เล่าเรื่องเมืองหงสา(๑๐): ฮีตลูกเขยชาวขะมุพาสะใภ้กลับไปเยี่ยมพ่อตาแม่ยาย


ในหมู่ชาวขะมุเขาถือกันว่าหากน้องแต่งงานก่อนจะทำให้พี่ไม่ได้ออกเรือน

 

สวัสดีจากเมืองหงสาครับ

วันนี้ไปเยี่ยมชุมชนบ้านห้วยเยออีกครั้งครับ บ้านห้วยเยอเป็นชุมชนเล็กๆของชาวขะมุ ที่ผมไปเยี่ยมเยียนเมื่อไรก็พบเจอเรื่องราวน่าประทับใจที่เป็นอัตลักษณ์ของชาวขะมุให้พบเห็นและนำมาเล่าสู่กันฟังแทบทุกครั้ง วันนี้มีสองเรื่องที่น่าสนใจครับ

เมื่อแรกเข้าไปถึง รถหยุดที่บ้านนายบ้านเหมือนที่เคยทำเป็นปกติ คนลาวเรียกว่า ไปให้ลามาให้คอบ(แจ้ง หรือบอกกล่าว) แต่บ้านนายบ้านวันนี้เงียบเชียบไม่เห็นผู้คน สักครู่ใหญ่เห็นรองนายบ้านวิ่งมาเชิญไปที่บ้านพร้อมแจ้งว่านายบ้าน คาเวียก = ติดงาน อยู่ในป่า ขอเชิญเจ้านายไป เฮดเวียกที่บ้านเขา

ระหว่างทางขึ้นเนินไปบ้านรองนายเราผ่านบ้านผู้เฒ่าแนวโฮม (ตำแหน่งผู้อาวุโสประจำหมู่บ้านที่ได้รับเลือกให้สังกัดพรรคฯโดยมากจะเป็นนายบ้านเก่าที่หมดวาระ) ที่บ้านผู้เฒ่าแนวโฮมบ้านห้วยเยอวันนี้คึกคักเป็นพิเศษ  แต่น่าแปลกใจที่คณะของเราไม่ได้ถูกเชื้อเชิญให้แวะร่วมงาน รองนายบ้านเล่าว่าเขากำลัง เฮดฮีตกันอยู่ (เข้าใจว่าต้องเป็นพิธีกรรมที่เขาทำกันเฉพาะภายในแน่ๆ) สอบถามท่านแนวลาวสร้างชาติที่เป็นหัวหน้าคณะไปด้วยกัน โชคดีที่ท่านเป็นชาวขะมุ เลยได้รับข้อมูลที่ชัดแจ้งว่า เป็นขั้นตอนหนึ่งของพิธีแต่งงานนั่นเอง พร้อมกันนั้นผมก็อาศัยความกลมกลืนของรูปร่างหน้าตาแทรกตัวในหมู่พี่น้องชาวขะมุ และได้สังเกตการณ์อย่างใกล้ชิดแล้วนำมาขอคำอธิบายจากท่าน จันไตย สหายแนวลาวสร้างชาติภายหลัง

อ้ายจันไตยอธิบายว่าเป็นวัน พาสะใภ้กลับมาเยี่ยมพ่อตาแม่ยาย กล่าวคือคู่สมรสนี้แต่งงานแล้วพาเจ้าสาวออกไปอยู่บ้านเจ้าบ่าวเลย พอได้สองสามวันจึงพากันกลับมาเยี่ยมบ้านของเจ้าสาวซึ่งก็อยู่ในหมู่บ้านเดียวกันนั่นเอง ผมเห็นคู่แต่งงานใหม่ไหว้คาราวะพ่อแม่ฝ่ายภรรยาด้วยเสื้อผ้าชุดใหม่ ฝ่ายพ่อแม่ก็ให้โอวาท และแบ่งปันทรัพย์สินวัวควายให้ไปตั้งตัว เรียกเงิน/ทรัพย์สร้างตัว เปรียบไปแล้ว ก็เหมือนกับการ สมมา รับไหว้ ยกน้ำชา ของพี่น้องทางภาคอีสาน ภาคกลาง และพี่น้องเชื้อสายจีนนั่นเอง

แต่ที่ผมเห็นแตกต่างออกไปก็คือ ผมเห็นเขาให้คนวัยหนุ่มสาวสองคนนั่งบนเก้าอี้  แล้วให้คู่แต่งงานใหม่ถือดอกไม้ธูปเทียนไหว้ตั้งแต่เท้าของทั้งคู่ขึ้นไปจนถึงศีรษะ ท่านจันไตยได้อธิบายว่า เป็นการขอขมา ต่อพี่ชาย พี่สาวของเจ้าสาว ที่น้องสาวออกเรือนก่อนพี่ทั้งสองคน ในหมู่ชาวขะมุเขาถือกันว่าหากน้องแต่งงานก่อนจะทำให้พี่ไม่ได้ออกเรือน

 

พาข้าวชาวขะมุบ้านห้วยเยอ

เรื่องที่ประทับใจอีกเรื่องหนึ่ง ก็คือ ผมไปพบครอบครัวหนุ่มสาวนักพัฒนาชุมชน ที่เรียนจบแล้วมาแฝงตัวอยู่ในหมู่บ้าน ทั้งคู่เป็นชาวหลวงพระบาง ได้รับงบประมาณจากรัฐให้มาประจำในชุมชน มิน่าไปห้วยเยอคราวนี้ผมเห็นความสะอาดสะอ้านผิดหูผิดตา มีป้ายรนณรงค์รักษาความสะอาด มีถังขยะ มีห้องน้ำครบ มีแผนการพัฒนาหมู่บ้านขึ้นป้ายไว้ที่บ้านผู้นำ มีการเพาะปลูกพืชใหม่ๆ เห็นแล้วผมอดชื่นชมน้องนักพัฒนาทั้งสองไม่ได้ อดชื่นชมรัฐบาลลาวไม่ได้ เมื่อไรหนอ ที่รัฐบาลพี่ไทยจะจัดงบจ้างนักพัฒนาไปประจำหมู่บ้านท้องถิ่นที่ห่างไกลอย่างนี้บ้าง ผมอดคิดถึงเพื่อนกุ้ยกับครอบครัว(เจ้าคมเคียว กับเจ้าขวัญข้าว)ที่ดงหลวงไม่ได้ และผมก็นึกถึงน้องสาวทั้งหลายของอินแปง ที่ทั้งหมดต่างทำงานในชุมชนเช่นเดียวกันนี้ หากแต่ขาดการเหลียวแลจากภาครัฐ ไม่เหมือนน้องชาวลาวทั้งสองคนนี้

วันนี้ผมจากบ้านห้วยเยอมาด้วยอารมณ์สับสนครับ

หมายเลขบันทึก: 175889เขียนเมื่อ 8 เมษายน 2008 16:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ฝนโปรยกลางหน้าร้อน ลูกยางลอยตามสายลมมาครับ มาบอกว่า สวัสดีสงกรานต์ล่วงหน้าครับ

Wfraw

สวัสดีครับท่านเปลี่ยน

  • แต่ละบ้าน แต่ละถิ่น แต่ละเผ่าพันธุ์ แต่ละเชื้อชาติ วัฒนธรรมประเพณี มักผิดเพี้ยนแตกต่างกันไปตามความเชื่อหรือปฏิบัติสืบทอดกันมา ใช่ไหมครับ
  • ขอบคุณที่นำเรื่องดีๆมาแบ่งปันให้ทราบ
  • ขอให้สนุกในวันหยุดสงกรานต์นะครับ
  • แวะมาอ่านครับ
  • ประเทศไทยตอนนี้เค้าว่าเรากำลังแข่งกับเวียดนาม
  • ดูรายการ คุณสรยุทธ เชิญเจ้าสัวซีพีมาพูด
  • สมัยก่อนแข่งกับญี่ปุ่น จีน กาหลีใต้ ต่อมาเป็นเวียดนาม
  • ต่อไปต้องไม่มีใครให้แจ่งคงต้อง แข่งกะตัวเอง นะครับ
  • สวัสดีค่ะ อาวปาลี
  • ไปเสียบเรียบ ไกด์เค้าพูดถึงเรื่องการจัดสรรที่ทำกินให้ประชาชนทำให้คิดถึงอาวไม่น้อย
  • สู้ๆเด้อ
  • พ้อกันที่ภูเก็ต ส่งข่าวสารมากับนกพิราบขาวให้หน่อยจะติดต่อกันได้อย่างไร
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท