CSR : ในสังคมไทย


ความสุขที่บุคลากรในองค์กรธุรกิจได้รับจากเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือสังคมนั้น เป็นความสุขที่มีความละเอียดลึกซึ้งกว่าความสุขที่ได้รับจากสินค้าหรือบริการ

        จากการสำรวจข้อมูลสถานการณ์ CSR ในประเทศไทย  เมื่อปี 2549 ของนิตยสาร Positioning มีจำนวนความถี่ในการประชาสัมพันธ์กิจกรรมเพื่อสังคมซึ่งผูกโยง กับ การส่งเสริมการตลาดมากถึง 149 ครั้ง  ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มธุรกิจ  ด้านอาหาร  โทรคมนาคม และไอที  ซึ่งตื่นตัวตามกระแส CSR สูง   แนวทางการบริจาคในรูปแบบต่างๆ (Corporate Philanthropy) และการอาสาสมัครทำงานช่วยเหลือชุมชน (Community Volunteering) เป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมสูงสุด   เป็นการรับผิดชอบต่อสังคมด้วยความเอื้อเฟื้อขององค์กรธุรกิจโดยเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นด้วยการบริจาคเงิน  สิ่งของหรือสินค้าให้กับสังคม หรือ ผู้ด้อยโอกาส ในขณะที่กิจกรรมอาสาสมัครของพนักงานเป็นวิธีการที่สร้างการมีส่วนร่วมของพนักงานจากความรับผิดชอบต่อสังคม  ด้วยการให้และแบ่งปันทรัพยากรต่างๆทั้งในรูปของเวลา  ความรู้  เงิน  สิ่งของ  หรือสินค้าร่วมกันระหว่างนายจ้าง ผู้บริหาร-ลูกจ้าง  แก่ชุมชนที่อยู่รอบบริเวณบริษัทฯและสังคมวงกว้าง  อีกทั้งยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน  และการสร้างสิ่งแวดล้อมในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลอีกทางหนึ่ง  ก่อให้เกิดประโยชน์ตน(องค์กรธุรกิจ)และประโยชน์ท่าน(สังคม)ไปพร้อมกัน    แสดงให้เห็นชัดเจนว่ากิจกรรมอาสาสมัครพนักงานมิได้จำกัดเฉพาะการสร้างกิจกรรมที่ดีต่อสังคมเท่านั้น  แต่ยังก่อให้เกิดประโยชน์ให้กับผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะของพนักงาน  เพราะการพัฒนาทรัพยากรเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาองค์กร  ประโยชน์ที่เกิดขึ้นในตัวพนักงานจากการทำกิจกรรมอาสาสมัครล้วนก่อให้เกิดแรงจูงใจภายในอันเป็นแรงขับเคลื่อนในการนำศักยภาพภายในของบุคคลได้ดีกว่าแรงจูงใจภายนอก   มีบริษัทหนึ่งที่ทำกิจกรรมช่วยเหลือเด็กที่อยู่ในโปรแกรมบำบัดการติดยา   มีพนักงานคนหนึ่งกล่าวด้วยน้ำตาว่า ลูกชายของเขาเคยได้รับการบำบัดจากโครงการนี้ เธอดีใจเหลือเกินที่ได้มีโอกาสเข้ามาตอบแทนความดีงามที่คนกลุ่มนี้ได้ให้กับครอบครัวเธอ และที่สำคัญเป็นโอกาสที่บริษัทของเธอเป็นผู้มอบให้   

อีกท่านหนึ่งที่ยอมรับว่า  เธอไม่เคยรู้สึกว่าภูมิใจในองค์กรมาก่อนเลย  แต่เมื่อองค์กรได้สนับสนุนให้เกิดกิจกรรมเพื่อสังคมในหลายรูปแบบ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  การเปิดโอกาสให้พนักงานอย่างเธอได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการทำความดีเพื่อสังคม  เธอจึงเกิดความภูมิใจในองค์กรที่มิได้มุ่งเฉพาะกำไร(กลับคืนบริษัทแม่ในต่างประเทศ) แต่ยังได้ทำสิ่งดีงามเพื่อตอบแทนสังคมไทยในเวลาเดียวกัน  สิ่งเหล่านี้คงเกิดขึ้นได้ยากยิ่งท่ามกลางการดำเนินธุรกิจหรือดำเนินชีวิตตามปกติ

        ความสุขที่บุคลากรในองค์กรธุรกิจได้รับจากเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือสังคมนั้น  เป็นความสุขที่มีความละเอียดลึกซึ้งกว่าความสุขที่ได้รับจากสินค้าหรือบริการ  เช่น  การรับประทานอาหารอร่อย  หรือจากการดูภาพยนตร์และฟังเพลง  ซึ่งเป็นความสุขที่อิงอาศัยสิ่งภายนอก  หากไม่มีอาหารหรือภาพยนตร์หรือเพลง  ความสุขเหล่านั้นก็ไม่เกิด  แต่ความสุขที่ได้รับจากการทำความดีกลับเป็นความสุขที่ไม่ต้องอิงอาศัยสิ่งภายนอก  เพราะเกิดจากการกระทำของเขาเอง  และเมื่อเขาได้ช่วยเหลือผู้คนในสังคมมากยิ่งขึ้น  ความสุขที่ได้รับก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น

        การช่วยเหลือเกื้อกูลกันยังดำรงอยู่ในวิถีชีวิต  เป็นวัฒนธรรมที่ดีงามของสังคมไทย และมิได้เป็นเพียงการแสดงออกภายนอกเท่านั้น  แต่สะท้อนความรู้สึกที่มาจากจิตใจภายในที่อยากช่วยเหลือ  ภาษาไทยจึงใช้คำว่า ใจ  อย่างกว้างขวาง   จิตอาสา หรือ อาสาสมัคร(ใจ) จึงเล็งถึงจิตใจที่ดีงามที่อยากช่วยเหลือและพร้อมที่จะแสงดออกหากมีความพร้อมทางด้านเงื่อนไขและเหตุปัจจัย   ปกติองค์กรธุรกิจจะจัดสรรเวลาและงบประมาณในการพัฒนาบุคลากรและช่วยเหลือชุมชนและสังคมอยู่แล้ว  หากองค์กรตระหนักถึงกิจกรรมอาสาพนักงานจะประสานสิ่งเหล่านี้เข้าด้วยกัน เช่น แทนที่จะจัดอบรมพนักงานเรื่องการสร้างทีมด้วยวิทยากรภายนอก  ก็จัดกิจกรรมให้พนักงานไปช่วยเหลือชุมชน  หรือการสังสรรค์ประจำปีของบริษัท  แทนที่จะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานด้วยการจัดเลี้ยงในโรงแรม  ก็อาจเปลี่ยนไปจัดร่วมกับชุมชนที่มีการจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และได้เรียนรู้ชุมชนเข้มแข็ง ไปในเวลาเดียวกัน

หมายเลขบันทึก: 176709เขียนเมื่อ 13 เมษายน 2008 07:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤษภาคม 2012 14:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

CSR ลุงเอกว่าเป็นเรื่องทางใจ  มากกว่าการจัดตั้ง  หรือภาระ(กิจ)  มันต้องเป็นวิถีชีวิตที่สอดรับกับสังคมครับ

เห็นด้วยกับคุณลุงเอกค่ะ ถ้า CSR ออกมาจาก "จิตวิญญาณ" ของผู้กระทำ มันจะต้องแฝงอยู่ในทุกอณูของการทำธุรกิจ ส่วน "กิจกรรม CSR" ที่เป็นตัวตนชัดเจนนั้น ธุรกิจก็ต้องกระทำ เพื่อสร้างให้เกิด corporate image แก่ stakeholder ค่ะ

เห็นด้วยว่า "ถ้า CSR ออกมาจากจิตวิญญาณของผู้กระทำ มันจะต้องแฝงอยู่ในทุกอณูของการทำธุรกิจ" และอยากเพิ่มเติมว่า ดีที่สุดก็คือ หันกลับมาดูตัว "เนื้องาน" ที่มีอณูของธุรกิจนั้นๆ เองว่าจะทำให้กระบวนการผลิต-บริการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นมิตรกับ customer และ supplier ช่วยประหยัดพลังงาน ช่วยให้เกิดระบบการค้าและบริการที่เป็นธรรม ช่วยให้คนหันหน้าเข้าหากัน ฯลฯ หรือไม่ เช่น ที่ Google ปรับหน้าจอเป็นสีดำเพื่อร่วมการรณรงค์ประหยัดพลังงานเมื่อวันที่ ๒๙ ก.พ.๕๑ พร้อมประกาศว่าต่อไปโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของเขาทั้งหมดจะสร้างขึ้นโดยคำนึงเรื่องการประหยัดพลังงานของโลก หรืออย่างบริษัทน้ำมันก็ทำเรื่องการประหยัดพลังงาน บริษัทผลิตอาหารก็ทำเรื่องการกินเพื่อสุขภาพ บริษัทท่องเที่ยวก็ทำเรื่องท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ในให้คนรักและหวงแหนธรรมชาติ ฯลฯ

แต่ทั้งนี้มิได้หมายความกิจกรรม CRS ที่ไม่เกี่ยวข้องกับ "อณู" ของธุรกิจตัวเองจะไม่มีประโยชน์นะครับ เพียงแต่อยากชวนให้คิดว่า จะดีกว่าไหมหากคิดให้เป็น "เนื้อเดียว" เป็นวิญญาณของสินค้าและบริการของธุรกิจนั้นๆ เลย

ผมมีเพื่อนคนหนึ่ง มีตำแหน่งใหญ่พอสมควรในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเกษตร นั่งคุยกันเล่นๆ เมื่อวันสงกรานต์ปีที่แล้ว เขาบอกว่าบริษัทเขาถูกต่อต้านจากชาวบ้านในบางพื้นที่ เขาก็มีโครงการให้ทุนการศึกษาบ้าง อะไรบ้าง เขาตั้งคำถามขึ้นมาว่าจะมีวิธีฝึกอบรมพนักงานในพื้นที่อย่างไรดี ผมไม่มี "ความรู้" พอจะตอบคำถามเขาได้ แต่มี "ความรู้สึก" พอที่จะตั้งคำถามเขาว่า "บริษัทคุณมีความตั้งใจที่จะร่วมทุกข์ร่วมสุขกับชาวบ้านด้วยความจริงใจหรือเปล่า?" เขาอึ้งไปเหมือนกัน

ผมบอกเขาไปตามความรู้สึกของผมว่า ปัญหาคุณไม่มีทางแก้ได้แม้จะนำเทคนิคการฝึกอบรมที่ดีที่สุดในโลกมาใช้ หากบริษัทไม่มีความตั้งใจที่จะร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเขาอย่างแท้จริง

ผมว่านี่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของ CRS ที่แท้จริง!

ในโลกใบนี้เกี่ยวกับ CRS ที่แท้จริงน่าสนใจ

มองที่โรงเรียนก่อน ครูมักถูกเด็กถามว่า ทำดีแบบนี้มีได้คะแนนไหม? ส่วนผู้ปกครองมักถามเด็กให้สับสนอีกว่า ดูเสียเวลาทำไมไม่ไปเรียนพิเศษ?

กิจกรรมทางสังคมและการเกาะเกี่ยวผูกโยง สังคมไทยยุคนี้ จำเป็นต้องกระตุกกระตุ้นเตือนให้เข้าถึงแก่นแท้ หรือแก่นธรรม มีคนมองพวกมีน้ำใจเป็นพวกแปลก ๆ อยู่

บุคคล หรือองค์กรธุรกิจที่ตั้งใจทำความดีกลับหน้าบาง อ่อนไหว ขาดความหนักแน่นมั่นคง ผมเชื่อว่า ทั้งหมดทั้งมวลการจัดการความรู้เป็นกลไลสำคัญนำไปสู่ความสำเร็จ CRS ที่แท้จริง

แก้ไขกระดานก่อนหน้า พิมพ์ข้อความผิด ขอแก้ไขจาก CRS เป็น CSR ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท