รายงานการจัดกิจกรรมค่ายภาษาไทยเพื่อพัฒนาการอ่านการเขียน


รายงานการจัดกิจกรรมค่ายภาษาไทยเพื่อพัฒนาการอ่านการเขียน

    ชื่อเรื่อง   รายงานการจัดกิจกรรมค่ายภาษาไทยเพื่อพัฒนาการอ่านการเขียน
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
ผู้วิจัย  นางสุภาพ  ปูนอน  ตำแหน่งครู  วิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ 
โรงเรียน โรงเรียนบรบือ(บรบือราษฏร์ผดุง)  สำนักงานพื้นที่การศึกษามหาสารคาม  เขต  1
ปีที่พิมพ์  2552


บทคัดย่อ
 การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาไทย ส่วนมากยังไม่สนองความแตกต่างระหว่างบุคคล
ไม่สอดคล้องกับวิธีการเรียนรู้และความต้องการของผู้เรียนทำให้ผู้เรียนขาดความสนใจเรียนและ
ทักษะกระบวนการเรียนรู้และการคิดที่ดี การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบฐานความรู้ จึงเป็นแนวทางในการพัฒนาการเรียนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อศึกษาพฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่เรียนด้วยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาไทย แบบฐานความรู้ เพื่อหาค่าดัชนีประสิทธิผลของแบบฝีกทักษะเพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังเข้าร่วมกิจกรรมค่ายภาษาไทยเพื่อพัฒนาการอ่านการเขียน  และศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่มีต่อกิจกรรมค่ายภาษาไทยเพื่อพัฒนาการอ่านการเขียน กลุ่มผู้ร่วมวิจัยประกอบด้วย ผู้วิจัยและครูผู้สอนภาษาไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 1  -  6   จำนวน 6 คนกลุ่มเป้าหมายในการวิจัย  ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่  4 โรงเรียนบ้านบรบือ (บรบือราษฏร์ผดุง)  ปีการศึกษา  2550  จำนวน 162 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง(Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย 6 ชนิด  คือ แบบฝึกหัด/ใบงานประกอบฐานวิชาการ  ประกอบด้วย 8 ฐานวิชาการ   แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย  ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้กิจกรรมค่ายภาษาไทยเพื่อพัฒนาการอ่านการเขียน  แบบสัมภาษณ์เกี่ยวกับกับกิจกรรมค่ายภาษาไทยเพื่อพัฒนาการอ่านการเขียน  เป็นแบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง  โดยสัมภาษณ์ครูและนักเรียน  แบบสังเกตพฤติกรรมของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เกี่ยวกับการเข้าค่ายภาษาไทยเพื่อพัฒนาการอ่านการเขียน  เป็นแบบสังเกตพฤติกรรมแบบวัดความพึงพอใจของนักเรียนต่อกิจกรรมค่ายภาษาไทยเพื่อพัฒนาการอ่านการเขียน  สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่  ค่าเฉลี่ย  ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและการทดสอบค่าที(t-test Dependent  Sample)


 ผลการศึกษาปรากฏผลดังนี้
  1.  นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่  4  มีพฤติกรรมเกี่ยวกับกิจกรรมค่ายภาษาไทยเพื่อพัฒนาการอ่านการเขียน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โดยรวมการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก  เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า การปฏิบัติอยู่ในระดับมากทุกข้อ โดยนักเรียนมีความสนใจในการอ่าน การเขียนในกิจกรรม  นักเรียนได้แสดงความสามารถมีผลงานและได้สร้างชิ้นงานและนักเรียนเห็นความสำคัญของการอ่านการเขียน 
  2.  พฤติกรรมการเรียนของนักเรียนจากการทำแบบฝึกทักษะและการตอบคำถาม มีคะแนนเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 82.38  ส่วนข้อมูลพฤติกรรมการเรียน ปรากฏผลดังนี้
   2.1  ด้านความรู้ความเข้าใจ นักเรียนได้ใช้ทักษะทางภาษาเป็นพื้นฐานในการหาความรู้และการฝึกคิดวิเคราะห์จากการอ่านเรื่องใหม่ทั้งร้อยแก้ว ร้อยกรอง  บทความและเรื่องสั้นนักเรียนได้ฝึกอ่านแล้ววิเคราะห์ จับใจความสำคัญ บอกข้อคิดจากเรื่องและบอกสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่จะนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ในขณะเดียวกันยังเป็นฐานในการพัฒนาด้านอื่น ๆ ไปพร้อมกัน นักเรียนได้ขยายความรู้ของตนเองจากการอ่านเพิ่มขึ้นได้เรียนรู้คำใหม่ที่อยู่ใกล้ตัวเพิ่มมากขึ้น และการร้องหรืออ่านบทร้องเล่นในท้องถิ่น ทำให้นักเรียนเห็นความงดงามทางภาษาและฝึกทักษะจากกิจกรรมปริศนาคำทาย  คำคล้องจอง  สำนวนภาษาและเกมทางภาษาอื่น ๆ
   2.2  ด้านคุณลักษณะที่พึงประสงค์ จากการสังเกตการปฏิบัติกิจกรรมนักเรียนจะปฏิบัติอย่างมีความสุข มีความกระตือรือร้นในการเรียนและตั้งใจเรียนดีมาก มีความภูมิใจในผลงานร่วมกันให้ความช่วยเหลือให้คำปรึกษาหารือกันภายในกลุ่มเป็นอย่างดี
   2.3  ความสามารถในการปฏิบัติกิจกรรม นักเรียนสังเกตสิ่งที่อยู่รอบตัว
ในชีวิตประจำวันที่เป็นทั้งธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น และการเรียนรู้การทำงานกับบุคคลและสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวสามารถเลือกใช้วัสดุต่าง ๆ มาทำงานอย่างปลอดภัยและประหยัด การเรียนรู้
การอยู่ร่วมกันในสังคมใกล้ตัว แล้ววิเคราะห์สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง นักเรียนได้เรียนรู้ธรรมชาติที่เป็นวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น บทร้องเล่นของเด็ก นิทานพื้นบ้าน ซึ่งครูให้นักเรียนได้เรียนรู้จากผู้ปกครองและภูมิปัญญาในท้องถิ่นเพิ่มขึ้นอีก สังเกตได้ว่านักเรียนชอบที่จะเรียนวิชาภาษาไทยมากขึ้น
  3. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 หลังเข้าร่วมกิจกรรมค่ายภาษาไทยแต่ละฐาน โดยรวมมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 65.53 คิดเป็นร้อยละ 81.91  เมื่อพิจารณาแต่ฐานพบว่า นักเรียนมีคะแนนเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 80 ทุกฐาน เรียงตามค่าเฉลี่ยมากไปหาน้อย ดังนี้ ฐานปริศนาน่าทาย มีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 8.31 คิดเป็นร้อยละ 83.15 รองลงมาคือฐานต้มยำคำไทยมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 8.29 คิดเป็นร้อยละ 82.90 และฐานการสร้างคำนำความคิด มีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 8.28 คิดเป็นร้อยละ 82.78 
  4.  นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่เรียนด้วยการจัดกิจกรรมค่ายภาษาไทยเพื่อพัฒนาการอ่านการเขียน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย มีคะแนนเฉลี่ยก่อนเรียนเท่ากับ 13.96 คิดเป็นร้อยละ 34.92 และคะแนนเฉลี่ยหลังเรียนเท่ากับ 32.82 คิดเป็นร้อยละ 82.07
  5.  นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่เรียนด้วยการจัดกิจกรรมค่ายภาษาไทยเพื่อพัฒนาการอ่านการเขียน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย มีคะแนนเฉลี่ยก่อนเรียน และหลังเรียน แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
  6.  นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 มีความพึงพอใจต่อกิจกรรมค่ายภาษาไทยเพื่อพัฒนาการอ่านการเขียน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โดยมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด( =4.52) เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด 7 ข้อและอยู่ในระดับมาก 7 ข้อ เรียงตามค่าเฉลี่ยมากไปหาน้อย 4 อันดับแรก คือ ฉันร่วมกิจกรรมอย่างกระตือรือร้นและทำด้วยความเต็มใจ   กล้าแสดงความคิดเห็นร่วมกับเพื่อนพอใจในการเรียนที่กระตุ้นให้คิดและการแสดงออกที่ดีฉันชอบและพอใจในการเรียนภาษาไทย
โดยสรุป การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบฐานความรู้ จึงเป็นแนวทางในการพัฒนาการเรียนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเหมาะสม สามารถนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยเรื่องอื่นๆ ได้

 


สุภาพ  ปูนอน

หมายเลขบันทึก: 175777เขียนเมื่อ 7 เมษายน 2008 22:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 21:11 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท