหลือแต่น้องสาวและน้องเขยของสามีนั่งรออยู่ เขาบอกว่าเขาไปกันตั้งแต่ 05.45น.แล้ว เราก็สงสัยว่าเราฟังเวลานัดผิดหรือเปล่านะ ปรากฏว่าคณะเขานึกว่าเราจะไม่ไปเลยไม่ได้รอ เอ๊ะ!อย่างไรกันนะ  ก็กะว่าจะไม่ไปแล้วละ เฮ้อ!ตกรถซินะเรา... เลยเดินออกมาหน้าโรงแรม พบคนขับรถตุ๊กๆ(คล้ายตุ๊กๆบ้านเราเลย) บอกว่าคณะทัวร์เราไปแล้ว แต่เขาสามารถพาเราไปพบคณะทัวร์ของเราได้ เราก็เลยไป จ่ายค่าตุ๊กๆไป 100รูปี(เดี๋ยวจะไปเบิกคืนที่ไกด์...อิอิ) เราไปเดินหาคณะของเรา ปรากฏว่าก่อนหน้านี้เขาไปนมัสการพระที่วัดใกล้ๆก่อนจะมานั่งเรือ เราเลยทันกันตอนนั่งเรือนี่แหละ

          บริเวณแม่น้ำคงคาแห่งนี้ยังมีน้ำเป็นจำนวนมากไม่ตื้นเขินเหมือนบางแห่งที่ผ่านมา แต่มองๆดูแล้วเริ่มจะมีมลพิษทางน้ำแล้วล่ะ...บริเวณริมฝั่งแม่น้ำคงคาแห่งนี้จะมีเรือแจวรับจ้างจอดรอรับนักท่องเที่ยวอยู่  เรือแจวนี้มีคนคอยแจวที่หัวเรือ 2 คน และมีคนคอยคัดท้ายเรืออีก 1 คน  พวกเราก็ใช้บริการของเขานั่งเรือชมพระอาทิตย์ขึ้นริมฝั่งแม่น้ำคงคา  ชมวิถีชีวิต การประกอบพิธีกรรมต่างๆของชาวฮินดู การอาบน้ำ การประกอบอาชีพขายของของชาวบ้านแถวนี้ นอกจากมีร้านวางขายของต่างๆตามริมฝั่งแม่น้ำแล้ว ยังมีใส่เรือไปขายเทียบเรือให้นักท่องเที่ยวบนเรืออีกด้วยนับว่าแปลกดีนะเข้าใจทำมาหากิน..อิอิ ...ในตอนเช้าอย่างนี้ชาวฮินดู(ส่วนใหญ่)จะมาอาบน้ำกัน นั่งท่องคาถา ท่องบทสวดมนต์ ทำท่าแปลกๆ บางคนลอยคอในแม่น้ำไปสวดมนต์ไปไกด์บอกว่าเขาบูชาพระอาทิตย์กัน บางคนกินน้ำในแม่น้ำแห่งนี้ ที่เขามาทำอะไรที่แม่น้ำคงคานี้เพราะเขามีความเชื่อว่า เป็นการล้างบาป การลอยบาป และเชื่อกันว่าบริเวณแม่น้ำคงคาเขาสามารถมองเห็นเทวดาได้ด้วย นี่เป็นความเชื่อของชาวฮินดูที่นับถือเทพเจ้าต่างๆนั่นเอง...วัดต่างๆที่เรียงรายริมฝั่งแม่น้ำก็ตีระฆังดังเหง่งหง่างไปด้วย นอกจากนี้นู๋ทิมยังได้เห็นพิธีกรรมเกี่ยวกับความตายของชาวฮินดู คือเมื่อมีคนตาย เขาจะนำมาลอยน้ำและนำศพมาประกอบพิธีการเผาที่นี่บริเวณริมฝั่งน้ำที่จัดสถานที่ไว้ให้โดยเฉพาะ ตอนลอยน้ำนู๋ทิมไม่เห็นแต่เห็นตอนที่เขาเผากัน..จ๊ะอึ๊ยยย...เปิดเผยดีแท้ คนเป็นคนตายอาบน้ำที่เดียวกัน เผาที่เดียวกัน ไกด์เล่าว่าบางวันมีศพนำมาทำพิธีแทบจะไม่ขาดสายบางครั้งต้องรอคิวกันก็มี เมื่อเสร็จจากศพแรก ญาติเก็บกระดูกเถ้าถ่านลอยแม่น้ำคงคาแห่งนี้อีกนะแหละ รายใหม่ที่รอคิวก็เข้ามา การเผาเขาเผากันด้วยไม้ฟืนนี่แหละวางท่อนฟืนซ้อนกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมหลังจากนั้นวางศพลงใช้ฟืนวางทับอีกจนกระทั่งไม่เห็นศพแล้วก็ราดน้ำมันจุดไฟเผากันเลย ญาติๆผู้ตายก็จะมารุมล้อมรอบๆกองไฟเพื่อแสดงความอาลัยกัน ชาวฮินดูเขาเชื่อว่าถ้าได้มาตาย ณ ริมฝั่งแม่น้ำคงคาจะทำให้ได้ไปสวรรค์ เพราะเขาเชื่อว่าต้นกำเนิดแม่น้ำคงคงมาจากเทือกเขาหิมาลัย บริเวณที่แม่น้ำไหลลงมาเป็นบริเวณที่ศักดิ์สิทธิ์ที่พระศิวะเสด็จจากสวรรค์ลงมาโลกมนุษย์ทางนี้. สมัยก่อนมีตำนานเกี่ยวกับคนอินเดียถ้าสามีตายภรรยาต้องโดดกองไฟที่เผาสามีให้ตายตกไปตามกันด้วย ดีนะที่สมัยนี้ไม่มีอย่างนี้แล้ว ไม่งั้นคงได้เห็นคนโดดเข้ากองไฟแน่เลย อุ๊ย! น่ากลัวจริงๆ

          นอกจากสถานที่แม่น้ำคงคาแห่งนี้แล้วที่ประกอบพิธีกรรมของชาวฮินดู ที่สำคัญยังมีอีกที่เมืองพาราณสีอีก 4แห่งอีกด้วย

 

นั่งเรือชมริมฝั่งแม่น้ำคงคาและดูพิธีเผาศพ

        ออกนอกทางเดินของศาสนาพุทธไปชมวิถีกรรมบางอย่างของศาสนาฮินดูมาบางส่วน  ต่อไปเราก็กลับโรงแรมเพื่อรับประทานอาหารเช้าก่อนเดินทางไปกราบนมัสการพุทธสถานที่สำคัญอีกแห่งคือ กุสินารา(Kushinagar)....เรานั่งรถกันตั้งแต่สายๆมาถึงพุทธสถานแห่งนี้ประมาณ บ่ายสามโมงเย็นเพื่อกราบนมัสการกุสินาราดินแดนพุทธปรินิพพาน
       ได้เข้าไปสักการะปรินิพพานสถานคือสถานที่เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน  พุทธประวัติระบุว่าคือ สาลวโนทยาน เมืองกุสินารา ที่มีต้นสาละปลูกไว้เป็นอนุสรณ์มากมายและไม้อื่นๆปลูกอยู่ทั่วไป ให้ความร่มรื่นพอสมควร เป็นอุทยานที่ได้รับการรักษาจากทางการอินเดียเป็นอย่างดี  ตอนไปเที่ยวจังหวัดกาญจนบุรีได้เคยถ่ายรูปใต้ต้นสาละไว้ แล้วบอกกับเพื่อนๆว่าถ้าไปอินเดียจะถ่ายรูปกับต้นสาละมาให้ดูอีก แต่ว่าทำไปทำมาลืมถ่ายไปเสียได้เป็นที่น่าเสียดาย สถานที่นี้ปัจจุบันมีพระมหาปรินิพพานสถูปที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช และพระพุทธรูปปางปรินิพพานอยู่ 1 องค์เป็นสัญลักษณ์   

        เข้าไปนมัสการมหาปรินิพพานสถูปและเข้าไปสักการะพระพุทธรูปปางอนุฏฐิตสีหไสยาสน์คือปางเสด็จบรรทมครั้งสุดท้ายภายในวิหารปรินิพพานได้ยินเสียงสวดมนต์ประกอบกับกลิ่นธูป ควันธูป พุทธศาสนิกชนที่หลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย และภาพที่ปรากฏข้างหน้าเป็นพระนอน ปางปรินิพพานนั้น ทำให้นู๋ทิมถึงกับขนลุกซู่ด้วยความปลื้มปิติทีเดียว เหมือนกับได้มาเห็นภาพที่เกิดขึ้นจริงๆเลยทีเดียว สีพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าดูคงคล้ายกับว่าหมดแล้วซึ่ง ห่วงกังวลทั้งปวง ขณะที่เข้าไปสักการะก็มีพุทธศาสนิกชนทั้งชาวจีน ชาวญี่ปุ่น ชาวพม่า ชาวไทยสลับสับเปลี่ยนกันเข้าไปทำพิธีถวายผ้าห่มพระพุทธปรินิพพาน ช่วงที่เข้าไปนมัสการได้เข้าร่วมพิธีกับชาวญี่ปุ่น และชาวไทยด้วย เพราะจะมีพระนำสวดมนต์บูชาองค์พระพุทธปรินิพพานและถวายเครื่องสักการะปิดทองที่พระพุทธบาท และอธิษฐานจิตขอพรกัน บทสวดมนต์ต่างๆนู๋ทิมไม่สามารถสวดได้ไม่เข้าใจความหมายก็มีคนแปลความหมายให้ฟัง ก็เลยถือโอกาสคิดในใจว่าเขาสวดอย่างไรขอสวดร่วมด้วยอย่างนั้นกับเขาก็ละกัน...อิอิ ตอนนี้เจอชาวไทยมากลับกลุ่มทัวร์ หลายกัน เราก็เข้าไปทักทายสไตล์ไทยแท้ของเรา ก็ดีใจที่เจอคนไทยอีกครั้ง
       จากนั้นไปสักการะมกุฏพันธนเจดีย์(Makutabandana Stupa) ซึ่งตั้งอยู่บนเนินสูงประมาณ ๕๐ ฟุต เป็นสถูปที่ถวายพระเพลิงพุทธสรีระหลังวันปรินิพพาน 7วัน  ได้เข้าร่วมกลุ่มชาวศรีลังกากลุ่มอื่นที่มาแสวงบุญ และมีพระนำกล่าวคำบูชาสถานที่ถวายพระเพลิงและอธิษฐานจิตเรียบร้อยเป็นอันเสร็จพิธี และหลังจากนั้นเห็นกลุ่มชาวไทยนำโดยพระกล่าวนำทำพิธีก็เข้าร่วมพิธีกับกลุ่มชาวไทยเราด้วยทักทายกันพอหอมปากหอมคอต่างแยกย้ายกลับกลุ่มของตนเอง

 

พระพุทธองค์ปางเสด็จบรรทมครั้งสุดท้ายภายในปรินิพพานสถูป

มหาปรินิพพานสถูป

Makutabandana Stupa สถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้า

พุทธศาสนิกชนชาวไทยกับลังทำพิธีอธิษฐานจิต นู๋ทิมก็เข้าทำพิธีกับกลุ่มชาวไทยเราด้วยค่ะ

 

          จากนั้นเราก็เดินทางต่อไปที่สาวัตถีพอถึงก็ใกล้ค่ำพอดี เข้านมัสการพระมหาวิหารเชตวัน และเป็นที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์เคยจำพรรษาเป็นหมื่นๆรูป เรียกว่าเป็นสถานที่มีพระอรหันต์มากที่สุดในโลกทีเดียว หลังจากที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้ และได้มาจำพรรษาครั้งแรกที่สาวัตถี คือ พรรษาที่ ๑๔ หลังจากนั้นก็เสด็จไปจำพรรษาในที่อื่นๆ และเสด็จกลับมาประทับจำพรรษาที่เมืองสาวัตถีตั้งแต่พรรษาที่ ๒๑ ถึงพรรษาที่ ๔๔ รวมระยะเวลา ๒๕ พรรษา และทรงประทับอยู่จำพรรษาในวัดพระเชตวันมหาวิหารของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ๑๙ พรรษาและวัดบุพพารามของนางวิสาขา ๖ พรรษา ทั้งนี้เป็นเพราะเศรษฐีและนางวิสาขาศรัทธาเลื่อมใสพระพุทธศาสนา และมีอุปการะคุณต่อพระภิกษุสงฆ์นานับประการจากนั้นเดินทางต่อเพื่อไปชมบ้านอนาถปิณฑิกเศรษฐี  บ้านองคุลีมาล และอีกหลายๆบ้านแต่นู๋ทิมจำได้ไม่หมด

       วัดเชตวัน เป็นวัดที่ประทับของพระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ในสมัยพุทธกาล เป็นสถานที่ซึ่งพระพุทธเจ้าประทับจำพรรษานานที่สุด ประวัติของวัดเชตวันเล่าว่ามีเศรษฐีชื่ออนาถบิณฑิกเศรษฐีได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้า และมีความเลื่อมใส จึงเที่ยวหาซื้อที่จากเจ้าชายเชตะ เพื่อสร้างอุทธยาน และมหาวิหารเชตวัน เพื่อทูลขอให้พระพุทธเจ้าเสด็จประทับ ณ นครสาวัตถี

        อนาถบิณฑิกเศรษฐีขอซื้อที่ดินของเจ้าชายเชตะๆอ้างว่าจะสงวนไว้เป็นที่เที่ยวเล่นไม่ยอมขาย เศรษฐี เฝ้าอ้อนวอนจนเจ้าชายรำคาญเลยบอกว่าว่าต้องเอาเหรียญทองใส่ให้เต็มแปลงก็จะขายให้ เศรษฐียอมตามด้วยความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าสั่งคนใช้ให้ขนเหรียญทองคำมาจนเต็มแปลง เจ้าชายเชตะทรงเห็นความตั้งใจจึง ขอร่วมศรัทธาในพระพุทธเจ้าด้วย ได้ให้เศรษฐีนำเหรีญทองคำกลับไปครึ่งหนึ่ง และขอร่วมบุญด้วยอีกครึ่งหนึ่ง จึงเป็นที่มาของวัดเชตะวันนั่นเอง  นอกจากนี้ใกล้ๆกันยังมีมีต้นโพธิ์เรียกว่า อานันทโพธิ์ซึ่งนำเมล็ดมาจากต้นโพธิ์ที่พุทธคยา มาปลูกไว้เพื่อเป็นที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้าเมื่อพระองค์ไม่ประทับอยู่ที่วัดพระเชตวันมหาวิหาร ที่เรียกชื่อ อานันทโพธิ์ นั้นเป็นเพราะว่า พระอานนท์เป็นผู้จัดการดูแลเรื่องการปลูกและรดน้ำจนต้นโพธิ์เจริญเติบโตนั่นเอง   และใกล้กันยังมี  สถูปอื่นๆ วิหารตถาคต  นอกจากนี้ยังได้ไปดูบ้านแม่ขององคุลีมาล  (องคุลีมานหลังกลับใจก็บวชที่เมืองนี้ด้วย) และมีอีกหลายแห่งเสียดายที่เก็บรายละเอียดมาไม่ครบถ้วน (ระหว่างเยี่ยมนมัสการพุทธสถานแห่งนี้มีพระชาวศรีลังกาช่วยบรรยายให้ฟัง และมี Translator ส่วนตัวแปลให้ฟังอีกที..อิอิ ผิด ถูกอย่างไรช่วยแก้ไขด้วยค่ะ)

เขตบริเวณวัดเชตวัน

เขตวัดเชตวันและสวนรอบๆ และ อานนท์โพธิ์

พุทธสถานในเมืองสาวัตถี และรูปล่างคือบริเวณบ้านแม่ขององคุลีมาน คงเหลือสถูปไว้เป็นอนุสรณ์

          หลังจากที่ได้เดินทางเหน็ดเหนื่อยมากันตลอดทั้งวันเพื่อมากราบนมัสการพุทธสถานที่กุสินาราและสาวัตถีนี้แล้ว เราก็พักกันที่เมืองสาวัตถีแห่งนี้ การเดินทางแม้จะเหน็ดเหนื่อยอย่างไรก็ต้องอดทนไว้เป็นการฝึกตนเองด้วย เพราะเรื่องเล็กๆน้อยๆแค่นี้ เรายังทำไม่ได้เท่าปลายเล็บของพระพุทธเจ้าเลย  พระพุทธเจ้าของเราพระองค์ท่านลำบากลำบนขนาดไหนเช่นตัวอย่างพระองค์ท่านทรงเดินด้วยเท้าเปล่าจากเมืองไวสาลีเพื่อมายังเมืองกุสินาราแห่งนี้ด้วยระยะเวลา 80 วันและด้วยพระชันษา 78 ชันษา(ไม่ทราบว่าใช้คำศัพท์เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าถูกต้องหรือไม่ ผู้รู้ช่วยแนะนำด้วยค่ะ) คิดดูแล้วเราจะมาบ่นทำไมกับเรื่องเล็กน้อยแค่นี้...สำหรับวันนี้ขอพักผ่อนก่อนค่ะ เตรียมตัวไปเนปาลเพื่อนมัสการ ลุมพินี(Lumbini)สถานที่พระพุทธเจ้าประสูติกันค่ะ

เพลงบรรเลง

คำสำคัญ (Tags): #ทัวร์บุญ
หมายเลขบันทึก: 177128เขียนเมื่อ 16 เมษายน 2008 16:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
  • สวัสดีวันสงกรานต์ค่ะ
  • ......
  • เมื่อไรไปอีก...ชวนด้วย
  • ......
  • อยากไปอ่ะ
  • สวัสดีสงกรานต์เช่นกันค่ะอาจารย์หมอเจ๊ ไม่ทราบว่าอาจารย์ได้ไปเที่ยวไหนมาบ้างมั๊ยคะ...ขอให้อาจารย์มีความสุขมากๆค่ะ  ทุกๆคนคิดถึงอาจารย์และพี่น้องชาวกระบี่ค่ะ
  • ถ้ามีโอกาสไปอีกนู๋ทิมจะชวนอาจารย์แน่ๆค่ะ
  • ขอบคุณที่แวะมาทักทายค่ะ

อนุโมทนาสาธุด้วยครับ

ที่ได้ไปแสวงบุญสังเวชนียสถาน 4 ตำบล

ถือเป็นโอกาสที่ดีของชีวิตนะครับ

ด้วยความปรารถนาดี

  • ขอบคุณค่ะท่านพลเดช...นู๋ทิมนับว่าเป็นโอกาสที่ดีของชีวิตในฐานะพุทธศาสนิกชนเลยทีเดียว ถ้ามีโอกาสอีกจะไปอีก และจะเตรียมความพร้อมสำหรับการแสวงบุญที่ดีกว่านี้เชียวค่ะ

หนูทิม เก็บรายละเอียดได้ดีจริงๆ รออ่านตอน 4 นะ

  • ขอบคุณค่ะอาจารย์ที่ติดตามอ่าน เดี๋ยวตอนที่ 4จะตามมาค่ะ

เห็นภาพที่พี่นู๋เก็บมาฝาก..แล้วได้ความรู้สึกจริงๆชอบบรรยากาศของการเป็นเมืองของพระพุทธเจ้า .. ครั้งหน้าเก็บเงินเผื่อนู๋บ้างนะจะไปด้วย

  •   ติดตามมาตั้งแต่ทัวร์บุญ 1,2,และ 3 อ่านแล้วเหมือนได้ไปเที่ยวกะ นู๋ทิม เลยนะ เล่าได้ละเอียดจริงๆ จะรอตอนต่อไปนะ ขอบคุณค่ะสำหรับทริปดีๆอย่างนี้
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท