เมื่อ Encyclopeadia Britannica ปะทะ wikipedia อะไรจะเกิดขึ้น


วันนี้มีอีเมล์ฉบับหนึ่งเขียนมาถามผมถึงเรื่อง การนำข้อมูลบน website ไปอ้างอิงในการทำรายงานว่ากระทำได้หรือไม่ และมันน่าเชื่อถือหรือเปล่า

อันที่จริงคำถามนี้ผมก็เคยตั้งคำถามในใจไว้เหมือนกัน แต่ก็ยังหาคำตอบไม่ได้สักที เพราะว่าเรื่องนี้มีการแบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มที่บอกว่าข้อมูลสามารถนำมาอ้างอิงได้ เนื่องจากในหลักการเขียนบรรณานุกรมยังมีการอ้างอิงถึงแหล่งข้อมูลออนไลน์ แต่อีกกลุ่มก็กลับบอกว่าข้อมูลที่อ้างอิงได้บนอินเทอร์เน็ตคือข้อมูลที่ออกมาจากแหล่งวิชาการต่างๆ เช่นรายงานการประชุม ฐานข้อมูลออนไลน์ต่างๆ รวมไปถึงสิ่งที่เรียกว่า สารานุกรมออนไลน์ ซึ่งแบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือ สารานุกรมออนไลน์ทั่วไป ได้แก่ Encyclopedia Britannica , Encarta เป็นต้น สารานุกรมจำพวกนี้ได้รับความน่าเชื่อถือมาเป็นเวลานานเนื่องจากสารานุกรมเหล่านี้นอกจากมีบนอินเทอร์เน็ตแล้วยังมีในรูปแบบของสื่อสิ่งพิมพ์อีกด้วย

แต่สิ่งที่กล่าวมายังไม่เป็นประเด็นเนื่องจากสารานุกรมออนไลน์ทั่วไปสามารถนำมาอ้างอิงได้ แต่ยังมีสารานุกรมอีกประเภทหนึ่งหรือบางครั้งเราเรียกว่าสารานุกรมเสรี อย่างพวก Wikipedia

ข้อแตกต่างระหว่าง Britannica กับ Wikipedia คือผู้แต่งหรือผู้เขียนบทความ ถ้าเป็นของ Britannica ผู้เขียนจะเป็นนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ แต่ Wikipedia ผู้แต่งหรือผู้เขียนคือใครก็ได้ที่เข้าใจหรือรู้ในเรื่องๆ นั้น เข้ามาเขียนด้วยภาษาง่ายๆ อธิบายตามที่เขารู้ ถ้าสิ่งที่เขารู้มันผิดก็จะมีคนเข้ามาแก้ไขให้เรื่อยๆ จนได้เนื้อหาที่สมบูรณ์ที่สุด

ใครอยากรู้เรื่อง Wikipedia เพิ่มเติมแนะนำให้อ่านบทความเรื่อง “Wikipedia สารานุกรมฟรีออนไลน์ที่ใครๆ ก็เขียนได้” โดยคุณเสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ แปลและเรียบเรียงจาก Time June 6, 2005

หากจะถามถึงการอ้างอิงเนื้อหาผมคงตอบไม่ได้ว่าจะอ้างอิงได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับเราที่คิดว่าบทความที่เรานำมาใช้มีความน่าเชื่อถือขนาดไหน มีบทความของ Nature Magazine Dec 14, 2005 เรื่อง Internet encyclopaedias go head to head มีการสำรวจความถูกต้องของข้อมูลแล้วพบว่า ใน Britannica กับ Wikipedia มีความผิดพลาดในระดับพอๆ กัน ซึ่งหลายคนมองบทความชิ้นนี้ว่าเป็นการทำให้ Britannica เสียชื่อเสียงหรือเปล่า แต่ในโลกของอินเทอร์เน็ตอะไรก็เปลี่ยนแปลงไปเร็วเหมือนกันนะ จนถึงวันนี้จากการจัดอันดับเว็บไซท์ของ alexa ปี 2007 Wikipedia ถูกจัดอยู่ในอันดับ 9 ของโลก

ทีนี้อยากรู้ว่าเพื่อนๆ ร่วมวิชาชีพคิดยังไงกับการนำเนื้อหาจาก Wikipedia มาอ้างอิง เห็นด้วยหรือไม่อย่างไร

จาก http://projectlib.wordpress.com/2007/08/11/encyclopeadia-online/

หมายเลขบันทึก: 176867เขียนเมื่อ 14 เมษายน 2008 12:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 17:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีครับ

ปัจจุบันการค้นคว้าหาข้อมูลจากเว็บไซต์คงจะเป็นเรื่องธรรมดากันไปแล้ว การอ่านหนังสือในห้องสมุดอาจจะน้อยลงไป เพราะใช้อินเทอร์เน็ตสะดวกมาก

เรื่องความน่าเชื่อถือนั้น เป็นเรื่องที่ละเอียด วัดกันยากพอสมควร ผมเคยค้นเอกสาร ตำรา เกี่ยวกับพระราชพิธีบางอย่าง มีหนังสือเท่าที่ค้นได้ในเวลานั้นราว 5-6 เล่ม อ่านอย่างละเอียดแล้ว พบว่ามีแหล่งที่มาจาก 2 แหล่ง และหนังสือบางเล่มในจำนวนนี้ก็คัดลอกมาแบบไม่ได้วิเคราะห์ หมายความว่า เนื้อหาบางตอนก็ขัดแย้งกันเองในเล่มเดียว

ถ้าจะลองสุ่มตรวจสอบความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์ พอจะทำได้ โดยเลือกค้นเรื่องที่เรารู้จัก รู้จริง สักเรื่อง เท่าที่ผมอ่านวิกิพีเดีย ฉบับภาษาอังกฤษ มีเนื้อหาเกี่ยวกับประเทศไทยในรายละเอียด มากกว่า วิกิพีเดีย ฉบับภาษาไทย ส่วนบริเตนนิกานั้น มีจำนวนบทความไม่มาก

เท่าที่เคยใช้ ก็พอใจทั้งวิกิพีเดีย ออนไลน์ และบริเตนนิกา (ฉบับพิมพ์) ครับ ;)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท