เรือดำน้ำชุดแรกของกองทัพเรือไทย


เรือดำน้ำชุดประวัติศาสตร์ ๔ ลำ ได้แก่ เรือหลวงสินสมุทร เรือหลวงพลายชุมพล เรือหลวงมัจจาณุ และ เรือหลวงวิรุณ

          ๒๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๑ เรือหลวงสินสมุทร, เรือหลวงพลายชุมพล, เรือหลวงมัจจาณุ (ลำที่ ๒) และ เรือหลวงวิรุณ ซึ่งเป็นเรือดำน้ำชุดแรกที่รัฐบาลไทยสั่งต่อมาจากประเทศญี่ปุ่น ได้เดินทางมาถึงประเทศไทย

หมายเหตุ: ร.ล.มัจฉาณุ ลำที่หนึ่ง เป็นเรือใน รัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

          เรือดำน้ำที่ประเทศไทยได้สั่งต่อจากประเทศญี่ปุ่น ได้ต่อเสร็จก่อนสองลำแรกในจำนวนสี่ลำ คือ เรือหลวงมัจฉานุ และ เรือหลวงวิรุณ ซึ่งได้มีพิธีส่งมอบเรือทั้งสองลำให้แก่ กองทัพเรือ เมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๔๘๐ โดยมี พระมิตรกรรมรักษา อัครราชทูตไทยในขณะนั้น เป็นประธานในพิธีการปล่อยเรือทั้ง ๒ ลำ ซึ่งต่อมาได้ถือว่า วันที่ ๔ กันยายน ของทุกปี ถือเป็น "วันที่ระลึกเรือดำน้ำไทย"

          ต่อมาในวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๔๘๑ บริษัทมิตซูบิชิ ได้ทำพิธีส่งมอบเรือดำน้ำที่เหลืออีก ๒ ลำ คือ เรือหลวงสินสมุทร และเรือหลวงพลายชุมพล ให้แก่ กองทัพเรือไทย และเมื่อกองทัพเรือได้รับมอบเรือดำน้ำครบทั้ง ๔ ลำแล้ว จึงได้เริ่มลงมือฝึกศึกษาตามหลักสูตรทางวิชาการของเรือดำน้ำเพิ่มเติมจนคล่องแคล่ว จึงได้ถอนสมอออกเรือจากเมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น กลับสู่ประเทศไทย เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๔๘๑ โดยกำลังพลทั้ง ๔ ลำ ประกอบไปด้วย นายทหารสัญญาบัตร ๒๐ นาย นายทหารประทวน ๑๓๔ นาย มี นาวาตรี ซุ้ย (กนก) นพคุณ เป็น ผู้บังคับการเรือหลวงมัจฉานุ เรือเอก พร เดชดำรง เป็น ผู้บังคับการเรือหลวงวิรุณ เรือเอก สาคร จันทร์ประสิทธิ์ เป็น ผู้บังคับการเรือหลวงพลายชุมพล และ เรือเอก สนอง ธนศักดิ์ เป็น ผู้บังคับการเรือหลวงสินสมุทร

          เรือดำน้ำทั้ง ๔ ลำ ได้ออกเดินทางจากเมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น มาแวะจอดที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ก่อนที่จะเดินทางฝ่าคลื่นลมมาถึงฐานทัพเรือสัตหีบ ในวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๔๘๑ รวมระยะทางทั้งสิ้น ๓,๐๐๐ ไมล์ ใช้เวลาเดินเรือและแวะเมืองท่ารวม ๒๔ วัน และเมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทยแล้ว เรือดำน้ำทั้ง ๔ ลำ ได้ทำการออกฝึกอย่างต่อเนื่อง

          เรือดำน้ำทั้ง ๔ ลำ เป็นเรือดำน้ำขนาด ๓๗๐ ตัน ในสนนราคาลำละ ๘๘๒,๐๐๐ บาท วางกระดูกงูและปล่อยลงน้ำไล่เลี่ยกัน คือระหว่างเดือนพฤษภาคม - ตุลาคม ๒๔๗๙ หลังจากมาถึงประเทศไทย ก็ได้ขึ้นระวางประจำการพร้อมกันคือวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๔๘๑ 

          จนกระทั่งในปี พ.ศ.๒๔๘๓ เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้อุบัติขึ้น กองทัพเรือ ได้ส่งเรือหลวงมัจฉานุ เรือหลวงวิรุณ เรือหลวงสินสมุทร และเรือหลวงพลายชุมพล ไปทำการลาดตระเวนเป็นแนวหน้าบริเวณฐานทัพเรือเรียมของแหลมอินโดจีน เพื่อป้องกันกองทัพฝรั่งเศสที่จะลอบเข้ามาโจมตีประเทศไทย โดยเรือทั้งสี่ลำจะใช้เวลาอยู่ใต้น้ำ เพื่อเฝ้าสังเกตการณ์ถึงวันละ ๑๒ ชั่วโมง ซึ่งปฏิบัติการณ์ในครั้งนั้น ได้สร้างความยำเกรงให้แก่ฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก ซึ่งบทบาทของเรือดำน้ำแห่งราชนาวีไทยนี้เป็นที่กล่าวขานถึงวีรกรรมอันห้าวหาญของราชนาวีไทย เมื่อเทียบกับกำลังของมหาอำนาจที่มีอยู่เหนือกว่า

          ในระหว่างสงครามโลก ครั้งที่ ๒ กองทัพเรือได้ส่งนายทหารสัญญาบัตรและประทวน (บางท่านเคยประจำเรือดำน้ำมาก่อน) และช่างของกรมอู่ทหารเรือไปศึกษาและฝึกงานการสร้างแบตเตอรี่ในญี่ปุ่นด้วยความมุ่งหมาย ที่จะผลิตจะแบตเตอรี่ขึ้นใช้ราชการเอง โดยเฉพาะแบตเตอรี่ที่ใช้กับเรือดำน้ำ เมื่อคณะทหารและช่างชุดนี้กลับมาถึงกรุงเทพฯ แล้ว ก็ได้จัดตั้งโรงงานแบตเตอรี่และสีขึ้นทดลองและพัฒนางานี้จนเป็นโรงงานที่ใกล้จะสมบูรณ์ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้ส่งนายทหารไปศึกษาต่อในต่างประเทศและได้พัฒนางานต่อไป เมื่อเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงในวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๙๔ แล้ว หน่วยงานนี้ก็ต้องย้ายไปสังกัดกระทรวงกลาโหม และแปรสภาพเป็นองค์การแบตเตอรี่ในเวลาต่อมา

          เมื่อสงครามโลก ครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลงญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงครามและไม่ได้รับอนุญาตให้ผลิตอาวุธยุทธโธปกรณ์ขายอีก กองทัพเรือจึงเริ่มขาดแคลนชิ้นส่วนอะไหล่ของเรือดำน้ำ โดยเฉพาะแบตเตอรี่ประจำเรือซึ่งได้ใช้งานมาถึง ๙ ปีแล้ว โรงงานแบตเตอรี่และสีที่ตั้งขึ้นก็ยังไม่สามารถผลิตแบตเตอรี่ชนิดนี้ได้ ชาติพันธมิตรของเราก็ไม่มีนโยบายที่จะช่วยเหลือปรเทศไทยในเรื่องเรือดำน้ำ กองทัพเรือจึงจำเป็นต้องปลดเรือดำน้ำทั้ง ๔ ลำออกจากประจำการ ในวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๔ การมีเรือดำน้ำในกองทัพเรือไทย จึงสิ้นสุดลงตั้งแต่วันนั้น

          เรือดำน้ำทั้ง ๔ ลำ ขึ้นระวางประจำการเมื่อ วันที่ ๑๙ กรกฏาคม ๒๔๘๑ ปลดระวางประจำการ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๔ นับว่าได้รับใช้ชาติเป็นเวลา 12 ปีเศษ  และวาระสุดท้ายคือ ได้มีการขายเรือดังกล่าวไปให้บริษัทปูนซีเมนต์ คงเหลือแต่หอเรือดำน้ำและอาวุธบางชิ้น เช่น ปืนและกล้องส่อง ทางกองทัพเรือได้สร้างสะพานเดินเรือจำลองขึ้น แล้วนำอาวุธมาติดตั้งไว้เป็นอนุสรณ์ จัดแสดงไว้หน้าพิพิธภัณฑ์ทหารเรือ หน้าโรงเรียนนายเรือ ริมถนนสุขุมวิท ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ

            มีคนตั้งข้อสังเกตว่า สงครามโลกครั้งที่ ๒ สงบในเดือนสิงหาคม ๒๔๘๘ กรณีแมนฮัตตัน  เกิดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๙ - ๓๐ มิถุนายน ๒๔๙๔ และเรือทั้ง ๔ ลำได้ปลดระวาง ใน ๓๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๔ ซึ่งจะเห็นได้ว่าเรือดำน้ำขาดแคลนอะไหล่อยู่ห้าปีเต็ม ไม่ได้ซ่อมบำรุงเลย และเหตุที่ถูกปลดระวาง น่าจะมาจากกรณี แมนฮัตตัน มากกว่าภาวะหลังสงครามโลก เพราะเรืออายุ ๑๒ ปี ถ้ามีการซ่อมบำรุงดี  ยังใช้ได้อีกนาน

แนวความคิดที่จะมีเรือดำน้ำ

          แนวความคิดที่จะจัดหาเรือดำน้ำมาเป็นกำลังรบของกองทัพเรือนั้น ได้มีมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๕๓ ดังจะเห็นได้จากโครงการจัดสร้างกำลังทางเรือ ซึ่งคณะกรรมการอันประกอบด้วย นายพลเรือตรี พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ (ต่อมาเป็น นายพลเรือเอก กรมหลวงฯ) นายพลเรือตรี พระยาราชวังสัน (ฉ่าง แสง – ชูโต ต่อมาเป็น นายพลเรือเอก พระยามหาโยธา) และนายพลเรือตรี พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสิงหวิกรมเกรียงไกร (ต่อมาเป็นนายพลเรือเอกกรมหลวงฯ) ได้จัดทำขึ้นถวายสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต (ต่อมาเป็นจอมพลเรือ สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระฯ) เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ และเสนาบดีฯ ทรงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ร.ศ.๑๒๙ (พ.ศ.๒๔๕๓) โครงการนี้ได้กำหนดให้มี "เรือ ส.จำนวน ๖ ลำ" ทั้งนี้คณะกรรมการฯ ได้อธิบายไว้ว่า "เรือ ส. คือ เรือดำน้ำสำหรับลอบทำลายเรือใหญ่ข้าศึก แต่ยังกล่าวให้ชัดไม่ได้เพราะยังไม่เคยลงแลลอง แต่ที่พูดถึงด้วยนี้ โดยเห็นว่าต่อไปภายน่าการศึกสงครามจะต้องใช้เปนมั่นคง แต่ไม่ใช่เดี๋ยวนี้" เวลานั้น เรือดำน้ำเป็นอาวุธที่นาวีของมหาอำนาจในยุโรปกำลังพัฒนาและทดลองใช้อยู่

            ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๕๔ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ออกจากประจำการ และต้องจ้างนายนาวาเอก ชไนด์เลอร์ (J.Schneidler) นายทหารเรือชาติสวีเดนเข้ามาเป็นที่ปรึกษาการทหารเรือ ในวันที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๕ นายนาวาเอก ชไนด์เลอร์ ได้เสนอโครงการจัดสร้างกำลังทางเรือสำหรับป้องกันประเทศ และได้กล่าวถึง "เรือดำน้ำ" ว่า "เป็นเรือที่ดีมากสำหรับป้องกันกรุงเทพฯ แต่จะผ่านเข้าออกสันดอนลำบาก ถ้าเก็บไว้ในแม่น้ำก็ไม่คุ้มค่า" และได้เสนอไว้ในโครงการให้มีเรือดำน้ำ ๘ ลำ สำหรับประจำอยู่กับกองเรือที่จันทบุรี

          ทหารเรือไทยและคนไทยได้มีโอกาสเห็นเรือดำน้ำจริงๆ ที่ไซง่อน พ.ศ.๒๔๕๔ ในโอกาสที่ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เสด็จประพาสอินโดจีน ฝรั่งเศสได้จัดเรือดำน้ำมาแล่นและดำถวายให้ทอดพระเนตร

          เมื่อถึง พ.ศ.๒๔๕๘ สมเด็จพระบรมราชชนก เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นนายเรือโท สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ ได้เสด็จกลับจากศึกษาวิชาการทหารเรือในจักรพรรดินาวีเยอรมั นและทรงเข้ารับราชการในกระทรวงทหารเรือ พระองค์ได้ทรงจัดทำโครงการเกี่ยวกับกำลังเรือดำน้ำ ซึ่งทรงใช้ชื่อว่า "ความเห็นเกี่ยวกับเรือ ส." (เหตุที่ทรงใช้คำแทนเรือดำน้ำว่า "เรือ ส." ก็เพื่อให้สอดคล้องกับโครงการเดิม ที่ทูลเกล้าถวายไว้เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๓) เสนอต่อเสนาธิการทหารเรือในเวลานั้นคือ นายพลเรือโท พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสิงหวิกรมเกรียงไกร เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๕๘ โครงการนี้มีรายละเอียดที่สมบูรณ์ที่สุดเกี่ยวกับ ขนาดและคุณสมบัติของเรือดำน้ำที่กองทัพเรือควรจะมี เรือพี่เลี้ยง อู่ และโรงงานที่ต้องการ กำลังพลประจำเรือ การฝึกและการสวัสดิการของคนประจำเรือ การปกครองบังคับบัญชา ตลอดจนงบประมาณ ต้องใช้ในการนี้ทั้งหมด

          ทั้งนี้ สมเด็จพระบรมราชชนก ได้ทรงอธิบายประโยชน์ของ "เรือ ส." หรือ "เรือดำน้ำ" ไว้ว่า "…ข้าศึกจะคอยคิดถึงเรือ ส.ของเราในเวลาที่เขาจะจัดกองทัพเรือเข้ามาตีกรุงสยาม.. เพื่อจะหนีอันตรายจากเรือ ส. ข้าศึกคงจะไม่ส่งเรือใหญ่เข้ามาเพื่อให้มาเป็นเป้าแก่เรือ ส.ได้.. ข้าศึกคงจะส่งเรือขนาดเล็กแล่นเร็ว เพราะฉะนั้นต้องส่งหลายลำทำให้การจับจ่ายใช้สอยแพงเงินขึ้น การขนทหารด้วยเรือเล็กจะต้องมากกว่าเรือใหญ่ การส่งเสบียงอาหารจะเป็นการลำบากมากเพราะจะต้องมีเรือรบคุมเสมอ.. ถ้าเรือที่ส่งเข้ามาเป็นเรือเล็กแล้ว จะมีช่องให้เรือพิฆาตและเรือปืนของเราต่อสู้ได้โดยไม่เสียเปรียบมากนัก.. ถ้าเรามีเรือ ส.แล้ว ข้าศึก จะต้องระวังอยู่เสมอ ไม่ให้เรือ ส.เข้าโจมตีโดยไม่รู้ตัวได้ การระวังอันนี้ทำให้คนประจำเรือได้รับความลำบากมาก..."

          เมื่อเสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ทรงกลับเข้ารับราชการอีกและทรงดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือ ได้ทรงกล่าวถึงเรือดำน้ำไว้ในลายพระหัตถ์ กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตไปดูการทหารในยุโรปใน พ.ศ.๒๔๖๒ ดังนี้ "…ในส่วนป้องกันอ่าวหรือท้องทะเลเครื่องที่จะทำให้กองทัพเรือใหญ่หวาดเสียวอย่างดีที่สุดก็คือ เรือดำน้ำ… ฯลฯ …ถ้ากรุงสยามมีเรือดำน้ำ จะเป็นเครื่องป้องกันสำคัญมาก หรือจะนับว่าเป็นเครื่องป้องกันอย่างดีที่สุดก็ว่าได้" แสดงว่า แนวความคิดในการที่จะมีเรือดำน้ำในกองทัพเรือไทยยังดำรงอยู่ตลอดเวลา

          ต่อมาในวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ.๒๔๖๙ นายพลเรือตรี พระยาราชวังสัน (ศรี กมลนาวิน) เสนาธิการทหารเรือ ได้จัดทำ บันทึกการจัดกองทัพเรือสยาม (ซึ่งก็คือโครงการจัดสร้างกำลังทางเรือ) ถวายสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้รักษาการแทนเสนาบดีกระทรวงทหารเรือโดยได้กำหนดว่า จะแบ่งกำลังทางเรือออกเป็น ๒ กอง คือ "กองเรือรักษาฝั่ง" และ "กองเรือรุกรบ" ในกองเรือรุกรบนั้น จะมี เรือดำน้ำรักษาฝั่งขนาด ๓๐๐ - ๔๐๐ ตัน ๔ ลำ

          ตามที่กล่าวมาแล้วจะเห็นได้ว่า ความคิดที่จะมีเรือดำน้ำเป็นกำลังรบของไทยนั้น ได้มีมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๕๓ แต่ติดขัดด้วยงบประมาณเป็นปัจจัยสำคัญ จึงไม่สามารถจัดหาเรือดำน้ำตามที่คิดไว้

 



ความเห็น (1)

ได้ความรู้มากเลยครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท