สรุปสาระจากสัมมนา: นิทรรศการนี้ของใคร?


พิพิธภัณฑ์จะเป็นเลิศได้ต้องรู้จักตัวตนที่แท้จริงของตนเองเสียก่อน

เมื่อเดือนที่แล้วได้มีโอกาสไปร่วมนั่งฟังการสัมมนาด้านการออกแบบนิทรรศการและพิพิธภัณฑ์ จัดโดยบริติชเคาซิล ร่วมกับศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ และสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ซึ่งบรรยายที่ TCDC วันที่ 5 มีนาคม 2551 มีสาระเนื้อหาที่น่าสนใจพอสมควร จึงเก็บเอามาเล่าสรุปให้ฟังกันเผื่อใครได้ไอเดียเอาไปใช้กับพิพิธภัณฑ์ของตนเองบ้าง

สรุปสาระการสัมมนาด้านการออกแบบนิทรรศการและพิพิธภัณฑ์ "นิทรรศการนี้ของใคร?"

WHOSE EXXIBITIONS ARE THEY ANYWAY? วิทยากร สตีเฟ่น กรีนเบิร์กและปีเตอร์ เมอเซอร์

          อะไรทำให้พิพิธภัณฑ์เป็นเลิศ? คำถามนี้อาจทำให้ใครหลายคนนึกถึงพิพิธภัณฑ์โอ่โถงนำเสนอด้วยสื่อมัลติมีเดียมากมายที่เคยไปชมมา ในทัศนะของสตีเฟ่น ได้แสดงความเห็นว่าพิพิธภัณฑ์ที่เป็นเลิศนั้นไม่จำเป็นต้องใหญ่โตหากแต่เป็นพิพิธภัณฑ์ที่สามารถแบ่งปันหรือสร้างประสบการณ์เชิงสมมติให้แก่ผู้ชม (Virtual Experience) ทั้งนี้ นักออกแบบนิทรรศการจำเป็นต้องรู้จักมองหาแหล่งข้อมูลรอบตัวที่หลากหลาย เช่น เสียงประกอบ ภาพยนตร์ ละคร เกมส์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น และหยิบจับนำมาผสมเสนอมุมมองใหม่ๆ ให้เกิดความน่าสนใจดึงดูดให้ผู้ชมเกิดสัมผัสรู้สึกต่อพื้นที่จัดแสดง (Spirit of space) หรือมีประสบการณ์ดื่มด่ำร่วมไปกับนิทรรศการ (immersive) ซึ่งการอ่านคำบรรยายบนบอร์ด หรือการมองดูมองเห็นชิ้นวัตถุจัดแสดงเพียงอย่างเดียวไม่สามารถสร้างให้เกิดขึ้นได้
           ผลงานของบริษัท Metaphor เป็นประสบการณ์การทำงานของผู้บรรยายที่ได้แสดงตัวอย่างการออกแบบนิทรรศการหลายชิ้นด้วยการนำรูปแบบของการละคร (Theatrical) เข้ามาใช้สร้างจุดเด่นให้อารมณ์ความรู้สึกความมีชีวิตชีวา ตัวอย่างเช่น งานโครงการ Kew Palace มีการสร้างฉากละครย้อนอดีตฉายทาบทับไปบนผนังห้องพระราชวังเพื่อจำลองเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ให้เกิดซ้ำขึ้นอีกราวกับว่าผู้ชมได้มีส่วนร่วมอยู่ในสถานการณ์นั้นๆ และค้นพบว่าความเป็นละครนอกจากกระตุ้นความสนใจให้เกิดการรับรู้ตื่นตัวแล้ว สื่อชนิดนี้ยังสร้างภาพลักษณ์ให้เกิดความรู้สึกประทับใจจดจำได้มากกว่าสื่อชนิดอื่น

           ปีเตอร์ เมอเซอร์ ได้แสดงความคิดเห็นว่าผู้คนที่มายังพิพิธภัณฑ์เป็นกลุ่มคนที่แตกต่างกันซึ่งมีความคาดหวังว่าจะมาเรียนรู้อะไรบางอย่างจากพิพิธภัณฑ์ (Social Experience) ฉะนั้นการเลือกใช้สื่อในงานพิพิธภัณฑ์จึงมีความสำคัญมากและควรมีหลากหลายประเภท โดยทั่วไปเป็นที่ยอมรับกันว่าการใช้สื่อประเภทโทรทัศน์เป็นรูปแบบการสื่อสารธรรมดาที่มีพลังดึงดูดความสนใจให้เกิดการรับรู้ได้ดีเหมาะสำหรับผู้ชมกลุ่มใหญ่ แต่หากเนื้อหาสาระที่ต้องการสื่อความหมายมีความซับซ้อนหรือมีขั้นตอนกระบวนการที่เข้าใจยากการเลือกใช้สื่อประเภทมัลติมีเดียโต้ตอบ (Interactive Media) เช่น เกมส์หรือการ์ตูนเคลื่อนไหว (Animation) จะสามารถสร้างการรับรู้ที่สร้างสรรค์และสนุกสนาน ด้วยการพัฒนาโปรแกรมสร้างบทสนทนาด้วยคำถามกระตุ้นให้ผู้ชมคิดตามและกระหายอยากรู้คำตอบซึ่งเป็นการให้ความรู้ทางอ้อมแต่มีประสิทธิภาพ

 

<p>        ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้บรรยายทั้งสองย้ำเสมอว่าพิพิธภัณฑ์แห่งใดก็ตามไม่ว่าเล็กหรือใหญ่จะสามารถเป็นเลิศได้นั้นจำเป็นต้องรู้จักตัวตนที่แท้จริงของพิพิธภัณฑ์เสียก่อนว่าอยากจะนำเสนอหรือเล่าเรื่องอะไร (Own Voice) จึงจะสามารถเลือกวิธีการนำเสนอที่สร้างสรรค์และเหมาะสมได้ โดยไม่จำเป็นต้องนำเทคโนโลยีชั้นสูงมาใช้ในพิพิธภัณฑ์</p>

หมายเหตุ ภาพที่นำมาประกอบบทความนี้มาจาก www.metaphor.eu และ www.newangle.co.uk ใช้เพื่อการศึกษาเท่านั้นไม่ได้มีจุดประสงค์ทางธุรกิจการค้าแต่อย่างใด ถ้าใครจะนำไปใช้ขอให้อ้างอิงเจ้าของเว็บไซต์ด้วย

หมายเลขบันทึก: 174729เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2008 11:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ

ขอบคุณที่นำความรู้มาแบ่งปันนะคะ

ตามข่าวการสัมมนาเรื่องนี้อยู่แต่ไม่มีโอกาสไปร่วมฟังด้วยตนเอง

ได้มาอ่านอย่างนี้ดีจังเลยค่ะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะ

ขอบคุณที่เข้ามาอ่าน และดีใจที่ได้แบ่งปันความรู้กันค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท