เล่าเรื่องเมืองหงสา(๑๑) ถางแล้วเผา วิถีเกษตรดั้งเดิมและความต้องการขั้นพื้นฐานของพี่น้องเผ่าเย้าบ้านนาบะโลน


เก้าจิงเขาคงนึกว่าเราตามคณะไปได้เร็วเหมือนเราเป็นชาวเย้านั่นเอง

 

สวัสดีครับ

ยามค่ำคืนในเมืองหงสาช่างเงียบสงัดราวร้างไร้ผู้คน แม้ว่าเพิ่งจะผ่านสามทุ่มไปไม่กี่นาที วันนี้ผมอยู่บ้านพักเพียงลำพัง เพื่อนร่วมบ้านอีกสองคนกลับไปเมืองไทยกันหมดแล้ว

สองสามวันมานี้ผมได้ไปทำงานกับพี่น้องเผ่าเย้า หรือที่ทางลาวเรียกว่าชาวเผ่าเมี้ยน ที่บ้านนาบะโลนซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวเย้าเพียงแห่งเดียวในเมืองหงสา ชุมชนบ้านนาบะโลนเป็นชุมชนใหม่ที่ย้ายมาจากเขตซอกหลีกห่างไกลในหุบเขา ตามนโยบายเต้าโฮมประชาชนจากที่ซอกหลีก มีจำนวนเพียงยี่สิบห้าหลังคาเรือน มีผู้เฒ่าเลาอูเป็นเจ้าก๊กเจ้าเหล่า

 

แม่บ้านสาวชาวเย้ากับภาระที่หนักทั้งหน้าและหลัง

ผมได้รับการชี้นำจากทางเมืองว่าพื้นที่รอบๆบ้านนาบะโลนยังมีที่ดินว่างเปล่าเหลืออยู่จำนวนมากสามารถขอแบ่งดินมาให้พี่น้องในโครงการของผมปลูกยางพาราได้ ซึ่งเป็นข้อมูลที่อิงตามเอกสารการถือครองที่ดิน หลังจากพบปะพูดจากับพี่น้องแล้วผมและคณะ และพี่น้องชาวบ้านก็พากันเดินขึ้นเขาลงห้วยไปสำรวจพื้นที่ เดินกันทั้งวัน ภูก็สูงซ้ำห้วยก็ลึกทำเอาคนอมโรคอย่างผมแทบจะเป็นลมแดดวันละหลายหน

พี่น้องเริ่มไปถางไร่เตรียมปลูกข้าวไร่ ข้าวโพดกัน ส่วนมากแรงงานมักมาพักแรมกันในสะนำกลางไร่ สะนำมีขนาดใหญ่โต มีการต่อรางไม้ไผ่นำน้ำมาจากยอดห้วยห่างออกไปสองสามร้อยเมตร ผมเห็นพี่น้องใช้ผลน้ำเต้าแห้งบรรจุน้ำสำรองไว้ใช้ เห็นแล้วทึ่งในภูมิปัญญาของชาวเย้า

 

สะนำชาวเย้าและระบบประปาภูเขา

ระบบการทำไร่หมุนเวียนเป็นระบบการเกษตรแบบดั้งเดิมของมวลมนุษย์โขงเขตนี้ รวมถึงของพี่น้องชาวเย้า ด้วยข้อจำกัดทางภูมิประเทศ พี่น้องก็ต้องปลูกข้าวไร่บนเขาไว้เลี้ยงครอบครัว และการเผาก็เป็นวิธีเดียวที่สามารถเตรียมพื้นที่ก่อนปลูก ผมเลือกใช้คำว่าไร่หมุนเวียนแทนคำว่าไร่เลื่อนลอย เพราะอันที่จริงพี่น้องชาวดอยจะจับจองที่ดินไว้สามแปลงแล้วหมุนเวียนทำไร่ซ้ำในพื้นที่ที่จับจองไว้หาได้ถางป่าใหม่ตามที่เข้าใจกันไม่ ผมเริ่มกังวลใจที่ทางการลาวมีนโยบายยุติการทำไร่หมุนเวียนภายในปี ๒๐๑๐ หากไม่มีการส่งเสริมพืชยืนต้นมาช่วยเหลือแล้วพี่น้องชาวภูชาวดอยคงลำบากแน่

ระหว่างที่เดินสำรวจที่ดินแต่ละแปลงทีมงานได้สอบถามถึงจำนวนคนและแรงงานในครอบครัวไปด้วย ที่ดินที่แต่ละครอบครัวจับจองไว้ก็มีเพียงตามกำลังแรงงานของเขารายละสี่ห้าเฮกตร์เท่านั้น  แปลงของเก้าจิงตอบว่าครอบครัวเขามีสิบสามคนมีแรงงานสามคนนอกนั้นเป็นเด็กและคนชรา ในขณะที่แปลงของต่อนเอี่ยนตอบว่าบ้านเขามีคนสิบห้าคนมีแรงงานทำไร่เพียงสองคน ผมได้ยินคำตอบเพียงสองครอบครัวคิดต่อไปว่าหากลูกๆเขาโตขึ้นข้าวจะพอกินหรือ ก็ตัดสินใจได้แล้วว่าจะเขียนบทรายงานอย่างไร วันพรุ่งนี้ผมจะทำรายงานว่าผมไม่ต้องการที่ดินของชาวเย้าบ้านนาบะโลนแล้ว เก็บไว้ให้เด็กๆเถอะ ไม่เป็นไร  

ผมจะไปหาที่แถวห้วยนุ่นแทน แม้ว่าจะต้องเดินไกลสองสามชั่วโมงก็เถอะ

 

ภูมิปัญญาชาวเย้าใช้กาบกล้วยหุ้มเป็นฉนวนกันไฟให้ต้นไม้ก่อนเผาไร่

หลังอาหารกลางวันผมเดินผ่านไร่ที่เตรียมจะเผา เห็นพี่น้องใช้กาบกล้วยหุ้มต้นมะม่วง ต้นส้ม ที่ปลูกได้ประมาณปีกว่าๆ เขาบอกว่าช่วยกันไฟตอนที่เขาเผาไร่ นับเป็นภูมิปัญญาที่น่าทึ่งอีกอย่าง เห็นอย่างนี้แล้วก็ใจชื้นขึ้นมาว่าอย่างไรเสียอีกสี่ห้าปีไร่แห่งนี้คงจะกลายเป็นป่าอีกครั้ง แม้ว่าจะเป็นป่าไม้ผลก็เถิด วันนี้แม้พี่น้องจะถางไร่จุดไฟเผาสวนบ้างก็ด้วยความจำเป็น

คณะของเราเริ่มไต่ขึ้นหาทางรถบนสันภู ผมเดินรั้งท้ายเช่นเคยทำทีเป็นหยุดถ่ายรูปเพื่อพักเหนื่อยอยู่หลายครั้ง ผมเริ่มได้ยินเสียงปะทุของไฟไหม้หญ้า เสียงดังใกล้เข้ามาเรื่อยๆอย่างรวดเร็วพร้อมควันไฟ ในตอนแรกยังหยุดบันทึกรูปอยู่(ก็คนไม่เคยเห็นเขาเผาไร่จริงๆนี่นา ตอนช่วยเพื่อนทำวิจัยเรื่องไฟป่าที่มช.ก็มีพนักงานช่วยดับไฟเป็นร้อย)

อีกสักพักได้ยินเสียงระเบิดของปล้องไม้ไผ่ดังราวกับมีการปะทะต่อสู้ ท่ามกลางเปลวไอความร้อนที่เริ่มแพร่มาถึง ควันไฟทะถั่งมามืดฟ้ามัวดิน แสบตาน้ำตาไหลพราก หายใจอึดอัด ผมล้มลุกคลุกคลานชนต้นไม้บ้าง สะดุดก้อนหินบ้าง ขึ้นมาถึงรถที่สันเขาอย่างหมดแรง อ้ายน้องร่วมทีมหัวเราะกันยกใหญ่

 

เผาไร่

นึกถึงสภาพตอนที่หนีไฟ แล้วคิดอยากเขียนรายงานขอแบ่งที่ดินของเจ้าเก้าจิงจริงๆที่จุดไฟเผาไล่เราเกือบตาย แต่เมื่อนึกถึงตาดำๆสิบคู่ของลูกๆเขาแล้วก็แล้วกันไป เรามัวแต่หยุดถ่ายรูปเอง เก้าจิงเขาคงนึกว่าเราตามคณะไปได้เร็วเหมือนเราเป็นชาวเย้านั่นเอง

ด้วยประสบการณ์ที่พบ ยืนยันว่าการเผาไร่ทำลายทั้งพืชและสัตว์เล็กสัตว์น้อยที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นจริงๆ ลมร้อนที่เกิด ควันไฟและเขม่าที่หนาแน่น ก็ล้วนน่ากลัว ยุติการถางไร่เผาไร่ เป็นเรื่องที่ต้องสืบต่อช่วยกัน แต่ทั้งนั้นทั้งนี้ก็ต้องหาทางช่วยเรื่องปากเรื่องท้องของพี่น้องบรรดาเผ่าด้วยครับ

 

หมายเลขบันทึก: 175964เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2008 07:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • สวัสดีค่ะ อาจารย์คะ
  • แวะมาอ่าน ความรู้ดี ๆ ค่ะ
  • เท่าที่อ่าน ชาวบ้านที่นี่ มีอะไรน่าสนใจนะคะ แต่ไม่ได้รับการพัฒนาอย่างถูกต้อง และชี้นำให้เขารู้ว่าอะไร คือ ผลดี อะไรคือ ผลเสีย
  • การเผาป่า เผาไร่ ทำลายมวลทรัพยากรธรรมชาติ พืช สัตว์ สิ่งแวดล้อม อื่นๆ ฯลฯ อย่างมหันต์ เลยทีเดียว
  • แต่เขาก็มีธรรมชาติ ที่ เป็นที่พึ่งพา ช่วยเหลือเกื้อกูล ให้เขาอยู่ได้เช่นกัน
  • ขอบคุณค่ะ

ดูแล้วไม่ค่อยต่างจากบนดอยแถบเหนือที่ผมเคยทำงานอยู่

- ภูมิปัญญาการกันไฟลวกต้นไม้ น่าสนใจมากครับ

สวัสดีครับคุณเป ลี่ ยน

            น่าสงสารเขานะครับ...อีกนานกว่าตรงนั้นจะเป็นเมือง...สืบทอดทายาทของเขา...และอีกนานหลายร้อยปี...กว่าตรงนั้นจะมีศูนย์การค้า....ดูท่าแล้วว่า พิซซ่า...มิสเตอร์โดนัท...เคเอฟซี คงจะบุกไปถึงตรงนั้นยาก...อิอิ

                                                โชคดีครับ

อ้าย

ปีหน้าจะขอทุนไปวิจัยที่ลาว กำลังเล็ง อ้ายมองหาพื้นที่ศึกษาให้หน่อยเด้อ

แล้วน้องสิตามไป

  • ปัญหาใหญ่ของคนบนพื้นที่สูง และคนในถิ่นที่ห่างไกลคือ"ข้าว"ไม่พอกิน
  • ความต้องการหลักของเขาเหล่านั้นก็คือ "ข้าว"
  • ดังนั้นเขาคิดถึงแต่ เพื่อให้ได้มาซึ่ง "ข้าว" อย่างอื่นเอาไว้ก่อน
  • แต่ผมก็ว่าเขายังมีจิตใจที่งดงาม ที่ผลิต (ที่เราอาจเห็นว่าเป็นการทำลายบางอย่าง) แต่เขาก็ทำเพียงพอเลี้ยงตัว "พอเพียง"
  • คงไม่เหมือนกับคนที่คิดว่าเป็นผู้อยู่ในเจริญแล้ว  แต่กลับมีความต้องการมากกว่าเพื่อการเลี้ยงตัวเอง  มีความโภลมากกว่า จึงทำลายได้มากกว่าพี่น้องในพื้นที่ห่างไกลมากมายหลายเท่าตัว  แม้จะอยู่ห่างไกลก็สามารถเข้าไปทำลายได้
  • อิอิ....แต่การวิ่งหนีไฟ  ไม่สนุกเลยนะครับ
  • ขอบคุณมากครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท