ผลการปฏิบัติงานการดูแลสุขภาพเท้าที่โรงพยาบาลเทพธารินทร์ วันที่เจ็ด


นำไปประยุกต์ใช้ ปรับเปลี่ยนตามสภาพที่เป็นอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

      

        20 กพ.49  วันนี้เป็นวันสุดท้ายของการฝึกปฏิบัติงาน รู้สึกว่าค่อนข้างเร็วเหมือนกัน  วันนี้ อาจารย์วัลลา มาทักทายเยี่ยมเยียนเหมือนเดิม แนะท่านกรุณานัดเลี้ยงส่งให้พวกเรา 3คนอีกด้วยตอนเที่ยงวันนี้

        ช่วง เช้าคุณกวางจะพาไป Ward round โดยคุณกวางได้นัดกับอาจารย์ นพ.สมบุญไว้เพื่อให้ท่านกรุณาช่วยให้ความรู้และนำ Ward round  ที่รพ.เทพธารินทร์ มีหอผู้ป่วยพิเศษ และพิเศษรวม  ไม่มีหอผู้ป่วยรวมเหมือนรพ.อื่น  วันนี้อาจารย์นพ.สมบุญได้พาเราไปดูผู้ป่วยเบาหวาน ที่มีแผลที่เท้า ซึ่งเป็น case มาจากต่างจังหวัด ทีแรกเคยรักษาที่รพ.ใกล้บ้านแล้วเคยตัดนิ้วเท้าไปบ้างแล้วและยังมีแผลที่นิ้วนางรักษาแล้วยังไม่ดีขึ้นอีกแพทย์แนะนำให้ตัดออก แต่ญาติยังไม่ยินยอม  เลยขอมารับการรักษาต่อที่นี่  อาจารย์ท่านเป็นแพทย์อายุรกรรมแต่ท่านได้ดูแลแผลและทำแผลได้ด้วยตนเองทุกวันร่วมด้วยกับการรักษาดูแลด้านอื่นๆด้วย ผู้ป่วยรายนี้ยังไม่มีปัญหาเกี่ยวกับ Vascular อาจารย์จึงดูแลเอง ไม่ได้ปรึกษาแพทย์ศัลยกรรมเกี่ยวกับเส้นเลือด (เป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายไปด้วยดีจังเลย) จนกระทั่งแผลเริ่มดีขึ้น ได้เห็นวิธีการทำแผลของท่านแล้วเป็นมืออาชีพจริงๆ  หลังจากนั้นอาจารย์ยังได้พาไปดู Case DM  ที่มาด้วยเรื่องเป็นแผลที่เท้าโดยไม่รู้ตัว ผู้ที่พบความผิดปกติของผู้ป่วยรายนี้คือบุตรสาวที่ทำงานอยู่กรุงเทพ ได้ไปเยี่ยมผู้ป่วยที่ต่างจังหวัดได้สังเกตุเห็นเท้าของผู้ป่วยบวมแดง จึงได้พามารักษาที่รพ.เทพธารินทร์(เห็นมั้ยล่ะ ในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานและมีภาวะ Neuropathy แล้วอันตรายขนาดไหน ถ้าไม่ได้ดูแลตนเองอยู่ตลอดเวลาโดยเฉพาะสุขภาพเท้า ปัญหาเช่นนี้อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา) รายนี้มีปัญหาเท้าบวมแดง ไม่ทราบถูกอะไรทิ่มแทงมามีการติดเชื้อ อาจารย์ให้การรักษาโดยการให้ Antibiotic  และเปิดแผล Dressing   และ Debridement ข้างเตียงทุกวัน อาจารย์ค่อยๆตัดเนื้อตายทีละน้อย จนแผลดีขึ้น (ในความคิดของดิฉันเป็นการทำให้ผู้ป่วยและญาติได้เห็นพัฒนาการของแผลไปพร้อมกัน และให้ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลตนเองด้วย )   ก่อนที่อาจารย์ นพ.สมบุญจะพาไปดูผู้ป่วยรายนี้  ได้พบกับอาจารย์ พญ.ศรีอุไร ท่านยังได้กรุณาพาไปดู case แผลที่เท้าอีกรายนึง เราจึงจำเป็นต้องแบ่งพวกไปดูกับอาจารย์ โดยให้คุณเปรมสุรีณ์ไปดูกับอ.พญ.ศรีอุไร เสียดายที่เราอีก 2 คนไม่ได้ไปดูด้วย 

         หลังจากนั้นคุณกวางได้อธิบายถึงบทบาทหน้าที่ของทีมดูแลสุขภาพเท้าเกี่ยวกับการ Ward round  ซึ่งมีทั้งวิทยากรเบาหวาน นักกายภาพ นักกำหนดอาหาร  ให้บริการตั้งแต่แรกรับผู้ป่วยเบาหวานเข้ารักษาในโรงพยาบาล ด้านการให้ความรู้ ความเข้าใจ และการดูแลในแต่ละเรื่องแต่ละปัญหาและความต้องการ โดยให้ผู้รับบริการมีส่วนร่วมในการดูแลตนเองด้วยทั้งในปัจจุบันและอนาคต นับว่าเป็นแนวทางในการทำงานที่มีประสิทธิภาพจริงๆ น่านำไปประยุกต์ใช้ในหน่วยงานของเราบ้าง

         หลังจากนั้นเวลาประมาณ 12.00น.มีฝนตกค่อนข้างหนัก อาจารย์วัลลาจะพาไปเลี้ยงส่ง ก็เลยต้องรอให้ฝนเบาลงก่อน  อาจารย์เป็นห่วงกลัวพวกเราจะหิวมาก  จนกระทั่งเวลา 12.30น. จึงได้ออกเดินทางไปร้านอาหาร มุมอร่อย โดยมีคุณกิ่งเพชรไปกับเราด้วย ส่วนทีมงานคนอื่นๆติดภาระกิจกันทุกคนจึงทำให้ไปกับพวกเราไม่ได้  อาหารร้านนี้รสชาดดีค่ะ โดยเฉพาะแกงส้ม  ทำให้เราเจริญอาหารกันมาก โดยเฉพาะคุณเปรมสุรีณ์ พอพวกเราอิ่มกันแล้วอาหารยังเหลืออยู่คุณเปรมสุรีณ์บอกว่าช่วยเหลือทางวัดหน่อย(สงสัยเป็นเจ้าอาวาสวัด)คนละคำ สองคำ คนอื่นไม่มีใครช่วยเหลือ คุณเปรมสุรีณ์จึงได้กินไปอีกหลายคำทีเดียว นี่แหละคนจะสมบูรณ์(อ้วน)ก็ตรงคนละคำสองคำนี่แหละคุณเปรมสุรีณ์ไม่รู้หรือแกล้งทำเป็นไม่รู้นะ

        เมื่ออิ่มหนำสำราญกับอาหารมื้อนี้แล้วต้องขอขอบพระคุณอาจาย์วัลลาที่อุตส่าห์พาพวกเราฝ่าฝนไปเลี้ยงส่ง ขอขอบคุณทางโรงพยาบาลเทพธารินทร์ ท่านศ.นพ.เทพ หิมะทองคำ และทีมงานคลินิกสุขภาพเท้า ทีมงานอาจารย์สมเกียรติ อาจารย์แพทย์ทุกท่านที่กรุณาได้ให้ความรู้แก่พวกเราทั้ง 3 คน ไว้เป็นอย่างสูง ณ ที่นี้ด้วย   หลังจากกลับจากรับประทานอาหารกันแล้ว พวกเราก็มาสรุปผลการฝึกปฏิบัติในครั้งนี้   จากสิ่งที่คาดหวังก่อนการฝึกปฏิบัติงานอาจารย์และทีมงานได้จัดตารางการเรียนการสอนการปฏิบัติงานให้เพื่อให้เราได้องค์ความรู้ตามที่เราคาดหวังไว้  พวกเรามีความประทับในการต้อนรับที่อบอุ่น ดูแลเป็นอย่างดียิ่ง ทีมงานตั้งใจที่จะให้เรามากทั้งประสบการณ์ และความรู้ต่างๆ พวกเราตั้งใจว่าจะไม่ทำให้สิ่งที่ท่านให้เรามาไปสูญเปล่า จะนำไปประยุกต์ใช้ ปรับเปลี่ยนตามตามสภาพที่เป็นอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และจะพัฒนาขยายผลไปเรื่อยๆ แล้วจะ Feedback กับไปให้ทราบเป็นระยะๆ  และอาจมีการรบกวนขอคำแนะนำ ความรู้เพิ่มเติมเป็นระยะๆ   หลังจากนั้นพวกเราได้ร่ำลาทีมงานคลินิกสุขภาพเท้าแล้ว ประมาณ 15.00น.กว่าเล็กน้อยก็ได้ไปกราบลา ศ.นพ.เทพ และอาจารย์วัลลา และได้เดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ    

                   สรุป

         สำหรับสิ่งที่คาดหวังก่อนได้รับการฝึกปฏิบัติงานมีดังนี้ 

        1.ต้องการเห็นรูปแบบการจัดบริการคลินิกสุขภาพเท้าของรพ.เทพธารินทร์เพื่อนำไปปรับใช้ในหน่วยงาน

        2.ต้องการฝึกทักษะเกี่ยวกับการตรวจคัดกรองและประเมินเท้าในผู้ป่วยเบาหวาน และแบ่งระดับความเสี่ยงที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งทักษะการดูแลเท้าที่มีปัญหาตามระดับความเสี่ยง  และได้รับความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ Neuropathy Ulcer

        3.ต้องการฝึกทักษะและมีความรู้เกี่ยวกับการดูแลเท้าเพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน ป้องกันการเกิดแผล ตลอดจนการดูแลแผล เทคนิคการทำแผลแบบใหม่ๆ เพื่อป้องกันการถูกตัดขา ในผู้ป่วยเบาหวาน

        4.ต้องการฝึกทักษะ และทำหัตการเกี่ยวกับการขูดหนังหนาและตาปลา และอื่นๆ ในผู้ป่วยเบาหวาน 

          5.อยากได้ประสบการณ์การสอนให้ผู้ป่วยดูแลสุขภาพเท้าและแผลที่เท้าด้วยตนเอง

                จากการฝึกปฏิบัติงานในครั้งนี้ภายในระยะเวลา 7 วัน สิ่งที่ได้รับมีดังนี้

          1.ได้เห็นรูปแบบการจัดบริการคลินิกสุขภาพของโรงพยาบาลเทพธารินทร์ ที่มีรูปแบบที่สมบูรณ์ ซึ่งมีความพร้อมทั้งด้านทรัพยากรบุคคล การบริการจัดการ วัสดุอุปกรณ์ ต้นทุน ต่างๆ ซึ่งแตกต่างกันมากระหว่างโรงพยาบาลรัฐบาลกับโรงพยาบาลเอกชน แต่สามารถนำไปเป็นแนวทางและประยุกต์ใช้ได้ตามความเหมาะสม  และยังได้เรียนรู้การใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ กับแนวคิดที่จะนำไปประยุกต์ใช้

         2.ได้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับดูแลสุขภาพเท้าในผู้ป่วยเบาหวานและอื่นๆ 

         3.ได้รับการฝึกปฏิบัติการประเมินเท้า และการตรวจคัดกรองเท้าและแผลที่เท้าดังนี้ 

                   3.1การซักประวัติที่เกี่ยวข้องและปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดแผลและการถูกตัดขา

                   3.2การตรวจร่างกาย

                         3.2.1ระบบประสาท เพื่อค้นหาภาวะ Neuropathy โดยการใช้ Monofilament ซึ่งเป็นการตรวจ Light touch pressure  เพื่อประเมินความรู้สึกในการป้องกันอันตราย(Loss of protective sensation)    ,การตรวจระบบประสาทสั่งการคือการตรวจหาสิ่งที่ทำให้มีจุดกดทับและกลไกการเดินผิดไป  , การตรวจระบบประสาทอัตโนมัติ ที่ส่งผลให้เกิดภาวะผิวแห้งแตกเป็นร่องและเกิดแผลได้

                         3.2.2 การตรวจระบบหลอดเลือดส่วนปลาย โดยการคลำชีพจรที่หลังเท้า และข้อเท้า ตลอดจนการใช้ Doppler Ultrasound ช่วย และการวัด ABI (ankle-brachial index) เพื่อประเมินภาวะหลอดเลือดส่วนปลายตีบตัน (Peripheral vascular disease , PVD) 

                         3.2.3 การตรวจประเมินทางด้านกระดูกและกล้ามเนื้อ เพื่อตรวจหาสิ่งที่ทำให้เกิดแรงกดทับที่ผิดไปหรือมากผิดปกติเช่นการมีโครงสร้างเท้าที่ผิดรูปร่างจาก Charcot  arthropathy  การเกิด Hammer toes, Claw toes ,Bunion ,Bony prominence เป็นต้น 

                         3.2.4 การตรวจประเมินผิวหนังและเล็บ  ตรวจหาคามผิดปกติของผิวหนังและเล็บ  เช่น Callus ตาปลา เล็บขบ  แผลต่างๆ ลักษณะผิวหนังที่ผิดปกติ 

                         3.2.5 การประเมินและการแบ่งชนิดของแผล เพื่อเป็นการประเมินความเสี่ยงต่อการถูกตัดขา ซึ่งการแบ่งชนิดของแผลอ้างอิงอยู่ 2 ระบบใหญ๋คือของ  University of Texas wound classification system ( UT) และ Maggitt Wagner classification system  นอกจากนี้ยังได้ทราบวิธีการรักษาแผลแบบใหม่ๆ เช่น Hyperbaric oxygen therapy  , vaccum dressing 

                  3.3 การประเมินรองเท้า

          4. ได้รับการฝึกปฏิบัติการขูด Callus และการตัดเล็บเท้า เทคนิคการทำความสะอาด แผล การรักษาแผลในผู้ป่วยเบาหวาน ได้รับความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพเท้า ปัญหาของเท้าในผู้ป่วยเบาหวานที่พบบ่อย และการดูแลรักษา 

          5. ได้ฝึกการดูแลผู้ป่วยที่เท้าผิfรูป เทคนิคการลดแรงกด เรียนรู้เรื่องแผ่นรองเท้าและรองเท้า  การปรับเปลี่ยนรองเท้า  การใช้เครื่องมือที่ช่วยในการประเมินแรงกดที่เท้า ได้แก่ I-step , Podoscope เทคนิค การOff loading เช่น การทำ Total contract cast  การทำ Felted foam dressing   เทคนิคการขูดหนังหนาเพื่อลดแรงกดที่เท้า และป้องกันการเกิดแผลที่เท้า 

          6. ได้เห็นประสบการณ์ที่ดีในการทำงานร่วมกันระหว่างสหสาขาวิชาชีพ ในเรื่องของการส่งต่อผู้ป่วย การติดต่อสื่อสารข้อมูลผู้ป่วยถึงกัน ซึ่งหมายถึงคุณภาพและความประสบผลสำเร็จในการดูแลผู้ป่วย 

          7. ได้เห็นรูปแบบการให้ความรู้เรื่องการดูแลเท้า และการดูแลแผลที่เท้าแก่ผู้ป่วยและความรู้ด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเบาหวาน เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถนำไปใช้ในการดูแลตนเองได้ก่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี 

          8.  ได้รับการต้อนรับที่อบอุ่น ใส่ใจดูแลพร้อมให้จากทีมผู้ให้ 

           จากสิ่งที่ได้รับมาทั้ง 7 วันนี้นับว่าบรรลุผลเกินความคาดหวัง มากเพราะความพร้อมให้ของทีม ทั้งทางด้านความรู้ความสามารถ ตลอดจนประสบการณ์ที่สั่งสม  คิดว่าถ้ามีกิจกรรมการฝึกปฏิบัติงานในรูปแบบนี้อีกควรขยายเวลาเพิ่มเป็น 10-14 วัน จะได้เพิ่มทักษะและได้เรียนรูสิ่งต่างๆเพิ่มมากขึ้น  เพราะสิ่งที่คิดว่ายังบรรลุผลน้อยก็คือยังมีทักษะน้อย ต้องได้รับการฝึกจนเกิดความชำนาญพอที่จะไปปฏิบัติต่อผู้รับบริการได้

               จากประสบการณ์การฝึกปฏิบัติงานดังกล่าวจะนำความรู้ความสามารถไปใช้เพื่อ

             1. ประยุกต์ใช้และปรับเปลี่ยนในการจัดรูปแบบคลินิกบริการการดูแลสุขภาพเท้าของหน่วยงานตามความเหมาะสมกับศักยภาพของหน่วยงาน

          2. พัฒนาระบบงาน และพัฒนาศํกยภาพของตนเองให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป 

            3. นำความรู้ไปขยายผล สร้างเครือข่ายภายในชุมชน เช่น ศูนย์สุขภาพชุมชน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในการดูแลตนเอง ซึ่งนำไปถึงสุขภาวะที่ดีของประชาชนโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน

                                                                   

     ทับทิม   ผู้บันทึก <p> </p>

หมายเลขบันทึก: 17637เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2006 00:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
เล่าเรื่องได้ดีนะทับทิม อย่างน้อยก็เป็นขุมความรู้ที่จะใช้ทบทวนสิ่งที่เรียนรู้มาได้ เก่งมาก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท