พุทธศาสนากับแนวคิดทางการเมืองสมัยร.1


ผู้นำฝ่ายสงฆ์ ให้ความสำคัญ แก่การนับถือศาสนา ที่กาย ในขณะที่ ผู้นำทางโลก ให้ความสำคัญ แก่การนับถือ ศาสนาที่ใจ?

ฟ้าครับ

ผมกำลังอ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ "พุทธศาสนากับแนวคิดทางการเมืองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (พ.ศ. ๒๓๒๕ - ๒๓๕๒)" เขียนโดย สายชล สัตยานุรักษ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำนักพิมพ์มติชน

พุทธศาสนากับการเมืองสมัยร.1

หนังสือเล่มนี้ซื้อไว้นานแล้ว แต่หลายวันมานี้หยิบมาอ่าน เพราะเบื่อบทบาทของสื่อมวลชน และนักการเมืองไทยบางจำพวก ในยามที่บ้านเมือง พ.ศ. นี้ถึงยุคที่กลุ่มศาสนา ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยท่าทีแข็งกร้าว และมุ่งเผชิญหน้า

ผมพบว่าหนังสือเล่มนี้เขียนได้ดีมาก หลังจากที่ไม่ได้อ่านแนวนี้ค่อนข้างนานนับตั้งแต่ "การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี" ของอาจารย์นิธิ ความรู้สึกที่คล้าย ๆ กันคือ เป็นงานเขียนที่อยู่บนฐานของการวิจัยอย่างเข้มข้น แล้ววิเคราะห์เรียบเรียงขึ้นอย่างเป็นขั้นตอนที่มี logical flow สละสลวย ที่น่าทึ่งคือเป็นหนังสือวิชาการที่ไม่เอียน แม้จะอ้างอิงมากมายแต่อ่านแล้วไม่สะดุด ชวนติดตาม

ท่าทีของผมที่มีต่อการอ่านหนังสือเล่มนี้คือ ไม่เชื่อข้อมูลทุกอย่างที่อ้าง สังเกตหาความขัดแย้งในตัวเองของท้องเรื่องที่นำเสนอ ชั่งน้ำหนักเหตุผล และตั้งเป้าทำความเข้าใจกับวิวัฒนาการของพุทธศาสนาในบ้านเรา เท่าที่อ่านไปได้ประมาณร้อยละ 80 แล้ว ก็ไม่พบความขัดแย้งใหญ่ ๆ นอกเหนือไปจากข้อขัดกันเล็ก ๆ ของข้อมูลอ้างอิง ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับเอกสารประวัติศาสตร์

พอสลับฉากจากหน้าหนังสือมายังเหตุการณ์ปัจจุบันรอบตัว ก็พบว่าน่าประหลาดใจที่เวลาสองร้อยปีผ่านไป แม้โลกเข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์เต็มรูปแบบแล้ว เรายังมีพระมหากษัตริย์ ที่เป็นที่เคารพสักการะ เป็นศูนย์รวมของศรัทธา (อาจจะยิ่งกว่าสมัยก่อน) และยังมีพระพุทธศาสนาคอยกำกับ และเป็นแบบอย่างการดำเนินชีวิต สิ่งนี้น่าอัศจรรย์มาก

แน่นอนว่าเนื้อหาของศาสนา และบทบาทต่อสังคมย่อมเปลี่ยนไปบ้าง แต่ก็ยังเปลี่ยนช้ากว่าโลกของฆราวาส ผมเริ่มต้นอ่านหนังสือด้วยความคิดอคติ (bias) ว่าพุทธศาสนาเมื่อสองร้อยปีก่อน คงจะเต็มไปด้วยอภินิหาร คำสอนในสิ่งที่เหนือธรรมชาติ และพิธีกรรมที่สร้างความตะลึง (strike awe) เพื่อโน้มน้าวให้คนศรัทธา หรือไม่ก็คงเป็นคติธรรมหรือคำสอนแบบบาลี ที่ยากที่คนทั่วไปจะเข้าใจ การมี bias ของผมเป็นไปโดยจงใจ เหมือนกับการตั้งสมมติฐานก่อนทำการทดลอง ผมมักทำเช่นนี้เพื่อให้มีจุดอ้างอิงและโฟกัส แล้วจับตาดูว่าสิ่งที่พบเหมือนหรือต่างจากที่เราคิดไว้อย่างไร

สิ่งที่พบจากหนังสือเล่มนี้กลับเป็นตรงกันข้าม กล่าวคือ ในสมัยรัชกาลที่ 1 แม้ชนชั้นนำจะไม่สามารถสลัดความคิดที่เชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติออกไปได้อย่างสิ้นเชิง แต่ก็มีความคิดและความพยายามอย่างมาก และเป็นรูปธรรม ที่จะมุ่งไปสู่ความคิดที่มีลักษณะมนุษยนิยม สัจจนิยม และเหตุผลนิยมมากขึ้น เช่น

...โดยบุคลิกภาพส่วนพระองค์ รัชกาลที่ 1 ทรงมีความคิดอย่างกระฎุมพีชัดเจน คือไม่ถือเคร่งครัดในเรื่องโชคลาง และจารีตประเพณีเก่า ๆ หากแต่เชื่อมั่นอย่างมากในสติปัญญาของมนุษย์ ว่าจะนำไปสู่ความสำเร็จในโลกนี้ได้ ...ในปีแรก ๆ ที่สถาปนาราชอาณาจักรรัตนโกสินทร์ ทรงตราพระราชกำหนดบทพระไอยการหลายฉบับเพื่อ "อธิบาย" หลักคำสอนของพุทธศาสนาในแนวนี้ (หนังสือยกตัวอย่างมากมาย)

... สำหรับการบวชเป็นสงฆ์ ก็เน้นว่าเพื่อจะได้ดำรงศีลบริสุทธิ์ "เปนที่ตั้งแก่สมาธิปัญาวิปัศนามาคญาณ" โดยไม่กล่าวถึงในแง่พิธีกรรมที่จะให้ได้บุญแล้วแผ่ส่วนบุญแก่ผู้อื่นเลย (นี่เป็นความคิดที่ก้าวหน้าไปกว่าปัจจุบันที่พบเห็นบ่อย ๆ ด้วยซ้ำนะครับ)

... ทรงมีข้อวิมัติสงสัยต่อความรู้ทางพุทธศาสนาใน "พระบาลี" อยู่เสมอ ทรงมีพระราชปุจฉาโต้แย้งกับพระราชาคณะในหลายประเด็น หลายครั้ง บ่อยครั้งทรงยกเนื้อความใน "พระบาลี" ที่ขัดแย้งกัน หรือที่มีเนื้อความไม่สมเหตุสมผล ขึ้นมาให้พระราชาคณะช่วยกันวินิจฉัยหาข้อยุติ น่าสังเกตด้วยว่าบางเรื่องทรงไม่เห็นด้วยกับ "พระบาลี" และทรงเสนอพระราชดำริในเรื่องนั้น ต่อพระราชาคณะ

แต่ดูเหมือนฝ่ายพระราชาคณะจะไม่ค่อยเห็นด้วยกับการสร้างสรรค์ความเข้าใจพุทธศาสนาอย่างมีเหตุมีผลนัก กลับยึดเอาพระวินัยปิฎกตามตัวอักษร จนผู้เขียนสรุปอย่าง ironic ว่า ผู้นำฝ่ายสงฆ์ให้ความสำคัญแก่การนับถือศาสนาที่กาย ในขณะที่ผู้นำทางโลกให้ความสำคัญแก่การนับถือศาสนาที่ใจ

... "ไตรโลกวินิจฉยกถา" เป็นหนังสือสำคัญอย่างยิ่ง ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงมีพระราชโองการ ให้แต่งขึ้นตั้งแต่ปีแรกที่สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งนี้ผู้แต่งได้เลือกสรรหลักคำสอนจากพระไตรปิฎกและคัมภีร์อื่น ๆ ทางพุทธศาสนาที่เห็นว่า มีความหมายสำคัญแก่สังคมในเวลานั้น มารวบรวมขึ้นเป็นเรื่องราวที่มีเอกภาพ ให้คำอธิบายแก่ส่วนสำคัญต่าง ๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นจักรวาลอย่างครบถ้วน โดยเน้นเรื่องของมนุษย์และรัฐอย่างมาก นับว่าเป็นความพยายามที่จะสถาปนา "โลกทรรศน์ใหม่" ให้แก่คนในสังคม ... ผู้แต่งไม่ให้ความสำคัญแก่ประณามพจน์ และการเขียนคัมภีร์ทางศาสนา ในแง่ของพิธีกรรมเลย หากแต่แต่งโดยสำนึกว่าคัมภีร์ที่ตนแต่งขึ้นจะช่วยเสริมสร้างปัญญาความรู้แก่ผู้อ่าน ... สำหรับอุบาสกอุบาสิกา ไม่ควรถือฤกษ์ยามหรือนิมิตต่าง ๆ ...

... "ไตรโลกวินิจฉยกถา" เน้นความสำเร็จทางจิตซึ่งอาจทำได้ในชาตินี้ อันทำให้จุดหมายปลายทางของชีวิตหันมาอยู่ในโลกนี้มากขึ้น

ครับ ทั้งหมดนี้ทำให้ผมต้องหันมาทบทวนอีกครั้งว่า พุทธศาสนาของเราอาจไม่ได้วิวัฒนาการไปมากเลย นับตั้งแต่สมัยร. 1 เพราะเราค่อนข้าง "ก้าวหน้า" อยู่มากแล้วตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์

สิ่งที่จริงแท้ไม่เปลี่ยนแปลงคือ ชนชั้นนำทางการเมือง ที่เป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลง ย่อมควบคุมความเปลี่ยนแปลงนั้น ให้สอดคล้อง กับผลประโยชน์ของตนด้วย แต่นี่เป็นประเด็นรองที่ผมไม่ให้ความสนใจนัก เพราะไม่ใช่เรื่องใหม่

ผมเพียงบันทึกเอาไว้เพื่อเล่าสู่กันฟัง เนื่องจากผมไม่ใช่คนที่รู้และเข้าใจเนื้อหา ในเรื่องพุทธศาสนาและประวัติศาสตร์มากนัก หากท่านผู้รู้ใดเผอิญผ่านมาอ่าน และจะกรุณาให้ความรู้ของท่านแนะนำ ต่อเติมความรู้ก็จะยินดีอย่างยิ่งครับ

ขอกลับไปกล่อมน้องฟ้าก่อนครับ เธอร้องเรียกแล้ว...

 

หมายเลขบันทึก: 17575เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2006 13:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 18:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์

เรียนคุณนเรศ

ผมแปลกใจตัวเองมากว่าทำไมเพิ่งมาเห็น/อ่านข้อความของคุณเกี่ยวกับหนังสือของสายชล

คงต้องเรียนว่าขอบคุณครับ  และหากว่าคุณนเรศมีโอกาสกลับมาอ่านข้อความนี้

( ๗-๘ปีผ่านไป คงจะไม่กลับมาแล้วกระมัง ) ผมจะเรียนว่าเรามีบทความอะไร จะส่งไปแลกเปลี่ยนความรู่้กันนะครับ

ขอบคุณครับ

อรรถจักร์

 

 

ขอบคุณครับคุณอรรถจักร์ พอดีเพิ่งเมื่อสองสามวันนี้ได้มีโอกาสหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอีกครั้งตอนที่จัดชั้นหนังสือครับ ช่วงหลังนี้มีเวลาอ่านหนังสือน้อยลง ยังไงมีอะไรดี ๆ ช่วยแชร์กันด้วยนะครับ

นเรศ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท