การฝึกประสบการณ์การทำเวทีชาวบ้านของครู กศน.


การศึกษาข้อมูลชุมชน ตลอดจนการทำเวทีชาวบ้านก็เหมือนการต่อจิกซอ (Jigsaw) ถ้าเรามีข้อมูลจากชาวบ้านที่เป็นจริง ภาพในจิกซอก็จะชัดมากขึ้น นั่นคือเราจะเข้าใจสภาพปัญหา และความต้องการของชาวบ้านมากขึ้นเช่นกัน

       เวทีชาวบ้านเป็นเวทีเรียนรู้ที่ครู กศน.บอกว่าไม่ลองไม่รู้จริง ๆ ในวันที่ 25-28 มีนาคม 2551 ครูณัฐและทีมงานสถาบันฯสิรินธร ได้อบรมการเป็นวิทยากรกระบวนการให้กับครู กศน.จังหวัดกาฬสินธุ์ 41 คน การอบรมเป็นลักษณะให้ความรู้ทางทฤษฎีนิดหน่อย เรียนรู้ผ่านเกม และเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง มีการเก็บข้อมูลในชุมชน และทำเวทีชาวบ้านในชุมชน  ชุมชนที่ครูณัฐได้พาครูเรียนรู้คือ ชุมชนที่อยู่รอบๆ สถาบันฯสิรินธร อยู่ในเขตเทศบาลเมืองปากช่อง ได้แก่ ชุมชนข้างโรงทอ  ชุมชนวัดจันทึก  ชุมชนวัดหนองสาหร่าย  ชุมชนบ้านน้อยทุ่งสว่าง  ชุมชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี  การอบรมครั้งนี้เป็นการมาฝึกในระยะเวลาสั้น ๆ ทำให้ได้ข้อมูลน้อย ไม่ครอบคลุม และไม่ได้เจาะลึกเท่าที่ควร แต่ครูก็ได้รู้ เข้าใจกระบวนการ เห็นความสำคัญของการนำข้อมูลมาวิเคราะห์  สังเคราะห์ และเห็นสภาพปัญหา ความต้องการพัฒนาของชุมชนที่ชัดเจนมากขึ้น การทำเวทีครั้งนี้ทำในเวลากลางคืน  กลุ่มเป้าหมายที่มาร่วมเวทีบางเวทีมีหลากหลายทั้งอายุ  อาชีพ  บางเวทีจะมีเฉพาะเยาวชน  และบางเวทีจะมีเฉพาะผู้อาวุโส  เห็นกระบวนการทำเวทีที่แตกต่างหลากหลาย  ครูต้องใช้ไหวพริบในการแก้ปัญหาขณะทำเวที แต่ละกลุ่มจะมีพี่เลี้ยงซึ่งเป็นครูจากสถาบันฯสิรินธร คอยดูแล ให้ความช่วยเหลือ ทำให้ครูแต่ละกลุ่มมีความมั่นใจ แสดงฝีมือในการเป็นวิทยากรกระบวนการโดยการชวนพูด ชวนคุย อย่างเต็มที่  หลงประเด็นก็มี  เป็นที่สนุกสนานมาก

                                        เก็บข้อมูลจากผู้นำชุมชน

นำข้อมูลมาวิเคราะห์ก่อนจัดเวทีตอนกลางคืน

        ผลที่ได้จากการทำเวทีครั้งนี้  อาจจะไม่ได้คำตอบตามเป้าหมาย คือสภาพปัญหา และความต้องการแก้ปัญหาที่แท้จริงของชาวบ้าน  แต่ก็ได้ความสุขจากการทำเวทีเรียนรู้กับชาวบ้าน  และน้ำใจไมตรีที่ชาวบ้านซึ่งเป็นคนในชุมชนเมืองให้แก่เรา  เกิดความประทับใจทั้งผู้ทำเวทีและผู้ร่วมเวทีเป็นอย่างมาก

เวทีชุมชนข้างโรงทอ ส่วนใหญ่จะเป็นเยาวชน

เวทีชุมชนบ้านน้อยทุ่งสว่าง  ส่วนใหญ่กลุ่มเป้าหมายจะเป็นผู้สูงอายุ

เวทีชุมชนวัดหนองสาหร่าย

        บทเรียนการทำเวทีครั้งนี้  ครูณัฐเห็นว่า  ความสำเร็จที่เราได้รับคือ ใจของครู  รู้สึกว่าครูมีความสุข  ไม่เครียด  มีพลังในการทำงาน และอยากทำงานในหน้าที่การเป็นวิทยากรกระบวนการ ซึ่งจากแบบสอบถาม  ครูอยากอยู่ฝึกต่ออีกระยะหนึ่ง และจะนำเทคนิควิธีการไปประยุกต์ใช้ในศูนย์ฯอำเภอของตนเอง  สิ่งที่ควรปรับปรุงจากการถอดบทเรียนและจากการสังเกตของครูณัฐ  ครูจะต้องพัฒนาตัวเองให้เป็นวิทยากรกระบวนการได้ ครูจะต้องฝึกการถอดบทเรียนให้คุ้นเคยกับงานก่อน  มีการตั้งมาตรฐานของงาน  และคิดต่อว่าจะเดินไปให้ถึงมาตรฐานนั้นได้อย่างไร  ฝึกการตั้งชุดคำถามให้เห็นแนวปฏิบัติ  ฝึกการปฏิบัติให้บ่อย ๆ จะทำให้ครูเก่งขึ้น

คำสำคัญ (Tags): #เวทีชาวบ้าน
หมายเลขบันทึก: 174670เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2008 23:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท