C# และ G#: ข้อคิดจากการชมเพลงและฟังภาพของ Debussy และ Monet ตอนที่หนึ่ง


ผลงานศิลปะล้วนมีชีวิต ...หากตัวโน้ตแต่ละตัวที่เปล่งออกมาในท่วงทำนองที่ช้าหรือเร็วสามารถสะท้อนให้เห็นถึงจังหวะในการก้าวเดินของชีวิต และเสียงประสานสะท้อนให้เห็นถึงความสับสนวุ่นวายของสังคมรอบข้างแล้วละก็ ความหนักเบาของพู่กันที่บรรจงลงในภาพวาด และองค์ประกอบของสีสันที่เลือกใช้ก็สามารถสะท้อนถึงชีวิตที่ถ่ายทอดผ่านผืนผ้าได้เช่นกัน ...

เมื่อวันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2548 ผมได้มีโอกาสไปฟังคอนเสิร์ตที่ Stern Auditorium ของ Carnegie Hall ในมหานครนิวยอร์กกับเพื่อนรุ่นน้องอีกสองคน การแสดงคอนเสิร์ตครั้งนี้บรรเลงโดยวง Saint Louis Symphony Orchestra ซึ่งมีนาย David Robertson เป็นวาทยกร (Conductor) จากประสบการณ์ในชีวิตของผมที่ฟังคอนเสิร์ตมาก็หลายครั้ง การเข้าชมการแสดงครั้งนี้ผมจึงมิได้คาดหวังอะไรมากนัก นอกไปจากการที่ได้มีเพื่อนคุยด้วยในช่วงที่ว่างระหว่างสัปดาห์ โอกาสเช่นนี้มิค่อยได้มีบ่อยเท่าใดนักเมื่อผมมาใช้ชีวิตในเมืองต่างถิ่นเช่นนี้

 

แต่เมื่อผมได้รับทราบรายละเอียดของการแสดง (ก็เมื่อได้ซื้อตั๋วและได้รับสูจิบัตรแล้วแหล่ะครับ) ผมก็ทึ่งในความคิดของผู้จัดการแสดงครั้งนี้ จึงอยากที่จะหยิบยกเรื่องราวที่น่าสนใจมาฝากเพื่อนฝูงได้รับรู้ไปพร้อมๆ กัน

 

สิ่งแรกก็คือการแสดงคอนเสิร์ตครั้งนี้ดำเนินไปควบคู่กับการฉายภาพประกอบการแสดง (ดูภาพประกอบ) สำหรับผมแล้ว ถือเป็นครั้งแรกที่ผมได้พบเห็นการแสดงคอนเสิร์ตในลักษณะนี้ และไม่เคยคิดเลยว่าศิลปะด้านดนตรีกับศิลปะภาพวาดจะสามารถนำมาแสดงควบคู่กันได้ การชมคอนเสิร์ตในค่ำคืนนี้จึงถือได้ว่าเป็นการเปิดมุมมองใหม่ในด้านศิลปะให้กับผมมากทีเดียว บทเพลงที่ได้รับการคัดเลือกมานำเสนอในค่ำคืนนี้เป็นบทเพลง Prelude และก็บทเพลง Afternoon of a Faun ของ Claude Debussy  และภาพวาดของ Monet ประมาณ 10 กว่าภาพเห็นจะได้  (หาเพลงฟังได้ที่ http://www.last.fm/music/Claude+Debussy/_/Prelude+a+L%27apres-midi+d%27un+faune)

 

การแสดงครั้งนี้มีลักษณะของการให้ความรู้ในการฟังดนตรีและการชมความงามของภาพวาดให้แก่ผู้ชมควบคู่ไปกับการได้รับความบันเทิงจากบทเพลงเป็นอย่างมาก การแสดงเริ่มต้นด้วยการเล่าถึงจินตนาการของ Debussy ในการแต่งเพลงของเขา จากนั้น วง symphony ก็จะบรรเลงท่วงทำนองที่สะท้อนให้เห็นถึงจินตนาการดังกล่าว ต่อจากนั้นก็นำเสนอภาพวาดของ Monet ที่สอดคล้องกับอารมณ์และทางของเพลง การผสมผสานดนตรีและศิลปะเข้ากันได้อย่างลงตัวเช่นนี้สะท้อนให้เห็นเส้นทางของความคิด (line of thoughts) ของศิลปินทั้งสองได้อย่างน่าอัศจรรย์

 

ที่ผมเห็นว่าอัศจรรย์ก็คือการเลือกภาพวาดของ Monet มาประกอบบทเพลงในที่นี้มิได้หมายความเพียงผิวเผินที่เราอาจจะเข้าใจกัน วาทยกรมิได้เลือกภาพมาประกอบเพลง หรือมิได้ให้เพลงเล่าภาพแต่อย่างใด ทั้งเพลงและภาพต่างก็มีเรื่องราวที่แตกต่างกัน หากแต่มีจุดเชื่อมกันที่เรามองไม่เห็นจากเปลือก ซึ่งก็คือ จินตนาการ ของศิลปินทั้งสองมีเส้นทางที่คล้ายกัน หรือที่ผมจะเรียกในภาษาของผมเองว่าวิธีคิดในการวาดภาพของ Monet และวิธีคิดของ Debussy ที่ใช้ในการนำเสนอบทเพลงมีลักษณะสอดคล้องกัน

 

บทเพลงแรก (Prelude) ของ Debussy นั้นเกิดขึ้นจากวิธีคิดที่มองบทเพลงเป็นเส้นในแนวระนาบ (Horizontal) ท่วงทำนองของเพลง (Motif) ทุกท่อนจะเริ่มต้นด้วยเสียงหลัก C# (โดชาร์ป) เสมอ ต่อจากนั้น ตัวโน้ตแต่ละตัวจะร้อยเรียงเสียงลดลงไปถึงเสียง G# (ซอลชาร์ป) และไล่เสียงขึ้นไปสูงกว่าเสียง C# (ผมไม่แน่ใจว่าจะขึ้นเสียงถึง G# ของบันไดเสียง (Octave) ที่สูงกว่าหรือไม่) และก็ไล่เสียงกลับมาสู่ที่เสียงเริ่มต้นคือเสียง C# หรืออธิบายง่ายๆ ก็คือเสียงเพลงในแต่ละท่อนจะเริ่มต้นและจบลงที่เสียง C# ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของเส้นในแนวนอน  (Horizontal) ส่วนตัวโน้ตในบทเพลงก็จะวิ่งไล่ขึ้นลงบนและล่างเส้นระนาบดังกล่าว เสมือนหนึ่งเปรียบได้กับกระแสน้ำที่ไหลขึ้น ไหลลง สลับกันไปมานั่นเอง และแม้ว่าบางท่อนของบทเพลงจะเดินในจังหวะที่ช้าหรือเร็วก็ตาม ท่วงทำนองของบทเพลง (Motif) ก็มิได้เปลี่ยน Debussy นำเสนอเนื้อเพลงในลักษณะดังกล่าวจนจบบทเพลง

 

ส่วนภาพของ Monet ที่นำมาเสนอประกอบการชมเพลงนั้น เป็นภาพของสายน้ำที่ทอดยาวไปจนเห็นเส้นขอบฟ้า สองข้างทางรายรอบด้วยพุ่มไม้น้อยใหญ่ สายน้ำใสจนเห็นเงาของขอบฟ้าและพุ่มไม้ปรากฏในเงาน้ำ ชุดของภาพวาดของ Monet เป็นภาพในมุมเดียวกัน หากแต่มีสีสันที่หลากหลายต่างกันออกไป มองดูแล้วเห็นได้ชัดว่าภาพมีอารมณ์ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนเมื่อสีที่ใช้ในการวาดแตกต่างกันไป

 

ในความเห็นของผม ภาพของ Monet ที่เลือกขึ้นมาแสดงนี้อาจจะมิได้มีความสวยงามหากมองด้วยสายตาของคนสมัยใหม่ (แต่สำหรับผมนั้นถือว่างามมากๆ) หากแต่ความลงตัวน่าจะอยู่ที่การเล่าเรื่องราวของบทเพลงและการเล่าเรื่องราวของภาพวาดเหล่านี้ถูกกลั่นออกมาจากวิธีคิดในลักษณะเดียวกัน ตามที่ผมได้กล่าวแล้วข้างต้นว่า Debussy เรียบเรียงท่วงทำนองของเพลงจากเสียง Horizontal และเดินตัวโน้ตขึ้นลงจากเสียงดังกล่าว ส่วน Monet ใช้เส้นขอบฟ้าของภาพวาดเป็นจุดเริ่มต้นของสายตาในการมองภาพ ส่วนรายละเอียดและอารมณ์ของภาพจะปรากฏอยู่เหนือและใต้เส้นขอบฟ้าเส้นนั้น ซึ่งเมื่อเปรียบศิลปะทั้งสองเข้าด้วยกันแล้ว เส้น Horizontal ของ Debussy น่าจะเปรียบได้กับเส้นขอบฟ้าของ Monet นั่นเอง หรือถ้าหากเปรียบศิลปะทั้งสองเข้ากับภาพที่สะท้อนจากกระจกเงาว่ามีความสมมาตรฉันใดแล้วนั้น ภาพวาดของ Monet ที่อยู่เหนือและใต้เส้นขอบฟ้าก็มีความสมมาตรเช่นกันฉันนั้น และในทำนองเดียวกัน ตัวโน้ตที่วิ่งขึ้นและลงจากเสียง Horizontal ที่ C# ก็มีความสมมาตรเช่นกัน

 

สำหรับบทเพลงบทที่สองที่คัดเลือกมาแสดงนั้นก็สร้างความประทับใจให้แก่ผมไม่แพ้บทเพลงแรก บทเพลงที่สองเป็นการนำเสนอถึงแนวคิดเรื่อง Reflection โดย Debussy แสดงให้เห็นวิธีคิดของการสะท้อนกลับ ท่วงทำนองของบทเพลงจะเริ่มต้นจากทำนองเพลงหลักโดยเครื่องดนตรีชิ้นใดชิ้นหนึ่ง จากนั้นท่วงทำนองเดียวกันจะได้รับการบรรเลงซ้ำด้วยเครื่องดนตรีชิ้นอื่น เปรียบเสมือนกับเป็นเสียงสะท้อนกลับมาจากอีกด้านหนึ่งของเวที (หากใครเคยฟังเพลงในลักษณะ Fugue อาจจะนึกถึงเนื้อเพลงที่มีลักษณะคล้ายๆ กันว่าจะมีทำนองหลักของบทเพลงในลักษณะเดียวเล่นซ้ำไปมาด้วยเครื่องดนตรีต่างๆ)

 

ภาพของ Monet ในชุดที่สองนี้ก็สะท้อนแนวคิดเรื่อง Reflection ได้อย่างน่าอัศจรรย์ ภาพที่เลือกนำมาแสดงนั้นเป็นภาพที่ปรากฏบนผิวน้ำ ซึ่งเปรียบเสมือนได้กับภาพสะท้อนของภาพจริงที่อยู่อีกมุมหนึ่งซึ่งเรามองไม่เห็น เมื่อบทเพลงมีเสียงสะท้อนในท่าทีที่อ่อนโยน ภาพที่ผิวน้ำก็ปรากฏขึ้นด้วยสีสันที่นุ่มนวลสบายตา หากเมื่อใดที่ท่วงทำนองเร้าใจ โทนสีของภาพก็จะแสดงด้วยสีที่ขัดแย้งและร้อนแรง ซึ่งแสดงให้เห็นอารมณ์ที่ลุ่มร้อนได้อย่างสอดคล้องกันกับบทเพลง

 

การแสดงทั้งหมดจบลงภายในเวลา 90 นาที สำหรับผมแล้ว ถือได้ว่าเป็นประสบการณ์ที่คุ้มค่าเป็นอย่างมาก (อย่างน้อยผมก็ไม่หลับระหว่างการแสดงเลยแม้แต่น้อย ในขณะที่การแสดงคอนเสิร์ตอื่นๆ ก่อนหน้านี้ ผมจะหลับตลอด (ให้ตายสิ))

ความคมและความลึกในศิลปะของวาทยกรที่ได้รับการหยิบยกมานำเสนอมิได้จบลงไปพร้อมกับบทเพลงแต่อย่างใด นอกจากนาย Robertson จะนำเสนอบทเพลงและภาพวาดให้ผมได้ชมสมอารมณ์และความมุ่งหมายแล้ว นายคนนี้ยังได้ให้ความรู้ผมในการ เข้าถึง งานศิลปะมากขึ้นอีกด้วย ผมเข้าใจงานศิลปะมากขึ้นด้วยว่า ผลงานศิลปะล้วนมีชีวิต เป็นชีวิตที่ผู้ประพันธ์หรือผู้วาดภาพสะท้อนออกมาผ่านงานของเขา หากตัวโน้ตแต่ละตัวที่เปล่งออกมาในท่วงทำนองที่ช้าหรือเร็วสามารถสะท้อนให้เห็นถึงจังหวะในการก้าวเดินของชีวิต และเสียงประสานสะท้อนให้เห็นถึงความสับสนวุ่นวายของสังคมรอบข้างแล้วละก็ ความหนักเบาของพู่กันที่บรรจงลงในภาพวาด และองค์ประกอบของสีสันที่เลือกใช้ก็สามารถสะท้อนถึงชีวิตที่ถ่ายทอดผ่านผืนผ้าได้เช่นกัน ...  (โปรดติดตามอ่านตอนที่ 2)

หมายเลขบันทึก: 176530เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2008 21:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท