ไฉน
นาย ประกาศิต ปอ ประกอบผล

พระพุทธรูป


พุทธะ หมายถึง ผู้รู้ มีปัญญาเห็นอริยสัจ ผู้ตื่น จากความหลงงมงาย และ ผู้เบิกบาน ด้วยจิตบริสุทธิ์แจ่มใสไม่เศร้าหมอง

                  พรุ่งนี้วันพระจึงขอกล่าวถึงลักษณะแห่งพระพุทธรูป เพื่อเป็นอนุสติ หรือพุทธานุสสติ เป็นการตัดตอนมาจากบทความ "อุปกรณ์สำคัญและความหมายในพิธีกรรมพระพุทธศาสนา" ที่ได้รวบรวมเรียบเรียงไว้

 

พระพุทธรูปเป็นสิ่งสำคัญสุดในการประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา พระพุทธรูปเป็นสิ่งแทนพระพุทธองค์ เป็นสิ่งเคาพรกราบไหว้ เครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวพุทธ เป็นพุทธานุสติ

การสร้างพระพุทธรูปปางต่างๆ นั้นคำนึงถึงอิริยาบถที่สำคัญและมีความเหมาะสมของพระพุทธองค์ ซึ่งมีทั้ง ๔ อิริยาบถ คือ ยืน เดิน นั่ง และนอน ปางที่นิยมนำมาใช้ในพิธีกรรมเป็นปางอิริยาบถนั่ง เช่นปางชนะมาร เพราะถือว่าจะช่วยให้ชนะมารอุปสรรค์ภัยอันตรายต่างๆ ได้ และปางสมาธิจะช่วยให้สงบสุขกับชีวิต ปางอิริยาบถอื่นไม่นิยมโดย เฉพาะปางที่ไม่นำมาใช้เลยคือปางไสยาสน์ 

พระพุทธรูป ถือว่าเป็นรูปเปรียบแทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีการสร้างขึ้นมาราวประมาณ ๕๐๐ ปีหลังการปรินิพพาน เพื่อให้ชาวพุทธได้เคารพกราบไหว้ เป็นอนุสติ คำว่า พุทธะ หมายถึง ผู้รู้ มีปัญญาเห็นอริยสัจ ผู้ตื่น จากความหลงงมงาย และ ผู้เบิกบาน ด้วยจิตบริสุทธิ์แจ่มใสไม่เศร้าหมอง  นอกจากนี้การสร้างหรือหล่อพระพุทธรูปยังได้แฝงปริศนาธรรมไว้ในลักษณะแห่งพระพุทธรูป

พระเศียรมีเกศาขดเป็นก้นหอย หมายถึง มนุษย์มีปัญหามากมายเป็นปมเวียนวนเต็มหัว ก่อให้เกิดความมืดมน หลงงมงายไม่เห็นทิศทางของชีวิต ต้องวนเวียนอยู่ในวัฎสงสาร

เปลวเพลิงบนพระเศียร หมายถึง ปัญญาอันเปรียบด้วยเพลิงและแสงสว่าง ที่จะเผาไหม้ทำลายปัญหา ความมืดมน หลงงมงาย ทำให้เห็นทิศทางของชีวิต และเดินถูกทิศถูกทางไปสู่เป้าหมายของชีวิตได้

พระกรรณยาว หมายถึง ความหนักแน่น ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ให้ใช้หลักกาลามสูตร คือ ๑) อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามกันมา  ๒) อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการถือสืบต่อกันมา  ๓) อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการเล่าลือ  ๔) อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์  ๕) อย่าปลงใจเชื่อ เพราะการคิดเอาเอง  ๖) อย่าปลงใจเชื่อ เพราะการอนุมาน  ๗) อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล  ๘) อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว  ๙) อย่าปลงใจเชื่อ เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้  ๑๐) อย่าปลงใจเชื่อ เพราะผู้พูดน่าเชื่อถือ

พระเนตรทอดลงต่ำ หมายถึง อาการสำรวมหมั่นมองตนเอง มองภายในแห่งจิตของตน สำรวจตน ไม่ควรมองภายนอกบุคคลอื่นในด้านลบอันเป็นการเพ่งโทษคนอื่น

พระนาสิกโด่ง หมายถึง ให้เห็นจมูก คือลมหายใจของตน เป็นความเข้มแข็งแห่งจิต ไม่อ่อนแอท้อแท้

พระโอษฐ์ยิ้มละไม พระพักตร์เอิบอิ่มผ่องใส หมายถึง ความมีเมตตา กรุณาในพระหทัย จิตผ่องใส ไม่เครียด ไม่หงุดหงิด ไม่โกรธ ไร้จากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง

พระหัตถ์แบ หมายถึง ความเสียสละ เป็นการให้ โดยไม่เอาสิ่งใดๆ ไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งทั้งผองเป็นของตน ให้เหนื่อย หนัก ลำบาก ทุกข์ รู้จักปล่อยวาง  และ(บางสมัย) องคุลีทั้ง ๔ นิ้ว มีปลายเสมอกันนั้น มนุษย์ทั้ง ๔ ทิศ หรือ ๔ วรรณะ เสมอกันในความเป็นมนุษย์ ไม่ควรดูหมิ่น เหยียดหยาม แบ่งแยกกัน

ลายพระบาท จะเห็นชัดจากรอยพระพุทธบาท หมายความว่า ความเป็นราชาครองทรัพย์สมบัติ เช่นแก้วแหวนเงินทองเป็นต้นเหล่านั้น พระองค์อยู่เหนือทั้งหมดแล้ว ไม่มีสิ่งใดมามีอำนาจในพระองค์ได้อีกแล้ว

พระวรกายตั้งตรง หมายความว่า พระองค์มีความเที่ยงตรง มั่นคง ยุติธรรมไม่ลำเอียง ไม่เลือกปฏิบัติ บุคคลที่เข้ามาหาพระองค์ได้รับเสมอกันหมด

เมื่อจะนำพระพุทธรูปมาใช้ในพิธีกรรมนั้น หากองค์พระทำด้วยทองเหลืองมีความหม่นหมองสกปรก ควรขัดทำความสะอาดให้องค์พระผ่องใส สบายตาเจริญใจเวลามองพระพุทธรูปเพื่อเป็นพุทธานุสสติ

หมายเลขบันทึก: 175320เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2008 22:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 02:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท